“Pride and Prejudice”
ดาร์ซี่และอลิซาเบ็ธ หญิงสาวและชายหนุ่มในเครื่องแต่งกายที่มองเพียงครั้งแรกก็ทำให้ผู้ชมนึกถึงสังคมในยุคศตวรรษที่19 Pride and Prejudice เป็นเรื่องราวที่นำเสนอมุมมองความรักระหว่างชนชั้นของคนในยุคสมัยวิคตอเรียนเมื่อหนทางเดียวของหญิงสาวในการการยกระดับฐานะตนเองคือการแต่งงาน
“Breakfast at Tiffany’s”
หญิงสาวที่มาพร้อมกับชุด Little black dress ประดับด้วยเครื่องเพชรหรูหราถือครัวซองต์พร้อมจิบกาแฟชื่นชมเครื่องเพชรหน้าร้าน Tiffany & Co. ความ iconic เหล่านี้คงสื่อถึงใครไม่ได้หากไม่ใช่ ฮอลลีโกไลต์ลี หญิงสาวชนชั้นสูงกำมะลอที่รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์และความลึกลับผู้อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันเธอใช้ชีวิตไปกับการออกงานสังสรรค์กับชายหนุ่มกระเป๋าหนัก แต่ท้ายที่สุดแล้ว เธอเพียงต้องการใครสักคนเพื่อแต่งงานด้วยและหวังว่าจะได้หลุดพ้นวังวนเหล่านี้เสียที
หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่าเคยได้ยินชื่อภาพยนตร์เหล่านี้ผ่านหูหรือเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างเพราะความโด่งดังและเป็นที่นิยมอย่างเหนือการเวลารวมถึงการผลิตซ้ำของภาพยนตร์แนวนี้ยังคงเป็นที่ถูกใจผู้ชมอยู่เสมอ เรื่องราวความรักทั้งสุขนาฎกรรมและโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของประเภทละครที่เราเรียกว่า Comedy of Manners หรือตลกผู้ดี
ในช่วงที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ของอังกฤษกลับขึ้นสู่บัลลังก์อีกครั้งหรือที่เรียกกันว่ายุคฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ (Restoration Period) ของประเทศอังกฤษนั้น เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ชนชั้น Aristocrat หรือชนชั้นสูงรวมถึงเหล่าขุนนางขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในสังคม ส่งผลให้เรื่องชู้สาว ความฟุ่มเฟือย ความหรูหรา ความโลภ และเล่ห์เหลี่ยมกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในขณะนั้น และเมื่อนักประพันธ์บทละครเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็คงเป็นเรื่องแปลกหากจะไม่นำมาเสนอในรูปแบบของละคร
Restoration Plays มักถูกนำเสนอในรูปแบบของ Comedy ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของละครในยุคสมัยนี้และองค์ประกอบหลักของ Comedy ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราววายป่วงของชนชั้นสูงหรือ Comedy of Manners ที่ได้รับอิทธิพลจาก Comedy of the Humours โดย Ben Johnson ละครประเภทนี้เป็นละครที่เสียดสีชีวิตและการกระทำของคนในสังคมชั้นสูงได้อย่างมีศิลปะและแยบยล การเสียดสีเป็นเครื่องมือทางการแต่งบทประพันธ์หลายรูปแบบจนทำให้ศตวรรษที่ 17-18 ได้ชื่อว่าเป็น An Age of Satire ทำให้ผู้ชมชนชั้นสูงส่วนมากรู้สึกขำขันและพึงพอใจ นอกจากนี้ยังนำเสนอ stereotype ของวงสังคมชนชั้นสูง ทำให้ผู้ชมทั่วไปเข้าใจได้ค่อนข้างยากเนื่องจากการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยไหวพริบและเสียดสีอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นผู้ชมเองก็ต้องเข้าใจความหมายโดยนัยต่าง ๆ ของชนชั้นสูงที่ละครกล่าวถึงด้วยจึงจะสามารถรู้สึกขำขันไปกับความตลกร้ายดังกล่าว อย่างไรก็ดี Comedy of manners ได้ถูกนำกลับมาแสดงใหม่ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างหลายคนนำองค์ประกอบของ Comedy of manners มาเป็นบทบาทสำคัญในละครหรือภาพยนตร์ ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทั้ง Pride and Prejudice และ Breakfastat Tiffany’s ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นเรื่องราวของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง เรื่องราวความรัก ผู้หญิง เงินทอง ความโลภและความภาคภูมิใจในการเป็นชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น ฮอลลี โกไลต์ลี ที่พยายามจะก้าวเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองนิวยอร์คเพื่อยกระดับตนเองหรือ ดาร์ซี ที่ภาคภูมิใจในทรัพย์สมบัติ สิทธิพิเศษ และชนชั้นทางสังคมที่ตนมี หากจะอธิบายให้คนไทยนึกภาพง่ายขึ้นก็คงคล้ายกับละครไทยเรื่องบ้านทรายทองหรือน้ำตากามเทพ ที่สามารถเอาเรื่องราวของไฮโซ ชนชั้นสูงมาเล่าผ่านซีรีส์ตอนสั้นๆ และสร้างความขบขันให้แก่ผู้ชมได้อย่างคมคาย
