รีวิวเว้ย (1821) 8 เมษายน ค.ศ. 2025 เป็นวันที่ประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวถึงประเทศต่างๆ ที่จะต้องมาตกลงการค้ากับสหรัฐอเมริกาหลังจากสหรัฐตัดสินใจขึ้นภาษีไว้อย่างชัดเจน ประเทศจำนวนมากร้องขอที่จะมาตกลงกับสหรัฐอเมริกา ประโยคอันโด่งดังว่าประเทศต่างๆ กำลัง ‘kissing my ass’. “I’m telling you, these countries are calling us up, kissing my ass. They are. They are dying to make a deal.” สำหรับ ‘kissing my ass’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ‘kiss my ass’ ที่หมายถึง ‘ปฏิเสธอย่างรุนแรงว่าจะไม่ทำสิ่งที่อยากให้ทำ’ ข้อความผรุสวาทตอบโต้กับผู้ที่ต้องการให้ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้อยากทำ
.
ทั้งนี้หลากหลายประเทศยินดีที่จะเดินทางไปเจรจาตกลง เพราะในที่สุดแล้วหลากหลายประเทศก็ ‘kiss ass’ ประเทศต่างๆ พร้อมที่จะเลียแข้งเลียขาประจบสอพลอเพื่อให้ได้ในสิ่งที่กลุ่มผลประโยชน์ของดินแดนนั้นๆ ต้องการ ภาพการเจรจาของญี่ปุ่นแสดงลำดับชั้นของห่วงโซ่อำนาจ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจว่าเป็นข้อความที่พูดออกมาเป็นข้อความที่รุนแรง ต่ำช้า หยาบคายหรือไม่ เพราะการเรียงลำดับเพื่อ “จูบตูด” คือการต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มหาศาล
.
การจูบไม่ว่าจะเป็น ‘แหวน’ หรือจะเป็น ‘ตูด’ ก็คือการแสดงการยอมรับอำนาจ เช่น การยอมจำนนต่ออำนาจของพระสันตประปาที่แสดงออกด้วยการจูบแหวน เป็นต้น สำหรับการ “จูบตูด” ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่การประจบประแจง แต่แสดงถึง ‘instrumental rationality’ ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของประเทศตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญเท่ากับ “ผลประโยชน์ที่ไม่เคยโกหกใคร”
.
ถ้าพิจารณาการ “จูบตูด” ตามคำศัพท์แล้วก็คงจะต้องรู้ว่าจะต้องเผชิญกับรสชาติไล่ไปจนถึงการได้กลิ่นของ ‘ขี้’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีตที่การทำความสะอาดรูตูดย่อมไม่ได้มีประสิทธิภาพ จินตนาการที่มีต่อการได้ ‘สัมผัสรสชาติและสูดดมขี้’ ย่อมเป็นอะไรที่นำไปสู่ความสะอิดสะเอียนได้เสมอ แต่ “ตูด” ก็ยังเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ขาดไปไม่ได้ สิ่งสกปรกเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย บรรดา ‘ขี้’ ทั้งหลายล้วนแล้วอยู่ในร่างกายของมนุษย์ ร่างกายจึงเต็มไปด้วย ‘ขี้’ แต่สิ่งสกปรกน่ารังเกียจเหล่านี้จะสร้างความสะอิดสะเอียนเมื่อออกจากร่างกายมาสู่โลกภายนอก
.
สำหรับสังคมยุโรปที่อยู่ภายใต้คริสต์ศาสนามาสองพันปี “ตูด” ยังเป็นอะไรที่น่าหลงใหลไปพร้อมกันการเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) รูตูดเป็นที่อยู่ของปิศาจ แต่ตามจริงแล้วความสุขจาก ‘รูตูด’ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์และสัตว์ หนึ่งในผู้คนที่ให้ความสนใจกับ “รูตูด” ก็คือ Sigmund Freud บทความ ‘Character and Anal Eroticism’ (1908) บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ขี้ ทอง และเงิน’ ช่วงของพัฒนการระดับรูตูด (anal stage) Freud เสนอมนุษย์ในตอนเด็กสัมพันธ์กับขี้ในฐานะของขวัญ (gift) อันทรงคุณค่าที่เด็กๆ ได้รับมา
.
