รีวิวเว้ย (1822) ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนในฐานะของผู้ช่วยวิจัย เคยได้มีโอกาสทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของพฤติกรรมของผู้คนกับการทำงาน โดยโจทย์ของงานชิ้นดังกล่าวได้พยายามตั้งคำถามต่องานเชิงพฤติกรรมที่มีการศึกษาในต่างประเทศว่า "คนเรามีแนวโน้มที่จะย้ายบ้านหรือที่พักอาศัยไปอยู่ใกล้ ๆ ที่ทำงาน" โดยงานวิจัยชิ้นนี้ต้องการจะสอบทานความถูกต้องของทฤษฎีดังกล่าวต่อกรณีศึกษาของกรุงเทพฯ เมืองแห่งโอกาสและการจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่มีกลุ่มประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ในช่วงเช้าและออกจากเมืองเพื่อกลับบ้านในตอนเลิกงานมากกว่า 5 ล้านคน ผลของงานศึกษาชิ้นดังกล่าวพบว่าพฤติกรรมของคนไทยและคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ (ชั้นใน) ไม่ได้ย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อให้มาอยู่ใกล้กับที่ทำงานเพราะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางครอบครัว ในครั้งนั้นมีโอกาสสัมภาษณ์คนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และพบว่าเขาต้องไป-กลับ กรุงเทพฯ-อ่างทอง ในทุกเช้าเย็น
หนังสือ : เปิดเมือง (ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2568) ฉบับปฐมฤกษ์
โดย : กรุงเทพมหานคร
จำนวน : 86 หน้า
.
"วารสารเปิดเมือง (ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2568) ฉบับปฐมฤกษ์" เป็นวารขนาดสั้นที่บรรจุข้อมูลขนาดยาวที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย เข้าใจได้ และไม่จำเป็นต้องปีนกะไดอ่านเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวของเมืองกรุงเทพฯ ทั้งในมิติเรื่องของเมือง ผู้คน ความหลากหลาย และอีกหลายกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ได้ดำเนินมาตลอดหลายปีนับตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งของ อ.ชัชชาติ โดยที่สารบัญของ "วารสารเปิดเมือง" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ Bangkok Today, น้อยแต่มาก, เปิดเมือง, เมืองคือคน, ถอดรหัสเมือง, City Lab และ Snap Shot ที่ในแต่ละกลุ่มจะมีการบอกเล่าเรื่องเล่าและเรื่องราวของกิจกรรมที่ได้ดำเนินไป และผลที่ได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ
.
สำหรับเราในฐานะของผู้อ่าน และในฐานะของคนที่เติบโตมากับยุคสมัยของ "วารสารฟรี" ที่แจกตามสถานีขนส่งต่าง ๆ ในอดีต ความสนุกอย่างหนึ่งของการอ่าน "วารสารเปิดเมือง" คือนอกจากจะทำให้ได้ย้อนคิดถึงวันเก่า ๆ (Good Old Day) แล้ว "วารสารเปิดเมือง" ยังเปิดข้อมูลและกิจกรรมต่าง ๆ ของเมือง อย่างกรณีของ "เปิดเมืองด้วยข้อมูล" ในหน้าที่ 48-53 ที่มีการวาง QR ให้กับผู้สนใจข้อมูลของเมืองในด้านต่าง ๆ สามารถสแกนเข้าไปอ่าน หรือหากใครสนใจเรื่องของการจัดการร้านค้าแผงลอยที่เป็นทั้งจุดเด่นของเมืองและเป็นปัญหาสำคัญของเมืองกรุงเทพฯ ไปพร้อมกัน ตัวอย่างที่ถูกเขียนถึงในหน้าที่ 74 เรื่องราวของ "ยาไต" ร้านอาหารรถเข็นแบบของญี่ปุ่น และ Hawker Center แบบของสิงคโปร์ ต่างก็ถูกกล่าวถึงทั้งในฐานะของวิธีการและวิถีของการจัดการของเมืองที่ช่วยให้ผู้คนและเมืองไม่ตัดขาดและทอดทิ้งซึ่งกันและกัน
.
เนื้อหาของ "วารสารเปิดเมือง" ช่วยย้ำเตือนข้อความหนึ่งของวารสารฯ ในหน้าที่ 15 ไว้ได้เป็นอย่างดีว่า "เมืองที่ดีคือเมืองที่โอบรับและเคารพตัวตนของทุกคน" (น.15) และเมืองที่ผู้คนมากมายมีปฏิสัมพันธ์กันจนบางครั้งเกินกำลังของเมืองในเรื่องของจำนวนประชากรต่อขนาดพื้นที่ กรุงเทพฯ ก็ยังคงพร้อมรับและปรับตัวเพื่อโอบรับทุกคนที่แตกต่างให้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง https://online.anyflip.com/berzm/dzwc/mobile/index.html
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in