เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์ By พีระ เจริญวัฒนนุกูล
  • รีวิวเว้ย (1530) "ตำนาน" คือเรื่องเล่ารูปแบบหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตซึ่งแน่นอนว่า "เรื่องเล่า" ที่เป็นตำนานนั้นยากจะหาคำตอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องแต่งที่ถูกเล่าต่อกันมากระทั่งกลายเป็นเรื่องจริง (ที่คนเชื่อ) ความน่าประหลาดของการกลายเป็น "ตำนาน" กลับไม่มีข้อมูลส่วนใดที่ระบุเอาไว้เลยว่า เรื่องเล่าเหล่านั้นต้องถูกเล่าขานมานานเท่าไหร่จึงจะกลายเป็นตำนาน ? เมื่อค้นลึกลงไปในความหมายของคำว่าตำนานในภาษาไทยก็เจอเพียงคำว่า "ปางหลัง" ที่ดูจะเป็นเครื่องบอกระยะว่าเรื่องเล่าและเรื่องราวที่เกิดขึ้นมา "ปางหลัง" นั้นนับเป็นตำนาน (แน่นอนว่าแปลไทยเป็นไทยไม่เคยช่วยให้อะไรดีขึ้น) แต่พอลองค้นในภาษาอังกฤษด้วยคำว่า Legend (ตำนาน) จะได้ความหมายของคำว่า "a story coming down from the past" และเมื่อค้นต่อไปยังรากเดิมของคำว่า Legend ในภาษาละตินจะพบว่าคำดังกล่าวมาจากคำว่า legenda//lə̇ˈjendə ที่หมายถึง "stories and other writings (as from a passional) to be read usually for edification" ถ้าพิจารณาจากความหมายในลักษณะนี้ หนังสือ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" ก็น่าจะเรียกว่าเป็น "ตำนาน" บทหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ ก็เห็นจะได้ (หากใครอ่านมาถึงตรงนี้ การเขียนเปิดเรื่องที่พากลับไปหารากในภาษาละติน อาจจะทำให้คุณคิดถึงอาจารย์ผู้เป็นตำนานอีกท่านหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์)
    หนังสือ : ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์
    โดย : พีระ เจริญวัฒนนุกูล และ พัชร ล้วนวิจิตร บก.
    จำนวน : 344 หน้า
    .
    "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" หนังสือฉบับพิเศษที่ถูกจัดทำขึ้นในวาระเฉลิมฉลองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 75 ปีเต็ม ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 โดยที่หนังสือ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" เลือกนำเสนอเรื่องราวและมุมมองต่อการเปลี่ยนผ่านองค์ความรู้ของวิชารัฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์ สู่ความเป็น "ศาสตร์" ที่หยิบเอาองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ มาใช้ และเปลี่ยนแปลงเอาวิชาบางอย่าง อาทิ ขี่ม้า ยิงปืน และนิติเวชศาสตร์ ออกเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงความรู้ไปสู่ความเป็นรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (ซึ่งหากใครอยากเห็นพัฒนาการของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในยุคแรก แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง "หนุนนำอำนาจรัฐ" พชร ล้วนวิจิตร, รัฐศาสตร์สารปีที่ 44 ฉบับที่ 1, น. 153-243)
    .
    และด้วยการเปลี่ยนผ่านขององค์ความรู้ และการเข้ามาของคณาจารย์ที่เปลี่ยนสถานะจากการเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาสอน มาสู่การมีอาจารย์ประจำและส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อในต่างประเทศนี้เอง ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทางความรู้จึกปรากฏขึ้นและกลายมาเป็น "รากฐาน" ของการจัดการเรียนการสอนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
    .
    หนังสือ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" พยายามทำหน้าที่ในการนำเสนอมุมมอง พัฒนาการและชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึง "ความเปลี่ยนแปลง" และ "การเปลี่ยนผ่าน" ขององค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ มาสู่ความเป็นศาสตร์สมัยใหม่ ผ่านความทรงจำและเหตุการณ์ในอดีตจากปากคำของอดีตคณาจารย์ ที่เป็น "ตำนาน" และเป็นรากฐานสำคัญทางวิชาการที่สร้างตัวตนของรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ขึ้นมา
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องของงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ของ 2 บรรณาธิการ ที่จะฉายให้เห็นภาพร่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคณะรัฐศาสตร์ คล้ายกับเป็นการวางพิมพ์เขียวของหนังสือเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะพาไปพบเจอ (และบางเรื่องที่ไม่ปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์แต่มีหลักฐานปรากฏในฐานะของหลักฐานชั้นต้นต่าง ๆ) และส่วนต่อมา คือ ส่วนของบทสัมภาษณ์อดีตคณาจารย์ที่จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็น เรียนรู้ และเข้าใจที่มาที่ไปว่า อะไรทำให้รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ? โดยเนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ: "เริ่มยามเช้าเรามารู้จักกัน": ที่มาที่ไปของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ สำนักธรรมศาสตร์
    .
    สัมภาษณ์: อดีต 12 คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ไม่บอกว่าใครบ้าง ให้ไปหาอ่านเอาเอง)
    .
    เมื่ออ่านมาถึงหน้าสุดท้ายของ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" ไม่แน่ใจว่าสำหรับคนอื่นแล้วจะสามารถเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ตำนาน (Legend) บทหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ ได้หรือไม่ ? แต่สำหรับเราแล้วการจัดทำหนังสือ "ว่าด้วยรัฐ: 75 ปี ศาสตร์การเมืองสำนักธรรมศาสตร์" ก็ดูจะสอดคล้องกับรากของคำในภาษาละตินอย่าง legenda//lə̇ˈjendə อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ในท้ายที่สุดแล้ว "ตำนาน" ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของผู้ยิ่งใหญ่แต่ประการใด หากแต่ตำนานเป็นของใครก็ได้ทั้งนั้น คล้ายกับที่ ยางิ โทชิโนริ (All Might) บอกกับมิโดริยะ อิซึคุ ในวันที่พบกันครั้งแรก

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in