เป็นเวลากว่า 6 ปีตั้งแต่เลิฟซิก เดอะซีรีส์ถูกเผยแพร่ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์จนเกิดกระแสความชื่นชอบนักแสดงนำชายทั้งคู่และความคลั่งไคล้ในความสัมพันธ์ของตัวละครที่ทั้งสองรับบท กลุ่มแฟนคลับเรียกความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งคู่ในเรื่องอย่างสั้น ๆ ว่า “ปุณณ์โน่” สังคมไทยที่เคร่งครัดเรื่องอนุรักษ์นิยมด้านเพศผ่านสื่อใหญ่ ๆ ด้วยแนวคิดการสร้างที่มีแต่พระเอกเป็นผู้ชายและนางเอกเป็นผู้หญิงเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตสื่อที่มีลักษณะเป็นชายรักชายมากขึ้นโดยอิงจากกระแสความนิยมของซีรีส์ดังกล่าว ซีรีส์ที่นำเสนอความสัมพันธ์ชายรักชายของตัวละครนำเป็นหลักเรียกว่าซีรีส์วาย
ความโด่งดังของเลิฟซิก เดอะซีรีส์แพร่สะพัดไปถึงต่างประเทศจนส่งผลให้เกิดฤดูกาลที่สองของซีรีส์และยังคงได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเคย ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากนักแสดงนำอย่างชลธร คงยิ่งยง ผู้รับบทเป็น “โน่” และ ณวัชร์ พุ่มโพธิงามผู้รับบทเป็น “ปุณณ์” จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น นักแสดงสมทบชายคนอื่น ๆ ที่ภายในซีรีส์ตัวละครของพวกเขาก็มีความสัมพันธ์เชิงชู้หนุ่มก็มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยความชื่นชอบจำนวนมหาศาลของแฟนคลับที่มักเป็นสาว ๆ จึงได้มีการตัดต่อวิดีโอบรรจุความทรงจำ, แต่งเรื่องสั้นหรือนิยายโดยอิงตัวละครจากซีรีส์มาสร้างเป็นเรื่องราวคู่ขนานหรือเสริมเติมแต่งจากเรื่องราวในซีรีส์เพื่อสนองความปรารถนาของตนลงแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่เพียงเท่านั้นไม่ว่านักแสดงจะไปในงานใด หากแฟนคลัยได้รับการอนุญาตจากผู้จัดงานว่าสามารถเข้าร่วมได้ แฟนคลับเกินกว่าครึ่งจะพกกล้องส่วนตัวไปด้วยหวังว่าจะบันทึกภาพความสนิทสนมของพวกเขาหรือยิ่งกว่านั้นคือได้เห็นพวกเขาปฏิบัติต่อกันอย่างดูมีอะไรมากกว่าเพื่อนร่วมงานแล้วจึงลั่นชัตเตอร์เก็บภาพเหล่านั้นไปเสพสมกับจินตนาการของตัวเอง
วิถีปฏิบัติของกลุ่มแฟนคลับดังกล่าวส่งทอดมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ซีรีส์วายในไทยได้รับอานิสงส์อย่างแรงกล้าจากการกำเนิดของเลิฟซิก เดอะซีรีส์ ปัจจุบันซีรีส์วายในไทยเป็นการดัดแปลงมาจากนิยายต้นฉบับในออนไลน์และมีจำนวนมากที่ได้รับการผลิตสู่สายตาสาธารณะ ไม่เพียงในไทยแต่ยังส่งออกไปถึงต่างประเทศอย่างประเทศจีน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เมื่อวิถีปฏิบัติของกลุ่มแฟนคลับเช่นนี้ยังคงอยู่และมีท่าทีจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างการยอมจ่ายเงินจำนวนเยอะเพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับนักแสดงซีรีส์วายที่ตนชื่นชอบเรียกว่า Top spender ทำให้ซีรีส์วายในไทยเริ่มหันแปรกลยุทธ์การผลิตนอกเหนือจากการเป็นแค่ซีรีส์นำเสนอความบันเทิงระหว่างรับชม แต่ยังคิดไปถึงกระบวนการเชื้อเชิญให้คนดูอินกับซีรีส์มากพอที่จะอินไปถึงนอกจอด้วย