‘ของขวัญ’ ที่ได้รับมาเป็นสิ่งที่มีค่าในระดับจิตใต้สำนึก สิ่งมีค่าที่ไม่มีใครอยากจะสูญเสียไป ‘ขี้’ เป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยนในทำนองเดียวกันกับทองและเงิน ทารกบางคนไม่อยากที่จะสูญเสีย ‘ขี้’ เพราะเป็น ‘ของขวัญ’ มีค่าที่ต้องเก็บรักษาเอาไว้ จากการเก็บรักษา ‘ขี้’ เอาไว้เปิดทางไปสู่เรียนรู้ที่จะเก็บสะสมสิ่งอื่นๆ จนในท้ายที่สุดก็เป็นเก็บสะสมเงิน เพียงแต่เด็กดีๆ จะถูกฝึกฝนมาให้ไม่เล่นขี้ เส้นทางของ ‘anal eroticism’ คือวิถีที่เปิดทางไปสู่ความเป็นอารยะ เพียงแต่ความเป็นอารยะในสมัยของ Freud นั้นคือเป็นจักรวรรดินิยมและเป็นเจ้าอาณานิคม
.
ความมั่งคั่งร่ำรวยเคียงคู่อยู่กับความสกปรก คำว่า ‘filthy rich’ บ่งบอกถึงความสกปรกของความมั่งคั่ง ความสกปรกของ ‘filthy’ รากศัพท์ของคำๆ นี้ยังบ่งบอกถึงบาป ความไม่บริสุทธิ์ ไร้ศีลธรรม ความไม่ซื่อสัตย์ ไร้ซึ่งหลักการ ไร้ซึ่งเกียรติยศ (corrupt) ในทำนองเดียวกันคำว่า ‘gold buggery’ ที่หมายถึงคนที่เชื่อมั่นในทองหรือยึดมั่นในการลงทุนในทอง เพียงแต่ ‘buggery’ นั้นหมายการร่วมเพศทางทวารหนักที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายหรือสัตว์ ตำนานเรื่องเล่ามีว่าเมื่อปิศาจมอบ ‘ทอง’ ให้กับเหล่าสาวก แต่พอปิศาจกลับไป ‘ทอง’ ก็กลายเป็น ‘ขี้’ ในสมัยบาบิโลน ‘ทองคือขี้ในนรก’
.
กรอบความคิดความมั่งคั่งเงินทองกับสิ่งสกปรกปรากฏในสังคมวิคตอเรียน (Victorian society) ไล่ไปจนถึงความคิดของ Karl Marx ในเรื่องเงินกับความโสโครก วิถีการเงินของเยอรมันบ่งบอกถึง ‘ขี้’ ผู้คนที่ผลิตเงินตราเรียกว่า ‘Ducatscheisser’ หรือ ‘shitter of ducat’ วิถีชีวิตของคนเมืองที่ต้องเผชิญกับปฏิกูลหลากหลายแบบ ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตเมืองที่ดำเนินควบคู่ไปกับเงิน การขยายตัวของเมืองในสังคมอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งนั้นขยายตัวพร้อมกับสิ่งสกปรกของเมืองที่ต้องกำจัด
ภายใต้โครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันของโลกผู้นำบางประเทศจึงพร้อมเสมอที่จะคิดว่าดินแดนห่างไกลจากศูนย์กลาง (center) คือ ‘shitholes’ อันแหล่งกำเนิดของผู้อพยพ ความสกปรกที่ดำเนินไปพร้อมกับการไม่วิวัฒนาการไปสู่ระดับของความสกปรกในรูปแบบของเงินตรา ในสังคมร่ำรวยที่เต็มไปด้วยความสะอาดแต่หลงใหลกับ ‘ขี้แบบเงินตรา’ นั้นต้องการกำจัดและจัดการ [หรือ ‘การฝึกฝนการเข้าห้องน้ำ’ (toilet training)] ความสกปรกที่ล้นเกินไปจากเหล่าดินแดน ‘shitholes’ เพราะดินแดนที่สะอาดหมดจรดและหลงใหลกับความสะอาดก็จะดำเนินควบคู่กับกิจการเงินที่เจริญเฟื่องฟู

หนังสือ : รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2568)
โดย : รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
จำนวน : 206 หน้า
.
จากเปียงยางถึงบางกอก:ภูมิหลังของการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือเมื่อ ค.ศ. 1975 โดย สิทธิพล เครือรัฐติกาล
.