นอกเหนือจากข้อคิดที่ภาพยนตร์เหล่านี้ทิ้งไว้ให้เราได้ซึมซับและตีความ องค์ประกอบของ Comedy of Manners ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ หากเปรียบเป็นการเดินทาง Comedy of Manners ก็นับว่าได้เดินทางจากยุควิคตอเรียนมาจนถึงปัจจุบันโดยที่ยังคงสร้างความประทับใจเหนือกาลเวลาให้ผู้ชมแทบทุกยุคทุกสมัย
ในยุคที่ชนชั้นกลางเริ่มมากขึ้น การได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกลายมาเป็นมาตรฐานของสังคม การเข้าหาเส้นสายหรือสิทธิพิเศษในสังคมกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ไม่ว่าใครก็ต่างต้องการ เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตระบบทุนนิยม ถ้าหากเราได้นำเอาบทละครในยุคสมัย Restoration มานำเสนอในยุคสมัยปัจจุบันก็คงจะหนีไม่พ้นบทละครเรื่อง The Way of The World โดย William Congreve ที่นำเสนอเรื่องราวของชนชั้นสูงในศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นการคบชู้การแต่งงาน ชนชั้นทางสังคม เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด การวางแผนที่ฉลาดแกมโกง รวมถึงการแย่งมรดกและทรัพย์สิน
The Way of The World หรือในฉบับแปลไทยมีชื่อว่าศึกอสรพิษ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตระกูลชนชั้นสูง เริ่มด้วยการเลิกราของ Mirabell และ Mrs.Fainall โดย Mirabell แนะนำให้เธอแต่งงานกับ Fainall อันเนื่องจากข่าวฉาวเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของเธอและเพราะ Fainall มีเงินและชนชั้นที่ดีกว่าตัว Mirabell เอง
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยความรักของ Mirabell ต่อ Millamant ทั้งคู่เกือบจะได้เข้าสู่ประตูวิวาห์แล้วแต่เรื่องก็คงไม่กลับตารปัตรหาก Mirabell ไม่เข้าหา Millamant ด้วยการทำดีต่อป้าของเธอหรือ Lady Wishfort จนทำให้สาวแก่แม่ม้ายเผลอหลงผิดคิดว่า Mirabell ตกหลุมรักตนเสียจนหัวปักหัวปำทำให้ Lady Wishfort ตัดสินใจยกหลานสาวของตนให้แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเธอ ด้วยเหตุนี้ Mirabell จึงตัดสินใจวางกลอุบายกับคนรับใช้ให้ปลอมตัวเป็น Sir Rowland โดยหลอกว่าเป็นลุงแท้ ๆ ของตนผู้มีทรัพย์สินมากมาย และส่งคนใช้ไปแต่งงานกับ Lady Wishfort แล้วจึงจะเฉลยต่อ Lady Wishfort ในภายหลังว่าแท้จริงแล้ว Sir Rowland ไม่ใช่เศรษฐีจากไหนแต่เป็นเพียงแค่คนรับใช้เท่านั้นและเขาจะไม่เปิดเผยความจริงที่ว่า Lady Wishfort ตกลงปลงใจแต่งงานกับ Sir Rowland ให้ใครฟังหากเธอยอมให้เขาแต่งงานกับหลานของตน อย่างไรก็ดีความวายป่วงของเรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่ทาง Fainall สามีของ Mrs.Fainall ลูกสาวแท้ๆ ของ Lady Wishfort กลับหักหลังและวางแผนจะเปิดโปงแผนการของ Mirabell เนื่องจากเพื่อนสนิทของ Lady Wishfort หรือ Mrs.Marwood ได้บังเอิญไปได้ยินการวางแผนดังกล่าวของ Mirabell จึงตัดสินใจแฉเรื่องราวความสัมพันธ์ของ Mirabell ที่เคยคบหาดูใจกับ Mrs.Fainall เพื่อทำลายชื่อเสียงและหวังชิงทรัพย์สมบัติของครอบครัว Lady Wishfort แต่ท้ายที่สุดแล้วฝ่าย Mirabell ที่ถึงแม้จะเป็นคนรักเก่าของ Mrs.Fainall แต่ยังคงความสัมพันธ์ฉันมิตรไว้ได้อย่างดีก็ออกมาแฉการคบชู้ระหว่าง Fainall และ Mrs.Marwood เพื่อนสนิทของ Lady Wishfort และเอาชนะไปด้วยการเผยว่าแท้จริงแล้วทรัพย์สินของ Mrs.Fainall มีกรรมสิทธิ์เป็นของเขาเนื่องจากทั้งคู่ได้ทำสัญญากันไว้เพราะไม่ไว้ในการแต่งงานระหว่าง Mrs.Fainall และ Fainall มากนัก
https://www.coursehero.com/lit/The-Way-of-the-World/