คู่จิ้นพาฟินในระดับความเป็นจริงจำลอง
“คู่จิ้น” คือคำที่ใช้นิยามความสนิทสนมของคนสองคน นิยมใช้กับคนในวงการบันเทิงที่ดูมีความสัมพันธ์เกินกว่าคนรู้จักหรือเพื่อนสนิทโดยอาศัยจากความรู้สึกส่วนตนของคนนิยามเองว่าใครเหมาะสมกับใคร คำว่าจิ้นมีที่มาจากคำว่า imagine เป็นคำกริยาภาษาอังกฤษแปลว่า “จินตนาการ” ดังนั้นคู่จิ้นจึงไม่ได้อิงกับความเป็นจริงสมบูรณ์ แต่อิงจากจินตนาการของผู้นิยามด้วยว่ามีความปรารถนาให้ทั้งสองเป็นคู่ชีวิตกัน ไม่ว่าในชีวิตจริงทั้งคู่จะเป็นแค่เพื่อนหรือบางทีไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผู้จิ้นจะทึกทักในโลกจินตนาการของตนไปเองว่าทั้งสองรักใคร่กลมเกลียวกันดี คู่ชิป ก็เป็นคำไวพจน์ของคู่จิ้น
คำว่าคู่จิ้นในปัจจุบันถูกใช้กับนักแสดงชายสองคนที่แสดงซีรีส์วายร่วมกัน ทำให้คำว่า คู่วาย ก็เป็นอีกหนึ่งคำไวพจน์ของคำว่าคู่จิ้นที่มาจากการแสดงซีรีส์วาย นักแสดงชายสองคนจะได้รับการอนุญาตให้เป็นคู่จิ้นก็ต่อเมื่อได้รับการตอบรับจากคนดูว่าเหมาะสม ถึงกระนั้นซีรีส์วายเดิมมาจากนิยายวายซึ่งมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น วายอันมาจากคำว่า YAOI (ยาโอย) ย่อมาจาก Yama nashi, ochi nashi, imi nash ซึ่งแปลว่า ไม่มีความสำคัญ ไม่มีสารัตถะ ไม่มีความหมาย ประกอบกับ YAOI ถูกแต่งขึ้นโดยผู้แต่งที่เป็นเพศหญิงเกือบทั้งหมด ทำให้แม้เป็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับชายรักชายกลับขาดความรู้ความเข้าใจในสังคมชายรักชายเพราะอิงจากมุมมองของเพศที่ไม่ได้เป็นแบบเดียวกับตัวละครหลักในเรื่องที่ตนแต่ง วายหรือ YAOI จึงเป็นพื้นที่ของความไม่จริงเหลื่อมทับกับความจริงบางส่วน ตัวละครในเรื่องเป็นชายรักชายก็จริงแต่กลับนิยามตนเองว่า “...เป็นผู้ชาย แต่รักผู้ชายคนนี้แค่คนเดียว” เป็นการบิดเบือนเลี่ยงหลีกจากความจริงด้วยการสร้างเพศขึ้นมาใหม่ นั่นคือ “ชายแท้ที่รักผู้ชาย” ซึ่งใช้ไม่ได้ในโลกความจริงที่เมื่อคุณเป็นผู้ชายแล้วรู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน คุณจะไม่ใช่ “ชายแท้” (ในความหมายของผู้ชายสำนึกตรงเพศกำเนิดหรือ cisgender ที่มีรสนิยมรักต่างเพศหรือ heterosexual) ในทันที
ซีรีส์วายในไทยกำลังเป็นพื้นที่แฟนตาซีประโลมฝัน ไม่เพียงการบิดเบือนความหมายของรสนิยมทางเพศอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ยังมีการนำเสนอภาพด้านเดียวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างวิถีชีวิต เนื่องจากซีรีส์มีเนื้อหาเบาสมองมากเสียจนลดทอนรายละเอียดความลำบากของการเป็นเพศหนึ่งของ LGTBQIA+ และในสังคมยุคหลังนวนิยมคู่จิ้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความจริงจำลอง กล่าวคือเป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยตัดขาดความเชื่อมโยงสิ้นเชิงกับความจริงของเดิม โดยที่ผู้ประจักษ์ความจริงจำลองนั้นมิอาจบอกได้ถ่องแท้ว่าความจริงของเดิมนั้นเป็นอย่างไร
