บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง จากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" ปีการศึกษา 2564 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565
อ่าน-คิด-เขียน เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเหล่า content creator ฝึกหัดก่อเรื่องสร้างภาพ จากอักษรฯ จุฬาฯ มาร่วมชมและแชร์คอนเทนต์หลากรส หลายอารมณ์ไปกับเราได้เลยค่ะ เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้ทาง line official เพื่อมิให้พลาดคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเหล่านักเรียนเขียนเรื่องจากอักษรฯ จุฬาฯ โดยคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/CMxj3jb หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ ID โดยค้นหา @readthinkwrite2559 ได้เลยค่ะ
“เราพยายามพูดและแสดงออกผ่านงานที่เราทำว่าเสื้อผ้ามือสองใส่ได้ปกติ แถมยังเท่ด้วย”
--‘อัลเตอร์’- ธัญณัฐ ทะรังศรี--
ในโลกของวงการแฟชั่นที่ทุกอย่างมาไวไปไวและสับเปลี่ยนตามเทรนด์ตลอดเวลา คนที่ทำงานเบื้องหลังก็ต้องวิ่งตามเทรนด์และออกคอลเลคชั่นเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้ทันกับกระแสนิยมในช่วงเวลานั้น
แต่ ‘อัลเตอร์’ - ธัญณัฐ ทะรังศรี ดีไซเนอร์วัย 22 ปี กลับมีจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า แม้เธอจะทำงานอยู่ในวงการแฟชั่น แต่เธอไม่จำเป็นต้องทำตัวตามเทรนด์ตลอดเวลา แทนที่เธอจะออกแบบและแมทช์ชุดจากเสื้อผ้าคอลเลคชั่นล่าสุด เธอกลับเลือกที่จะออกแบบและแมทช์ชุดจากเสื้อผ้ามือสองให้ออกมาสวยเก๋ไม่เหมือนใคร จนใครหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเสื้อผ้าที่เธอแมทช์เหล่านี้เคยเป็นเสื้อผ้ามือสองที่ไม่มีใครเหลียวแลมาก่อน
นอกจากโปรเจกต์รณรงค์เกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองที่อัลเตอร์ทำด้วยความชอบส่วนตัว เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม “Loopers” แพลตฟอร์มที่มอบประสบการณ์ดี ๆ ให้กับคนที่ซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้คนตัดสินใจช่วยโลกนี้ได้ง่ายขึ้นผ่านการใช้และส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง นอกจากนี้ เธอยังทำงานร่วมกับ “SwapShop” คอมมูนิตี้ที่เปิดพื้นที่ให้คนมาร่วมสนุก แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสอง และร่วมกันทำแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองด้วย
--------------
นัก – นิยาม
นิยามตัวเองว่าเป็นอะไร
เราแยกเป็น 2 อย่าง คือ เรานิยามตัวเองว่าเป็นดีไซเนอร์ เพราะเราทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับองค์ประกอบภาพ ลงรายละเอียดการตัดเย็บเสื้อผ้า และเอาเสื้อผ้ามาแมทช์กัน ส่วนอีกฝั่งนึงเรานิยามตัวเองว่าเป็นผู้ประกอบการ คือ เบนไปทางสายธุรกิจนิดนึง อย่าง
Loopers เราก็มีการจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัทอย่างจริงจัง
ให้ความหมายคำว่า “แฟชั่น” และ “ศิลปะ” อย่างไร
