เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยเล่นจนเป็นเรื่อง: รวมบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเขียนเรื่อง 2019 และ 2022อ่าน-คิด-เขียน
โลกร้อนไม่ไหว ความหวังของคนที่ออกมา 'ล้มตาย'
  •                บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง จากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" เมื่อเดือนธันวาคม 2562


       


           ป้ายทำมือ ที่เยาวชนและผู้ใหญ่ใช้ถือออกมาประท้วงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เรียกความสนใจฉันได้เป็นอย่างดี การประท้วงครั้งนี้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจในประเด็นเรื่องภูมิอากาศของโลกที่เราอาศัยอยู่ Climate Strike เป็นการแสดงออกด้วยถ้อยคำ ตัวหนังสือ ภาพประกอบ และสัญลักษณ์ที่ผู้ออกมาชุมนุมใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงที่มาพร้อมกับภาวะโลกร้อน ผ่านการ ‘ล้มตาย’ หนึ่งในคนที่นอนลงที่พื้นบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพินีนั้น คือ กุลธิดา เลาะวิถี หรือ จามี่




           จากคนไม่ที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากนัก วันนี้กลับเป็นหนึ่งในคนที่ก้าวออกมาประท้วงในประเด็นวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน เราต่างรู้กันดีว่าการช่วยโลกนั้นมีหลากหลายวิธีการ อาจเป็นทางตรงหรือทางอ้อม อย่างการออกมารณรงค์หรือประท้วงครั้งนี้

           จามี่ออกมาประท้วงในวันนี้ เธอถือป้ายที่ทำมาเอง ร่วมเอ่ยคำประกาศในการมาประท้วง และล้มลงไปนอนกับพื้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ วันนี้ฉันอยากฟังเสียงของเธอให้ชัด ๆ จึงขอมานั่งคุยด้วยและฟังเรื่องราวของเธอ ว่าทำไมถึงได้ออกมา ‘ล้มตาย’ ในวันนั้น  





           "เพราะทุกอย่างต่างสัมพันธ์กัน" ฉันชอบประโยคนี้เป็นพิเศษ และอาจใช้อธิบายความเกี่ยวข้องของประสบการณ์ หน้าที่การงาน และความสนใจของจามี่ในตอนนี้อยู่ได้เป็นอย่างดี เธอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่จุดประกายความสนใจสิ่งแวดล้อมในตัวเธอ เล่าเท้าความไปถึงประสบการณ์ทั้งที่ไทยและต่างประเทศให้ฉันฟังอย่างเป็นกันเอง



           “ถ้าแบบจริงจังเลยนะ น่าจะหลังเรียนจบ ต้น ๆ ปี 2016 คือตอนนั้นเราก็ได้ยินอะไรมาหลายอย่างเนอะ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจริงจังซักที แล้วมาจริงจังอีกรอบนึงก็ตอนที่เรียนมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ เรียนทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแผงโซล่าเซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ปลูกข้าวแบบออร์แกนิกที่ไม่ได้ใช้สารเคมี เรียนเรื่อง permaculture (วัฒนธรรมยั่งยืน) การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง สอนทำบ้านดิน ปลูกผักทานเอง เยอะแยะไปหมดเลย เหมือนใช้ชีวิตให้เฟรนด์ลี่กับโลก แล้วก็เบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เราก็เลยรู้สึกว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่เราอินมาก ๆ แล้วก็เราเห็นภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ยังไม่ได้โฟกัสให้ถูกจุดซะที จนตอนนี้เรื่องพลาสติกก็กลายเป็นประเด็นหลัก เราว่ามันมีประเด็นใหญ่กว่านั้นอีก ก็ใช่ที่พลาสติกทำลายชีวิตของสัตว์ทะเล สัตว์บก ที่เขากินพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ ส่งผลให้เกิดมลพิษ แต่ประเด็นหลักอยู่ที่มนุษย์เราไม่รู้จักพอ อยากได้อะไรก็อยากเอาให้เยอะ นึกถึงผลประโยชน์ของตนเอง”  


           มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ก่อตั้งโดย ป๊อบ กิตติพงษ์ หาญเจริญ ขาสร้างการศึกษาทางเลือกนี้ขึ้นมา เพื่อพาเหล่าหนุ่มสาวออกไปเรียนรู้กับครูผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ในห้องเรียนธรรมชาติอันกว้างใหญ่โดยหวังว่าผู้เรียนจะได้ค้นพบอิสระในการใช้ชีวิต มองเห็นคุณค่าของตัวเอง ผู้อื่นและสิ่งรอบตัว ที่แห่งนี้เองเป็นอีกหนึ่งแสงไฟที่จุดประกายไปถึงจามี่


           จามี่เล่าต่อถึงประสบการณ์ที่ปลุกความสนใจในสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในตอนที่เธอไปเป็นอาสาสมัครในต่างแดน

           “ยิ่งช่วงมีนาคม ปี 2016 อินมาก เพราะเราไปเป็นอาสาสมัครที่ซาดาน่าฟอเรสต์  (Sadhana Forest) ไปอยู่ในป่าที่อินเดียใต้ แล้วเราต้องใช้ชีวิตเป็นวีแกน (vegan)* คือตอนนั้นรู้สึกว่าต้องพลิกผันตัวเองเป็นสาย sustainable living (การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน) แบบจ๋ามาก เป็นวีแกน ห้ามนำอาหารหรือขนมคุกกี้ที่มีส่วนผสมของสัตว์ จะนม ชีส ก็เอาเข้าไปไม่ได้เลย แล้วต้องไปอยู่ในนั้น ตื่นเช้ามาปลูกป่า โปรเจคทุกอย่างที่เค้าทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหมดเลย การล้างจานก็ล้างเป็นกะละมัง เพราะเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำที่สุด หรือแม้กระทั่งจะล้างหน้าแปรงฟัน ก็จะไม่เปิดก๊อกนะ แต่มีโอ่งแล้วไปตักน้ำมา ที่กระบวยมีรูเจาะให้น้ำไหลช้า ๆ ให้ใช้น้ำได้คุ้มค่า มีเรื่องยิบย่อยมาก หรือแม้กระทั่งการทำอาหารไม่ให้เหลือฟู้ดเวสต์ (food waste) หรือว่าการแยกขยะ คือทุกอย่างมันเป๊ะมาก”


    *vegan คือ คนที่ทานมังสวิรัติ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ 

           ไม่ใช่แค่ประสบการณ์การเรียน หรือการไปเป็นอาสาสมัครเท่านั้นที่ทำให้เธอหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การทำงานของเธอเองก็มีส่วนเปิดมุมมองให้เธอเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะเธอเป็นทำหน้าที่เป็นผู้ประสานโครงการในไทยให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า All Hands and Hearts ที่ช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

           ประสบการณ์หลาย ๆ อย่างที่จามี่สะสมมาได้หล่อหลอมให้เธอหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น เธอได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนโลกจากมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ 

    เห็นผลกระทบที่ร้ายแรงจากภัยธรรมชาติจากการทำงาน จากที่ต้องปรับวิถีชีวิตตัวเองเพราะมีสถานการณ์บังคับในตอนที่ไปเป็นอาสาสมัครปลูกป่าที่อินเดีย วันนี้เธอได้หันมาปรับเปลี่ยนรายละเอียดในการใช้ชีวิตประจำวันของเธอเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยสมัครใจ



           “มันเริ่มก่อร่างสร้างรูปในตัวเราตั้งแต่ช่วงไปอินเดียละ เราต้องเข้าไปอยู่ในนี้เป็นเดือนหนึ่งเลย เขาทานผัก ทานผลไม้ แต่เราไม่กิน เรากินไม่ได้แต่เราก็ต้องฝืนไง เฮ้ยเนี่ย มันกินเพื่ออยู่จริงๆ มันกินเพื่อมีชีวิตอยู่ ทำอะไรมีเหตุผลสอดคล้องกับการใช้ชีวิต