ในสังคมยุคหลังนวนิยม (post modernism) ได้รับผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางศาสนาและจิตวิญญาณมาเป็นกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์และเหตุผล เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โทรคมนาคมและการสื่อสารก้าวหน้าพัฒนาครอบคลุมคนทั้งโลก ส่งผลให้ผู้คนสามารถติดต่อถึงกันและกันได้ในทันที David Harvey เรียกว่าการกระชับแน่นระหว่างเวลากับสถานที่ (time-space compressions) กล่าวคือระยะห่างของสถานที่ถูกทลายลงด้วยความไวของเวลา การรับรู้พื้นที่ในสังคมนี้ผู้คนกำลัง “หลงที่” (lost in space) เนื่องจากผู้คนไม่มีเครื่องมือในการรับรู้พื้นหลังสมัยใหม่ (hyperspace) ที่เกิดขึ้นตามที่ Frederic Jameson กล่าวไว้ เขาเสริมอีกว่าพื้นที่สมัยใหม่แยกคนกับโลกภูมิศาสตร์ภายนอกออกจากกัน ทำให้ไม่สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับสถานที่ในความเป็นจริงได้ พื้นที่ดังกล่าวกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ของคนแทนที่คนจะกำหนดเอง
เพราะความกระชับแน่นของเวลากับสถานที่นี้เองทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบบทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างถูกทำให้เป็นสินค้าแต่เป็นสินค้าเพื่อตอบสนองความปรารถนาไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐาน ทำให้ศิลปะหลังยุคนวนิยมไม่มีความลุ่มลึก ดูผิวเผิน คุณค่าของวัตถุมีเพียงผิวนอก ความสัมพันธ์ระหว่างภายในกับภายนอกที่หายไปทำให้คนขาดการเชื่อมหาความหมายจากภายใน Jean Baudrillard กล่าวว่าวัตถุถูกทำให้เป็นเพียงสัญญะ บุคคลบอกเล่าความหมายของตัวเองผ่านวัตถุ ทำให้ปรากฏการณ์ที่เข้าร่วมด้วยอีกอย่างก็คือปรากฏการณ์ที่สังคมมีสิ่งจำลอง (simulacra) การจำลองแบบ (simulation) และความเป็นจริงจำลอง (hyperreality)
คู่จิ้นมีสถานะเป็นความเป็นจริงจำลองสืบเนื่องมาจากสื่อ Baudrillard ได้กล่าวว่าสิ่งที่มีบทบาทในการสร้างความเป็นจริงจำลองขึ้นมาแทนความจริงคือสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ วิทยุ โดยเฉพาะโทรทัศน์ ในยุคหลังนวนิยมสื่อมีอิทธิพลมากเพราะความก้าวหน้าทางการสื่อสาร ข้อมูลถูกแพร่กระจายไปมากมายมหาศาล ข้อมูลจึงจำเป็นต่อผู้คนมาก เนื่องจากจะรู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหากไม่ได้รับข้อมูลจากสื่อจนทำให้คิดว่าข้อมูลมีความจำเป็นจริง ๆ เขากล่าวต่ออีกว่า “เราอยู่ในโลกที่ข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความหมายของมันกลับน้อยลง” และกระบวนการสร้างความจริงจำลองได้ส่งผลให้ซีรีส์วายผลักดันภาพของชายรักชายออกผ่านตัวกลางก็คือคู่จิ้น แต่กลับไม่ได้ให้ค่าความหมายของคำว่าชายรักชายไปมากกว่าขอบเขตความหมายของคำว่าวายเลยแม้แต่น้อย
