เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1242) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เวลาพูดถึงภาคเหนือสิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดถึงคงเป็นภาพของธรรมชาติ ต้นไม้ แหล่งท่องเที่ยว ในปัจจุบันอาจจะต้องพ่วงนักท่องเที่ยวจีน ฝุ่น PM2.5 ราคาที่ดินที่แพงจนตาเหลือก และรถติดอย่างหนักในช่วงวันหยุดและเทศกาลท่องเที่ยว แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สัก 10-20 ปี ในช่วงที่เรายังเป็นเด็กน้อย ภาพแทนจะภาพจำของภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ คือ ภาพแทนของเมืองที่ผู้คนใจดี ผู้หญิงสวย และเป็นเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเนิบช้าตามจังหวัของพื้นที่ กระทั่งปัจจุบันความรับรู้เกี่ยวกับเมืองเหนือหลายจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนละเลยที่จะตั้งคำถาม คือ "ทำไมภาพจำเกี่ยวกับเมืองเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเวลาหนึ่งของคนไทยถึงมีภาพจำเมืองเหนือเป็นเมืองหญิงงาม ธรรมชาติอุดม ไปได้ (?)" โดยเฉพาะการเรียกแทนพื้นที่ภาคเหนือว่า "ดินแดนล้านนา" ในปัจจุบันเราเรียกกันอย่างติดปากและคุ้นเคย จนเราละเลยไปว่าพัฒนาการของความเป็นล้านนามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก่อนจะเป็นล้านนาอย่างที่เรารับรู้ในยุคปัจจุบัน
    หนังสือ : ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 504 หน้า

    "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" หนังสือเล่มหนาที่ว่าด้วยเรื่องของ "การสร้างล้านนา" ขึ้นมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งก่อนหน้านั้นล้านนากับสยามก็มีปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างช้านาน แต่ช่วงเวลาภายหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 นั้น รูปแบบความสัมพันธ์ของหลายตัวแสดง หลายกลุ่มอำนาจ และหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เพราะแกนแห่งอำนาจของสังคมสยาม-ไทย เปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน

    "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" พยายามชี้ชวนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของหลายเมืองในภาคเหนือ ที่ถูกเรียกรวมกันว่าล้านนา ว่าพื้นที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายหลังการเปงี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์จากส่วนกลาง การเปลี่ยนรูปแบบของการบริหารจัดการพื้นที่มาสู่ระบบเทศบาล และความเปลี่ยนแปลงในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นที่เป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความเป็นล้านนาไปอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

    อีกทั้ง "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" ยังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงความเป็นล้านนาในยุคปัจจุบัน ทั้งช่วงเวลาที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยยุคใหม่เป็นคนเชียงใหม่และได้สมยาว่า "นายกคนเหนือ" และ "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" ยังได้บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของล้านนา ในช่วงเวลาของการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ที่เกิดการแช่แข็งและเอาอำนาจกลับคืนสู่ภาคราลการส่วนกลางนานถึง 8 ปี

    สำหรับเนื้อหาของ "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" แบ่งออกเป็น 5 บทหลักและ 1 บทนำ ดังต่อไปนี้

    บทนำ

    บทที่ 1 กำเนิด "ภาคเหนือ" หลังมณฑลพายัพสลายตัว ประกอบร่างภายใต้ระบอบใหม่ (พ.ศ. 2475-2484)

    บทที่ 2 ดอกไม้ในไฟสงครามเย็น การก่อรูปภาคเหนือยามสงครามโลกครั้งที่ 2 - รัฐประหาร พ.ศ. 2500 (พ.ศ. 2484-2500)

    บทที่ 3 อาณานิคมแบบสงครามเย็นในภาคเหนือ (พ.ศ. 2500-2525)

    บทที่ 4 การกลายเป็น "ล้านนา" กับอาณานิคมสงครามเย็นที่หวนกลับ (พ.ศ. 2525-2557)

    บทที่ 5 ออกไปจากศูนย์กลางล้านนา-ภาคเหนือ

    เมื่ออ่าน "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" จบลง น่าสนใจว่าความท้าทายของความเป็นล้านนาเกิดขึ้นมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ทั้งก่อนหน้าการศึกษาของ "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" และในช่วงเวลาที่ "ล้านนาที่เพิ่งสร้าง: ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม" ศึกษานับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา น่าสนใจอย่างยิ่งว่าล้านนาเผชิญความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และดู ๆ ไปแล้วดินแดนแห่งนี้ยังมีกระแสของการเปลี่บนแปลงในหลากรูปแบบเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะการเรียนร้องความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการยกระดับการปกครองเชิงพื้นที่ โดยคนในพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ล้านนาสามารถพัฒนาได้อย่างสอดรับกับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่พื้นที่ล้านนา (เชียงใหม่) เท่านั้น หากแต่ไม่แน่ว่าอีกไม่ช้าไม่นานการกระจายอำนาจจะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in