เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
of Dust and PaperSchvala_
- : วิเคราะห์ Lord of the Flies (3)

  • “อะไรมันดีกว่ากันฮึ -ระหว่างเป็นคนป่าเอาสีทาหน้าอย่างที่เป็นกันอยู่ หรือว่าเป็นคนที่มีเหตุมีผลอย่างราล์ฟ”

    “อะไรดีกว่ากัน ระหว่างการมีกฎระเบียบและอยู่ร่วมกัน หรือว่าการล่าสัตว์และการเข่นฆ่า”

    “อะไรดีกว่ากัน ระหว่างการกฎหมายและการได้รับความช่วยเหลือ หรือว่าการออกล่าแล้วก็ทำลายสิ่งต่างๆ”

     (Lord of the flies - Golding ,272)


    ------------------


    หลังจากที่เรารีวิวเรื่องนี้ไป ( https://minimore.com/b/8Osvk/1 - Lord of the flies : สัตว์ประหลาด กองไฟ และความเดียงสาของวัยเยาว์) และเขียนวิเคราะห์ไปแล้วสองบทความ

    ในบทความแรก เราพูดถึงเรื่องการก่อสร้างสังคม หลักการและเหตุผล (https://minimore.com/b/8Osvk/2 - หอยสังข์ กองไฟและการชุมนุม : วิเคราะห์ Lord of the Flies (1)) 

    ส่วนในบทความที่สอง เราได้พูดถึงเรื่องความดำมืดในจิตใจมนุษย์ ซึ่งความมืดดำนั้นได้นำไปสู่ความขัดแย้ง การล่มสลายของสังคม การต่อสู้ที่ลุกลามจนสุดท้ายแทบเผาทำลายเกาะทั้งเกาะ ( https://minimore.com/b/8Osvk/3 - หน้ากากสีและวัยเยาว์อันสิ้นสูญ : วิเคราะห์ Lord of the Flies (2)) 

    วันนี้เราจึงจะมาโฟกัสที่การปะทะของทั้งสองส่วนกัน ซึ่งนั่นก็คือประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้นั่นเองค่ะ


    ------------------


    Civilization VS Savagery 


    ความต่อสู้ระหว่าง Civilization -- การมีอารยธรรม มีหลักการเหตุผล กฎระเบียบ และ Savagery -- การทำตามความต้องการและสัญชาตญาณ ความป่าเถื่อนรุนแรง ถูกถ่ายทอดผ่านความข้อแย้งระหว่างราล์ฟและแจ็ค สองตัวละครหลักในเรื่อง


    Civilization หรือ อารยธรรม ในภาษาไทยราชบัณฑิตให้นิยามไว้ว่าหมายถึง “ความเจริญเนื่องด้วยองค์การของสังคม เช่น การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม” , “ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี” 

    เราจะเห็นว่าคำนี้มีความหมายกว้างมาก หมายรวมได้ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ในยังอดีตเคยมีการแยกออกเป็นอารยธรรมทางวัตถุและทางจิตใจ 

    แต่สำหรับในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้นิยาม Civilization ให้สื่อถึงกฎระเบียบ หลักการเหตุผล และการอยู่ร่วมกัน ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมสังคมมนุษย์นั่นเองค่ะ


    ราล์ฟเป็นตัวแทนจากฝั่ง Civilization ในเรื่อง เมื่อเขาได้เป็นหัวหน้า เขาก็พยายามสร้างสังคมเล็กๆ บนเกาะแห่งนี้ด้วยกฎระเบียบ (Order) ตั้งแต่การตั้งกฎหอยสังข์เพื่อความเป็นระเบียบในการประชุม ตั้งจุดประสงค์สูงสุดของสังคมคือการรักษากองไฟเพื่อขอความช่วยเหลือ แบ่งหน้าที่เด็กชายเป็นสัดส่วน ให้มีนักล่า มีคนเฝ้ายามกองไฟ สร้างเพิง จัดพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับน้ำดื่ม ที่จุดไฟทำอาหาร และขับถ่าย

    ตัวละครแจ็คในช่วงแรกก็ยังมีการยึดถือในกฎระเบียบแหละเหตุผล เขาเป็นคนพูดว่า “เราจะต้องมีกฎและทำตามกฎ ยังไงซะ พวกเราก็ไม่ใช่คนป่าเถื่อน” (Golding, 63)