เพราะคำว่าชายรักชาย (achillean) ไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์เท่านั้นจึงจะมีความสัมพันธ์แบบชายรักชายได้ ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศแบบ Bisexual (ดึงดูดทางเพศมากกว่า 1 เพศ) หรือ Pansexual (ดึงดูดทางเพศได้กับทุกเพศโดยไม่คำนึงเพศเป็นปัจจัย) ก็สามารถมีความสัมพันธ์แบบชายรักชายได้เช่นกัน แต่คู่จิ้นเป็นเพียงแฟนตาซีที่ถูกหยิบยกมาสนองความใคร่ส่วนตัว (fetish) โดยปราศจากการขวนขวายหาความหมายจริง ๆ ของความสัมพันธ์ชายรักชาย
เพราะเงินเข้าเราจึงผลิตเยอะ
เมื่อวิถีปฏิบัติและวิถี “จ่ายหนัก” ของแฟนคลับส่งผลให้นักแสดงนำโด่งดังเป็นพลุแตกได้ในชั่วข้ามคืน ซีรีส์วายจึงเป็นอีกหนทางเข้าสู่วงการบันเทิงฉบับเร่งด่วน
หนึ่งในสมาชิกบริษัทผู้ผลิตซีรีส์วาย(ไม่ขอเอ่ยนาม)ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการมีอยู่ของซีรีส์วาย(ในไทย)ว่า “สิ่งสำคัญของมันคือการขาย ส่วนใหญ่คนที่ทำซีรีส์วายเพื่อเด็กให้มีงานต่อหลังจากนั้น มันกลายเป็นแพลตฟอร์ม เป็นรายการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งที่บังเอิญคนตอบรับเยอะมาก เผอิญมันถูกคอนเฟิร์มว่ามีลูกค้าก็จะมีการผลิตออกมา มันถูกทำเป็น product...” คู่จิ้นจึงกลายเป็นสิ่งที่มีสถานะไม่ต่างจากพรีเซ็นเตอร์ที่เชิญชวนให้มีการบริโภคสินค้าที่ผู้สร้างซีรีส์ผลิต และที่น่าสนใจไปกว่านั้น นอกจากสินค้าที่หมายถึงสปอนเซอร์ของซีรีส์ อีกสิ่งที่ทำให้เป็นสินค้าก็คือความสัมพันธ์ชายรักชายนั่นเอง
เมื่อภาพความสนิทสนมของทั้งสองนักแสดงชายได้รับความสนใจ ผู้สร้างซีรีส์หรือแม้แต่ผู้จัดการส่วนตัวเองก็เริ่มคิดถึงการขายภาพดังกล่าวหรือแฟนคลับเรียกกันว่าโมเม้นผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ อีเวนต์ที่ทั้งคู่ออกร่วมกันก็จะมีการจัดวางตำแหน่งการยืนให้สนิทชิดใกล้เพื่อเรียกร้องให้แฟนคลับแห่กันมาสนใจ แล้วยังเพิ่มแนวโน้มให้แฟนคลับรู้สึกอยากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ทั้งคู่เกี่ยวข้อง มากกว่านั้นคือจัดกิจกรรมแฟนมีตติ้งหรือเป็นการพบปะแฟนคลับ ซึ่งแน่นอนว่าแฟนคลับนับไม่ถ้วนยอมจ่ายเงินมาเพื่อเสพสมความสุขจากการบริโภคสินค้าที่เรียกว่าแฟนเซอร์วิสซึ่งอิงบนความสัมพันธ์ชายรักชายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงคู่ คลอเคลียกันบนเวที ทำการแสดงสมมติ(แสร้งว่า)เกี้ยวพาราสีกัน ยิ่งเสียงกรีดร้องดังมากเท่าใด ยิ่งสนับสนุนให้เกิดการทำให้เป็นการค้า (commercialization) มากขึ้นไปด้วย
