เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เราต่างหมดไฟในสังคมคลั่งไคล้การทำงาน By บย็อง-ช็อล ฮัน
  • รีวิวเว้ย (1664) เมื่อโลกและสังคมเรียกร้องให้เรา "ต้องสำเร็จ" และเป็นใครสักคนที่มีตัวตนและที่ทางในสังคม-โลก เราต่างออกวิ่งอย่งสุดกำลัง (สับตีนแตก) กระทั่งสุดท้ายจะพบว่าตัวเองกลายเป็น "บ้า" เพราะวิ่งแบกความคาดหวังของใครก็ไม่รู้มาตลอดทาง "...สังคมปัจจุบันไม่ใช่สังคมแห่งระเบียบวินัยของ มิเชล ฟูโกต์ ที่ประกอบไปด้วยโรงพยาบาล โรงพยาบาลบ้า ค่ายทหาร คุก และโรงงานอีกต่อไป เนื่องจากมีสังคมอีกรูปแบบที่ต่างไปโดยสิ้นเชิงเข้ามาแทนที่ได้พักใหญ่แล้ว นั่นคือ สังคมแห่งฟิตเนส ตึกออฟฟิศ ธนาคาร สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงห้องทดลองพันธุวิศวกรรม สังคมในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่สังคมแห่งระเบียบวินัย แต่กลับเป็นสังคมแห่งความสำเร็จ ผู้คนในสังคมนั้นก็ไม่ใช่ Subject แห่งการเชื่อฟัง แต่พวกเขาไป Subject แห่งความสำเร็จ ซึ่งต่างก็เป็นผู้ประกอบการของตัวเขาเอง นอกจากนี้กำแพงแห่งสถาบันเชิงระเบียบวินัย ซึ่งคอยแบ่งแยกระหว่างความปกติกับความผิดปกติก็ดูจะตกยุคไปแล้วด้วยเช่นกัน" (น. 19)
    หนังสือ : เราต่างหมดไฟในสังคมคลั่งไคล้การทำงาน
    โดย : บย็อง-ช็อล ฮัน
    จำนวน : 112 หน้า
    .
    "The Burnout Society" หรือในชื่อไทยว่า "เราต่างหมดไฟในสังคมคลั่งไคล้การทำงาน" ผลงานของนักปรัชญาชาวเกาหลีใต้ (ที่จบจากเยอรมัน) อย่าง "บย็อง-ช็อล ฮัน" ที่งานของเขาหลาย ๆ ชิ้นพยายามจะหาว่าผู้คนในโลกทุนนิยมดิจิทัลหรือเสรีนิยมใหม่ทำความเป็นมนุษย์หล่นหายและแตกกระจายลงอย่างไร รวมถึงมนุษย์ยุคใหม่ถูกท้าทายและทำลายลงอย่างไรในโลกยุคเสรีนิยมใหม่เรืองอำนาจ
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "The Burnout Society" แบ่งการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 8 บท ที่แต่ละบทจะบอกเล่าและตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของผู้คนในโลกที่สังคมการทำงานมีบทบาทสูงยิ่ง (อย่างในปัจจุบัน) และสิ่งที่ผู้คนกำลังเผชิญนั้นนำไปสู่การแตกสลายของตัวตน รวมถึงการตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ "การควบคุมทางสังคม" ว่าเป็นไปอย่างไรในโลกยุคคลั่งงานและคลั่งความสำเร็จ โดยเนื้อหาทั้ง 8 บท ประกอบไปด้วยเรื่องของ ความรุนแรงจากโรคประสาท, ก้าวพ้นสังคมแห่งระเบียบวินัย, ความเบื่อสนิท, วิตา อักทิวา (Vita Activa), เรียนรู้ที่จะมอง, กรณีบาร์เทิลบี, สังคมแห่งความเหนื่อยล้า และสังคมแห่งการเบิร์นเอาต์
    .
    การตั้งคำถามและชักชวนให้ตอบคำถามของ "The Burnout Society" ท้าทายให้เราสำรวจตัวตน สังคมและโลกในทุกวันนี้ ถึงความสำคัญ ความจำเป็น ความสำเร็จ และความเจ็บปวด (และเจ็บป่วย) ของผู้คนภายใต้แนวคิดที่ทุกคนเชื่อว่า "เสรี" หากแต่มันกลับนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่สำคัญยิ่งหลายประการของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะการเรียกร้องความสำเร็จและเรียกร้องตัวตนของปัจเจกบุคคลในสังคมปัจจุบัน ที่มันมักนำพาไปสู่การกดขี่ขูดรีดกำลัง แรงกายแรงใจ และนำพาไปสู่หายนะของการแตกสลายของตัวตนและจิตใจของใครหลายคนในทุกวันนี้ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in