เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
สรรนิพนธ์ 6 ตุลาฯ ของเกษียร เตชะพีระ By เกษียร เตชะพีระ
  • รีวิวเว้ย (1643) เราเห็นภาพความรุนแรงทางการเมืองที่คนไทยทำกับคนไทยด้วยกันอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ครั้งแรกเมื่อไหร่กันนะ ? ไม่แน่ว่าหลังจากการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง พ.ศ. 2554 หรือว่าก่อนหน้านั้นดังภาพจำของเหตุการณ์กระชับพื้นที่ใน พ.ศ. 2553 หากแต่ในความทรงจำและความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวจากแบบเรียนของระบบการศึกษาไทยแทบไม่เคยปรากฏเรื่องราวของความรุนแรงระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกันในแบบเรียน กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราได้เรียนรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษา อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรืออย่างเหตุการณ์ถังแดง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า "ความรุนแรงโดยรัฐ" หรือ "ความรุนแรงระหว่างคนในรัฐเดียวกัน" มิใช่เรื่องใหม่และมิใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หากแต่ประวัติศาสตร์ของเรื่องราวเหล่านั้นคือเรื่องที่ถูก "ห้ามเล่า" ของสังคมแห่งนี้
    หนังสือ : สรรนิพนธ์ 6 ตุลาฯ ของเกษียร เตชะพีระ
    โดย : เกษียร เตชะพีระ
    จำนวน : 144 หน้า
    .
    "สรรนิพนธ์ 6 ตุลาฯ ของเกษียร เตชะพีระ" หนังสือที่ถูกจัดทำขึ้นในวาระ 48 ปี 6 ตุลาฯ (2567) ที่ได้รวบรวมเอาข้อเขียนของอดีตคนเดือนตุลาอย่าง "เกษียร เตชะพีระ" ที่เขียนขึ้นต่างสถานที่และเวลา หากแต่เป็นภาพสะท้อนของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในทรงจำของคนเดือนตุลา ที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งข้อเขียนแต่ละชิ้นที่ถูกหยิบเลือกมานับเป็นภาพสะท้อนความคิดและความทรงจำของผู้เขียนที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่แตกต่างกันออกไปทั้งช่วงเวลาและบริบท
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "สรรนิพนธ์ 6 ตุลาฯ ของเกษียร เตชะพีระ" แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ "กาพย์กลอน" ประกอบไปด้วยงานเขียน 2 ชิ้น ได้แก่ ความคับแค้น 6 ตุลาฯ และเก้าอี้ว่าง โต๊ะร้าง น้ำตาริน "บันทึก" ประกอบไปด้วยงานเขียน 2 ชิ้นได้แก่ บันทึกรู้สึกแห่งยุคสมัย และบันทึกนักศึกษาคืนสภาพ "วิเคราะห์วิจารณ์" ประกอบด้วยงานเขียน 3 ชิ้น ได้แก่ สองชาตินิยมชนกัน ทำไม 6 ตุลาฯ จึงจำยาก และมองการเมืองไทยจากมุมมองคนเดือนตุลา
    .
    "สรรนิพนธ์ 6 ตุลาฯ ของเกษียร เตชะพีระ" ช่วยขยายความให้เราเห็นถึงการจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ของคนร่วมเหตุการณ์คนหนึ่ง ที่สะท้อนภาพ ความรู้สึกและความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ออกมาในแต่ละโอกาส และงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่างช่วงเวลานี้เองที่ทำหน้าที่ทั้งในฐานะของเครื่องมือในการจดจารประวัติศาสตร์ของสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และในฐานะของเครื่องมือที่บันทึกเอา "ความรู้สึก" และ "ความทรงจำ" ของผู้เขียนที่เกิดมีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ในฐานะของคนเดือนตุลา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in