Not One Less (1999, Yi-Mou Zhang)
แรกเริ่มเดิมที จางอี้โหมว เห็นจะเป็นชื่อที่เล่าผู้ชื่นชอบการดูหนังต้องผ่านหูอย่างคุ้นเคยกันมาบ้าง ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน ถึงอย่างนั้นเอง หนังเรื่องนี้กลับเป็นเรื่องแรกที่ผู้เขียนได้รู้จักกับฝีม้ายลายมือการกำกับของเขามากกว่าเพียงแค่ชื่อเสียงเรียงนาม
หากต้องจำกัดความหนังเรื่องนี้หลังดูจบ การเรียกว่า “ซองขมนห่อยาขม” แลดูจะเหมาะสมเป็นที่สุด เพราะจากเสียงหัวเราะของคนในโรงที่ต่างขบขันในความไร้เดียงสาของทีมนักแสดงเด็กที่เต็มไปด้วยความสดใส แม้กระทั่งกับตัวละครเอกอย่าง เหว่ยหมิ่นจือ (เหว่ยหมิ่นจือ) เด็กวัย 13 ที่แลดูจะไม่ประสีประสากับการเป็นครูจำเป็นสักเท่าไหร่นัก แต่ถ้าหากลงลึกเข้าไปในต้นสายปลายเหตุของเรื่องราว เราจะรับรู้ได้ในทันทีว่า ทุกอย่างต่างมีจุดเริ่มต้นมาจาก “เงิน”
เงิน 50 หยวน สำหรับการเป็นครูสอนแทน และอีก 10 หยวน หากไม่มีนักเรียนคนไหนลาออกไป หนังเรื่องนี้อาจจะอบอุ่นในหลาย ๆ แง่มุม แต่ถ้าหากคนดูจับเงิน 10 หยวน ทดเอาไว้ในใจตลอดการดู มันก็คงจะก่อให้เกิดคำถามในระหว่างทางว่า สิ่งที่ เหว่ยหมิ่นจือ ทำนั้นมีสาเหตุมาจากการเป็นห่วงนักเรียนคนหนึ่ง (จางหุ่ยเคอะ) ซึ่งกำลังหลงทางอยู่ในเมืองใหญ่ หรือกำลังทำเพื่อเงิน 10 หยวน ที่คนดูต่างทดเอาไว้ในใจ ซึ่งแม้แต่ตัวละครเองก็ไม่สามารถตอบได้เมื่อคราวถูกสักถาม
ผู้เขียนไม่รู้ว่า จางอี้โหมว นั้นมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ ทุกอย่างไม่ต่างอะไรจากการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอันเหลื่อมล้ำที่แทบจะผลักไสเหล่าคนชายขอบให้หล่นลงขอบเหว ทั้งสภาพของโรงเรียนสุยฉวนอันแห้งแล้ง ความผุพังของอาคารและโรงเรียน ไปจนถึงการที่ต้องประหยัดชอล์คเพราะไม่มีเงินจะไปซื้อเพิ่ม หรือในฉากที่ เหว่ยหมิ่นจือ บอกว่าเธอไม่มีอะไรเลย ทั้งบัตรนักเรียนและบัตรประจำตัวประชาชน แค่เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการแผ่ออกให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการความเหลื่อมล้ำภายในประเทศของรัฐบาลที่ปลูกฝังเพลงให้รักท่านผู้นำ
ยังไม่เพียงเท่านั้น ช่วงเวลาในเมืองใหญ่ของ เหว่นหมิ่นจือ ยิ่งเข้ามาตอกย้ำถึงโลกทุนนิยมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ไร้ทุน ทั้ง ๆ ที่การตามหานักเรียนของเธอนั้นแทบจะไม่จำเป็นต้องลำบากขนาดนี้ แต่เมื่อไม่มีเงิน ทุกอย่างต่างก็ทวีคูณ กระทั่งสถานะของเธอ ในชนบทอันห่างไกล เธอมีอาชีพและที่อยู่ แต่ในเมืองใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน เธอกลับไม่ต่างอะไรจากคนไร้บ้าน ที่มีภูมิหลังอันไร้สาระสำหรับผู้คนในเมือง
และด้วยรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวผ่านสไตล์อิตาเลียนนีโอเรียลิสต์ ทั้งการให้ชาวบ้านมามาเล่นในบทที่ใช้ชื่อของตัวเองจริง ๆ ในเมืองชนบทอันห่างไกลของมณฑลเหอเป่ย ซึ่งก็ใช้ชื่อหมู่บ้านจริงเช่นกัน และการแอบซ่อนกล้องถ่ายทำในแบบที่คนดูก็ไม่อาจรู้ตัวได้ ความน่าประหลาดใจเห็นจะเป็นการที่ทุกอย่างกลับเป็นธรรมชาติอย่างไม่ชวนให้สะดุดใจในความมือสมัครเล่นของนักแสดง ด้วยเหตุนี้เอง การถ่ายทอดอารมณ์ที่ชวนให้เจ็บปวดหัวใจจึงมาในรูปแบบของการพาให้คล้อยตามไปเอง โดยที่ไม่ต้องเร่งเร้า ฟูมฟาย หรือเข้ามาเขย่าแขนคนดูให้รู้สึกแบบที่หนังอยากให้เป็น
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หนังสื่อสารออกมาได้อย่างชวนประทับใจ โดยที่ไม่ต้องโหวกเหวกโวยวาย หรือกระตุ้นสถาการณ์ให้เร้าอารมณ์ คือการที่ป้าร้านอาหารคนหนึ่งให้ข้าวกับ จางหุ่ยเคอะ ที่กำลังหลงทาง และนั่นก็นำไปสู่คำพูดที่ว่า “ตอนที่มีคนให้ข้าวผมกิน ผมจะไม่มีวันลืมเลย” มันเป็นเพียงเรื่องราวเล็ก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณและความอบอุ่นให้หนังได้อย่างหนักแน่น ตอนจบที่ชอล์คหลากสีได้ขีดเขียนลงบนกระดานอย่างไม่ต้องกลัวสิ้นเปลือง พร้อม ๆ กันนั้นมันก็ได้ขีดเขียนรอยยิ้มให้กับคนดูเช่นกัน
เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in