ศิลปะกับแฟชั่นอยู่คู่กันมานานแล้ว เพราะการศึกษาแฟชั่นก็มองกลับไปที่การศึกษาศิลปะด้วย เรามองว่าศิลปะ แฟชั่น ประวัติศาสตร์ และสังคม คืออย่างเดียวกัน หลอมรวมไปด้วยกันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรม" ในยุคปัจจุบันที่แฟชั่นมีความลื่นไหลและหลากหลาย เราสามารถแต่งตัวได้ตามใจมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คนในยุคนั้นอาจคิดว่าในปี 2022 คนจะแต่งตัวเว่อร์กว่านี้ แต่พอถึงยุคปัจจุบันจริง ๆ ทุกคนวกกลับไปที่จุดเดิม ตรงนี้เราว่ามันก็เป็นแรงบันดาลใจจากศิลปะ เพราะคนได้แรงบันดาลใจจากศิลปะที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ศิลปะกับแฟชั่นมันเลยค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป มันเดินไปคู่กัน ดังนั้นในมุมมองของเราแฟชั่นจึงเป็นหนึ่งในการแสดงออกทางศิลปะเหมือนกัน
แสดงว่าเทรนด์การแต่งตัวทุกเทรนด์ถือเป็นศิลปะเหมือนกันหมดใช่ไหม
ใช่ เรารู้สึกว่าแฟชั่นเป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ว่าเสื้อผ้านั้นจะเป็นวัสดุอะไรก็สามารถแสดงออกทางศิลปะได้ แสดงออกมาเป็นแฟชั่น เป็นการแต่งตัวเก๋ ๆ ได้หมด ฉะนั้น การแต่งตัวตามแฟชั่นไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อผ้ามือหนึ่งหรือเสื้อผ้าที่ผลิตใหม่
--------------
สร้าง - จากสิ่งเก่า
จุดเริ่มต้นในการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสองของคุณคืออะไร
ช่วงมัธยมต้น จริง ๆ ตอนนั้นเราเริ่มใส่เสื้อผ้ามือสองแล้ว แต่แค่รู้สึกว่ามันก็เป็นเสื้อผ้าธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญต่อสังคมและโลกอะไร แต่พอขึ้นปี 1 เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดูสารคดีเรื่อง
The Minimalists [1] ตอนแรกเราเข้าใจว่าคนที่นิยมใส่เสื้อผ้าสไตล์ “มินิมอล” ส่วนใหญ่ ใส่เพราะเหตุผลด้านความชอบ แต่พอมาดูสารคดีนี้ จริง ๆ มันเป็นกลุ่มคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน เขาทำเพื่อต้องการจะช่วยโลกใบนี้ ช่วยลดขยะต่าง ๆ เพราะสารคดีชี้ให้เห็นปริมาณขยะที่คน ๆ หนึ่งผลิตต่อวัน ว่ามีปริมาณมากขนาดไหน คนถึงเข้ากลุ่ม
Minimalist เพื่อจะลดปัญหาขยะ และเพื่อที่เขาจะได้อยู่แบบไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้โลกใบนี้ การที่เราเกิดมาใช้ชีวิต ถ้าหากเราอยากใช้ชีวิตแบบสบาย มันเป็นภาระต่อโลกมากเลย เรารู้สึกว่าเหตุผลที่เขาทำมันดีมากเลย เราเลยไปศึกษาต่อและเจอสารคดีเรื่อง
The True Cost [2] ที่เล่าถึงเหตุการณ์โรงงาน
รานาพลาซ่า ถล่มที่บังคลาเทศ คือ โรงงานนี้เป็นโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้บริษัทแฟชั่นมากมาย แต่ตัวลูกจ้างเองกลับไม่ได้มีเงินมากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ตัวเองทำด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาได้ค่าแรงต่อหัวน้อยมาก ๆ
[1] The Minimalists: Less IsNow | Official Trailer | Netflix: https://www.youtube.com/watch?v=jn-xbOCZOiQ
[2] The True Cost | Secrets Behind Fashion Industry | Exploitation | Documentary: https://www.youtube.com/watch?v=0wB2SS1GC3M
โปรเจกต์รณรงค์อย่างงาน Med Galam Fashionweek มีไอเดียในการคิดงานอย่างไร
