เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
postscript.cineflections
รักจากมุมหน้าต่าง : เรา เขา และตัวตนบนชิงช้าสวรรค์ใน Love, Simon (2018)

  • Finally, an oasis in this wasteland.

    -- Lucien Carr, Kill Your Darlings (2013)


    ในที่สุด โอเอซิสในแดนแห้งแล้งแห่งนี้

    -- ลูเชี่ยน คาร์​, Kill Your Darlings (2013)



    หนึ่งในน้อยครั้งที่กล้าขึ้นรถไฟเหาะ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กะเกณฑ์ความรู้สึกไม่ถูก ได้แต่มองเครื่องเล่นตรงหน้าแล้วเดินตามคนที่ไปด้วยอย่างว่าง่าย

    คิดว่ามันเตี้ย คิดว่ารางวกวนคงไม่ซับซ้อนมาก กว่าจะรู้ตัวว่าตัดสินใจผิด และไม่พร้อมกับความเร็วของตัวรถ ร่างก็อยู่บนรถที่กำลังทะยานขึ้นเป็นแนวตั้ง(!) อย่างช้าๆ

    คว้ามือคนข้างๆมาจับไว้แน่น

    แล้วไม่ปล่อยจนรถหยุดนิ่ง


    ยังจำความวูบโหวงในก้นท้องเมื่อรถถึงจุดสูงสุดได้ดี
    เพราะไม่ทันจะหายใจเข้าลึกตั้งสติ รถก็ออกตัว แล้วความโหวงก็ดีดตัวยาวในท้อง บิดเกลียวภายในเสี้ยววินาที

    “ได้ยินแต่เสียงกรี๊ดมัน ไม่ได้ยินเสียงอื่นเล้ย!” ลูกพี่ลูกน้องว่า

    ทางเราก็หลับตา ปิดตัวเองจากทิวทัศน์ภายนอก ลำพังความเหวี่ยง ความเร็วที่ปรับตัวไม่ทันของรถก็น่ากลัวพอแล้ว




    แอบคิดว่าการตกหลุมรักคนในจอที่ไม่เคยพบเจอก็คล้ายการเล่นรถไฟเหาะ

    เพลง Rollercoaster ของวงอินดี้ Bleachers ที่ประกอบ Love, Simon (2018) เปรียบความรักโลดโผนกับการพาตัวเข้าเล่นกับความเสี่ยงความเสียวของหัวใจ

    เพราะตัวเราเองดันตกลงปลงใจจะโยนหัวใจขึ้นรถไฟเหาะ เมื่อ(มองว่า)เขาหรือเธอคนนั้นก้าวเข้ามา

    เจาะจงที่จะจงใจปล่อยตัวไปกับ 'ความเป็นไปได้' และ 'ความไม่คาดคิด' ของชีวิต จะเหวี่ยงเราลงจุดต่ำสุดหรือดันเราขึ้นด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ก็จัดมาเถอะ 


    แค่ขอให้ได้มีโอกาสคิดถึง 'ใครคนนั้น' ก็พอ



    *บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังทั้งหมด 

    (SPOILER ALERT!) 



    โลกส่วนตัวของความลับ: รักของอักษรสีฟ้า

    การมีความลับเหมือนแยกตัวเองจากโลกภายนอก ดำเนินชีวิตต่อขณะเก็บซ่อน 'ตัวเรา' อีกคนที่สังคมและแม้แต่คนที่รู้จักเรามานานก็ไม่รู้จัก เป็น 'ตัวตน' ที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วยและกล้าปลดปล่อย เมื่อเราอยู่คนเดียวและกับคนนอกวงสังคมเดิมๆ คนที่เราคลิกด้วยเพราะสาเหตุที่อธิบายไม่ได้ คนที่เราไว้ใจเพราะความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ และของสถานะที่จำกัดคำง่ายๆ ไม่ได้


    แอบยิ้มกับตัวอักษรไม่กี่คำ น้อยประโยค บนเครื่องอิเล็กโทรนิคไร้ชีวิต แอบให้อนุญาตความเคยชินนั้นคลืบคลานเข้ามาในทุกวัน โดยลืมนึกถึงสายเชื่อมโยงอันแสนเปราะบางระหว่างเขากับเรา ความสัมพันธ์ปลายเปิดที่อีกฝ่ายจะหายหน้า ตัดสายไปเมื่อไหร่ก็ได้


    แอบกระซิบว่าเพลง Waterloo Sunset (1967) ของ The Kinks แรงบันดาลใจของไซม่อนในการตั้งชื่อ frommywindow1 ตอนสร้างอีเมล์คุยกับบลูครั้งแรก สะท้อน 'ตัวตน' ของไซม่อนด้านการหวงแหนโลกส่วนตัวของเขา ถึงโลกภายนอกจะวุ่นวาย ผู้คนเดินขวักไขว่รอบตัวแค่ไหน ขอให้ได้มองโลกจากหน้าต่างของตัวเอง มองพระอาทิตย์ตกที่สถานีวอเตอร์ลู ในที่ๆ ไม่มีเพื่อน ไม่มีใคร แต่รู้สึกปลอดภัย พร้อมกับใครสักคนที่เขาเปิดโอกาสให้แชร์พื้นที่ส่วนตัวนั้น ก็รู้สึกเหมือนอยู่ในสวรรค์แล้ว




