No Time To Die
พยัคฆ์ร้ายก็มีหัวใจ เห็นจะเป็นทั้งชื่อไทยที่ลงตัวและคำจำกัดความที่เหมาะสมต่อเรื่องราวการบอกลารหัสสังหาร 007 ของ เจมส์ บอนด์ ยุค แดเนียล เครกส์ เพราะตลอด 2 ชั่วโมง 45 นาที ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่เป็นหนึ่งในหนังบอนด์ที่มีหัวจิตหัวใจที่สุด เอ่อล้นไปด้วยความรู้สึก การปฏิบัติการในภาคนี้จึงไม่ใช่แค่การกู้โลก แต่เป็นการกู้คืนชีวิตของตนเองอีกต่างหาก ชีวิตที่หันหลังให้กับอดีต แต่กลับถูกทำลายลงด้วยปมในใจ
อย่างที่รู้กันดีว่า บอนด์ของ แดเนียล เครกส์ นั้นต่างถูกกล่าวถึงในแง่ของความสมจริงสมจังที่เป็นมนุษย์มากกว่าบอนด์คนก่อน ๆ หน้า และเมื่อคนดูรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า ตัวละครนี้เจ็บเป็น เศร้าเป็น และอ่อนโยนเป็น ผู้สร้างจึงสามารถใช้เวลาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการเล่าเรื่องให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับขวากหนามที่ตัวละครพบเจอตลอดทาง
ถึงแม้ว่าช่วงองก์ 2 จะไม่สามารถเล่าได้อย่างสนุกเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับตัวร้ายที่หากหนังไม่ใส่จังหวะสร้างบาดแผลให้บอนด์ ตัวร้ายตัวนี้อาจถูกเรียกว่าเป็นตัวร้ายที่ "เก่งแต่ปาก" กระนั้นเอง การเผชิญหน้ากันระหว่างบอนด์กับตัวร้ายในภาคนี้อาจจะไม่ได้คุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศตึงเครียดเทียบเท่ากับ Casino Royale หรือ Skyfall แต่เมื่อผู้สร้างปูเรื่องราวด้านอารมณ์จนมันสามารถเกาะอยู่บนความหวาดกลัวที่คนดูมีต่อชะตากรรมของตัวละครได้ องก์ 3 ของหนังจึงเพียบพร้อมไปด้วยความสนุกชวนลุ้นระทึก แต่ก็เพียบพร้อมไปด้วยความเนี๊ยบในแบบฉบับของบอนด์
การปิดยุคของบอนด์ในภาคนี้คือการสั่งลาที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่รหัสสังหาร 007 ได้อย่างมีระดับ มากด้วยชั้นเชิงทางองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานภาพ งานดนตรี งานแอคชั่น รวมไปถึงบทภาพยนตร์ที่ถูกกำกับออกมาอย่างพิถีพิถันไม่แพ้ไปกว่าสูทสั่งตัดของบอนด์ ความสามารถของ แครี่ โจจิ ฟุกุนากะ ในฐานะผู้กำกับถือว่าสามารถวาดลวดลายที่แตกต่างจาก 4 ภาคก่อนหน้าได้อย่างน่าชื่นชมและจดจำ ในขณะเดียวกันก็สามารถค่อย ๆ ปูร่างสร้างฐานทางอารมณ์ความรู้สึกภายในหนังตั้งแต่เปิดเริ่มถึงปิดจบเรื่องให้คนดูต่างเข้าอกเข้าใจพร้อมไปกับการเชียร์อัพให้บอนด์กู้คืนชีวิตธรรมดาของตนได้อย่างที่เคยทำมาตลอดกับการกู้โลก
และเมื่อทุกอย่างมาถึงบทสรุป "Bond, James Bond." ประโยคแนะนำตัวสุดคลาสสิกนี้ก็กลายเป็นคำพูดที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังขึ้นมาในทันที
เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in