บทคัดย่อ: บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งผลกระทบต่อจุดยืนของไทยเกี่ยวกับปัญหาเกาหลี โดยใช้ประโยชน์จากโทรเลขทางการทูตของสหรัฐอเมริกา งานนิพนธ์ของคิมอิลซุง บันทึกความทรงจำและการให้สัมภาษณ์ของอดีตข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนพบว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1972 เกาหลีเหนือเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศโดยหันมาขยายความสัมพันธ์กับประเทศโลกที่ 3 เพื่อแข่งขันกับเกาหลีใต้ ขณะที่ไทยก็มุ่งปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมในเอเชียเพื่อรับมือกับการถอนตัวจากสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ การติดต่อและเยือนกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศจึงเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1973-1974 และในที่สุด ชัยชนะของเวียดนามเหนือและเวียดกงในการพิชิตเวียดนามใต้ก็เป็นตัวเร่งให้ไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 เพื่อหวังกดดันเวียดนามเหนือให้เปลี่ยนท่าทีมาเป็นมิตรกับไทย นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังทำให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับปัญหาเกาหลีให้สมดุลมากขึ้นในการประชุมสมัยที่ 30 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
.
ประวัติศาสตร์การเมืองคริสเตียนเลบานอนและการพัฒนาประชาธิปไตยบนหลัก Confessionalism ระหว่างปี 1975-1990 โดย ปรีชา กิจบุญชู
.
บทคัดย่อ: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของชาวคริสต์ในเลบานอนภายใต้ระบบการเมืองแบบสารภาพ ผ่านทฤษฎีการปะทะทางอารยธรรมที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ทันสมัย โดยตั้งสมมติฐานว่าการมีตัวตนของชาวคริสต์ในประเทศเลบานอนทำให้ระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกรักษาไว้ในระบบการเมือง รวมถึงระบบสารภาพก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการดำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้และส่วนสุดท้ายคือการศึกษากระบวนการทำให้ทันสมัยเปรียบระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในเลบานอนว่ากลุ่มตัวอย่างใดส่วนมีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเลบานอนยังคงมีเสถียรภาพในภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1975 ถึง 1990 ซึ่งมีโจทย์เกี่ยวกับการทำให้ทันสมัยที่คิดค้นโดย ซามูเอล ฮันติงตัน จำนวน 6 ข้อสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบตัวแปรซึ่งก็คือ สถาบันปกครองของรัฐ นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มีบทบาทในช่วงเวลาดังกล่าวว่ามีกระบวนการออกนโยบายการเมืองที่สนับสนุนโจทย์ทั้ง 6 ข้ออย่างไร แล้วจึงนำผลที่ได้มาคำนวนคะแนนเพื่อใช้เปรียบเทียบและวิเคราะห์เพื่อตีความผลการวิเคราะห์ที่ได้พบว่าคะแนนของทั้งสองศาสนามีจำนวนที่เท่ากัน โดยคะแนนของปัจจัยภายในหรือผลการเปรียบเทียบภายในประเทศชาวคริสต์มีคะแนนต่อชาวมุสลิมที่ 33 ต่อ 28 ทำให้ชาวคริสต์มีความสำคัญต่อการเมืองเลบานอนทั้งในแง่ของการรักษาระบอบประชาธิปไตยและการรักษาระบบสารภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของเลบานอนและยังป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยถูกท้าทายโดยระบอบอื่นๆ ของมหาอำนาจในภูมิภาคที่พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามา ในส่วนของปัจจัยภายนอกหรือกลุ่มประเทศพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายในสงครามกลางเมืองเลบานอนได้ผลคะแนนของฝ่ายมุสลิมมีมากกว่าเพราะพันธมิตรฝ่ายมุสลิมต่างก็ต้องการให้เลบานอนเป็นแนวกั้นอิทธิพลของประเทศที่เป็นอริกับประเทศของตน ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่ห่างไกลจากเลบานอนบวกกับความขาดแคลนในทรัพยากรที่จะใช้แนวทางการทำสงครามเพื่อปราบปรามอีกฝ่ายจึงทำให้สุดท้ายจึงเลือกใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อยับยั้งไม่ให้สงครามกลางเมืองสามารถเกิดขึ้นในเลบานอนได้อีกจึงจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดโดยมีชาวคริสต์เป็นหัวใจสำคัญในการยุติสงครามและท้ายที่สุดระบอบประชาธิปไตยก็กลายเป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาจากการวิจัยในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจำกัดความของข้อตกลงแห่งชาติปี 1943 ควรเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือและการแชร์อำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ และไม่ควรมีอิทธิพลแค่เครื่องกำหนดหน่วยของการแบ่งเขตเลือกตั้ง นี่จึงจะสามารถเพิ่มความเข้มแข็งให้รัฐบาลกลาง จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เลบานอนเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
.
โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เส้นทางสายไหมดิจิทัล กับภูมิรัฐศาสตร์เทคโน 2013 – 2022 โดย วิทวัส อภิญ
.
บทคัดย่อ: บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาที่มาและความสำคัญของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ (Belt and Road Initiative; BRI) รวมทั้งส่วนขยายของโครงการ คือ เส้นทางสายไหมดิจิทัล หรือ (Digital Silk Road; DSR) โดยการศึกษาหัวข้อดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และงานศึกษาชี้ให้เห็นพลวัตของแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ ไปพร้อมกันโดยศึกษาผ่านการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเทคโนโลยี ผู้ศึกษามีข้อค้นพบว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและเส้นทางสายไหมดิจิทัล เป็นโครงการเพื่อตอบสนองต่อภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกของจีน ในสถานการณ์ที่จีนต้องการแสวงหาห่วงโซ่อุปทานนอกประเทศ รักษาอุปทานทรัพยากรธรรมชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นการขยายตลาดของจีนในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้งานศึกษายังชี้ให้เห็นพลวัตรด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เข้าไปคลอบคลุมพื้นที่ของเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบของตลาด เป้าหมายเพื่อลดทอนอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาต่อจีน และความเป็นภูมิรัฐศาสตร์เหนือพื้นที่โลกเสมือน การสถาปนาหลักอธิปไตยเหนือพื้นที่ไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ชี้ให้เห็นพลวัตรของแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ผ่านปัจจัยด้านเทคโนโลยี หรือ ภูมิรัฐศาสตร์เทคโน (Techno-Geopolitics)
.
จุดร่วม ความแตกต่าง และวิวาทะว่าด้วยแนวคิดเรื่องชนชั้นทางสังคมของ คาร์ล มาร์กซ์, แมกซ์ เวเบอร์, เอ็ดเวิร์ด พี. ธอมป์สัน, เดเนียล เบลล์ และปิแอร์ บูร์ดิเออ โดย รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข
.
บทคัดย่อ: การทำความเข้าใจชนชั้นทางสังคมโดยทั่วไปมักพิจารณาด้วยวิธีการเชิงประจักษ์ แต่ในความเป็นจริงชนชั้นถูกกำหนดจากเงื่อนไขเชิงวัตถุวิสัยและอัตวิสัย ในบทความนี้จึงนำเสนอแง่มุมเชิงทฤษฎีของนักวิชาการ 5 คน อันได้แก่ คาร์ล มาร์กซ์, แมกซ์ เวเบอร์, เอ็ดเวิร์ด พี ธอมป์สัน, เดเนียล เบลล์ และโดยเฉพาะปิแอร์ บูร์ดิเออ เพื่อให้เห็นมุมมองวิธีคิดที่มีต่อมโนทัศน์ชนชั้นทางสังคมของนักวิชาการแต่ละคน โดยคาร์ล มาร์กซ์ให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะปัจจัยการผลิตและวิถีการผลิตในการกำหนดชนชั้น แมกซ์ เวเบอร์ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ กลุ่มสถานภาพ การเมือง โอกาสของชีวิต สถานการณ์ของชนชั้น และประสบการณ์ในการอธิบายชนชั้นและการจัดลำดับชั้นทางสังคม เอ็ดเวิร์ด พี ธอมป์สัน ศึกษาชนชั้นแรงงานในประเทศอังกฤษและให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์โดยกล่าวว่า ชนชั้นไม่ได้แยกต่างหากจากแต่เกิดในความสัมพันธ์ของมนุษย์และในความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ เดเนียล เบลล์ ชี้ให้เห็นถึงชนชั้นใหม่ในสังคมหลังอุตสาหกรรมว่าเกิดจากเงื่อนไขของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ความสำคัญกับการศึกษา และปิแอร์ บูร์ดิเออ ที่เสนอการศึกษาชนชั้นด้วยการพิจารณาชนชั้นในเชิงภววิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา และเสนอว่าพื้นที่ทางสังคมคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นชนชั้นในความเป็นจริง
.
บทปริทัศน์หนังสือ ทุนนิยมสอดแนม โดย ศิปภน อรรคศรี
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in