เพลง “You Don’t Know” ของศิลปิน Katelyn Tarver คือเพลงโปรดของ “ก็อด” (นามสมมุติ) เจ้าของร้านขายและออกแบบรูปภาพเล็ก ๆ วัย 22 ปี เธอเติบโตมาในจังหวัดนนทบุรีกับครอบครัวเชื้อสายจีน เธอเป็นลูกสาว เป็นพี่สาว เป็นเพื่อน และเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้ามากว่า 2 ปี
ก็อดบอกเรา เธอบอกว่าสีดำคงมีอะไรมากกว่าความเศร้า เป็นได้ทั้งความกลัว ความอึดอัด ความลึกลับ และอีกหลายสิ่งแล้วแต่คนจะตีความ ในยามกลางคืนที่ฟ้ามืดสนิทซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ก็อดบอกว่าทำให้รู้สึกปลอดภัยที่สุด เราได้คุยกับเธอถึงชีวิตในโลกสีดำใบนั้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
“หมอเขาเทียบว่าเราเป็นน้ำแก้วหนึ่ง ตอนแรกน้ำอาจจะปริ่มแก้ว แต่ตอนนี้คือมันล้นแล้ว ล้นจนไม่รู้จะล้นยังไง” ก็อดเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพว่าจิตใจของเธอก็เหมือนกับแก้วที่สะสมน้ำแห่งประสบการณ์และความรู้สึกด้านลบต่าง ๆ ไว้มากจนรับไม่ไหวอีกต่อไป เธอเล่าให้ฟังต่อว่าที่ผ่านมาในแก้วของเธอมีน้ำอะไรอยู่บ้าง
“เมื่อก่อนเราโดนทั้งตี ทั้งด่า โดนหมด ตอนเราอยู่กับตาเราจะโดนตีบ่อย เพราะตารักน้องมาก มีอะไรเราต้องให้น้องตลอดเลย ไม่ว่าจะของรักของหวงก็ต้องให้น้อง เพราะถ้าไม่ให้จะโดนตี ทุกครั้งที่น้องร้องไห้เราจะโดนด่า”
“ส่วนใหญ่ ครอบครัวเลี้ยงเรามาแบบไม่ได้โอ๋ เราเคยโดนหาว่าเรียนไม่เก่งบ้าง โดนหาว่า ‘เป็นควายเหรอ ไปกินหญ้าไหม’ เจ็บที่สุดคือจำได้ว่าโดนด่าว่าเป็นลูกอกตัญญู ตอนนั้นเราเสียใจมาก รู้สึกแย่กับตัวเองมากว่าเราในอนาคตจะดูแลเขาได้ไหม ตอนนั้นเราอยู่ประถม เรายังเด็ก ที่เป็นบาดแผลที่สุดคือแม่พูดว่า ‘ไม่น่าให้เกิดมาเลย’ แล้วพูดบ่อย พูดหลายรอบ”
“เราคิดว่าอาจจะเป็นเพราะเขาถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ มันเลยทำให้เขาเอาวิธีนี้มาใช้ เขาสู้ต่อไปได้ด้วยคำเหล่านี้ แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไร้ค่ามาก ๆ ได้ยินแบบนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกอยากสู้ต่อ แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าอยากหยุดทุกอย่างลง”
ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่สอง ผลการเรียนของเธอไม่ได้ออกมาอย่างที่ครอบครัวคาดหวัง ก็อดอยู่กับความกลัวเป็นเวลานานจนท้ายที่สุดเธอได้เปิดใจคุยกับครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้พบจิตแพทย์และพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า ปัจจุบันก็อดยังพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอยู่เรื่อย ๆ เธอกินยาตอนเช้าและก่อนนอนรวมทั้งหมด 4 อย่างเพื่อปรับสารเคมีในสมองและคลายความเครียด ซึ่งบางอย่างอาจตามมาด้วยผลข้างเคียงอย่างง่วงนอนทั้งวันหรือมึนหัว แม้ตอนนี้ครอบครัวจะไม่ได้กดดันในเรื่องการเรียนแล้ว เธอก็ยังอยู่กับโรคซึมเศร้าที่ไม่หายไป
ก็อดเปรียบเทียบ ชวนเราให้นึกถึงกระจกแบบที่ผู้คนจะไม่เห็นทะลุด้านในเมื่อมาส่อง จะเห็นแต่เงาของตัวเอง
