รีวิวเว้ย (1252) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) และ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ชื่อเหล่านี้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูหรือรับรู้ผ่านการเรียนในชั้นเรียนมาบ้างโดยเฉพาะนักเรียนในโรงเรียน หรือผู้ปกครองนักเรียนที่จะมีโอกาสได้พบกับปรากฏการณ์ช่วงหนึ่งของรัฐไทยและโรงเรียนไทยที่ว่าด้วยเรื่องของ "อาเซียน" ทั้งการแต่งกายชาติอาเซียน อาหารชาติอาเซีย ภาษาทักทายของชาติอาเซียน ดอกไม้ประจำชาติอาเซียน และมีสารพัดอาเซียนที่หน่วยงานภาครัฐและระบบการศึกษาจะหยิบยกขึ้นมาใช้ในช่วงที่กระแสอาเซียนกำลังขึ้นสู่กระแสสูงในสังคมไทย
แต่ ๆๆๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของภาษา อาหาร ธงชาติ ชุดแต่งกาย หลายคนก็อาจจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 11 ชาติมากนัก เพราะโรงเรียนและรัฐก็ลงมือทำอยู่แค่เรื่องที่ได้ยกตัวอย่างไปเท่านั้น รวมถึงพอจะพูดในประเด็นเรื่องของ "การเมือง" ของชาติอาเซียนในหลายครั้งหลายคนก็ดูจะพูดไม่ออกบอกไม่ถูก โดยเฉพาะเมื่อเรื่องเหล่านั้นเป็นปัญหาของรัฐหนึ่ง ๆ ในอาเซียน ในเกือบทุกครั้งรัฐสมาชิกด้วยกันก็จะงัดไม้ตายอย่าง The ASEAN Way ที่มีมาตรการสำคัญอย่างหลักเรื่องของ "การไม่แทรกแซงภายใน" (non-interference) ที่เป็นหัวใจและกลไกแสนงงของอาเซียน กระทั่งหลายครั้งมันนำไปสู่การถามถึงความเหมาะสมของหลักการดังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีของเมียนมา กระทั่งมีการหยิบชูประเด็นที่ว่า หรือหลักการสำคัญของอาเซียนควรเปลี่ยนไปเป็น "การไม่เพิกเฉย" (non-indifference) ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในอาเซียนได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา น่าสนใจว่านอกจากเรื่องของอาหาร ภาษา ธง ดอกไม้และชุดประจำชาติ องค์ความรู้สำคัญอีกประการที่ขาดหายไปของอาเซียนคือเรื่องของ "ผู้นำ" ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้นำในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ดูไปแล้วก็มีลักษณะหลายประการที่คล้าย ใกล้เคียง เหมือนและบางครั้งอาจจะคลานตามกันมา (ในทางการเมือง)
หนังสือ : The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้
โดย : ดุลยภาค ปรีชารัชช
จำนวน : 312 หน้า
"The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" หนังสือที่มุ่งเน้นการศึกษาไปที่เรื่องของ "ชนชั้นนำทางอำนาจ" ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้เขียนได้สร้างแนวคิดในการศึกษาชนชั้นนำทางอำนาจขึ้นมาใหม่ ดังข้อความที่ผู้เขียนได้ว่าไว้ดังนี้ "...เพื่อสร้างชุดความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นเกี่ยวกับชนชั้นนำและอำนาจในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เขียนเลือกให้รายละเอียดเกี่ยวกับทุกประเทศในภูมิภาคอย่างครอบคลุม แต่จะไม่แบ่งแยกเนื้อหาออกเป็นรายประเทศ โดยจะคัดแยกตามประเด็นสำคัญแล้วจึงดึงข้อมูลประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนข้อถกเถียงทางวิชาการ" (น. 18)
แน่นอนว่าการให้ภาพการศึกษาชนชั้นนำในภูมิภาคนี้ที่มีจำนวนมากถึง 11 ประเทศผ่านหนังสือความยาว 319 หน้า อาจจะไม่สามารถบอกเล่าหรือเจาะจงลงไปในรายละเอียดด้านลึกของชนชั้นนำและผู้นำที่ถือครองอำนาจได้โดยละเอียดทั้งหมด หากแต่ผู้เขียนได้ฉายภาพให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ในบางลักษณะที่กลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจในพื้นที่นี้มีร่วมกัน หรือมีคล้ายกัน ผ่านรูปแบบของกลุ่มก้อนทางอำนาจใน 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) สถาบันกษัตริย์ กลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องปรับตัวและปรับบทบาทในโลกสมัยใหม่ (2) ทหาร กลุ่มอำนาจและอิทธิพลที่ทรงพลังและมีบทบาทในฐานะแกนกลางทางอำนาจของหลายประเทศในภูมิภาค (3) นักการเมือง ในฐานะตัวแสดงทางอำนาจใหม่ที่มีบทบาทอาจจะยังไม่นานเท่ากับ (1) และ (2) แต่เป็นตัวแสดงทางอำนาจที่สำคัญยิ่งในหลายประเทศ และ (4) ตัวแสดงที่ทรงอำนาจในโลกยุคใหม่อย่างนักธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจที่นอกจากจะมีอิทธิพลทางอำนาจในเขตแดนของรัฐตนแล้ว กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังมีลักษณะพิเศษคือการสร้างอำนาจข้ามพรมแดนผ่านเครือข่ายและความร่วมมือทางธุรกิจ
โดยเนื้อหาของ "The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" ด้วยลักษณะของหนังสือที่พัฒนามาจากเอกสารคำสอนในวิชาเรียน ทำให้ในแต่ละบทของ "The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" มีลักษณะพิเศษสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 ประการคือ (1) ในแต่ละบทตอนเริ่มแรกจะมีขอบขายของเนื้อหาในลักษณะของการฉายภาพร่างของเนื้อหาทั้งบทให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจก่อนเข้าสู่เนื้อหา และ (2) เนื้อหาในแต่ละบทสามารถอ่านจบได้ในตัวเอง และอยู่ในลักษณะของเนื้อหาแบบกึ่งเอกเทศจากบทอื่น ๆ ทำให้ผู้อ่านสามารถพักยกการอ่านได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้เวลาในการอ่าน สำหรับเนื้อหาของ "The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" แบ่งออกเป็น 4 บทดังต่อไปนี้
บทที่ 1 คติอำนาจ แนวคิดชนชั้นนำ
บทที่ 2 ย้อนประวัติศาสตร์ชนชั้นนำแห่งอำนาจ
บทที่ 3 กลุ่มก้อนชนชั้นนำในการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทที่ 4 ชวนถกเรื่องชนชั้นนำในหลากมิติ
เมื่ออ่าน "The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" จบลง หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้ว่าอาเซียน มีเรื่องให้เราต้องทำความเข้าใจอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความเป็นอาเซียในมิติที่รัฐละเลยที่จะบอกเล่า นอกจากนั้นแล้ง "The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียใต้" ยังทำให้เรารู้ว่าในความเป็นจริงอาเซียนอาจจะมีความแนบชิดกันมากกว่าที่เราเคยคิดและเข้าใจ อาจจะแนบชิดกันเสียจนหลัก The ASEAN Way อย่าง "การไม่แทรกแซงภายใน" (non-interference) เป็นเรื่องหลอกเด็กก่อนเข้านอนก็ไม่ปาน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in