           เธอแสดงออกถึงการ ‘รักโลก’ ผ่านการกระทำแล้ว แต่เพราะเหตุใดเธอจึงต้องออกมา บอกรักโลกในที่สาธารณะอย่างนี้ด้วยนะ



           “คือเรามองเห็นปัญหา คือเราผ่านเรื่องราวหลาย ๆ อย่างของเราที่เรารู้มา เรื่องการเราไปอยู่ในกลุ่มวีแกน ไปใช้ชีวิตแบบนั้นมาในป่า คือหลาย ๆ อย่างมันทำให้เราติดสินใจเร็วมากเลยในการมาเข้าร่วมสไตรค์ โดยที่ไม่มีอะไรเลย เรารู้ว่าการสไตรค์ครั้งนี้มันก็ทำเพื่อโลก เราออกมาก็เพื่อโลกของเรา มันแค่นี้เลย เราแค่ออกมาเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ก็แค่นั้นเลย อย่างน้อยสิ่งที่เราทำอยู่ มันอาจจะไม่มีคนเห็น แต่เวลาเรามาสไตรค์อย่างงี้ เราสามารถเดินประท้วงเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่าโลกของเรามันแย่ขนาดไหนแล้ว


        “มันก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีนะ ที่ก็ยังมีคนมองเห็นเรื่องนี้ อย่างน้อยคนอื่นเขาไม่อิน เราก็ทำให้เค้ารู้ตอนนี้มันเป็นแบบนี้นะ โลกเรามันเกิดแบบนี้ขึ้นนะ เขาก็อาจจะหันกลับมาใส่ใจ”





           เมื่อเอ่ยถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม มีหลายประเด็นที่มักถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ มีเรื่องที่มักผุดขึ้นมา   หลัก ๆ อย่าง ขยะพลาสติก การตัดไม้ทำลายป่า การทำปศุสัตว์ ในการประท้วงภาวะโลกร้อน คำสำคัญคงเป็น ภาวะโลกร้อน” หลายคนก็อาจมองเห็นประเด็นสำคัญที่มีรายละเอียดต่างไป จามี่เองก็มองเห็น

    ประเด็นสำคัญที่อยากบอกกับคนอื่น ๆ 


           “คือเรามองว่าจริง ๆ แล้ว เราอยากให้คนหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ มันอาจจะไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าคุณจะต้องลดแค่พลาสติกนะ คุณต้องเป็นวีแกนเท่านั้น คือส่วนมากนะ ป้ายที่เราทำออกมา เราจะไม่ค่อยรณรงค์ทางใดทางหนึ่งว่า ลดใช้ถุงพลาสติก ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ต้องเป็นวีแกนเท่านั้น อะไรอย่างงี้ เราจะแค่ทำให้รู้ว่าตอนนี้โลกมันร้อนขึ้นแล้วนะ เราต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้วนะ ในอนาคตเราจะต้องยังไง”



           หลายครั้งเมื่อเราได้ยินคำว่า ประท้วง” สำหรับบางคน คำนี้อาจให้ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับความรุนแรง หรือ ความจริงจัง  เอาเป็นเอาตาย แต่จามี่ได้เปิดบานประตูอีกบานให้เห็นถึง

    มุมมองที่ต่างออกไปและ 'สาร' ที่เธออยาก 'สื่อ' ในการมาร่วมประท้วง 

    ในแต่ละครั้งที่มาประท้วงหรือสไตรค์ จามี่จะทำป้ายมาเอง และเธอก็มีแนวคิดเบื้องหลังข้อความที่รังสรรค์มาไว้บนป้ายเสมอ



