เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบัน By อจิรภาส์ เพียรขุนทด
  • รีวิวเว้ย (1761) ย้อนกลับไปก่อนช่วงเวลาของการใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนในสังคมไทย และการเข้ารับการรักษาของคนสามัญที่ไม่มีสถานะทางสังคมใด ๆ การจะเข้ารับการรักษาโดยไม่มีทุนทรัพย์ต้องถูกสงเคราะห์โดยแพทย์และโรงพยาบาลที่รับการรักษาให้ลงนามสถานะของคนไข้อนาถา ให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลภายใต้ "สิทธิคนไข้อนาถา" ซึ่งสิทธิดังกล่าวและความซับซ้อนของกระบวนการได้มาซึ่งสิทธิการรักษาแบบอนาถานั้น ได้ถูกยุบเลิกไปภายหลังการเกิดขึ้นของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากแต่เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดจะพบว่าในสังคมไทยยังคงมีเรื่องของการให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือจากรัฐต่อกลุ่มคนเปราะบางอีกหลากหลายประการ หากแต่การให้ความช่วยเหลือเหล่านั้นกลับวางตัวอยู่บนรูปแบบของการให้ความช่วยเหลืออย่างการสงเคราะห์จากบนลงล่าง (โดยรัฐ) มากกว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านกลไกที่สร้างความเท่าเทียมกันทางสถานะของทั้งผู้ให้และผู้รับในฐานะของมนุษย์ต่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์ที่ลงมือกระทำเพื่อสั่งสมบุญบารมี รวมถึงหลายหนการให้ความช่วยเหลือก็ดูจะไม่ต้องตรงกับปัญหาของผู้ได้รับการช่วยเหลือ
    หนังสือ : แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม
    โดย : อจิรภาส์ เพียรขุนทด
    จำนวน : 190 หน้า 
    .
    "แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม" หนังสือที่ปรับปรุงเนื้อหาจากงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องของ "การคุ้มครองทางสังคม" ที่ดำเนินการหรือขับเคลื่อนผ่านกลไกของการปรึกษาหารือ โดยที่หนังสือแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจในเรื่องของ การคุ้มครองทางสังคม การปรึกษาหารือ และตามด้วยการวิเคราะห์รูปแบบของกลไกการปรึกษาหารือของประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย อันประกอบไปด้วย บราซิล รวันดา อินเดีย เคนยายูกันดา กานา มอริเตเนีย และกัมพูชา ก่อนจะนำเสนอเรื่องราวของการพูดคุยกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องของการออกแบบแนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม ซึ่งจะถูกนำเสนออยู่ในเนื้อหาทั้ง 6 บทของหนังสือ ดังต่อไปนี้
    .
    บทนำ
    .
    บทที่ 1 การคุ้มครองทางสังคม
    .
    บทที่ 2 การปรึกษาหารือ
    .
    บทที่ 3 ตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบของการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองทางสังคมในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย
    .
    บทที่ 4 แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม
    .
    บทสรุป
    .
    เป็นที่น่าสนใจว่า "การคุ้มครองทางสังคม" ที่ปรากฏอยู่ใน "แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม" มิได้หมายถึงแต่เพียงเรื่องของการสงเคราะห์หรือการให้ความช่วยเหลือประหนึ่งคนรอให้ฝนตกจนทั่วฟ้า หากแต่ความช่วยเหลือที่ในลักษณะของการคุ้มครองทางสังคมที่ "แนวทางการพัฒนาการปรึกษาหารือเชิงสถาบันเพื่อระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบคลอบคลุม" หมายใจให้เป็นคือการให้ความคุ้มครองทางสังคมอย่างเสมอหน้าและสะท้อนความต้องการของผู้คนทั้งกลุ่มผู้รับการคุ้มครอง ผู้ให้ความคุ้มครองและอีกหลากหลายผู้คนที่อยู่โดยรอบและเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการของการให้ความคุ้มครองทางสังคม อย่างถ้วนหน้า เท่าเทียมและไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in