เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#squarreadsquarrium
[Review] รัก-และ-การปฏิวัติ : รัก เรื่องใหญ่ของการปฏิวัติ
  • หนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ขึ้นแท่นหนังสือโปรดที่เราได้อ่านในปี 2022

    ต้องบอกก่อนว่าเล่มนี้โดนป้ายยามาจากเพจรองขาโต๊ะ อ่านรีวิวแล้วทำให้เรากดสั่งเลย แต่สั่งมาดองไว้ตั้งแต่ต้นปี กว่าจะได้อ่านจริง ๆ ก็ปลายปี ดองยิ่งกว่าเหล้าบ๊วย



    รัก-และ-การปฏิวัติ

    ผู้เขียน : ธิกานต์ ศรีนารา

    สำนักพิมพ์ : ศยาม

    ราคา : 300 บาท

    “รัก-และ-การปฏิวัติ : การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยความรักของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยยุคสงครามเย็น” เป็นหนังสือที่รวบรวมค่านิยมเกี่ยวกับ ความรัก ที่อยู่ในงานเขียนของนักเขียนในยุคต่าง ๆ ค่านิยมความรักของคนในสังคมแต่ละยุค ไปจนถึงค่านิยมทางความรักของฝ่ายซ้ายและพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงยุคล่มสลายของพคท.

    หนังสือเริ่มด้วยการทำให้เราเห็นความสำคัญของการเมืองวัฒนธรรม คือการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องในสภา ไม่ใช่แค่การโหวตแล้วจบ แต่สำคัญคือการแย่งชิงวัฒนธรรม สร้างวัฒนธรรมปลูกฝังความคิดก้าวหน้าให้คน อย่างความรักก็เป็นเรื่องนึงที่นักเขียนหัวก้าวหน้าหลาย ๆ คนเลือกนำเสนอทัศนะใหม่ ๆ


    ในพาร์ทแรก ๆ จะเล่าถึงค่านิยมเกี่ยวกับความรักในงานวรรณกรรมยุคโบราณ ที่มักจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของเทพแฟนตาซีไปเลย เป็นความรักที่ไม่ได้ยึดโยงกับความรักของคนสองคน แต่เป็นเหมือนเรื่องราวของบุญ-กรรมหรือเรื่องฟ้าลิขิตมากกว่า (ซึ่งส่วนตัวเราก็ไม่ได้มีความรู้วรรณกรรมมากขนาดนั้น เพราะตอนมัธยมก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนวรรณคดีไทยเท่าไร แต่อ่านเล่มนี้แล้วสนุกนะ อ่านแล้วเข้าใจพ้อย)
    เล่ามาเรื่อย ๆ จนถึงค่านิยมความรักของนักเขียนยุคเก่า ที่จะเน้นที่ความเหมาะสมทางด้านฐานะ ยศถาบรรดาศักดิ์ ความรักที่เกิดจากความเหมาะสมที่ครอบครัวจัดหาให้ (เรียกง่าย ๆ ว่าการคลุมถุงชน) ซึ่งมักจะสร้างปัญหาให้กับครอบครัวในภายหลัง เพราะเป็นความรักที่ไม่ได้เกิดจากคนสองคน ไม่ได้เกิดจากความรักที่แท้จริง (เหมือนกับเรื่องของเตือนตาและสามี จาก ความรักของวัลยา / คุณหญิงกีรติกับสามี จาก ข้างหลังภาพ)

    พาร์ทที่เริ่มสนุกมาก ๆ สำหรับเราคือพาร์ทที่เล่าถึงนักเขียนหัวก้าวหน้าหลาย ๆ คนที่สร้างสรรค์เรื่องเกี่ยวกับความรักนอกขนบออกมาในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงยุคที่คณะราษฎรเป็นใหญ่ ซึ่งอุดมคติความรักในของนักเขียนหัวก้าวหน้าเป็นความรักที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง คือรักที่ไม่ต้องลงเอยด้วยฉากแต่งงานหรืออยู่กันยืดยาวจนแก่เฒ่า แต่เป็นความรักที่แยกย้ายกันไปเติบโตตามทางของตัวเองเพื่อทำเพื่อสังคมและประชาชนโดยแท้จริง (ปีศาจ/ความรักของวัลยา จาก เสนีย์ เสาวพงศ์)

