เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย By ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ บก.
  • รีวิวเว้ย (1548) “...เมื่อรู้ “ที่ซ่อน” ของความรุนแรง จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของปรากฏการณ์นี้ได้ในองค์ความรู้ทางวิชาการความรุนแรงทางการเมืองระดับสากล จนพอจะ “หา” พบแล้ว (สังคมไทย) จะได้อะไร” (น. 28) ข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทนำของหนังสือที่บรรณาธิการอย่าง ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ ชักชวนให้เราลองตั้งคำถามเพื่อฉุดให้ตัวเองลองหาคำตอบ คล้ายกับวิธีการเดียวกันที่เขานิยมใช้ในห้องเรียนกับนักศึกษา หรือแม้กระทั่งในเวลาที่เขาพูดคุยกับบุคคลอื่น ๆ การชักชวนด้วย "คำถาม" ที่ในหลายครั้งก็ยากจะตอบทั้งที่เป็นเรื่องปกติหากแต่เรามักละเลยที่จะตั้งคำถามกับมัน แน่นอนว่ากับหนังสือเล่มนี้ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน คือ การชักชวนให้เราตั้งคำถามต่อ "ความรุนแรง" ในสังคมไทยว่ามันคืออะไร ? หน้าตาเป็นแบบไหน ? มีอยู่จริงไหม ? และที่สำคัญที่สุดคือ "เรามีส่วนร่วม หรือเป็นส่วนหนึ่ง ไปกับความรุนแรงเหล่านั้นรึเปล่า" ?
    หนังสือ : ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย
    โดย : ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ บก.
    จำนวน : 512 หน้า
    .
    "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" หนังสือที่รวบรวมเอางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "ความรุนแรง" จากนักวิชาการ 7 คน มารวมเข้าไว้ด้วยกัน และเชื่อมงานทุกชิ้นเข้ากับคำถามสำคัญอย่าง อะไรคือความรุ่นแรง สังคมไทยมีความรุนแรงที่ปรากฏและที่ไม่ปรากฏหรือไม่/อย่างไร ความรุนแรงเหล่านั้นเราในฐานะของคนในสังคมเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีส่วนร่วมกับความรุนแรงเหล่านั้นหรือไม่/อย่างไร การวางโครงร่างและการบอกเล่าของ "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" ผ่านงานทั้ง 7 ชิ้นที่จะตอบคำถามสำคัญหลายข้อเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทยให้ปรากฏชัดขึ้น
    .
    เนื้อหาของ "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" แบ่งออกเป็น 6 บท ที่แต่ละบทจะพาเราไปแสวงหาและทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เป็นความรุนแรงทั้งที่ปรากฏ และความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ทำให้จำเป็นต้องแสวงหาของสังคม โดยในแต่ละบทแบ่งไว้ดังนี้
    .
    (1) กำเนิดและพัฒนาการขององค์ความรู้ทางวิชาการว่าด้วยความรุนแรงทางการเมือง: บทสำรวจงานวิชาการในโลกตะวันตก โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
    .
    (2) ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์
    .
    (3) สืบรอย “ความรุนแรง” จากวรรณกรรมของขบวนการสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย โดย กฤษฎา บุญชัย
    .
    (4) การศึกษา : มายาการความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม โดย อุษณีย์ ธโนศวรรย์ และศรีชัย พรประชาธรรม
    .
    (5) การศึกษาเรื่อง “กระแสโลกาภิวัตน์และการลงโทษประหารชีวิตในรัฐไทย” โดย ธัญญรัตน์ ทิวถนอม
    .
    (6) 6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี) โดย ธงชัย วินิจจะกูล
    .
    "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" ช่วยให้เราเข้าใจและได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วเราเองอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ส่งเสริมและผลิตซ้ำความรุนแรงของสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อเราลองคิดต่อว่าหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ในปี 2553 และในปัจจุบัน (2567) เป็นเวลากว่า 14 ปี ที่หนังสือ "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" บอกเล่าถึงเรื่องราวของความรุนแรงที่แอบซ่อนอยู่ในสังคม หากแต่ถ้าหนังสือ "ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย" มีภาคต่อ น่าสนใจว่าในอีก 14 ปีต่อมา เราจะนิยามความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาว่าอย่างไร ? เราจะนิยามสิ่งเหล่านั้นและความรุนแรงที่ปรากฏอยู่ในสังคมนับแต่ช่วงเวลานั้นว่าอย่างไร ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in