           “อย่างครั้งแรกที่ไป ก็เป็นป้ายที่บอกว่า 'We hear you Greta*.' แบบฉันได้ยินเธอนะ สิ่งที่คุณพูดมา ตั้งแต่ตอนที่คุณไปประชุม เราได้ยินเสียงคุณนะ หรือป้ายที่สองก็คือ 'The planet is hotter than Justin Bieber.' แค่อยากทำให้คนรู้ว่าตอนนี้โลกของเรามันร้อน ส่วนครั้งที่สามเราถือป้ายที่บอกว่า ตอนนี้โลกต้องการให้พวกคุณแคร์ คุณต้องแคร์โลกให้มาก ๆ โดยที่เราไม่ต้องสื่อถึงเรื่องอะไรเลย ส่วนรอบนี้เราแค่บอกว่า 'ในปี 2050 เราจะต้องว่ายน้ำไปบ้านเพื่อน' เราแค่ทำให้เขาเห็นว่า เฮ้ย! วิกฤตมันจะเกิดขึ้น”


    ภาพโดย Anders Hellberg
    *Greta Thunberg เป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ที่โดดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อมาประท้วงภาวะโลกร้อนหน้ารัฐสภาสวีเดน จนมีผู้ให้ความสนใจมากมายไปทั่วโลกและเข้าร่วมชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมในชื่อว่า Fridays for Future 


           “เราชอบการมาสไตรค์นะ มันทำให้เรามีไอเดีย หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ครีเอทีฟในการเขียนป้าย  ถ้าเราบอกเขาตรง ๆ  ว่าต้องช่วยกันลดการใช้รถยนต์ เครื่องบิน อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นคำสั่ง“



        “แต่เมื่อไหร่ที่เราบอกว่าโลกร้อน (ฮ็อต) กว่าจัสติน บีเบอร์แล้วนะ มันทำให้คนเข้าถึงง่ายกว่า  มันดูสนุกแล้วมันดูสร้างสรรค์ แบบเอนจอย มันทำให้คนรู้สึกว่า มันดึงดูด ให้คนหันมามองมากกว่าที่จะทำอะไรที่มันจริงจังเกินไป”


           “เราควรที่จะทำให้เขาเห็นอีกมุมนึง ที่ไม่ใช่แบบโดยตรง แบบนั้น มันแข็งเกินไป มันทำให้คนเห็นแล้วรู้สึกว่าเขายิ่งอยากหลีกหนี แทนที่เขาจะเห็นแล้วเขารู้สึกว่า ไหนลองหน่อย เปิดใจ อันนี้เห็นแล้วเขาก็แบบปิดไปเลย เราก็เลยรู้สึกว่า เนี่ย อย่างน้อย เรามีส่วนที่ทำให้คนอาจจะมาใกล้ชิด หรือหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” 




           แต่ละป้ายของเธอต่างก็มีแนวคิดเบื้องหลัง ฉันจึงสงสัยต่อว่าทำไมเธอถึงเลือกที่จะใช้การประท้วงเป็นการสื่อสาร

           “คือจริง ๆ แล้ว การเดินประท้วงหรือการสไตรค์ มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มันคือการที่ออกมาเดิน ๆ ๆ จริง ๆ แล้วเราว่ามันแทบจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยในช่วงที่เราประท้วงเนี่ย มันทำให้คนเห็น ว่าแบบเฮ้ย กลุ่มนี้มาทำอะไร กลุ่มอะไรๆ ๆ อย่างน้อยคือเขาได้เห็น” 


           “จริง ๆ แพลตฟอร์มอื่นมันก็มี แต่บางทีเราทำคนเดียวไง เราทำกับคนกลุ่มน้อย อย่างน้อยมันก็มีหลาย ๆ คนมารวมพลังกันใช่ไหม เอเนอร์จี้มันก็รู้สึกว่า เอ้อ! มีพลัง ดูสนุก 


          มันก็เลยทำให้สิ่งที่เราจะไปต่อไปข้างหน้านี้มันรู้สึกมีความหวังมากขึ้น”