    ก่อนที่ตอนหลังเขาจะเปลี่ยนไป และกลายเป็นตัวแทนของ Savagery แทน


    นอกจากนี้ สัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบ (Order) ได้ถูกแทนด้วยหอยสังข์ ซึ่งดูสวยงามล้ำค่า เป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจ

    “...สิ่งที่ดูลึกลับมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ทรงอำนาจมากที่สุด ซึ่งก็ถือหอยสังข์นั่นเอง” (Golding,32)

    ทว่า หอยสังข์เองก็ใช่ว่าจะมีอำนาจนัก ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก พวกเด็กๆ ก็ไม่ได้ทำตามกฎหอยสังข์กันแล้ว พวกเขาพูดแทรก ไม่ฟังคนถือหอยสังข์ นั่นเป็นเมล็ดพันธ์ุที่ผู้เขียนหยอดไว้ เพื่อจะนำไปสู่การล่มสลายของกฎระเบียบในภายหลังนั่นเอง

    ราล์ฟเองก็ตระหนักถึงความเปราะบางของอำนาจหอยสังข์นี้ได้แต่แรก เมื่อการชุมนุมครั้งหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นความวุ่นวาย หมูอ้วนบอกให้เขาเป่าหอยสังข์และเรียกทุกคนกลับมา แต่เด็กชายกลับบอกว่า

    “ถ้าฉันเป่าหอยสังข์ออกไปแล้วพวกนั้นไม่กลับมาล่ะ พวกเราก็จะจบสิ้นกัน เราจะไม่สามารถรักษาไฟให้คงอยู่ได้อีกต่อไป เราจะเป็นเหมือนสัตว์ป่า แล้วก็จะไม่มีวันได้รับการช่วยเหลือ” (Golding, 135)


    นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าหมูอ้วนเป็นคนที่ยึดบูชาและยึดมั่นในหอยสังข์มาก เขาไม่ใช่เด็กที่เหมาะกับการอยู่บนเกาะแบบนี้ ร่างกายของเขาไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในที่ที่มีแต่ธรรมชาติ หอยสังข์นำมาซึ่งความเป็นระเบียบ หลักการและเหตุผล ที่เป็นสิ่งเดียวที่เขารู้จัก ซึ่งปกป้องเขาจากความป่าเถื่อนบนเกาะแห่งนี้ได้

    แม้ต่อมาภายหลัง เมื่อกลุ่มของราล์ฟล่มสลายลง กฎระเบียบหมดความศักดิ์สิทธิ์บนเกาะนี้ไปแล้ว แต่หมูอ้วนก็ยังเป็นคนสุดท้ายที่พยายามยึดมันไว้ เขาอุ้มหอยสังข์ไปด้วยตอนที่ข้ามเกาะไปเผชิญหน้ากับเผ่าของแจ็คที่คาสเซิลร็อค หมูอ้วนไม่เคยตระหนักถึงการสูญสลายของกฎระเบียบและความเปราะบางของมันเลย ทว่าเมื่อราล์ฟเป่าหอยสังข์ที่นั่น และเรียกชุมนุมแต่ไม่มีใครตอบรับ เขาจึงได้ตระหนักว่าอำนาจของมันได้สิ้นสลายลงไปแล้ว

    ความตายของหมูอ้วนเกิดขึ้นพร้อมกับการแตกสลายของหอยสังข์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของ Civilization บนเกาะแห่งนี้อย่างแท้จริง


    ------------------


    Savagery หรือความป่าเถื่อน เป็นด้านตรงข้ามของ Civilization ในหนังสือได้แทนภาพของคำนี้ ด้วยการใช้ชีวิตอย่างคนป่า ไร้กฎระเบียบและข้อตกลงการอยู่ร่วมกัน ทำสิ่งต่างๆ ตามสัญชาติญาณและอารมณ์ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเข่นฆ่าและทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

