เป็นที่แน่นอนว่าเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ในฐานะของสิ่งมีชีวิตทางสังคมนั้นต้องอาศัยการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน โดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม ซึ่งในชีวิตของเราต้องสัมพันธ์อยู่กับบุคคลหลายประเภท แต่ละประเภทล้วนมีปทัสถานในการปฏิบัติทีแตกต่างกันออกไป โดยนักวิชาการในมุมจิตวิทยามุ่งเน้นไปที่ระดับความสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ในการจำแนก ตั้งแต่มีความสัมพันธ์ที่ผิวเผิน จนไปถึงความลึกซึ้งมากที่สุด ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในที่นี้สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1.คนรู้จัก 2.เพื่อน และ 3.คู่สัมพันธ์ระดับลึกซึ้ง อาทิ ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคู่รัก เป็นต้น
อนึ่ง การที่บุคคลจะเลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์กับใครนั้น เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาสังคมให้ความสนใจในการศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้พวกเราจะนำแนวคิดและทฤษฎีที่อธิบายการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Organ & Hammer, 1982) มาใช้เพื่ออธิบายและเชื่อมโยงกับปัญหาด้านผังเมืองในกรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบการวิเคราะห์และอธิบายให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวในขอบเขตของทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ทฤษฎีที่เราจะมุ่งเน้นเป็นหลักคือ ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน โดยทฤษฎีนี้ได้อธิบายการเกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรูปของกำไรและต้นทุน โดยที่ กำไร หมายถึง สิ่งที่เราได้จากการมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น ความพอใจในการสร้างความสัมพันธ์นั้น ๆ การได้รับการส่งเสริมสถานภาพส่วนตัว หรือการลดความวิตกกังวล เป็นต้น ขณะที่ต้นทุน หมายถึง สิ่งที่ไม่น่าพอใจในการสร้างความสัมพันธ์นั้น ๆ เช่น ความเหนื่อยล้า เบื่อ และวิตกกังวล
หากเชื่อมโยงปัญหาผังเมืองกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่มีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีแบบแผน การจัดสรรพื้นที่อย่างบกพร่องเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง หรือกฎหมาย Zoning policy ที่บังคับใช้อย่างไม่ทันกาล สาเหตุเหล่านี้จึงส่งผลกระทบให้กรุงเทพมหานครของเรานั้นมีผังเมืองที่ค่อนข้างยุ่งเหยิงและไม่เป็นระเบียบ อันส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจราจรบนท้องถนน ต้องมีการเผื่อเวลาการเดินทางจากการจราจรที่ติดขัด อีกทั้งเสมือนเป็นการกีดกันให้ผู้คนไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีราคาไม่แพงอย่างรถประจำทางได้อย่างสะดวก บีบคั้นให้ผู้คนต้องอาศัยการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีราคาสูงหากเทียบกับรายได้ขั้นต่ำประชากรอย่างรถไฟฟ้า หรือรถแท็กซี่ มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบให้ผู้คนเกิดความเหนื่อยล้า และเบื่อหน่ายต่อการเดินทางเช่นกัน
หากมองปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชากรกรุงเทพมหานครอันเป็นผลพวงจากผังเมืองให้เป็นต้นทุนของบุคคลหนึ่ง ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตามกรอบแนวคิดของทฤษฎีการแลกเปลี่ยนที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าต้นทุนนี้ค่อนข้างที่จะมีระดับที่สูงมาก หากเปรียบเทียบกับกำไรที่อาจเกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ อีกทั้งสิ่งที่ไม่น่าพอใจในการเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพมหานครนี้เราเห็นว่าจะมีมูลค่ามากกว่ากำไรที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย กล่าวคือ ต้นทุนที่สูงเช่นนี้แน่นอนว่าส่งผลกระทบด้านลบและเป็นอุปสรรคขัดขวางให้ผู้คนไม่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะมีระดับที่ลึกซึ้งแค่ไหนก็ตามอย่างแน่นอน
- urbaninlove ♡
อ้างอิง
- ญาติมา กระสินธุ์. “สัมพันธภาพของมนุษย์.” วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาออกแบบทัศนศิลป์., มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2557.
- natthawp. “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal.” สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2565. http://natthawp.blogspot.com/2011/08/interpersonal.html.
- NovaBizz. “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal.” สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2565. https://www.novabizz.com/NovaAce/Relationship/Interpersonal.html.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in