ตอนนั้นเราจะทำงาน Med Galam Fashion Week กับเพื่อน ๆ ทีม SwapShop อยู่แล้ว เป็นงานที่มีโจทย์คือให้คนมาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า และทำกิจกรรมแฟชั่นโชว์แบบออนไซต์ร่วมกัน แต่งานยังขาดมุมไอคอนิคให้คนเข้าไปถ่ายรูปและสัมผัสประสบการณ์อะไรบางอย่าง ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยดึงคนเข้ามาชมงาน เราเลยออกแบบนิทรรศการจากของที่มีอยู่ จนกลายเป็นห้อง The Cheapest Room ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับงาน โดยมีแนวคิดว่าอยากให้เป็นห้องที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมในการคิดว่า ขนาดเสื้อผ้าเหลือทิ้งจากงานเล็ก ๆ ของเรายังสร้างขยะออกมาเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่ จนกางออกมาเป็นห้องได้ แล้วถ้าเป็นเสื้อผ้าเหลือทิ้งของคนในประเทศไทย หรือเสื้อผ้าของคนทั้งโลกมันจะเยอะขนาดไหน คือบางคนอาจจะรู้เรื่องปัญหาขยะเสื้อผ้า แต่เขาอาจไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ หรือไม่คิดว่าขยะเสื้อผ้ามีปริมาณเยอะขนาดนั้น เราจึงตั้งใจสื่อสารกับทุกคนผ่านงานนี้ เราอยากให้ทุกคนเห็น อยากให้ทุกคนรู้สึกอย่างชัดเจน และสามารถเห็นปัญหาขยะเสื้อผ้าในแบบที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด
เหตุผลที่ทำให้คุณหันมาสนใจทำธุรกิจเสื้อผ้ามือสองอย่าง Loopers คืออะไร
จริง ๆ แล้วเราสนใจด้านเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้ว เราทำโปรเจกต์รณรงค์เกี่ยวกับด้านนี้มาโดยตลอด แต่พอเราทำมาเยอะ ๆ มีนักธุรกิจมองเห็นตรงนี้ เขาก็ติดต่อให้เราไปทำด้วย เราก็ทำมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นหุ้นส่วน เรารู้สึกดีใจมากที่คนที่เข้ามาไม่ใช่นักธุรกิจจ๋า เขามีความสนใจเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้ว และใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด เลยสร้างแพลตฟอร์ม
Loopers ขึ้นมา เรารู้สึกว่าถ้านักธุรกิจคนนี้ไม่ชวน เราก็อาจจะไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ก็คงรณรงค์กันต่อไปเรื่อย ๆ แต่ก็อยากสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองขึ้นจริง เพราะมันง่ายกับคนส่วนมากของประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขายังรู้สึกว่าการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสองมันยาก แต่พอมีแพลตฟอร์มมันง่ายขึ้น และถึงเราไม่ได้มาทำงานตรงส่วนนี้ เราก็อยากให้มันมีอยู่ดี
จากการทำโปรเจกต์รณรงค์และแพลตฟอร์ม Loopers ทำให้เราเห็น เทรนด์การใช้เสื้อผ้ามือสองของคนไทยเป็นอย่างไร
มองจากความรู้สึกและประสบการณ์ คนไทยส่วนหนึ่งใส่เสื้อผ้ามือสองกันอยู่แล้ว สำหรับกลุ่มที่มองว่าเสื้อผ้าเป็นของฟุ่มเฟือย เขาก็จะรอรับจากการบริจาค คนกลุ่มนี้จะใส่เสื้อผ้ามือสองโดยที่อาจจะไม่ได้มองว่าเป็นเทรนด์อะไร กับอีกส่วนหนึ่งคือที่ใส่เสื้อผ้ามือหนึ่งเพื่อออกงาน และใส่เสื้อผ้ามือสองในชีวิตประจำวัน เราเลยรู้สึกว่าการใช้เสื้อผ้ามือสองของคนไทยโดยทั่วไป มีจำนวนค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ในขณะที่คนชนชั้นกลางอาจจะมองว่าการใส่เสื้อผ้ามือสองเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหม่มากเลย