    But I am so lazy, don't want to wander, I stay at home at night
    But I don't, feel afraid
    As long as I gaze on Waterloo Sunset, I am in paradise
    Every day I look at the world from my window
    Chilly chilly is the evening time, Waterloo sunset's fine

    แต่ฉันนั้นเกียจคร้าน ไม่อยากเตร็ดเตร่ ฉันอยู่บ้านเพียงลำพัง
    แต่ฉันไม่รู้สึกหวาดกลัว
    แค่ฉันมองพระอาทิตย์ตกที่วอเตอร์ลู ฉันก็อยู่ในสวรรค์
    ทุกวันฉันมองโลกจากหน้าต่างของฉัน
    ยามเย็นแสนหนาวสั่น แต่พระอาทิตย์ตกนั้นสวยดี

    Millions of people swarming like flies 'round Waterloo underground
    Terry and Julie cross over the river where they feel safe and sound
    And they don't, need no friends
    As long as they gaze on Waterloo Sunset, they are in paradise

    คนเป็นล้านเดินว่อนในสถานีรถไฟใต้ดินวอเตอร์ลู
    เทอร์รี่และจูลี่ข้ามแม่น้ำไปที่ๆเขาปลอดภัย
    และพวกเขาไม่ต้องการเพื่อนฝูง
    แค่มองพระอาทิตย์ตกที่วอเตอร์ลู เขาก็อยู่ในสวรรค์


    จุดเด่นหนึ่งของ Love, Simon (2018) คือเสน่ห์การแสดงที่เป็นธรรมชาติ ของนิค โรบินสัน คนดูรู้สึกตามไซม่อน รับรู้ถึง 'ความลับ' (ที่เขาทลายกำแพงที่สี่และประกาศแต่ประโยคเกริ่นนำหนัง) ในสายตาและความคิดของเขา แม้ในเวลาที่เขาทำตัว 'ปกติที่สุด' ขณะอยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆ ผู้ไม่รู้เรื่องความลับของเขาสักนิด หากไม่สังเกตดีๆ 


    จะมีแต่ฉากบางช่วงในชีวิตเท่านั้นแหละ ที่เรากล้าแง้ม 'ตัวตน' คนนั้นออกมา

    รักที่หนังดึงความคิดความฝันส่วนตัวของไซม่อนมาเสนอในแนวสีลูกกวาด ดูง่าย หวานเต็ม และทำให้ยิ้มตาม ฉากที่เซอร์ไพรส์และรักมากที่สุดของหนังฉากหนึ่งคือละครเพลงสั้นๆ ตามเพลง I Wanna Dance With Somebody ของ Whitney Houston ที่จัดเต็ม มาเต็ม รายล้อมไซด้วย 'คนสีรุ้ง' แสดงให้เราเห็น 'ตัวตน' อีกแบบของไซม่อน ที่ดูมีอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่มากขึ้น ไม่กังวล ไม่เหม่อครุ่นคิดถึงความลับและ 'คนๆนั้น'  ในพื้นที่ส่วนตัวที่คนรอบข้างเข้าไม่ถึง


    ฉากที่ไซม่อนร้องคาราโอเกะกับแบรม ปลดปล่อยความกังวลของตัวเองขณะเมามาย ลืมความเกร็งเขินอายไปชั่วครู่ ก็น่ารักมากๆ

    และจริงๆ แล้ว ถึง 'ความลับ' เกี่ยวกับ 'ตัวตน' ของไซม่อนจะเกี่ยวกับเรื่องใด ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเลือกว่าจะเปิดเผย 'ตัวตน' นั้นเมื่อไหร่ กับใคร อย่างไร

    อยากจะเชียร์ดังๆ ในฉากที่ไซม่อนประกาศกับมาร์ตินเรื่องนี้


    เพราะไม่เคยเห็นหนังรอมคอมร่วมสมัย สไตล์วัยรุ่น ที่มีฉากบอกกับคนดูตรงๆแบบนี้มาก่อน

    อย่างที่ไซม่อนตั้งคำถาม และที่กลายเป็นเสื้อจากหนังเพื่อการกุศลสำหรับองค์กร GLSEN (สนับสนุนการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม #LGBTQ ในโรงเรียนต่างๆทั่วสหรัฐอเมริกา): 

    เราเอาอะไรมาวัดกันว่า 'รักต่างเพศ' นั้นเป็น 'เรื่องปกติ' ("Why is straight the default?")