    ส่วนพาร์ทที่เรารู้สึกว่าเข้มข้นมาก ๆ คือช่วงที่นักศึกษาประชาชนฝ่ายซ้ายเข้าป่าไปอยู่ร่วมกับพคท. ตามค่ายในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งไอ้อุดมคติทางความรักนี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่ ๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาปัญญาชนแตกหักกับพคท. 

    เพราะอุดมคติทางความรักของพคท. คือ 3 ช้า มีความรักช้า แต่งงานช้า มีลูกช้า เพราะเชื่อว่าความรักอาจเป็นสิ่งที่มาขัดขวางการปฏิวัติ วิธีการของพคท.คือถ้าเรารักใครชอบใครเราต้องขออนุญาตผู้ใหญ่ก่อน ให้เขา Approved ก่อนเรากับแฟนถึงจะคบกันได้ (ผู้ใหญ่ในที่นี้ไม่ใช่พ่อแม่ด้วยนะ แต่เป็นผู้ใหญ่ในพรรค) ซึ่งโคตรจะไม่ Make Sence และเป็นเรื่องตลกมาก เพราะนักศึกษาหนีทัศนคติเดิม ๆ อย่างการคลุมถุงชน แต่ดันต้องไปเจอกรอบทางความรักของพคท.ที่คร่ำครึกว่าเดิม และแน่นอนว่าบ่อยครั้งมันเกิดการกลั่นแกล้งกัน ไม่ชอบใครก็ไม่ Approved 
    และแน่นอนว่าความรักของเพศเดียวกันก็เป็นความรักที่พคท.ไม่ Approved ด้วยเหมือนกัน จนทำให้เกิดเรื่องดราม่าขึ้นกับหลาย ๆ คู่ที่รักเพศเดียวกัน

    หนังสือเล่าไปถึงช่วงที่นักศึกษาแตกกับพคท.และกลับเข้าเมืองในที่สุด แน่นอนว่าเรื่องความรักที่พวกเขาเจอมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งคนที่กลับเข้าเมืองนำมาโจมตีพคท.อย่างถึงพริกถึงขิง
    โดยรวมแล้ว รัก-และ-การปฏิวัติ เป็นหนังสืออันดับต้น ๆ ที่เรารักมากที่สุดในปี 2022 เป็นหนังสือที่นำเสนอประเด็นใหม่ที่เราคิดไม่ถึง คือไม่เคยคิดว่าเรื่องความรักจะเป็นประเด็นสำคัญมาก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่านักศึกษาปัญญาชนกับพคท.มีอุดมการณ์ที่ต่างกันและไปด้วยกันไม่ได้มาก ๆ และได้เห็นว่าเรื่องความรักเกี่ยวโยงกับการปฏิวัติอย่างไร เป็นหนังสือที่มีอ้างอิงเยอะมาก ๆ แน่นอนว่าทำให้เราอยากไปหาหนังสือเล่มอื่น ๆ มาอ่านเพิ่มด้วย 

    อีกหนึ่งแนวคิดที่ได้จากการอ่านรักและการปฏิวัติ คือการปฏิวัติไม่ได้จบแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของชนชั้นนำเท่านั้น หรือก็เทียบกับประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่การเข้าไปกากบาทในคูหานั่นแหละ การปฏิวัติคือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่นความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ของนิยามของคำว่า ความรัก นั่นแหละ เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะทำการปฏิวัติตลอดเวลา เพื่อแย่งชิงความหมาย แย่งชิงคำนิยามของแต่ละสิ่งรอบตัว แย่งชิงพื้นที่ทางความคิด เพื่อเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมแบบถอนราก น่าจะเป็นการปฏิวัติที่ยั่งยืนที่สุดวิธีหนึ่ง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in