    แจ็คเป็นฝั่งแทนของ Savagery ในเรื่องนี้ แม้ในตอนแรกของเรื่องเขาจะยังคงอยู่ในกฎระเบียบซึ่งเป็นชีวิตที่ติดมาจากสังคมเก่าของเขา ระหว่างที่เรื่องดำเนินไป เราจะได้เห็นการกระทำของเขาที่ค่อยๆ โน้มเอียงสู่ความป่าเถื่อนและไร้ระเบียบมากขึ้น เขาเพิกเฉยต่อหอยสังข์ ไม่สนใจกฎระเบียบและการขอความช่วยเหลือ

    หลายครั้งที่การชุมนุมสลายตัวลงด้วยการที่แจ็คกู่ร้องและนำเด็กคนอื่นๆ ไปสู่ความสับสนอลหม่าน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เด็กๆ เฮกันไปก่อกองไฟ หรือตอนสัตว์ประหลาดจากท้องทะเล ที่เขาพาเด็กๆ วิ่งไปวุ่นวาย และราล์ฟก็ไม่อาจทำสิ่งใดได้

    นอกจากนี้ แจ็คยังละเลยกองไฟขอความช่วยเหลือซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของสังคม เขาเห็นการล่าหมูสำคัญกว่า และพาเด็กที่เฝ้ากองไฟไปด้วย เพราะคนไม่ครบ จนนำไปสู่การมอดดับของกองไฟในที่สุด


    “กฎงี่เง่าน่ะสิ! เราเข้มแข็ง เราล่า! ถ้ามีสัตว์ประหลาดจริง เราก็จะล่ามันซะ! เราจะล้อมมันแล้วก็ตีๆๆๆ!” (Golding, 134)


    ภายหลังแจ็คแยกตัวออกไปตั้งเผ่าของตน เผ่าของเขาย้ายไปอยู่ยังคาสเซิลร็อคซึ่งอยู่อีกฝั่งของเกาะ เอาสีมาทาหน้าจนจำไม่ได้ว่าใคร ใช้ชีวิตด้วยการล่า กิน นอน โดยแจ็คมีอำนาจสูงสุด จนผู้เขียนได้เปลี่ยนคำเรียกของเด็กชายในเผ่าของแจ็คเป็น “คนป่า”

    แจ็คสถาปนาตนเองให้มีสถานะเหนือกว่าคนอื่น โดยเห็นได้จากฉากในถ้ำปราสาทหิน เขานั่งอยู่เหนือคนอื่น โดยมีบรรดาลูกเผ่านั่งเป็นครึ่งวงกลมอยู่ตรงหน้า

    แจ็คใช้อำนาจในเผ่าของตนเองอย่างป่าเถื่อนและทำตามความพอใจของตนเอง เขาลงโทษเด็กชายคนอื่นอย่างไร้เหตุผล ความน่ากลัวของอำนาจนี้ถูกถ่ายทอดผ่านความคิดของโรเจอร์  เมื่อเด็กชายตระหนักถึง “ความเป็นไปได้ต่างๆ ของอำนาจอันไร้ซึ่งความรับผิดชอบชั่วดี” (Golding ,240)


    ความป่าเถื่อนได้แสดงให้เป็นผ่านการล่าหมู การเต้นรำ และการฆาตกรรมอันโหดร้ายในคืนพายุ 

    และเมื่อพวกเขาต้องการสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหรือไฟ การได้มามิใช่การเจรจาเช่นที่สังคมมนุษย์ยอมรับกัน แต่กลับเป็นการเข่นฆ่าและลักขโมย

    ในตอนที่แจ็คและพวกบุกเข้ามายังฝั่งของราล์ฟเพื่อขโมยแว่นตาของหมูอ้วน หมูอ้วนรีบวิ่งไปถือหอยสังข์ไว้ เพราะเข้าใจว่าอีกฝ่ายมาเพื่อสิ่งนี้ ทว่า แจ็คไม่ได้สนใจหอยสังข์ซึ่งเป็นตัวแทนของกฎระเบียบเลย เพราะสำหรับเขาและเผ่าของเขา มันไม่มีค่าอะไรอีกแล้ว 