    กาแฟดำและวัฟเฟิล: ลีอาห์

    เป็นเรื่องคับคาใจเมื่อแอบรักคนที่ไม่รู้สึกตัวสักนิดว่า 'เป็นที่รัก' ของใครสักคนหนึ่งแล้ว


    กรณีของลีอาห์ เป็นเคสที่ใกล้หัวใจเรา เรียกว่ายิ่งแอบรักคนที่ใกล้ชิด ทุกสิ่งอื่นก็ยิ่งบดบังคำใบ้ที่จะทำให้เห็นเขาเป็นอื่น ความรู้สึกดีๆ ที่เขาหยิบยื่นให้ฉันเพื่อนฉันคนรู้จัก เราก็ตีความเองเสียเสร็จสรรพ พยายามใบ้ พยายามทำอะไรก็แล้ว แต่ก็ไม่สามารถผ่าน 'กำแพง' ระหว่างเขาและเราไปได้มากกว่าคำว่า 'เพื่อน'

    "ไซม่อนเวอร์ชั่นรักต่างเพศกำลังตายในความคิดฉัน" สะดุดกับประโยคนี้ในหนังเข้าเต็มๆ ยอมรับว่าร่องรอยเจือจางของประโยคเคยแวบผ่านหัวบ้าง แต่หลังจากรู้ความจริง ก็ไม่เคยออกปากพูดตรงๆแบบนี้กับใคร

    ปล่อยให้ความคิดหมุนวน ค่อยตกตะกอนเป็นขึ้เถ้าใต้หัวใจ 


    เพราะไม่ว่า 'ตัวตน' จริงของ 'เขา' จะเป็นใคร จะรักใคร แบบไหน จะรวมเศษเสี้ยวของ 'เขา' ที่เรารู้จัก ที่เขาเปิดเผยให้เรารู้จัก มากน้อยแค่ไหน เขาก็ยังเป็น 'เขา' ที่เรารักอยู่ดี


    เพราะรักเขาที่เขาเป็นเขา เช่นที่ลีอาห์รักไซแบบที่ไซเป็น


    พอมองมุมกลับแล้ว พล๊อตขนานของลีอาห์ก็เหมือนจะสะท้อนแก่นหลักของหนังอีกครั้ง


    คนๆนั้นยังเป็นคนเดิมที่เรารู้จัก และทิศทางความรัก ความรู้สึก ของเขา ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาอย่างใดเลย



    ชิงช้าสวรรค์และโอรีโอ: แบรม

    ถ้าเปรียบการตกหลุมรักเหมือนก้าวขึ้นรถไฟเหาะ อยากมองว่าชีวิต ความสัมพันธ์ เรากับเขาหลังคำสารภาพ เริ่มคุย เริ่มคบ ก็เหมือนการเดินทางด้วยชิงช้าสวรรค์


    การเดินทางที่ดำเนินไปวันต่อวัน เอื่อยๆ ไม่เร่งรีบ ถึงจุดพีค แล้วดิ่งลงจุดแตกหัก


    เราเชื่ออย่างที่เขาเคยว่ากันว่า สิ่งที่สำคัญคือการเดินทาง 'ระหว่างสองจุด' ต่างหาก คือการมองหน้ากันและกันระหว่างไซม่อนและแบรม เมื่อฝ่ายหลังตัดสินใจกระโดดขึ้นกระเช้า คือการนั่งข้างๆ กันอย่างอึดอัด awkward เล็กน้อย และไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าควรทำอะไรต่อ



    ความสัมพันธ์คือการจูนเรากับเขาเข้าหากัน จนการรับกาแฟเพิ่มเป็นแก้วที่ห้านั้นเป็นส่วนธรรมดาส่วนหนึ่งในชีวิต

    คือการลิ้มรสโอรีโอ ทั้งหวานและขมไปพร้อมกัน


    เพราะในความเนิบช้า ธรรมดาและเหงาเงียบของชีวิต โชคดีแค่ไหนแล้วที่มีอีกคนอยู่แบ่งปันโลกของเรา ผสม blur สีดำและขาวจนเป็นเทาอยู่กึ่งกลาง


    โลกน่ะไม่สวย ไม่พร้อมอ้าแขนรับเราตลอดไปหรอก


    แต่แค่มีเขา การเดินทางระหว่างสองจุดบนชิงช้าสวรรค์ก็ไม่โดดเดี่ยวอย่างที่เคยแล้ว.


    .


    ขอบคุณที่สนใจอ่านนะคะ <3


    คิดเห็น ชอบไม่ชอบยังไง รบกวนกดด้านล่างให้เรารู้ จะได้ปรับปรุงบทความต่อๆไปให้ดีขึ้นค่ะ

     
    ติชม พูดคุยกับเราทางเม้นท์ข้างล่างได้เสมอ


    หรือจะแวะมาทาง twitter: @cineflectionsx 

    หากชอบบทความ ฝากเพจ FB ด้วยนะคะ เราจะมาอัพเดทความคิด บทเรียน และเรื่องราวจากหนังที่ชอบทั้งเก่าและใหม่เรื่อยๆค่ะ



    ขอบคุณค่า

    x

    ข้าวเอง.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in