เรื่องราวเหล่านี้อธิบายชื่อเรื่อง The Way of The World ได้ดี แม้เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนอย่างมากแต่ก็ยังสามารถนำเสนอธีมหลักของเรื่องให้เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ชนชั้น เงินทองเล่ห์เหลี่ยม หรือความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ดึงดูดตัวละครให้เข้ามาสู่ความโกลาหลของชีวิตอย่างไม่จบสิ้น ส่งผลให้ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการตีความคงเป็นเรื่องความรักและการแต่งงานซึ่งมักมาพร้อมกับเรื่องของเงินทองที่ทำให้เหล่าชนชั้นสูงต้องออกมาสู้กันด้วยความฉลาดที่เต็มไปด้วยเล่ห์ และประเด็นที่เด่นชัดอีกหนึ่งแง่มุมได้แก่ "ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่มีคุณธรรมหรือศีลธรรมสูงกว่าจะเป็นผู้ชนะแต่คนที่วางกลอุบายได้ดีและมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าต่างหากที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง" เห็นได้จากกรณีที่ Mirabell ได้ทั้งแต่งงานกับคนที่ตนรักพร้อมกับการได้ครอบครองทรัพย์สินของอีกฝ่าย สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ได้วบลูปในวงโคจรของชีวิตเหล่าไฮโซ ชนชั้นสูงในยุคสมัยนั้นอย่างไม่จบสิ้น แล้วใครกันล่ะที่บอกว่านี่คือ วิถีแห่งโลก ถ้าไม่ใช่ “พวกเขา” เหล่านั้น คนที่ถืออภิสิทธิ์อยู่เหนือใครๆ และเรียกตนเองว่าเป็นชนชั้นสูง
จะเป็นอย่างไรหากนำ The Way of The World มาจัดแสดงใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ?
แน่นอนว่าความสำเร็จของการนำเสนอละครตลกผู้ดียังไม่เสื่อมคลายไปจากสังคมในปัจจุบัน ในประเทศไทยก็เช่นกัน เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะ วิถีแห่งโลกที่ถูกกล่าวถึงนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก “ความรัก ความโลภ ชนชั้นทางสังคม การวางกลอุบาย” ยังคงเป็นสิ่งสากลที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้
ในเมื่อเรื่องราวตลกร้ายยังคงเป็นสูตรละครที่สร้างความขบขันรวมถึงกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสังคม การนำ Comedy of Manners มาเสนอในรูปแบบภาพยนตร์หรือละครไทยก็คงไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกไกลตัวแต่อย่างใด ถ้าหากเราได้นำ The Way of The World มานำเสนอใหม่อีกครั้งในปี 2020 ก็คงทำให้ผู้ชมได้ฉุกคิดและเห็นว่าอะไรบ้างที่เป็น วิถีแห่งโลกแบบเดิม แล้วอะไรบ้างที่เป็น วิถีแห่งโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
ในยุคที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทในแทบทุกมุมโลก เงินตราล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนในสังคมได้ลืมตาอ้าปาก และสามารถขยับชนชั้นของตนจากชนชั้นกลางกลายเป็นชนชั้นสูงด้วยอำนาจของทรัพย์สินเงินทอง จะมีชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงสักกี่คนที่จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมได้อย่างถ่องแท้ ตัวอย่างเช่นในปี 2020 ที่เกิดโรคระบาดอยู่ทั่วทุกที่ บางคนก็ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง มีวิธีรักษาแสนยากลำบาก แต่กลับมีคนบางกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เหนือใครกล่าวว่า โรคระบาดเหล่านี้คือฮีโร่ บ้างก็ว่าเป็นระบบคัดสรรของธรรมชาติเพื่อจะหาผู้ที่อยู่รอด
คำพูดเหล่านี้ล้วนมาจากเหล่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงในสังคมที่ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และถึงแม้จะได้รับผลกระทบ เพียงแค่มีเส้นสายและเงินทองก็คงแก้ไขได้ไม่ยากเท่ากับชนชั้นล่าง หากเรามองปัญหาทางทัศนคติเหล่านี้ลึกลงไปอีก ก็อาจช่วยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ได้ชัดมากขึ้น ดังนั้นหากเรานำ The Way of The World มาดัดแปลงและทำการแสดงในแบบฉบับของไทย มันอาจช่วยเป็นกระจกสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