ยิ่งชอบยิ่งผลิตมากขึ้น โมเม้นของคู่จิ้นจะอยู่ในแม่แบบใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น เช็ดปากให้กัน เอาช่อดอกไม้มาให้ในวันสำคัญของอีกฝ่าย เล่นเกมที่ถึงเนื้อถึงตัวกัน เล่นเกมทายใจ เป็นกลยุทธ์ (strategy) ดึงดูดให้แฟนคลับพร้อมใจกันมาสนับสนุนทั้งคู่ทั้งยังเป็นเลี้ยงความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับศิลปินอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อโมเม้นถูกผลิตซ้ำถี่ขณะเดียวกันความประสบสำเร็จของซีรีส์วายหลายเรื่องทั้งที่ซีรีส์เรื่องนั้นไม่ได้มีคุณค่าอะไรนอกจากสร้างฝันสนองความใคร่ของผู้ชมจนแทบไม่ได้อิงกับความเป็นจริงเลย ยิ่งทำให้ความจริงจำลองของคู่ชายรักชายในชีวิตจริงบั่นทอนการรับรู้ของผู้คนด้วยการนำเสนอแบบด้านเดียว
Jameson กล่าวว่าศิลปะหลังยุคนวนิยมมีลักษณะของการสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นความปรารถนาในวัตถุ หรือเป็น “พาณิชยศิลป์” มากกว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” และซีรีส์วายเป็นศิลปะดังกล่าวโดยที่ความสัมพันธ์ชายรักชายถูกทำให้เป็นสินค้า เป็นวัตถุที่ถูกปรารถนาเพื่อสนองความใคร่ส่วนตัวไม่ใช่เพื่อชีวิตของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
วิธีการจำลองความจริงในวงการวาย
Jean Baudrillard ได้อธิบายขั้นการจำลองความจริงไว้อยู่สี่ขั้น
1. ช่วงของ faithful copy เป็นการคัดลอกตามอย่างละเอียดมีความถูกต้องตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
2. ช่วงที่สื่อไม่ได้คัดลอกตามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว สื่อทำหน้าที่บดบังลดทอนไม่ได้นำเสนออย่างครบถ้วน แต่ยังมีการเกริ่นให้เห็นตัวตนอยู่บ้าง
3. ช่วง profound of reality กำลังหมดความสำคัญลง เป็นช่วงที่สื่อไร้ความสัมพันธ์กับความเป็นจริง ไม่สนการมีอยู่ของความเป็นจริง Baudrillard เรียกขั้นนี้ว่า the order of sorcery เพราะความจริงโดนสร้างขึ้นมาอีกที
4. สังคมเข้าสภาวะความเป็นจริงจำลองอย่างเต็มตัว สิ่งที่สื่อสะท้อนไม่เกี่ยวโยงกับความจริงอีกต่อไป
คู่จิ้นถอดแบบออกมาจากคู่ชายรักชายจริงในด้านของความสัมพันธ์ที่มีการปฏิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน ใส่ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในสังคมปิตาธิปไตยนี้หากผู้ชายหันมาใส่ใจรายละเอียดของกันและกันจะโดนคาดไปก่อนว่าไม่ใช่ผู้ชายตามขนบที่ควรใส่ใจเช่นนี้แค่กับผู้หญิงเท่านั้น กระนั้นแม้จะมีคู่ชายรักชายกระทำเช่นนี้ต่อกันจริงแต่คู่จิ้นหยิบเพียงส่วนนั้นมาทำตามอย่างซ้ำถี่จนเกิดความจริงจำลองขึ้นมา ความจริงด้านอื่น ๆ ของคู่ชายรักชายโดนละเลยในขั้นที่สองของ Baudrillard ก่อนจะตัดตัวเองออกจากสารบบความสัมพันธ์รักเพศเดียวกันเหลือเพียงความสัมพันธ์แบบวายที่ก้ำกึ่งระหว่างดูเป็นรักเพศเดียวกันกับรักต่างเพศ
กระบวนการเลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความจริงจำลองถูกสร้างขึ้นมาในวงการซีรีส์วายเพื่อทำให้แฟนคลับผูกพันเหนียวแน่นกับนักแสดงนอกจอด้วย “ช่วงต้นของการสร้างโมเม้นต้องพึ่งซีรีส์ ระหว่างทางได้มีการใส่ชีวิตจริงด้วยเป็นการเบลอ แล้วเมื่อซีรีส์จบแล้วโมเม้นจะทำงานต่อ” และ “มันคือ product แบบหนึ่ง ใช้ผู้ชายสองคนมาสร้างสตอรี่ทั้งในและนอกเรื่อง และสตอรี่นั้นมันเบลอความจริงกับความไม่จริง ให้มัน romantic กับ fantasy ทำให้คนดูอินกับคอนเทนท์มากขึ้น ทำให้คนดูแยกความจริงกับความไม่จริงไม่ออก”
อีกกลวิธีหนึ่งในการใช้ความจริงจำลองช่วยเพิ่มอรรถรสการเสพสมก็คือการนำเสนอภาพเบื้องหลังการถ่ายทำซีรีส์ แฟนคลับจะนำเอาช่วงเวลานอกจอไปเชื่อมกับในจอเพื่อโยงใยเข้ากับจินตนาการของตน ทำให้การดูซีรีส์วายจะไม่เหมือนกับกับการชมภาพยนตร์ทั่วไปหรือละครบางเรื่องคือผู้ชมจะมีภาพซ้อนทับกับข้อมูลอีกชุดที่โดนป้อนเข้ามาก่อน ระหว่าง และหลังดูเสมอ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าซีรีส์วายเป็นประตูสู่วงการบันเทิง ดังนั้นจากเดิมที่ผู้จัดการหรือผู้สร้างซีรีส์อาจเป็นคนชี้นำนักแสดงให้ทำไปตามแผนการขายภาพความจริงจำลอง นักแสดงก็มีส่วนคิดแผนเองด้วยเช่นกัน เพราะตระหนักว่าหากป้อนความจริงจำลองให้แฟนคลับมากเท่าไรก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นนักแสดงก็มีโอกาสคิดสร้างชุดความจริงจำลองแบบที่แฟนคลับชื่นชอบด้วยเช่นกัน
ผลของความอินความจริงจำลอง
ความอินต่อชุดความจริงจำลองชายรักชายส่งผลต่อความประพฤติและการแยกแยะความจริง-ไม่จริง เพราะเมื่อคู่จิ้นปรากฎบนสื่ออย่างบนจอ น้อยคนจะรู้จักตัวตนของพวกเขาจริง ๆ การโดนป้อนชุดข้อมูลซ้ำ ๆ อย่างมหาศาลทำให้แฟนคลับเกิดความเข้าใจไปเองว่ารู้จักพวกเขาดีมากพอ บางคนก็ตระหนักว่ามันเป็นเพียงด้านเดียวที่เขาเสนอให้เห็นแต่พึงใจเลือกที่จะเชื่อแบบที่เขาอยากให้เชื่อ ขณะที่บางคนเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าบนจอเขาเป็นเช่นไร ในชีวิตจริงเขาก็เป็นเช่นนั้น และเมื่อคู่จิ้นของพวกเขาแยกย้ายไปในลู่ทางอื่น เช่น การแสดงกับคนอื่น ความจริงของพวกเขาก็โดนทำลายลงจนอาจเกิดผลเสียคือนักแสดงโดนคุกคามโดนก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวผลสืบเนื่องจากความจริงจำลองของพวกเขายึดฝังแน่นในความเชื่อของแฟนคลับ
Rtima1123 นักเขียนอิสระกล่าวว่า “การจิ้นคือการทำลายขนบ heterosexual แต่ก็มีข้อเสียที่เกิดการผลิตซ้ำภาพจำว่าต้องมีคนแมนคนสาว รับแบบนี้รุกแบบนี้ จนสุดท้ายก็ยัง binary อยู่ แค่คือ homosexuals in heteronormativity” ซีรีส์วายและคู่วายถูกผลิตออกมาในลักษณะที่อิงแอบกับความเชื่อแบบบรรทัดฐานรักต่างเพศ (heteronormativity) อยู่ กล่าวคือคนที่ดูกำยำล่ำสันต้องเป็นฝ่ายรุก ส่วนคนที่ดูอ่อนหวานจะต้องเป็นฝ่ายรับ ทั้งที่ในสังคมชายรักชายนั้นมีความลื่นไหลมากในกิจกรรมบนเตียง จนเกิดการแปะป้ายได้ว่าใครต้องเป็นแบบไหนแม้แต่ในกลุ่มแฟนคลับเอง นำมาซึ่งการกดดันจากสังคมแม้ว่าเจ้าตัวจะถูกยอมรับเรื่องรสนิยมทางเพศแล้ว
