เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์ By นันทวัฒน์ บรมานันท์
  • รีวิวเว้ย (1553) เคยสงสัยว่าเวลาที่นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยหลาย ๆ ท่าน เวลาที่เกษียณอายุราชการหรือหมดภาระงานสอนเมื่ออายุ 60 หรือกว่านั้น ส่วนใหญ่จะออกไปทำอะไรกัน บางคนอยู่บ้านเลี้ยงหลาน บางคนยังคงทำงานวิชาการเขียนหนังสือหรือยังเดินทางไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในฐานะของอาจารย์พิเศษ และบางคนผันตัวไปนั่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากแต่การจะหานักวิชาการลำดับต้น ๆ ของประเทศในประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ข้ามความเคยชินของผู้คนจากที่เคยเห็นบทบาทเดิมมาสู่บทบาทใหม่เมื่อวัยเกษียณ สำหรับเราแล้วยังไม่มีใครที่สร้างความประหลาดใจได้เท่ากับ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักวิชาการด้านกฏหมายปกครองเบอร์ต้นของประเทศ ที่ผันตัวเองมาเป็น "ศิลปินถ่ายภาพ" (อาจารย์เรียกตัวเองว่า "ช่างภาพ") ที่สร้างผลงานและนิทรรศการภาพถ่าย ดำ-ขาว มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 งาน
    หนังสือ : หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์
    โดย : นันทวัฒน์ บรมานันท์
    จำนวน : 360 หน้า
    .
    "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" หนังสือรวมภาพถ่ายผลงานของ นันทวัฒน์ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี (2566) ภาพถ่ายที่ปรากฏใน "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" ทำหน้าที่คล้ายกับบันทึกความทรงจำและบันทึกการเดินทางของนันทวัฒน์ ในเมืองต่าง ๆ ของโลก ณ ปี 2566 ผ่านภาพถ่ายและภาพของช่วงเวลาที่ถูกบันทึกเอาไว้ ณ ช่วงขณะใดขณะหนึ่ง 
    .
    หนังสือ "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" จึงได้รวบรวมเอาภาพถ่ายต่าง ๆ ที่ถูกคัดเลือกและจัดวางเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่ผู้ถ่ายพบเจอ และที่พิเศษไปกว่านั้น คือ การดูภาพถ่ายและงานศิลปะอื่น ๆ ความพิเศษของสิ่งเหล่านี้คือโอกาสที่ตัวชิ้นงานหยิบยื่นให้กับผู้ชมงานชิ้นนั้น ได้โอกาสในการตีความ รับรู้และสร้างเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมาอีกหนจากประสบการณ์ ความทรงจำ ความคิดและความรู้สึกของผู้ชมงาน ภาพถ่ายที่ปราฏใน "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน
    .
    หากแต่ความพิเศษอีกประการของ "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" คือการที่ภาพถ่ายบางภาพถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายของผู้เขียน เพื่อหารายได้สมทบทุนให้กับมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก เพื่อนำรายได้ทั้งหมดจากการประมูลภาพถ่ายและจากการทำหนังสือ "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" สมทบทุนให้กับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้กับเด็ก ๆ ในมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ซึ่งงานนี้ดำเนินมาแล้ว 3 ครั้ง และช่วยผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้กับเด็ก ๆ ไปมากกว่า 20 คน (ข้อมูลเดิมตามที่ปรากฎในหนังสือ)
    .
    นอกจากนี้ในส่วนท้ายของ "หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์" ยังมีการนำเอาบทสัมภาษณ์ ของความเปลี่ยนแปลงจากการเปลี่ยนบทบาทของนักกฏหมายมหาชนเบอร์ต้นของประเทศ มาสู่ศิลปินภาพถ่าย โดยข้อความในส่วนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ตอบเราไว้เป็นอย่างดีว่าเหตุในนักกฎหมายมหาชนถึงได้ผันตัวมาถ่ายภาพและจัดแสดงผลงาน "...ผมไม่รู้จะเขียนหนังสือเรื่องอะไรอีก เพราะเราก็เขียนไปเยอะแล้ว ถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่เขาทำแล้วครับ เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ก็เลยเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตมาเป็นช่างภาพดีกว่า" (สัมภาษณ์ นันทวัฒน์ บรมานันท์ เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์อาทิตย์สุขสรรค์ หน้า 9-10 มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in