    เด็กชายตั้งใจมาเพื่อขโมยไฟ ในสายตาของแจ็ค ไฟต่างหาก คืออำนาจที่แท้จริง

    อย่างไรก็ตามแจ็คไม่ได้ใช้ไฟเพื่อจุดประสงค์ในการขอความช่วยเหลือเช่นเดียวกับราล์ฟ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่สนใจการได้กลับไปสู่สังคมที่มีกฎระเบียบของผู้ใหญ่อีกต่อไป ไฟของแจ็คถูกใช้ในการปรุงอาหารที่มาจากการล่า

    การที่ไฟถูกเปลี่ยนผ่านจากฝั่งราล์ฟไปสู่แจ็ค เปรียบเสมือนการเปลี่ยนผ่านของอำนาจในเกาะแห่งนี้ จาก Civilization ไปสู่ Savagery


    ------------------


    ในขณะเดียว แม้ราล์ฟจะเป็นตัวแทนของ Civilization แต่ตัวเขาเองก็ยังมีด้านของความป่าเถื่อนในใจ ดังแสดงในฉากที่ราล์ฟได้ออกไปล่าหมู  เมื่อเขาขว้างหอกโดนหมูได้ มันก็นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่เด็กชาย และในการเต้นรำหลังการล่าครั้งนั้น ราล์ฟเองก็ “พยายามแย่งชิงที่จะเข้าไปให้ใกล้ที่สุดเพื่อจะลงมือกับเนื้อหนังสีน้ำตาลอันบอบบาง ความปรารถนาที่จะเบียดเสียดเข้าไปเพื่อทำร้าย ครอบงำความคิดความรู้สึกทั้งมวล” (Golding, 170)


    หรือใจตอนที่ทั้งเขาและหมูอ้วนก็เข้าร่วมการเต้นรำป่าเถื่อนในคืนพายุที่นำไปสู่ความตายของไซมอน 

    ทว่าศีลธรรมในใจทำให้เด็กชายทั้งสองพยายามปกปิดและลืมความผิดในครั้งนั้น แม้จะรู้อยู่แก่ใจ แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดออกมาถึงความโหดร้ายที่ตนเองได้กระทำ ทั้งยังพยายามหาข้ออ้างให้แก่การกระทำอันโหดร้ายผิดมนุษย์นั้น พวกเขาล้วนไม่อยากยอมรับในความมืดดำในใจตนเอง และไม่อยากจะยอมรับว่าตนเองก็ไม่ต่างจากพวกแจ็ค

    “มันเป็นอุบัติเหตุ”

    “ตอนนั้นมันมืด แล้วก็มีไอ้การ-การเต้นรำบัดซบนั่น มีทั้งฟ้าร้องฟ้าผ่า  แล้วก็ฝน แล้วพวกเราก็กลัว!”

    “อย่าพูดไปล่ะว่าเราไปเต้นกับพวกนั้นด้วย -- เราไม่ได้อยู่จนจบ ไม่มีใครดูออกหรอกในความมืด” (Golding, 235-236)


    ------------------


    เด็กคนอื่นก็มีแนวโน้มจะเอนเอียงไปทางความป่าเถื่อนเป็นพื้นฐานเช่นกัน 

    ในตอนที่ยังมาถึงเกาะได้ไม่นาน พวกเด็กๆ ก็เริ่มถอดเสื้อ เหลือแต่กางเกงขาดๆ ซึ่งเสื้อผ้านั้นจะสื่อถึงสิ่งใดได้ นอกจากอารยธรรมที่ทำให้มนุษย์ห่างไกลจากความป่าเถื่อนและความเป็นสัตว์นั่นเอง

    เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำตามกฎระเบียบ พวกเขาก็ทำตามได้เพียงในเวลาสั้นๆ ก่อนจะหันไปเล่นสนุกกันตามอารมณ์ ปล่อยให้เด็กไม่กี่คนต้องทำงานต่อไป

    และในเวลาต่อมา เมื่อต้องเลือกระหว่างการอยู่เผ่าของแจ็คที่ร้องเล่นเต้นรำ ล่าสัตว์และกินเนื้อ ทำอะไรตามใจชอบ หิวก็กิน ง่วงก็นอน กับราล์ฟที่มีกฎระเบียบตลอดเวลา เด็กส่วนใหญ่จึงหันไปเข้าร่วมกับแจ็คในที่สุด