อีกหนึ่งสิ่งที่ความจริงจำลองประสบผลสำเร็จคือแฟนคลับสามารถผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มแฟนคลับด้วยกันเองได้ เธอกล่าวเสริมว่า “แม้แต่ในด้อมของเราเอง ที่เป็นอนิเมะไม่ใช่คนแสดงและไม่ใช่วายด้วย ยังมีขายของที่เกี่ยวกับคู่ที่เราชอบ มีร้านเปิดขายในงาน...” นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ทางหนึ่งแล้ว การจัดงานอย่างจริงจังยังทำให้โลกความจริงจำลอง โลกแฟนตาซีของพวกเขา โยกย้ายจากในจอมาอยู่บนดินได้ด้วย และ “การจิ้นมันช่วยโปรโมตให้ออฟฟิเชียลอีกทาง...” อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการผลิตซ้ำความจริงจำลองช่วยกระตุ้นให้แฟนคลับสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับศิลปินที่ตนชอบด้วยเช่นกัน
สื่อมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาล การถือกำเนิดของวัฒนธรรมจอ (screen culture) ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะพบกับจอสี่เหลี่ยม ยิ่งง่ายสำหรับการบิดเบือนชุดความจริงเดิมไปสู่ความจริงจำลองจนทำให้ยากจะแยกออกจากกันได้ คู่จิ้นเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ของการผลิตซ้ำความจริงจำลองดังกล่าวและมีแนวโน้มว่าความจริงจำลองชุดนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปีเพราะความนิยมในวายมีมากขึ้น จำนวนซีรีส์วายถูกผลิตเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงเลยหากลองดูเทรนด์ทวิตเตอร์ ป้าย LED บนสถานีรถไฟฟ้า ไม่ก็หน้าฟีดข่าวในเฟซบุ๊กจะพบว่าชุดความจริงจำลองชายรักชายนี้มีอยู่รอบตัวกว่าที่เห็น และการรับข้อมูลอย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ จึงทำให้โดยไม่ทันตั้งตัวถูกความจริงเสมือนลวงล่อให้เข้าไปสู่โลกซึ่งเส้นแบ่งความจริงกับความไม่จริงพร่าเลือนจนสอดผสานกัน
บรรณานุกรม
เสาวณิต จุลวงศ์. (2550). ความซับซ้อนของการเล่าเรื่อง: ลักษณะหลังสมัยใหม่ในบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทย (วิทยานิพนธ์ ดุษฎีบัณฑิต). กรุงเทพมหานครฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก https://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/20406/1/Saowanit_Ch.pdf
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช. (2560). Simulacra : ยามเมื่อ ‘กะลา’ ใหญ่กว่าแผ่นดิน. สืบค้น 17 ธันวาคม 2563, จาก https://thematter.co/uncategorized/simulacra/39602
Kazumi Nagaike. Katsuhiko Suganuma. (2556). Transnational boys' love fan studies. สืบค้น 17 ธันวาคม 2563, จาก https://journal.transformativeworks.org/index.php/twc/article/view/504/394
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in