แต่จริง ๆ สำหรับคนไทยที่ใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ เป็นแรงงานหลักของประเทศ เขาใช้เสื้อผ้ามือสองกันอยู่แล้ว แต่พอชนชั้นกลางบางกลุ่มที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ออกมาเรียกร้องกันมากขึ้น ทำให้เกิดเทรนด์ใส่เสื้อผ้ามือสองเพื่อช่วยโลก ซึ่งตอนนี้มันพัฒนาต่อเป็นใส่เสื้อผ้ามือสองเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ว่าเป็นคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม เทรนด์นี้เลยเป็นกระแสในดารา เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์และชนชั้นกลาง ดังนั้น เราเลยรู้สึกว่าเทรนด์เสื้อผ้ามือสองในไทยตอนนี้แทบจะเป็นเทรนด์หลักเลย
พูดได้ไหมว่า คนชนชั้นกลางและดารา เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์ยังมองว่าการใส่เสื้อผ้ามือสองเป็นแค่เทรนด์ที่น่าสนใจซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์
ไม่ใช่ทั้งหมดนะ แต่ใช่ หลายคนรับรู้เรื่องปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญขนาดนั้น เขายังซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งมากมาย ยังซื้อแบรนด์เนมต่าง ๆ แต่เราว่าแม้เขาใส่เสื้อผ้ามือสองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าพอดารา เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์ใส่ เขาช่วยเป็นกระบอกเสียงออกไป คนที่เห็นและอยากตามกระแสก็มีแนวโน้มตัดสินใจใส่เสื้อผ้ามือสองได้ง่ายขึ้น
--------------
สรร(ค์) - สร้างสังคมใหม่
มีวิธีในการโน้มน้าวคนอื่นอย่างไรให้หันมาตระหนักและใช้เสื้อผ้ามือสองมากขึ้น
เราพยายามพูดและแสดงออกผ่านงานที่เราทำว่ามันใส่ได้ปกติ แถมยังเท่ด้วย เราเอาเสื้อผ้ามือสองไปแมทช์ให้นางแบบใส่ คือ พยายามทำให้มันเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ไปชี้นิ้วสั่งสอนใคร เพราะเรารู้ว่าการเปิดใจมันยาก ดังนั้น เราจะไปแรงใส่เขาไม่ได้หรอก เขาจะไม่เปลี่ยนใจมาหาเรา เราต้องแสดงออกแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป และแสดงออกให้เป็นรูปธรรมที่สุดผ่านงานที่เราทำ ส่วนการสื่อสาร เราต้องรู้จักวิธีการพูด และทำคอนเทนต์ออกไปแบบเป็นมิตรเพื่อให้คนเข้าใจ นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา จาก 2 ปีที่แล้วที่เราเริ่มทำจนถึงปีนี้ เรารู้สึกว่าปีนี้คนเปิดใจและเรียนรู้เรื่องเสื้อผ้ามือสองเยอะขึ้นแล้ว บางคนอาจจะไม่ได้อยากช่วยอะไรเรื่องโลก แต่เสื้อผ้ามือสองตอนนี้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นหลักไปแล้ว คนเลยต้องหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น เราว่าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำให้คนเข้าใจ
( เธรดทวิตเตอร์แนะนำวิธีซื้อเสื้อผ้ามือสองตามแนวทางของอัลเตอร์ :
https://twitter.com/alter_1012/status/1456131516681973762?s=20&t=kGXoRiqbb_qPOpK1acNUnA )
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การผลักดันให้คนตระหนักเรื่อง fast fashion และหันมาใช้เสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องยาก