    ในส่วนนี้ เราคิดว่าผู้เขียนต้องการสื่อว่า โดยธรรมชาติ แล้วพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ที่แนวโน้มจะทำตามสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ในขณะที่หลักการและเหตุผล Civilization ต่างๆ เป็นสิ่งที่สังคมได้ก่อรูปร่างจิตใจเราในภายหลัง เพื่อควบคุมการกระทำของบุคคลให้อยู่ร่วมกันได้

    อีกส่วนที่ผู้เขียนแสดงให้ถึงจุดที่ว่าเนื้อแท้ของจิตใจมนุษย์มีแนวโน้มจะทำตามอารมณ์ความรู้สึก มากกว่ากฎระเบียบ คือส่วนที่เอ่ยถึงพฤติกรรมของเด็กเล็ก เด็กที่ยังไม่โตพอที่จะเข้าใจหลักการและเหตุผลใดๆ เมื่อถูกปล่อยปละละเลย ไม่ถูกครอบด้วยสังคมของผู้ใหญ่ 

    "...ใช้ชีวิตแบบสุดขั้ว พวกเขาจะกินทั้งวัน หยิบเก็บผลไม้เท่าที่ตนเองเอื้อมถึง โดยไม่สนใจว่าสุกไม่สุก กินได้หรือเน่าเสียแล้ว” (Golding, 86)  

    “อารมณ์ความรู้สึกรวมทั้งการใช้ชีวิตนั้น เป็นของพวกเขาโดยสมบูรณ์” (Golding,87)


    หรือแม้กระทั่งในสังคมของผู้ใหญ่ ผู้เขียนยังได้เสียดสีประเด็นนี้เอาไว้อย่างแนบเนียน เด็กชายที่เครื่องบินตกลงบนเกาะ พยายามสร้างสังคมโดยการอิงจากอารยธรรมจากสังคมผู้ใหญ่ที่พวกเขารู้จัก ทว่าสาเหตุของการที่พวกเขาตกอยู่ในสภาพนี้ มิใช่เพราะความล้มเหลวของ Civilization ในโลกผู้ใหญ่ ที่ถูกความป่าเถื่อนครอบงำจนเกิดสงครามหรอกหรือ


    ------------------


    เราคิดว่าไม่ว่า Civilization หรือ Savagery ล้วนแต่มีอยู่ในใจของเราทุกคน และความขัดแย้งที่ถูกถ่ายทอดออกมาในเรื่องนี้ ก็สื่อถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ ระหว่างความปรารถนาจะทำตามอารมณ์และสัญชาติญาณของตน หรือการทำตามกฎระเบียบ หลักการและเหตุผล

    ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้สื่อให้เราเห็นว่า พื้นฐานของมนุษย์ย่อมมาจากอารมณ์และสัญชาตญาณ แต่การอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นจะต้องมีหลักการและเหตุผล 

    เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่ประกอบขึ้นจากทั้งอารมณ์และเหตุผล หากไม่มีสัญชาตญาณ มนุษย์เราอาจไม่มีชีวิตรอดจนถึงทุกวันนี้ เด็กบนเกาะคงไม่สามารถล่าหมูได้ หากปราศจากอารมณ์ เราย่อมปราศจากความสร้างสรรค์และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และหากปราศจากเหตุผล การอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมเป็นไปได้ยาก

    ดังนั้นบางทีการมีชีวิตอยู่ก็คงต้องหาทางให้ทั้งสองส่วนอยู่กันอย่างสมดุลให้ได้ คงจะดีน่ะค่ะ


    ------------------


    ของวันนี้จบแล้วค่าา ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ

    เรื่องนี้ประเด็นเยอะมากเลย พอลองมานั่งตีความเลยต้องหั่นเป็นหลายๆ ท่อนเลยค่ะ

    แล้วก็อย่างที่เราเคยบอกไปแล้ว (แต่ก็คงบอกอีกทุกบทความ ;-;) นี่ก็เป็นการตีความเอาของเราคนเดียว ถ้าหากมีอะไรผิดพลาดตรงไหน หรือใครมีความคิดอะไรอยากแลกเปลี่ยนก็มาคุยกันได้นะคะ

    Schvala 

    21 July 2020

    ------------------


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in