เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม By กษิดิศ อนันทนาธร
  • รีวิวเว้ย (1662) ส. ศิวรักษ์ หรือ "สุลักษณ์ ศิวรักษ์" ปัญญาชนสยามที่ได้รับการขนานนามไปต่าง ๆ นา ๆ ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี (ซึ่ง ส. ศิวรักษ์ ก็ไม่ได้สนใจและใส่ใจอะไร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเขียนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้) โดย ส. ศิวรักษ์ ถูกขนานนามให้เป็นหนึ่งในปัญญาชนสยามที่ในปัจจุบันยังมีลมหายใจอยู่ (พ.ศ. 2567) ซึ่งแน่นอนว่าปัญญาชนสยามร่วมยุค หรือที่ปรากฏในงานศึกษาที่ขนานนามกลุ่มปัญญาชนสยามนั้น ทุกท่านได้ปลาสนาการจากโลกใบนี้ไปเสียหมด คงเหลือไว้แต่ปัญญาชนคนสุดท้าย (ที่ร่วมสมัยกับท่านอื่น ๆ) อย่าง "สุลักษณ์ ศิวรักษ์"
    หนังสือ : อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม
    โดย : กษิดิศ อนันทนาธร
    จำนวน : 176 หน้า
    .
    "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม" หนังสือที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ ส. ศิวรักษ์ โดยเป็นการบอกเล่าประวัติชีวิตที่คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง-ศาสนา ของทั้งไทยและเทศไปพร้อม ๆ กัน
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม" แบ่งออกเป็น 8 บท กับ 1 ภาคผนวก ที่จะเริ่นต้นตั้งแต่การบอกเล่าเรื่องราวประวัติของ ส. ศิวรักษ์ อย่างกระทัดรัด กระทั่งถึงการนิยาม ส. ศิวรักษ์ ว่าเป็นใคร มีปฏิสัมพันธ์หรือมีต้นทางของแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับบุคคลสำคัญในอดีตของสังคมไทย อย่าง เสฐียรโกเศศ และปรีดี พนมยงค์ อย่างไร และด้วยช่วงเวลาชีวิตที่เหลืออีกไม่นานนัก ส. ศิวรักษ์ เลือกที่จะเตรียมตัวเตรียมใจในการ "สบตากับความตาย" อย่างไร ? สิ่งเหล่านี้ คือ เนื้อหาที่แทรกตัวอยู่ตามบทต่าง ๆ ของ "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม"
    .
    "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม" ทำให้เราเห็นชีวิตช่วงยาวของบุคคลคนหนึ่ง (และสังคมที่เขาเติบโตขึ้นมา) ที่เกิดในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 และมีสายตาที่ทอดยาวมาอีกหลายสิบปี กระทั่งผ่านช่วงเวลาของยุคสมัยที่สำคัญต่าง ๆ ของสังคม แน่นอนว่า "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม" ช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของชายชราและความเป็นชายชราที่ชื่อว่า ส. ศิวรักษ์ ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับเราแล้ว "อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน: หนทางแห่งชีวิตปัญญาชนสยาม" ทำหน้าที่ได้ดีกว่าการบอกเล่าประวัติชีวิตของคนหนึ่งคน เพราะหนังสือทำให้เรามองเห็น "ความสามัญ" ของชีวิตที่ยืนยาวมากว่า 90 ปี และทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมที่จะจากโลกนี้ไปอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับหนทางที่วางไว้แต่ก่อนมา รวมถึงด้วยช่วงชีวิตอันยาวนานทำให้เข้าใจได้ว่าใครจะด่าว่าเราอย่างไรก็ช่างเขา (แม่ง) เถอะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in