เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง
  • รีวิวเว้ย (1523) ความท้าทายประการหนึ่งสำหรับคนเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม "วิชาวิจัย" หรือ "เล่มวิจัย" ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการกำหนดชะตาว่าใครจะจบหรือไม่จบการศึกษา อาจเรียกได้ว่า "วิจัย" เป็นตัววัดสำคัญของอนาคตการศึกษาของทุกคนก็ว่าได้ และที่สำคัญไปกว่านั้นวิจัยยังมีความสลับซับซ้อน รวมถึงเรียกร้องความอดทนจากผู้เรียนเป็นอย่างมาก ยังไม่นับถึงขั้นตอน การตั้งคำถาม การทบทวนวรรณกรรม การสร้างกรอบแนวคิด การออกแบบการเก็บข้อมูล การขอรับรองการวิจัยในคน การลงมือเขียน การสอบเปิดเล่มและสอบปกป้อง การตีพิมพ์ กระทั่งถึงการลุ้นว่าจะมีใครในอนาคตมาฟ้องถอนงานวิจัยเราไหม ? ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเรียนระดับมหาวิทยาลัยต้องเผชิญเป็นปกติ และอย่างไรก็ต้องรับมือกับวิชาวิจัยและเล่มวิจัยให้จงได้
    หนังสือ : การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับการพัฒนาทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ
    โดย : อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ และคณะ 
    จำนวน : 286 หน้า
    .
    "การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับการพัฒนาทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" ตามชื่อของหนังสือก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของ "การวิจัยเชิงปริมาณ" โดยมุ่งเน้นการวิจัยไปที่ 2 องค์ความรู้หลักอย่างเรื่องของเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่เมื่อร่วมกันแล้วจะได้วิชาในกลุ่มของเศรษฐศาสตร์การเมือง บริหารรัฐกิจ รัฐประศาสนศาสตร์ ที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการออกแบบนโยบาย
    .
    โดยเนื้อหาของ "การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับการพัฒนาทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" แบ่งออกเป็น 6 บท ที่จะพาไปทบทวนถึงแนวคิดพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์-รัฐศาตร์ ผ่านวิธีการออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณ และการนำเอาความรู้ทางทฤษฏีมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัย รวมไปถึงการนำเสนอรูปแบบและแนวทางของการสังเคราะห์ข้อมูล และการปิดท้ายส่วนของเนื้อหาด้วยตัวอย่างของการออกแบบการวิจัยเชิงปริมาณที่มีการประยุกต์เอาเนื้อหาในแต่ละบทเข้ามาแสดงให้เห็นถึงวิธีการในการออกแบบการทำวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งเนื้อหาทั้ง 6 บทแบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ 
    .
    บทที่ 1 แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการศึกษาแนวทางการออกแบบตัวแปรภายใต้การวิจัยเชิงปริมาณ 
    .
    บทที่ 2 แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองภายใต้การวิเคราะห์วรรณกรรมเพื่อแนวทางของการวางกรอบและแนวคิดเชิงวิจัย 
    .
    บทที่ 3 แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการศึกษาภายใต้การวิเคราะห์กระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ
    .
    บทที่ 4 แนวคิดทฤษฎีรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์กับการประยุกต์เพื่อหาแนวทางการพัฒนางานวิจัยเชิงปริมาณ
    .
    บทที่ 5 แนวคิดจากการวิเคราะห์จากผลสังเคราะห์ภายใต้กระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ 
    .
    บทที่ 6 ตัวอย่างการทำวิจัยเชิงปริมาณในหัวข้อการคอร์รัปชันในประเทศไทย
    .
    สำหรับคนที่มีความกังวลใจในเรื่องของการทำวิจัย หรือวิชาวิจัย โดยเฉพาะในสายเศรษฐศาสตร์การเมืองและรัฐศาสตร์ "การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับการพัฒนาทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" อาจจะช่วยให้เห็นภาพและเข้าใจวิธีการของวิธีวิทยาในการทำวิจัยอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการทำวิจัยในเชิงปริมาณที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของนโยบายสาธารณะ แต่อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ว่าวิชาวิจัยและการทำวิจัยมีความสลับซับซ้อน มากไปกว่าที่เนื้อหาในหนังสือปรากฏ เนื่องด้วยวิธีการแสวงหาคำตอบของคำถามผ่านรูปแบบของการทำวิจัยยังมีแยกย่อยออกไปตามเครื่องมือ สาขาวิชา และอื่น ๆ หากแต่ใครที่สนใจ "การวิจัยเชิงปริมาณตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับการพัฒนาทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" เล่มนี้น่าจะช่วยได้ไม่น้อยในการสร้างความรู้และทำความเข้าใจการวิจัยเชิงปริมาณที่ประยุกต์เข้ากับสาขาสังคมศาสตร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in