เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง By คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
  • รีวิวเว้ย (1706) เราจะจดจำบุคคลที่จากไปอย่างไร ? คำถามนี้ขึ้นอยู่กับความทรงจำของคนหนึ่งที่มีต่อผู้จากไป สำหรับเราแล้ว อ.เชฟหมี ทำให้เรามองปรัชญา ศาสนาและการเมืองไม่เหมือนเดิม เพราะอาจารย์จะย้ำเตือนเสมอว่าสิ่งเหล่านี้มันคือเรื่องที่แยกขาดจากกันไม่ได้และอย่างยิ่งในรัฐศาสนาไทยด้วยแล้ว การมองศาสนากับการเมืองแยกออกจากกันนั้นเราจะไม่มีวันเข้าใจความคิดของรัฐไทยได้เลย ขอให้อาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง จากไปอย่างสงบและสิ่งที่อาจารย์ทิ้งไว้คือ "ปัญญา" ที่สำคัญยิ่งของสังคม
    หนังสือ : ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง
    โดย : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
    จำนวน : 280 หน้า 
     .
    "ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ว่าจะเป็น ผี พราหมณ์-ฮินดู พุทธ หรือศาสนา (พุทธ) ไทย ที่ถูกจับเอามาตั้งคำถามบนแกนหลักของคำถามอย่างเรื่องของ "ศาสนากับการเมือง" เป็นคนละเรื่องหรือเป็นเรื่องเดียวกัน ?
    .
    ในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์เวลาถามว่า "การเมืองคืออะไร" ? เราอาจจะต้องหยุดคิดเพื่อเดาทิศทางความต้องการของคนถาม เพราะในมุมมองของนักเรียนรัฐศาสตร์แล้ว "การเมืองก็คือการเมือง" ถ้าตอบแบบนี้ไปก็กลัวจะหาว่ากวนตีน แต่ก็นั้นแหละสำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์การเมืองก็คือการเมืองและการที่เราพยายามจะแยกอะไรบางอย่าง "ออกจากการเมือง" เราจึงมองว่ามันเรื่องเป็นไปได้ยาก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว "การเมืองอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา" และหากจะแยกสิ่งหนึ่งออกจากการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ดูแปลกประหลาดคล้าย ความพยายามต้อนอูฐให้เดินเข้าไปในขวดแก้ว
    .
    เว้นแต่การแยกในลักษณะของการแยก "ศาสนาออกจากรัฐ" ซึ่งก็ไม่ใช่การแยกขาดจากกันแบบตัดบัวไม่เหลือใยในทางปฏิบัติ ซึ่งต้องมาอธิบายเรื่องนี้กันอีกยาวว่าการแยก "ศาสนาออกจากการเมือง ≠ การแยกศาสนาออกจากรัฐ" แนะนำว่าให้ลองหางานกลุ่มนี้มาอ่านเพิ่มเติมอาจจะได้คำตอบที่ชัดขึ้น หรืออย่างน้อย ๆ ในบท "ข้อเสนอส่งท้าย" ของหนังสือเล่มนี้ก็มีบอกไว้คร่าว ๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็ควรไปหางานกลุ่มนี้อ่านเพิ่มเติม
    .