การนำ The Way of The World มาดัดแปลงและจัดแสดงในไทยนั้นควรจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวละครจากชนชั้นสูงที่ดูหรูหรา อู้ฟู้มาเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอภิสิทธิ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างขึ้น โดยเริ่มต้นนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่เกิดไปจนถึงการวางแผนชีวิตของลูกในกลุ่มชนชั้นสูงให้ได้เข้าโรงเรียนที่อยู่ในอันดับดี พอเริ่มมีเส้นสายก็ถือเป็นการซื้อสังคมให้ตัวเด็กและพ่อแม่เอง และเมื่อโตขึ้นตัวละครก็จะก้าวเข้าสู่การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมระดับเดียวกัน ตรงนี้อาจจะยิ่งทำให้ผู้ชมหลายคนเริ่มมองเห็นตัวเองจากตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายในการแข่งขันกันทางสังคมเพื่อก้าวไปสู่สถานะที่สูงกว่า การแข่งขันทางการศึกษา ความหรูหราและเรื่องราวความรักที่วนเวียนอยู่ภายในกลุ่มคนชนชั้นเดียวกันที่ในตอนท้ายก็คงไม่หลุดพ้นจากวงโคจรเดิมๆ กล่าวคือลงเอยด้วยการแต่งงานกันของชนชั้นสูง มีลูก และวนลูปเดิม
การปรับบทละครให้เข้ากับบริบททางสังคมไทยอาจเริ่มจากการวางแผนสร้างกลอุบายในการเอาชนะกันแบบสงครามประสาท เพื่อความเหนือกว่าทางสังคม การศึกษา หรือหน้าที่การงาน เพียงเพื่อจะได้มีหน้าตาทางสังคมและเอาไว้คุยโวโอ้อวดกัน ถึงแม้ผู้ชมจะไม่ใช่กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่หากอยู่ภายในวงสังคมเช่นนี้ก็คงจะรู้สึกได้ถึงการเสียดสีตามแบบฉบับของบทละครเรื่อง The Way of The World
ในตอนจบของเรื่องเราจะยังคงต้นฉบับของ The Way of The World เอาไว้ เพียงแต่ดัดแปลงให้เห็นถึงวังวนของสังคมชนชั้นสูงให้ชัดเจนมากขึ้นโดยนำเสนอมุมมองและการใช้ชีวิตของชนชั้นล่างที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง และคงประเด็นหลักของเรื่องที่ว่า คนที่วางกลอุบายได้ดีและมีเล่ห์เหลี่ยมมากกว่าคือคนที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ดังนั้นผู้ที่ผูกขาดหน้าตาในสังคม การศึกษาหรือหน้าที่การงานที่ดีก็จะยังคงเป็นกลุ่มชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงอยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะขึ้นมาเป็นที่หนึ่งเหนือคนในวงสังคมนั้น ๆ
ความคลาสสิคของการนำเสนอละครด้วยรูปแบบการเสียดสีและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กล่าวข้างต้นยังคงมีให้เห็นอยู่ในทุกวันของชีวิต ทำให้สองปัจจัยนี้อาจเป็นตัวตัดสินที่ดีว่าหากนำบทละครเรื่อง The Way of The World มาดัดแปลงและนำเสนอในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบรับดีเหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Pride and Prejudice และ Breakfastat Tiffany’s ที่กล่าวไปข้างต้น ละครเรื่องนี้อาจทำให้ผู้ชมได้กลับไปตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ และนำไปสู่การสนทนาในวงกว้างเกี่ยวกับปัญหาในสังคมที่เรามองข้ามไป
แม้ว่าการสร้างหรือรับชมละครเรื่องนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้างหายไปอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างน้อยที่สุดเราคาดหวังว่ามันจะเป็น Soft Power ที่ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงอำนาจและอภิสิทธิ์ที่ตนมีและตระหนักได้ว่าถึงแม้เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจจะยังคงมีผลต่อการดำเนินไปของโลก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องดิ้นรนหามาเพื่อที่จะได้อยู่ "เหนือ" กว่าผู้อื่น
แม้ว่าในวันนี้ The Way of The World หรือวิถีของโลก จะไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก และคนบางกลุ่มยังคงมองว่า “โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ” แต่วันใดวันหนึ่งในอนาคตเรายังคงตั้งความหวังไว้ว่า “วิถีของโลก” จะเปลี่ยนไป และ “พวกเขา”จะไม่ใช่เพียงชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งที่จะถือสิทธิ์นิยามโลกใบนี้ไว้เพียงชนชั้นเดียว
- บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา History of Theatre I (บันทึกไว้อ่านเองและขอบคุณสำหรับทุกคนที่สนใจค่ะ☺️)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in