หนึ่งคือเรื่องวัฒนธรรมของคนไทยที่เชื่อเรื่องผี เสื้อผ้ามือสองจะมีผีไหม ผีจะหวงของตามทวงเสื้อผ้าไหม แต่จริง ๆ เสื้อผ้ามือหนึ่งอาจจะผีเยอะกว่าเสื้อผ้ามือสองด้วยซ้ำ สองคือเรื่องความสกปรกที่คนไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นเบื้องหลังการผลิตบ้าง คนเห็นแค่สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเลยรู้สึกว่าเสื้อผ้ามือสองสกปรกกว่า แต่ที่จริงเสื้อผ้ามือหนึ่งต้องผ่านแรงงานจำนวนหลายร้อยคน เราไม่รู้เลยว่าเสื้อผ้าที่นำมาขายที่แบรนด์ต่าง ๆ เขาซักมาให้ไหม ซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้ซัก เขาเย็บและพับมาเลย แบบนี้ไม่สกปรกกว่าเสื้อผ้ามือสองอีกเหรอ แล้วคุณยังเอาไปลองในห้องลองเสื้อ ไม่รู้ผ่านใครมาบ้าง พอลองเสร็จก็เอากลับมาแขวนที่ราว เราเลยรู้สึกว่าเรื่องความสกปรก ทั้งมือหนึ่งและมือสองก็สกปรกพอกัน เราแค่ต้องทำความสะอาด ถ้าคุณซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งมาแล้วคุณซักได้ เสื้อผ้ามือสองก็ซักได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาพจำของเสื้อผ้ามือสองที่มีมาตั้งแต่ต้น ที่คนไทยมองว่าการบริจาคเสื้อผ้ามือสองเป็นการให้ทาน ดังนั้นบางคนที่ใส่เสื้อผ้ามือสอง เขากลัวจะโดนมองว่าไปขอทาน (เสื้อผ้า) คนอื่นมารูปถ่ายโดย Martin Bernetti : https://www.aljazeera.com/gallery/2021/11/8/chiles-desert-dumping-ground-for-fast-fashion-leftovers
อย่างต่อไปคือเกิดจากการ
มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะเสื้อผ้าเป็นเรื่องไกลตัวมาก ขยะไม่ได้อยู่ที่ไทย แต่อยู่ที่ชิลีและจีน เขาไม่เห็นกองขยะนั้น เขาเลยรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเขา ไม่ได้คิดต่อว่า พอทิ้งเสื้อผ้าลงถังขยะแล้วมันไปไหนต่อ คนที่คิดถึงปัญหาเหล่านี้จึงตระหนักรู้ได้เร็ว ส่วนคนที่ไม่ได้คิดหรือตระหนักถึง เราก็เข้าใจนะ สังคมไทยแค่ใช้ชีวิตให้รอดก็เหนื่อยแล้ว มันไม่มีเวลามาคิดหยุมหยิมเรื่องพวกนี้หรอก (หัวเราะ)
อีกส่วนที่ทำให้คนมองว่าปัญหาขยะเสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องไกลตัว คือ
คนไม่เห็นความเสียหายที่อยู่เบื้องหลังวงการแฟชั่น คนไม่รู้ว่าเสื้อผ้าจำนวนมากถูกโละทิ้งหรือเผาทำลาย ขยะเสื้อผ้าจึงดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ กลายเป็นสิ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้ใต้พรมและโดนปิดข่าว เพราะแบรนด์แฟชั่นก็ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเองด้วย มันเลยยิ่งทำให้ไกลตัวไปอีก
แสดงว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางแก้ไขให้คนเข้าใจปัญหา fast fashion ว่ามันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก
เรารู้สึกว่าแนวทางแก้ปัญหานี้ไม่ใช่การแก้ที่คนตัวเล็ก ๆ ต้นตอปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่นายทุนคือพวกแบรนด์ใหญ่ ๆ ขยะส่วนใหญ่ในพื้นที่ฝังกลบขยะ ไม่ได้มาจากการที่คนใส่เสื้อผ้าแล้วทิ้ง ขยะส่วนใหญ่ในนั้น มาจากการที่แบรนด์ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ เลยเอาเสื้อผ้าไปทิ้ง ฉะนั้นต้นตอปัญหาที่แท้จริงคือ การบริโภคที่มากเกิน (overconsumption) และการพยายามสร้างมูลค่าแบรนด์ให้สูงจนคนเอื้อมไม่ถึง จากนั้นพอแบรนด์ขายเสื้อผ้าไม่ออก เขาก็แค่ทิ้งหรือทำลาย เพราะเขาไม่อยากลดมูลค่าของแบรนด์ลงมา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของทุนนิยมกับการบริโภคที่มากเกินล้วน ๆ
