เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน By พริษฐ์ วัชรสินธุ
  • รีวิวเว้ย (1299) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    .
    หลักการพื้นฐานข้อหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ เรื่องของ "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" ดังคำที่ปรากฏในฐานะรากของคำว่าประชาธิปไตยที่มาจาก ประชา + อธิปไตย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงหลักใหญ่ใจความของการปกครองในระบอบดังกล่าว แต่แน่นอนว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจจะไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียวและความหมายของคำว่าประชาธิปไตยเองในปัจจุบันก็มีส่วนขยายในฐานะคำคุณศัพท์ที่มาเติบและต่อท้ายเพื่อขยายความให้กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่กล่าวไว้ในเบื้องแรก แต่ไม่ว่าเหล่าคพคุณศัพท์สำหรับขยายความเหล่านั้นจะมีมากมายเพียงใด ในท้ายที่สุดแล้วรากของคำว่าประชาธิปไตยและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ควรยึดและโยงอยู่กับแก่ยแกนสำคัญอย่างเรื่องของ "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" มิเช่นนั้นแล้วเราจะเรียกระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชนว่า "ประชาธิปไตย" ก็คงจะกระไรอยู่
    หนังสือ : DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน
    โดย : พริษฐ์ วัชรสินธุ
    จำนวน : 320 หน้า
    .
    "DREAMOCRACY" ในชื่อภาษาไทยว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน" เป็นหนังสือที่ได้รวบรวมเอาข้อเขียนต่าง ๆ ของผู้เขียนที่ว่าด้วยเรื่องของประชาธิปไตยมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้จุดยึดโยงที่อยู่กับเรื่องของ "ความหวัง" ของพลเมืองที่อยากเห็นสังคมประชาธิปไตยเกิดมีขึ้นในสังคมแห่งนี้ โดยบนคำโปรยบนปกหน้าของหนังสือได้เขียนเอาไว้ว่า "25 ความฝันจากพลเมืองที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า"
    .
    แน่นอนว่าหนังสือ "DREAMOCRACY" ได้รวมรวมเอา 25 ข้อเขียนที่ว่าด้วยเรื่องของความฝันถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่น่าสนใจมารวมไว้ด้วยกันในทีเดียว ด้วยการจัดหมวดหมู่เรื่องราวทั้ง 25 เรื่องผ่านภาพแทนของประชาธิปไตยไทยผ่านหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ (1) หนังสือเล่มแรกว่าด้วยเรื่องของรัฐธรรมนูญ (2) หนังสือเล่มที่สองว่าด้วยเรื่องของเอกสารงบประมาณประจำปี และ (3) หนังสือเล่มที่สามว่าด้วยเรื่องของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    .
    ที่หนังสือแต่ละเล่มจะบอกเล่าเรื่องราวและมุมมองที่น่าสนใจต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างที่เป็นอยู่ ดังที่ควรจะเป็นและอยากให้มันเป็นในอนาคต โดยในแต่ละบทนั้นจะบอกเล่าเรื่องราว และชักชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถาม ต่อประเด็นสำคัญที่นำพาสังคมไปสู่ความเป็นหนึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องของบทบาทของ สว. เรื่องของการกระจายอพนาจสู่ท้องถิ่นและการเพิ่มรายได้ท้องถิ่นให้มากขึ้น เรื่องของการจัดสรรงบประมาณของกองทัพ งบประมาณด้านสาธารณะสุข และร่วมไปถึงเรื่องการศึกษา ที่แต่ละเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดใน "DREAMOCRACY" คือการสะท้อนด้านและมุมหนึ่ง ๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อาจจะบิดเบี้ยวอยู่ในโมงยามของสังคมในเวลานี้ (พ.ศ. 2566)
    .
    เมื่ออ่าน "DREAMOCRACY" จบลง สิ่งหนึ่งที่นอกเหนือไปจากเรื่องของการได้เรียนรู้ในข้อเท็จจริงทางการเมืองในหลายประการแล้ว สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ได้ทิ้งเอาไว้ก็เป็นไปตามชื่อของหนังสือทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะอย่างที่เรารู้กันและอย่างที่มันควรจะเป็น การปกครองในระบอบประชาธิปไตย "ไม่ใช่ความฝัน" หากแต่เป็นความจริงที่เราจะต้องร่วมกันฝ่าฟันเพื่อให้ได้มันมา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in