    กลับมาที่เรื่องของหนังสือ "ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง" อย่างที่บอกไปว่าการแยกอะไรสักอย่างออกจากการเมืองนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของ "ศาสนา" ด้วยแล้ว และยิ่งเป็นศาสนาไทย ที่ศาสนาและการเมืองเป็นสิ่งเกาะเกี่ยวกันมาตลอดนับจากครั้งอดีตกาลนานเนิ่น การบอกว่า "ศาสนาและการเมืองไม่เกี่ยวกัน" จึงเป็นเรื่องตลก โดยเฉพาะเมื่อคำพูดนี้มาจากพุทธองค์กร และบรรดาพระเภระผู้แก่พรรษาต่าง ๆ การออกมาห้ามศาสนากับการเมือง และบอกว่าศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงเป็นเรื่องตลก ซึ่งหลายครั้งชวนให้คนพูดเรื่องนี้ดูโง่ลงไปถนัดตา โดยเฉพาะการบอกว่า "ศาสนาพุทธ (ไทย) ไม่เกี่ยวกับการเมือง และห้ามไม่ให้พระสงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวหรือพูดเรื่องการเมืองโดยเด็ดขาด" บางทีพุทธองค์กรและพระผู้ใหญ่น่าจะลืมเรื่องของ "การเมืองในคณะสงฆ์" ไปอย่างสนิทใจ และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า "ศาสนาพุทธแบบไทยไม่เกี่ยวกับการเมือง" ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าตลอดยุคสมัยที่ผ่านมามีช่วงเวลาไหนบ้างที่ "การเมืองไทย" ไม่ค้องเกี่ยวกับ "ศาสนา" 
    .
    หนังสือ "ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง" กำลังตบหัวเตือนว่า การเมืองและศาสนามันมีความเกี่ยวเชื่อมและร้อยรัดระหว่างกันมากกว่าที่เราคิด และมากกว่าที่เราจะคิดถึง โดยเฉพาะเมื่อศาสนากับการเมืองเคยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือค้ำยันซึ่งกันและกันมาหลายยุคหลายสมัย การที่จะบอกว่า ศาสนากับการเมืองไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวโยงกันจึงดูประหลาดโดยเฉพาะในศาสนาไทย "ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง" กำลังชี้ให้เราเห็นความตลกและบกพร่องในเรื่องนี้ผ่านบทความจำนวน 38 บทความ โดยแบ่งออกเป็น ภาคต่าง ๆ ดังนี้ 
    .
    บทนำ การเมืองนัวเนียกับศาสตนาไม่ว่าภารตะหรือสยาม 
    .
    ภาคที่ 1 พุทธธรรมกับการเมือง จำนวน 14 บทความ
    .
    ภาคที่ 2 พราหมณ์-ฮินดู กับการเมืองและความศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 11 บทความ
    .
    ภาคที่ 3 ไสยศาสตร์กับการช่วงชิงความหมายในการเมืองไทย จำนวน 7 บทความ
    .
    ข้อเสนอส่งท้าย: ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง จำนวน 6 บทความ
    .
    ซึ่งบทความจำนวน 38 ชิ้น จะช่วยให้เราเข้าใจว่า "ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง" เพราะทั้งการเมืองและศาสนามีความอิงแอบแนบชิดกันมากกว่าที่เราคิด และเกินกว่าที่เราจะคิดถึง ในส่วนของ "ข้อเสนอส่งท้าย: ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง" คือ การนำเสนอมุมมองในเรื่องของการ "แยกศาสนาออกจากรัฐ" หรือก็คือการ "การทำให้เป็นโลกวิสัย (secularization) ที่ถือเป็นสิ่งบ่งบอก สภาวะสมัยใหม่ (modernity) อย่างหนึ่งในโลกตะวันตก นั่นคือการแยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง ไม่นำความจริงสูงสุดหรือความดีสูงสุดตามความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุดมการณ์ในการปกครอง และแยกศาสนาออกจากปริมณฑลของพื้นที่สาธารณะ ให้ศาสนาอยู่ในปริมณฑลของพื้นที่ส่วนตัว เพื่อทำให้เกิดกลไกที่ "รัฐต้อง "เป็นกลางทางศาสนา (religion neutral)" รัฐไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาใด ๆ มีหน้าที่เพียงรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการที่ปัจเจกบุคคลจะนับถือหรือปฏิเสธศาสนาใด ๆ ซึ่งเมื่อใดที่รัฐแยกออกจากศาสนาได้แล้ว เมื่อนั้นเราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ "ศาสนาไทย"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in