รีวิวเว้ย (1474) หากใครเคยอ่านหนังสือหรือดูละครเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลาหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะละครที่บอกเล่าเรื่องราวในช่วง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมาเราน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "เกาะปีนัง" ทั้งในฐานะของสถานศึกษาที่ชาวสยามยุคหนึ่งนิยมส่งลูก-หลาน ไปเรียนต่อที่เกาะปีนัง หรือกระทั่งหากใครอ่านหนังสือหรือประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็จะพบชื่อของ "เกาะปีนัง" เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของการลี้ภัยทางการเมืองอย่างกรณีของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ช่วงเวลาหนึ่งลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่เกาะปีนัง และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกาะปีนังเข้าไปมีส่วนสำคัญในฐานะของฉากหลังของเรื่องเล่าต่าง ๆ อยู่เสมอ
หนังสือ : จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก
โดย : เกรียงไกร เกิดศิริ, ปัทม์ วงศ์ประดิษฐ์, อิสรชัย บูรณะอรรจน์, กิตติคุณ จันทร์แย้ม
จำนวน : 288 หน้า
.
"จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของเกาะปีนัง โดยเฉพาะการมุ่งความสำคัญไปที่ "เมืองจอร์จทาวน์" ที่นับเป็นเมืองสำคัญของเกาะปีนัง เนื้อหาของหนังสือมุ่งเน้นการเล่าเรื่องราวและคบามสำคัญของเมืองจอร์จทาวน์ และเกาะปีนัง ผ่านการบอกเล่าในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การเข้ามาของบริษัทการค้าของอังกฤษ กระทั่งช่วงเวลาที่เกาะปีนังกลายมาเป็นเมืองท่าแห่งสำคัญในช่วงเวลาของความรุ่งเรืองของยุคสมัยการค้าช่องแคบ
.
สำหรับเนื้อหาของ "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" บอกเล่าพัฒนาการของเกาะปีนัง นับตั้งแต่ช่วงเวลาของความว่างเปล่าที่พื้นที่ของเก่ะเป็นเพียงที่พักของเรือประมงและเรือการค้า ที่ตัวเนื้อที่บนเกาะยังไม่ถูกให้ความสำคัญ กระทั่งการขยายตัวของระบบการค้าทางทะเลที่ทำให้เกาะปีนังถูกให้ความสำคัญและพัฒนาต่อมาจนกระทั่งกลายเป็นสถานีการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค นอกจากการเล่าเรื่องราวของเกาะผ่านบริบมทางประวัติศาสตร์แล้ว "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" ยังบอกเล่าเรื่องราวและความสำคัญของอาคารและสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเมืองจอร์จทาวน์บนเกาะปีนัง ได้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการถอดรูปแบบของอาคารแต่ละแบบ ประวัติความเป็นมา พัฒนาการและรวมไปถึงเรื่องของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเหล่านั้นให้ยั่งยืนกระทั่งปัจจุบัน อีกทั้ง "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" ยังบอกเล่าเรื่องราวการเป็นเมืองมรดกโลกของจอร์จทาวน์ ผ่านมิติของการอนุรักษ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเนื้อหาของ "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" แบ่งออกเป็น 8 บทดังต่อไปนี้
.
01 ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
.
02 ผู้คนที่หลากหลายของปีนัง
.
03 ก่อร่างสร้างเมืองจอร์จทาวน์
.
04 จากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสู่สถาปัตยกรรมแองโกลอินเดียนในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
.
05 สถาปัตยกรรมคฤหาสน์-บังกะโล ในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
.
06 สถาปัตยกรรมบ้านร้านค้าในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
.
07 สังเคราะห์แบบแผนและพัฒนาการสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง
.
08 เมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง กับการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
.
น่าจะใจเมื่ออ่าน "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" จบลง เราจะเห็นถึงความสำคัญและพัฒนาการของเมืองจอร์จทาวน์และเกาะปีนัง ที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ อีกทั้งความน่าสนใจอีกประการ คือ เรื่องของการบริหารจัดการเมืองในฐานะของเมืองมรดกโลก ที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของเมืองที่ยังคงมีผู้คนอาศัย/เมืองมีชีวิต (living world heritage cities) การบริหารจัดการเมือง ทั้งในฐานะของเมืองมรดกโลก เมืองประวัติศาสตร์ และเมืองที่ยังมีชีวิตจึงเป็นจำเป็นและท้าทาย โดยเฉพาะการที่หลายเรื่องราวที่ปรากฎใน "จอร์จทาวน์เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก" สามารถ/ควร นำมาเป็นบทเรียนของการอนุรักษ์เมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย (ที่ไม่ใช่การอนุรักษ์ในแบบของกระทรวงวัฒนธรรมและของรัฐไทย)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in