           จากการมาประท้วงเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและโลกใบนี้ เราไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เธอออกมาทำร่วมกับคนอื่น ๆ ในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดต่อมุมมองความคิดของผู้คนในสังคม แต่เราอาจรับรู้ถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปในตัวเธอหลังการประท้วงจากบท   สนทนาในครั้งนี้ได้ 



           “เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เรามาประท้วง ณ ช่วงเวลานั้นมันอยู่ในกระบวนการที่เราอยู่กับมัน อย่างช่วงนี้ที่ออกมา ถือป้ายอย่างนี้ มันทำให้เราอินอยู่ในช่วง ๆ นี้ เรารู้สึกว่าตั้งแต่ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมีนาคม กระบวนการมันจะเป็นทุก ๆ สองเดือนมันจะออกมาที อีกสองเดือนออกมาสไตรค์  ซึ่งรู้สึกว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่เรารู้สึกอินกับเรืองสื่งแวดล้อมระยะยาว”


           “เราออกมาเดิน เราเห็นคน เห็นป้ายหลากหลายเลยนะ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ในเมืองไทย”


           “จากที่เราไม่รู้ เราก็รู้มากขึ้น มันสามารถเอาตรงนั้นมาเป็นข้อคิดในชีวิตได้เลย อย่างวันนี้ เดินเห็นป้ายอะไรแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! หรือแบบแม้กระทั่งวันนี้เห็นเหตุการณ์ที่แบบว่าตำรวจมา มันมีข้อคิดอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับเรา  เรารู้สึกได้หลายอย่างเลยว่า เฮ้ย! เออ เขามองว่าการชุมนุมมันไม่ควรเกิดขึ้น แต่ทำไมเขาไม่มองในอีกมุมหนึ่งว่าเราออกมาทำอะไร เราไม่ได้ส่งเสียงดัง คือเรารู้สึกว่าทุกรอบที่มา  สไตรค์มันมีอะไรกลับไปคิดได้ตลอด มันได้อะไรตลอด



           การสื่อสารหรือพูดคุยประเด็นสิ่งแวดล้อมอาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงแค่ในวันที่จัดเสวนาหรือวันที่ออกมาประท้วง นอกจากการประท้วงภาวะโลกร้อนในไทยที่นาน ๆ จะจัดครั้ง ฉันจึงถามเธอต่อว่าเธอสื่อสารเรื่องนี้กับคนอื่นยังไงบ้างในชีวิตประจำวัน



           "การสื่อสารของเราจะผ่านหนังสือที่อ่าน แบบว่าอ่านหนังสือเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น เราลงเรียนคอร์สเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อะไรอย่างนี้ เราก็พยายามบอกเพื่อน บางทีเพื่อนถามว่าช่วงนี้ทำอะไร มีหนังสืออะไรแนะนำ เราก็จะแนะนำผ่านหนังสือ ตอนนี้มีเรื่องนี้นะ เหมือนหนังสือเกรธ่าเอง หรือว่าแชร์เกี่ยวกับเรื่องอ่านหนังสือ แชร์เรื่อง เหมือนล่าสุดไปเชียงใหม่มา ไปเก็บขยะ ไปค่ายเยาวชนเชียงดาวไปช่วยเก็บขยะแม่น้ำปิง เราก็สื่อให้คนเห็นว่าขยะเยอะมาก



           แม้ว่าเธอจะรายล้อมไปด้วยคนที่เข้าใจ สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน แต่ก็มีหลายคนรอบตัวที่อาจไม่ได้คิดเช่นเดียวกันกับเธอเสมอไป ทว่า จามี่ก็ยังเชื่อว่าลึก ๆ ในใจของมนุษย์ทุกคนต้องการบางอย่างที่เหมือนกัน


           “เราก็รู้จักหลายคนนะที่เค้าไม่ได้อินเรื่องนี้ ที่เค้าไม่ได้สนใจเรื่องนี้


           “คือเรารู้สึกว่าโดยสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ทุกคนอยากใกล้ชิดธรรมชาติ


