เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คุยเล่นจนเป็นเรื่อง: รวมบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเขียนเรื่อง 2019 และ 2022อ่าน-คิด-เขียน
Tangmopun – ออกตามหาความหมาย ของท่วงทำนองชีวิตไปกับ ‘คนทำซับ’
  •                บทสัมภาษณ์โดยนักเรียนเขียนเรื่อง จากรายวิชา "ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว" เมื่อเดือนธันวาคม 2562

                สำหรับคอเพลงภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาตะวันตกหรือตะวันออกนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการฟังเพลงอย่างมีอรรถรสนั่นคือการรู้ความหมายของเพลง ดังนั้นการถ่ายทอดความหมายของเพลงจากภาษาต้นทางสู่ภาษาที่เราเข้าใจย่อมมีคนกลาง ซึ่งเราเรียกกันว่า ‘คนทำซับ’

                วันนี้เราจะไปพาไปทำความรู้จักและพูดคุยกับ โมเม – พิชญา ใจสุยะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3* เอกวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของช่องยูทูบ Tangmopun (แตงโมปั่น) ช่องทำซับไตเติ้ลบทเพลงแดนกิมจิแบบตามใจฉัน

             *ปัจจุบันโมเมกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 (หมายเหตุ บ.ก.)

    จุดเริ่มต้น : มันไม่มี แต่ฉันอยากรู้!

    “เพราะว่าแค่อยากแปลเพลงที่ชอบในแบบของเรา”

                โมเม หญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งที่ชื่นชอบฟังเพลงเกาหลี แต่ประสบปัญหาเหมือนอย่างเรา ๆ ที่ต้องการรู้ความหมายของเพลงเพื่อเพิ่มความอินและฟินไปกับเสียงดนตรีให้มากขึ้น แล้วในเมื่อไม่มีใครทำซับที่ต้องการไว้ จุดเริ่มต้นของ Tangmopun จึงชัดเจนขึ้น

                “คือตอนแรกไม่ได้เป็นซับเพลงนะ ตอนนั้นอยู่ ม.6 กำลังรอผลแอดมิชชั่นอยู่ ก็เลยว่างมาก แล้วเป็นช่วงที่ดูรายการ Produce 101 ของเกาหลีแล้วอยากดูซับสัมภาษณ์ของผู้เข้าแข่งขัน แต่มันไม่มีคนแปล ก็เลยรู้สึกว่า หรือเราจะแปลดี ด้วยความว่างก็เลยลองแปลเล่น ๆ ลงยูทูบ เสร็จแล้วก็ด้วยความว่างนั่นแหละ ก็เลยลองแปลมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ลงสม่ำเสมอนะ (หัวเราะ) เราแปลตอนที่ว่าง เราเลือกแปลเพลงที่ชอบเพราะว่าอยากรู้ความหมาย”

    ทำไมถึงใช้ชื่อช่องว่า Tangmopun

                “ที่ตั้งชื่อว่าแตงโมปั่น เพราะว่าชื่อโมเม แล้วก็ตอนนั้นชอบแบคโฮ วง NU'EST แล้วเขาชอบกินน้ำแตงโมปั่นก็เลยใช้ชื่อนี้”

    เพลงแรกที่ทำซับคือเพลงอะไร ทำไมถึงเลือกเพลงนี้

                “เพลงแรกที่แปลคือเพลงของ Day6 ที่รู้สึกชอบ ก็คือเพลง Hi Hello ที่ชอบเพราะเพราะดี แล้วก็ชอบมิวสิควิดีโอมาก พอดู MV ตอนแรกจบก็ไปอ่านเลยว่ามีคนวิเคราะห์อะไรกันไหม ก็มีคนบอกว่าเพลงนี้เหมือนเป็นการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมวง จะเห็นจากใน MV เลยว่าเป็นการขึ้นรถคันเดียวกัน โดยที่ค่อย ๆ ขึ้นรถมาทีละคน จากตอนแรกมีแค่พี่เจ แล้วก็จะเห็นคนขับรถที่เป็นลีดเดอร์มารับพี่เจ แล้วหลัง ๆ มันก็มียองเค คนชุดขาวหัวส้ม ๆ แดง ๆ ที่มาแค่ซ่อมรถให้เฉยๆ แต่ไม่ได้ขึ้นไปด้วย แล้วหลังจากนั้นเขาก็ขึ้นมา จริง ๆ แล้วก็คือเขาจะไม่ได้มาอยู่ในวงนี้ แบบจะไปทำเบื้องหลังแทน แต่ว่าสุดท้ายก็เข้ามาเป็นสมาชิกของเดย์ซิก MV มันดูมีเรื่องราวของวง แล้วความหมายก็ดีด้วย แล้วตอนที่แปลก็ไม่ได้ดูด้วยว่ามีใครแปลมาแล้วบ้าง เพราะว่าแค่อยากแปล แค่อยากแปลเพลงที่ชอบในแบบของเรา‌


    ลงยูทูบ : เริ่มจากตัวเอง เพื่อคนอื่น

    “อยากให้คนที่มาฟังเพลงได้รู้ความหมายเหมือนกัน”