“เราเป็นคนร่าเริง เป็นคนที่พอเศร้าปุ๊บจะแบบ ‘ไม่ได้ กูห้ามเศร้า’ รู้สึกว่าพอเราลบปุ๊บ ถ้าคนอื่นลบตาม มันจะยิ่งลบหรือเปล่า ทุกครั้งที่คนถามว่าโอเคไหม ไม่เป็นไรใช่ไหม เราก็จะตอบว่า โอเค ไม่เป็นไร สบายดี ครอบครัวก็จะถามบ่อย เราก็ไม่อยากให้เขาเป็นห่วง เราเลยตอบว่าโอเคเพื่อความสบายใจของเขา เหมือนเราอยู่ข้างในกระจก ต่อให้เราจะแสดงสีหน้ายังไงคนข้างนอกก็ไม่รู้ เพราะสิ่งที่กระจกสะท้อนออกมาคือหน้าของเขา เราปรับอารมณ์ของเราตามเขา”
แต่ถึงจุดหนึ่ง กระจกบานนี้ก็หาทางสะท้อนความรู้สึกที่ถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่ว่าจะผ่านภาพ สิ่งของ หรือศิลปะ ตุ๊กตาด้านล่างนี้คือตุ๊กตาที่ก็อดซื้อมาดัดแปลงและแต่งเติมให้เหมือนตัวเอง เป็นตุ๊กตาที่เธออยากได้มานาน เธอบอกว่ามันเหมือนเป็นภาพแทนของเธอ
“เราเลือกสิ่งที่แทนความรู้สึกตัวเอง แทนสิ่งที่เราเป็น เรารู้สึกว่าตอนนี้เรายังจมอยู่กับความเศร้าความมืดอยู่ แทททูที่เราเลือกส่วนใหญ่เลยสื่อความเศร้าโศก แง่มุมที่มันมืด ไม่ใช่แง่มุมสว่าง”
เมื่อเราถามว่าในเมื่อความทุกข์เป็นสิ่งที่กัดกินเธอมาตลอด ทำไมเธอถึงเลือกให้สิ่งเหล่านี้อยู่บนตัวของเธอและเป็นตัวแทนของเธอ ก็อดตอบว่าในตอนแรกมันคือสัญญาณ
“เอาจริง ๆ ณ ตอนนั้นเราหวังว่าจะมีใครสักคนรู้มั่งว่าเราเป็นอะไรอยู่” เธอเล่า “มันเป็นความอึดอัด พูดออกไปไม่ได้ เราพยายามทำให้คนอื่นได้รู้ว่าตัวเราไม่ได้มีแต่ความรู้สึกด้านดีอย่างที่เราพูด เราไม่สามารถพูดเป็นคำพูดเลยสื่อเป็นสัญลักษณ์แทน”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่องรอยเหล่านี้ก็เป็นมากกว่านั้น
ก็อดให้เราดูภาพกระจกเงาบานนี้ของเธอ กระจกบานที่เป็นพื้นที่ให้เธอได้เธอปลดปล่อยทุกความรู้สึกออกมา — ทั้งความทุกข์เศร้า ความเหนื่อยล้า ความไม่อยากดำรงอยู่อีกต่อไป — ความรู้สึกด้านลบที่ใคร ๆ อาจต้องการให้เธอกำจัดออกไป ก็อดบอกว่า การยอมรับและระบายความรู้สึกเหล่านี้ออกมาก็อาจไม่แย่เสมอไป
“ตอนนั้นเรารู้สึกแย่ เหมือนแบกโลกทั้งใบไว้ แต่ตอนที่เราเอามาตั้งไว้แล้วถ่าย เราไม่ได้รู้สึกแย่กับตัวเองนะ เรารู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยบางอย่างออกมา เหมือนมันเบาลงนิดนึง มันดีกว่าไม่ได้ทำ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการเยียวยาตัวเอง แต่ตอนนี้เห็นภาพแล้วว่านั่นคือสิ่งที่เราทำเพื่อเยียวยาตัวเอง”
“เราไม่ใช่คนที่จะมาเฮฮาตลอดเวลา เราก็เศร้าได้ เราร้องไห้เป็น เรามีด้านที่รู้สึกว่าเราไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว เรามีด้านที่รู้สึกอยากจะตาย ๆ ไปซะ” ก็อดพูดกับเราอย่างตรงไปตรงมา
“การแสดงออกความรู้สึกของคนเรา ไม่ได้มีแค่ด้านมีความสุขอย่างเดียว การที่เราแสดงออกความรู้สึกด้านที่ไม่ดี ด้านที่อ่อนแอออกมา มันก็ไม่ได้แย่ไหม”
“เราไม่จำเป็นต้องสู้ตลอดเวลา ต้องพยายามตลอดเวลา เราอ่อนแอได้ จมอยู่กับความทุกข์ของเราได้ คนคิดว่าคนเป็นซึมเศร้าต้องการกำลังใจ แต่ไม่ บางทีเขาต้องการสเปซ” ก็อดชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้แต่ละคนได้มีพื้นที่ระบายและทำความเข้าใจความรู้สึกของตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้เขาค่อย ๆ เยียวยาตนเองได้อย่างไม่ถูกกดดัน