ในฐานะที่เป็นคนในวงการแฟชั่น จะช่วยผลักดันการรณรงค์เรื่อง fast fashion อย่างไร
เราก็พยายามทำสิ่งนั้นอยู่ในทุก ๆ มุมเท่าที่จะทำได้แล้ว ตอนนี้ที่เราขาดคือเรายังดังไม่พอ
ที่จะไปทำงานออกสื่อใหญ่ หรือออกแบบเสื้อผ้าให้ดาราดัง ถ้าเราได้ทำตรงนั้นแล้วสามารถแมทช์เสื้อผ้ามือสองออกมาให้สวยงามได้ คนจะรู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น ขนาดสื่อใหญ่ยังทำแบบนี้ มันคงเป็นเรื่องปกติที่ใส่เสื้อผ้ามือสองนะ ทำให้คนเข้าใจง่ายขึ้นว่าเสื้อผ้ามือสองมันไม่ได้แย่
--------------
นักสร้างสรรค์ - แนวทางในอีก 40 4000 ปี
หากในอีก 40 ปีข้างหน้า สภาพอากาศแย่กว่านี้ มีมลพิษมากขึ้นจนผิวเราอาจจะสัมผัสอากาศโดยตรงไม่ได้ อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นมากจนคนบางพื้นที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เราจะแต่งตัวออกจากบ้านอย่างไรให้สวยและใช้งานได้จริง
เราเคยคิดอะไรประมาณนี้มาตลอด เรามโนว่าจะเป็นเสื้อผ้าแบบในภาพยนตร์เรื่อง Dune ไหมจริง ๆ คือไม่ เราอาจจะมองว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า โลกอาจจะล้ำมาก แต่แฟชั่นมันหวนย้อนกลับ ดังนั้นอีก 40 ปีข้างหน้า ทุกคนก็ยังแต่งตัวเหมือนเดิม หรือถึงตอนนั้นจะมีนวัตกรรมเสื้อผ้าใหม่ ๆ ออกมาจริง นวัตกรรมเหล่านั้นก็คงไม่มาถึงคนข้างล่าง ไม่มาถึงคนแบบเรา ไม่มาถึงคนในประเทศเรา คนที่ใส่เป็นประจำจะเป็นคนในประเทศที่เจริญแล้วและคนที่มีเงิน คนข้างล่างอย่างเราก็คงต้องเอาชีวิตรอดจากของที่มีอยู่เนี่ยแหละ
เราขอเปลี่ยนจาก 40 ปี เป็น 4,000 ปีข้างหน้า ถ้าเป็น 4,000 ปี ชุดที่ดารา เซเลบ อินฟลูเอนเซอร์เคยใส่กันเป็นประจำใน 40 ปี จะกลายเป็นชุดปกติที่คนชนชั้นล่างได้ใส่แล้ว ทุกคนใส่แบบนั้นเพื่อเอาชีวิตรอด เราว่ามันจะออกมาคล้าย ๆ เสื้อผ้าในภาพยนตร์เรื่อง Dune คือคนที่อยู่ในเซฟโซนมีแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง สามารถใส่เสื้อผ้าปกติได้ เงื่อนไขการแต่งตัวก็จะสบายหน่อย แต่คนที่อยู่ในทะเลทรายซึ่งสภาพอากาศแปรปรวน เขาต้องใส่ชุดที่ช่วยให้เขาเอาชีวิตรอดได้ เพราะงั้นชุดจะไม่ได้เปลี่ยนบ่อย และไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อย เป็นชุดที่ใส่ติดตัว และอาจจะมีบอดี้สูทใส่ซับด้านในก่อน ส่วนสีจะเลือกได้ไม่ค่อยเยอะ อาจเป็นสีขาวหรือสีอื่น ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ คงเหมือนชุด PPE แต่เป็น PPE ที่มีความหนา กระชับตัวมากขึ้น ปรับให้ใส่ได้จริงในชีวิตมากขึ้น อาจเป็นชุด PPE ที่มีซิปตรงกลางดึงขึ้นมาได้ เหมือนชุดสูทว่ายน้ำ
ในฐานะคนเบื้องหลังวงการแฟชั่นคนหนึ่ง
‘อัลเตอร์’ - ธัญณัฐ ทะรังศรี เริ่มจากความชอบและความสนใจส่วนตัวในการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสอง จนปัจจุบันกลายเป็นคนผลักดันและรณรงค์เรื่อง