                การทำซับของโมเมเริ่มต้นขึ้นด้วยความรู้สึกของตัวเธอเอง ทั้งความชอบดนตรี ความอยากแปล และความอยากอิน แต่ไหน ๆ ก็ลงมือทำแล้ว เธอจึงอยากแบ่งปันให้คนอื่นได้เข้าใจความหมายของบทเพลงนั้น ๆ อย่างถูกต้องด้วย

    ทำไมถึงเลือกทำซับแล้วลงช่องยูทูบให้คนอื่นได้ดูด้วย

                “ก็เหมือนที่บอกตอนแรกว่าบางอันมันก็ไม่มีแปลซับไทยอยู่ในยูทูบ แล้วพอคิดจะแปลก็เลยอยากเผยแพร่ให้คนที่อยากดูเหมือนกันได้ดูบ้าง เผื่อเขาเสิร์ชแล้วจะได้เจอ อย่างเพลง Cactus ของ Epitone Project ที่เห็นก็เจอแต่ซับภาษาอังกฤษ หาซับไทยไม่เจอก็เลยแปลเอง อยากให้คนที่มาฟังเพลงได้รู้ความหมายเหมือนกัน”

    ความหมายของเพลงมีความสำคัญต่อการฟังแค่ไหน

                “เรารู้สึกว่าพอได้รู้ความหมายแล้วมันก็จะอินขึ้นไปอีก ได้เข้าใจสิ่งที่คนแต่งเพลงหรือว่าคนทำเพลงเขาอยากจะสื่อให้เรา ส่วนความหมายของเพลงประกอบซีรีส์ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น เหมือนเขาคิดเพลงให้มันเข้ากับเรื่องราวในซีรีส์ด้วย อย่างบางทีเพลงเพลงหนึ่งใช้ประกอบฉากนี้ พอเรารู้ความหมายเราก็จะอินกับฉากนั้นมากขึ้น”

    ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกเพลงที่จะทำซับลงช่อง

                “เหตุผลหลัก ๆ เลยก็คือเพลงที่ชอบมาก ๆ แล้วก็อยากรู้ความหมาย บางทีก็มีคนทำซับไว้แล้วนะ แต่พอไปดูความหมายแล้วช่องที่แปลเขาแปลผิดบ้าง แปลไม่เข้าใจ หรือแปลไม่โอเคบ้าง เราก็จะแปลเพลงนั้นแหละ แต่ว่าเราก็ไม่ได้จะบอกว่าเราเป็นคนแปลเก่งขนาดนั้นนะ เราแค่อยากให้เป็นทางเลือกของคนดูว่าช่องนั้นแปลอย่างนี้ ช่องนี้แปลอย่างนั้น ให้เขาได้เอามาดูอีกทีหนึ่งว่าตกลงจริง ๆ เนื้อหามันประมาณไหนมากกว่า”



    การทำซับ : ทำแบบเล่น ๆ แต่จริงจัง

    การแปลให้เนื้อหามันถูกที่สุดก็ควรเป็นหน้าที่ของคนแปลเพลง


                แม้จะเริ่มต้นเป็นงานอดิเรกที่ทำยามว่าง แต่การทำซับไตเติ้ลเพลงสำหรับโมเมไม่ใช่เรื่องที่จะทำแบบส่ง ๆ ได้ การทำซับลงช่องยูทูบให้สาธารณชนได้เข้ามาฟังและซึมซับความหมายบทเพลงนั้น โมเมถือว่าตนเองกำลังแบกความรับผิดชอบต่อคนหมู่มากอยู่ด้วย

    แปลจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาไทยได้ยังไง

                “ช่วงแรก ๆ ก็คือแปลจากที่เขาแปลเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วเราก็แปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นไทยอีกทีหนึ่ง หลัง ๆ มาเราก็เริ่มเอาประโยคภาษาเกาหลีจริงไปแปลในเว็บไซต์ของเกาหลีอย่าง Naver อะไรประมาณนั้น มันก็จะแปลมาคร่าว ๆ ให้ แต่เราก็จะดูเป็นคำไปด้วยว่าคำนี้แปลว่าอะไร แล้วก็ดูบริบทคำ ดูความหมายรวม ๆ อีกทีว่าอ่านเข้าใจไหม แล้วเราก็ไปลงเรียนภาษาเกาหลีด้วยให้มีความรู้พื้นฐานนิดหน่อย เรื่องว่าประโยคภาษาเกาหลีมันเรียงยังไง เป็นประธาน กรรม กริยา พวกแกรมม่าแบบนั้น”

    ถึงขนาดไปลงเรียนภาษาเกาหลีเลยเหรอ

                “ใช่ คือเราอยากให้สิ่งที่เราแปลไปถูกให้ได้มากที่สุดแบบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไปเลย อีกอย่างก็คืออยากดูซีรีส์แล้วเข้าใจ แบบดูเรียลไทม์แล้วยังสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้เลย บางทีซับไทยมันอาจจะแปลมาผิดแล้วเราไม่รู้บ้าง ก็อยากจะเข้าใจภาษาเกาหลีแบบ 100 เปอร์เซ็นต์”