           “ทุกคนมีความรู้สึกว่า ฉันเหนื่อยจากงานแล้ว อยากไปต่างจังหวัด อยากไปพักผ่อน อยากไปอยู่กับธรรมชาติ คือทุกคนจะมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ข้างใน เราอยากให้ลองกลับไปคิดว่า ถ้าคุณรัก และอยากจะมีโอกาสได้ไปพักผ่อนกับธรรมชาติเยอะ ๆ ก็อยากจะให้คุณน่ะ หันกลับมาดูแลธรรมชาติเยอะ ๆ เพราะไม่งั้นน่ะ วันหนึ่งที่คุณเหนื่อยจากงานแล้ว ไม่มีธรรมชาติให้คุณได้ไปบำบัดแล้ว คุณก็จะเสียใจ กับสิ่งที่คุณน่ะ คิดช้าเกินไป”



        “เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราว่าไม่ได้ใช้ได้แค่กับคนนะ ใช้กับสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน


           “เอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาก็มีชีวิตนะต้นไม้ อย่างตอนที่เราไปซาดาน่าฟอรเสต์ ตอนที่เราจะไปปลูกป่าอย่างงี้ เพื่อนคนหนึ่งเขาก็บอกนะ เฮ้ย! จับเบา ๆ นะ ต้นไม้ตอนจะปลูกมันมีชีวิตนะ”



           ไม่ใช่แค่ชีวิตของมนุษย์เท่านั้นที่เปราะบาง แต่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างต้นไม้ หรือแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต อย่าง หิน ดิน สายลม สายน้ำ อากาศ ก็ควรจะได้รับการปกป้องไม่แพ้ชีวิตมนุษย์ หากขาดสิ่งแวดล้อมจากธรรมชาติเหล่านี้ไป มนุษย์ก็คงไม่สามารถอยู่รอดไปได้ เพราะเราต่างต้องพึ่งพากัน 



           แม้ว่าวันนี้ เสียงของเธออาจเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ แต่สักวันหนึ่ง เสียงที่ว่าจะก้องไปไกลและดังมากขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นและความหวังที่เธอมี จามี่ ฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับคนที่อยากลุกขึ้นมา 'ลงมือ' เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง


           “มันมีประโยชน์ต่อคนอื่น ก็ทำเถอะ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีก็คืออยากให้ทำ อยากให้เชื่อมั่นว่า เดี๋ยวสักวันหนึ่งมันจะเห็นผล แล้วมันจะมีคนเข้ามาช่วยเราเอง แล้วก็บางทีเราอาจจะมองว่า เราทำคนเดียวเราเหนื่อยมาก แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้อยู่คนเดียวหรอก มันมีคนที่ทำสิ่งนี้ไปพร้อมกันด้วย”




           มีคนกล่าวว่าตราบใดที่เรายังมีลมหายใจก็ยังมีหวังเสมอ และฉันก็เชื่อเช่นนั้น วันนี้จามี่และเพื่อนของเธอ ออกมาประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการล้มตายเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน แต่เธอรวมถึงเราทุกคนที่ยังมีลมหายใจ ยังมีความหวังอยู่ เรายังมีโอกาสพอที่จะช่วยกันเยียวรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้และยับยั้งไม่ให้อุณภูมิโลกสูงขึ้นไปมากกว่านี้ สิ่งที่เรามีแล้วตอนนี้คือความหวัง เหลือเพียงแค่ลงมือทำ อย่าปล่อยให้ความหวังที่มีอยู่กลายเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ 




    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 

    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ขอขอบคุณ

    ผู้ให้สัมภาษณ์: กุลธิดา เลาะวิถี (จามี่)

    สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ชาลิสา เพชรดง

    ภาพประกอบ: ชาลิสา เพชรดง

    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา #ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2562

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in