fast fashion ผ่านงานและโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เธอทำ ด้วยความชอบผสมกับความมุ่งมั่นนี้เอง ทำให้เธอมองเห็นหนทางที่จะช่วยโลกลดปัญหาลงไปได้หนึ่งอย่าง จากการที่ทุกคนซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งให้น้อยลง ในขณะที่ใส่เสื้อผ้ามือสองให้มากขึ้น และหากเธอสามารถไปได้ไกลกว่านี้ในวงการแฟชั่น เธอก็คงไม่ลังเลที่จะสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างให้เข้าใจและหันมาช่วยโลกให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ในฐานะ
“นักสร้างสรรค์” คนหนึ่งที่จะนิยามความหมายของแฟชั่น และสร้างการแต่งตัวใหม่ ๆ จากเสื้อผ้าที่มีอยู่ เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่แฟชั่นและโลกเป็นมิตรต่อกัน
" เราก็พยายามทำอยู่ในทุก ๆ มุมเท่าที่จะทำได้แล้ว ตอนนี้ที่เราขาดคือเรายังดังไม่พอที่จะไปทำงานออกสื่อใหญ่ หรือออกแบบเสื้อผ้าให้ดาราดัง ถ้าเราได้ทำตรงนั้นแล้วสามารถแมทช์เสื้อผ้ามือสองออกมาให้สวยงามได้ คนจะรู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น ขนาดสื่อใหญ่ยังทำแบบนี้ มันคงเป็นเรื่องปกติที่ใส่เสื้อผ้ามือสองนะ ทำให้คนเข้าใจง่ายขึ้นว่าเสื้อผ้ามือสองมันไม่ได้แย่"
-- ‘อัลเตอร์’ - ธัญณัฐ ทะรังศรี--
ติดตามและรับชมผลงานการแมทช์เสื้อผ้ามือสองของอัลเตอร์ได้ที่
- SwapShop แคมเปญเอาเสื้อผ้าบุพการีมาใส่สุดโก้เก๋:
https://exoticquixotic.com/fashion/swapshop-thailand/
- Instragram ลงผลงานการแมทช์ชุดของอัลเตอร์:
https://www.instagram.com/alternative_styling/?igshid=YmMyMTA2M2Y=
- Facebook Page – SwapShop:
https://www.facebook.com/swapshopth
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ผู้ให้สัมภาษณ์ ธัญณัฐ ทะรังศรี
ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียง ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ และภัทราพร ชัยบุตร
ภาพประกอบบทสัมภาษณ์ ธัญณัฐ ทะรังศรี
บรรณาธิการต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
จัดหน้าและตรวจปรู๊ฟ: ณิชาภัทร จันทสิงห์
ภาพประกอบเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์: ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ
ผลงานจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2564 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 #ห้องเรียนเขียนเรื่อง
อ่าน-คิด-เขียน เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ของเหล่า content creator ฝึกหัดก่อเรื่องสร้างภาพ จากอักษรฯ จุฬาฯ มาร่วมชมและแชร์คอนเทนต์หลากรส หลายอารมณ์ไปกับเราได้เลยค่ะ เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้ทาง line official เพื่อมิให้พลาดคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากเหล่านักเรียนเขียนเรื่องจากอักษรฯ จุฬาฯ โดยคลิกลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/CMxj3jb หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ ID โดยค้นหา @readthinkwrite2559 ได้เลยค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in