    แล้วทำไมถึงต้องพยายามแปลจากภาษาเกาหลีโดยตรง

                “เราคิดว่าการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งมันต้องมีข้อจำกัดอยู่แล้ว คิดว่าถึงจะเก่งยังไงก็ไม่มีทางเข้าใจภาษาต้นทางไปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี แล้วยิ่งแปลภาษาต่อกันหลายๆ ทอดมันก็ยิ่งทำให้เกิดความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนของเนื้อหามากกว่าเดิม ดังนั้นการแปลจากภาษาเกาหลีสู่ภาษาไทยเลยมันก็จะรู้สึกว่า ความผิดพลาดจะน้อยลง”

    การแปลให้มันถูกต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของคนทำซับไหม

                คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของคนทำซับ เพราะว่าถ้าเราตัดสินใจที่จะแปลแล้วเอาลงยูทูบแล้ว แสดงว่ามันจะต้องมีคนเสิร์ชต้องมีคนดู ต้องมีคนฟังนอกเหนือจากตัวเราเองที่ต้องการจะแปล เพราะฉะนั้นการแปลให้เนื้อหามันถูกที่สุดก็ควรเป็นหน้าที่ของคนแปลเพลง ถ้าเกิดเราแปลเนื้อเพลงมันมีความคลาดเคลื่อน คนก็อาจจะเข้าใจเนื้อหาผิด เรารู้สึกว่ามันไม่ให้เกียรติคนทำเพลง



    บทเพลง : ความสุขของชีวิต

    “เพลงบางเพลงมันสามารถให้กำลังใจเราได้”

                บทเพลงสำหรับโมเมนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ความบันเทิงในรูปแบบเสียง แต่ความหมายของมันยังทำให้เธอมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น ในบางคราวที่เธอลำบาก บทเพลงเปรียบเหมือนเพื่อนที่จะคอยอยู่ข้าง ๆ และปลอบประโลมเธอได้

    บทเพลงมีความหมายต่อชีวิตยังไง

                “คืออยู่ดี ๆ เราก็รู้สึกว่าชีวิตมันขาดเพลงไม่ได้ แบบต้องฟัง เวลาว่าง ๆ อะไรแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าเวลาฟังเพลงมันฟังที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ มันสามารถทำให้รู้สึกสงบแล้วก็สบายใจได้ในตอนนั้นเลย แบบไม่ต้องทำอะไรมากก็รู้สึกดีได้ แล้วเพลงบางเพลงมันสามารถให้กำลังใจเราได้ บางครั้งก็สามารถทำให้เราได้คำตอบอะไรบางอย่างในชีวิต อย่างเช่นมีช่วงหนึ่งที่ตอนนั้นเรารู้สึกท้อมาก ๆ แล้ววง BTS ก็ปล่อยเพลง Answer เราก็ไปฟังแล้วรู้สึกว่า เออ เราควรรักตัวเองได้แล้ว ความหมายของเพลงมันส่งผลต่อชีวิตเรามากนะ”

    มีเพลงไหนอยากแนะนำให้ทุกคนได้ฟังไหม

                “อยากแนะนำเพลง There is a rainbow ของ Vincent Blue เป็นเพลงประกอบซีรีส์เกาหลีเรื่อง My mister เพราะเรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ทำให้เรามีความหวัง คือเนื้อเพลงมันก็เริ่มประมาณว่า ชีวิตนี้มันไม่มีความหวังในการใช้ชีวิตแล้ว เบื่อหน่ายเหลือเกิน ไม่เห็นหรือไม่มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิตต่อ คือทุกอย่างมันเหมือนเดิมไปหมด ตื่นเช้ามาก็ออกไปทำงานเหมือนเดิม แต่สุดท้ายเพลงก็บอกกับเราว่า มันก็ต้องมีสักวันแหละที่เราจะได้เห็นสายรุ้ง”




    สุดท้ายแล้วอยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำซับต่อเรื่อยๆ                ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีผลตอบแทนอะไร

       “ความสุขกับความสนุกล้วน ๆ เลย ทำแล้วแบบสนุกจัง ได้แปล ได้ใช้โปรแกรม ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นอกจากสนุกแล้วก็รู้สึกว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำแล้วเรามีความสุข


                จากหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง โมเมทำให้เราเห็นว่า การทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ แล้วทำมันออกมาให้ดีด้วยหัวใจ สามารถกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แม้จะไม่มีใครรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่นั้น แต่สำคัญที่สุดคือเรารู้สึกได้


               ความสุขในชีวิตของคนเราอยู่ไม่ไกลหรอก ลองออกตามหาความหมายของท่วงทำนองชีวิตให้ตัวเองดูสักครั้งสิ



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    ผู้ให้สัมภาษณ์: พิชญา ใจสุยะ

    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง: ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง 

    ภาพประกอบ: ธันตวัน เจียมเจริญ


    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชาศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2562







เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in