ในวันนี้ก็อดยังคงอยู่กับโลกสีดำของเธอ โลกที่บางครั้งคือความหม่นหมอง บางครั้งคือความสับสน บางครั้งคือความว่างเปล่า
“เรากำลังหาสิ่งที่ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ได้อยู่” ก็อดบอก เธอเล่าว่าบางครั้งเธออยากหายจากโรคนี้ แต่บางครั้งเธอก็ไม่ได้อยากหาย เธอกำลังพยายามหาตรงกลางอยู่ ตอนนี้เธอยังไม่สามารถรักตัวเองหรือสามารถเลิกโทษตัวเองอย่างที่ใครหลายคนอาจบอกว่าเธอควรทำได้ แต่เธอก็หาหนทางอยู่ร่วมกับความรู้สึกของเธอในขณะที่มันยังอยู่
ก็อดเล่าอีกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการเริ่มมีความรู้สึกต่อสิ่งและคนรอบข้างน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นคนสำคัญในชีวิต ความไม่ยินดียินร้ายนี้เป็นเรื่องที่เธออยากแก้ไขให้ได้มากที่สุด แต่ในระหว่างที่ยังเป็นเช่นนี้ ก็อดก็หาทางใช้ประโยชน์จากความไม่กลัวและไม่สนใจในแบบที่ทำได้ เธอเปิดโอกาสให้ตัวเองกล้าแต่งตัวและแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวความคิดของผู้อื่นมากขึ้น กล้าลองทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่กลัวผิดหวังในผลลัพธ์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เมื่อก่อนเธอไม่สามารถทำได้
นี่คือหนทางที่ก็อดอยู่กับโลกสีดำของเธอ ในแบบของเธอ
ก็อดมองว่าทุกคนเจอเรื่องที่ต่างกัน มีคนรอบข้างที่ต่างกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน และรู้สึกกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบมากน้อยต่างกันไป สิ่งสำคัญจึงเป็นการให้แต่ละคนได้ตัดสินใจเองว่าทางใดที่จะโอเคที่สุดสำหรับตน
สำหรับก็อด โรคซึมเศร้าเป็นเหมือนแฝดของเธอ เหมือนอีกตัวตนหนึ่งของเธอเองที่กำลังนั่งคุยกับเธอ แฝดคนนี้ไม่ใช่คนที่เหมือนเธอเป๊ะ ๆ และไม่ใช่คนที่เธอเข้าใจเขาดีทุกอย่าง แต่ก็ไม่ใช่คนที่เธออยากปฏิเสธออกไปจากชีวิตเช่นกัน การโอบรับตัวเองในแบบที่เป็นอยู่เช่นนี้คือทางที่ก็อดเลือก
คงไม่ผิดหากคนเราจะเป็นกระจกที่ส่องเงาสีดำออกมาบ้างในบางเวลา หากเงานั้นจะช่วยรักษาแผ่นแก้วของเราไม่ให้แตกสลายไปเสียก่อน
ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2564 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 #ห้องเรียนเขียนเรื่อง
อ่าน-คิด-เขียน เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเหล่า content creator ฝึกหัดก่อเรื่องสร้างภาพ จากอักษรฯ จุฬาฯ มาร่วมชมและแชร์คอนเทนต์หลากรส หลายอารมณ์ไปกับเราได้เลยค่ะ เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้ทาง line official เพื่อมิให้พลาดคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเหล่านักเรียนเขียนเรื่องจากอักษรฯ จุฬาฯ โดยคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/CMxj3jb หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ ID โดยค้นหา @readthinkwrite2559 ได้เลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in