บทสัมภาษณ์คุณสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
วันที่๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณสำนักงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
“เพราะสิทธิในความเข้าใจของชาวบ้านเป็นสิ่งที่สามารถเรียกร้องเอากับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เฉพาะกับรัฐเท่านั้น
แล้วมันเป็นอำนาจแบบหนึ่งที่เขามีไว้เป็นอำนาจต่อรองในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของเขา”
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มีการประกาศใช้ คำถามหนึ่งที่หลายๆ คนไถ่ถาม นั่นคือ“ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?”ในส่วนนี้จะนำพาทุกท่านมาพบกับ “พี่ทอม” หรือ นายสุรชัย ตรงงามเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม แห่งมูลนิธิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ในประเด็นว่าด้วยตำแหน่งแห่งที่ของ “สิทธิชุมชน”และ “สิ่งแวดล้อม” ในรัฐธรรมนูญที่จะอยู่คู่คนไทยไปอีกยาวนาน
EnvironmentalHealth Impact Assessment (EHIA) ในรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร
เราเริ่มประเด็นแรกด้วยคำถามเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและอนามัย (EHIA) ที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ แต่เดิมที่เคยอยู่ในส่วนของ “สิทธิชุมชน”แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เปลี่ยนมาอยู่ในหมวด “หน้าที่ของรัฐ”การปรับแบบนี้ครับมันจะทำให้การทำ EHIA ดีขึ้นหรือแย่ขึ้นอย่างไร
คุณสุรชัยตรงงาม:ผมมองว่าปัญหามันมีตั้งแต่การย้ายหมวดจาก “สิทธิ” ไปอยู่ใน “หน้าที่”เพราะเรื่องรายงายผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดิมได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐) แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาบัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๘ และเปลี่ยนจากสิทธิเป็นหน้าที่ซึ่ง มันมีผลแตกต่างกันในการคุ้มครองเพราะมีนัยยะทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมส่งผลให้การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป
‘สิทธิ’กับ ‘หน้าที่’ ต่างกันอย่างไร
คุณสุรชัยตรงงาม: จากการไปสัมมนากับชุมชนทางภาคใต้ผมก็ได้หยิบยกตัวอย่างนำคำถามนี้ไปให้ผู้เข้าร่วม และชาวบ้านในพื้นที่เขาตอบ เขาบอกว่า “สิทธิ” เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อตัวของเขาเรียกร้องออกมาจากตัวเขาได้เลย แต่ “หน้าที่” เขาต้องไปเรียกร้องจากรัฐซึ่งการตอบแบบนี้มีนัยยะทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งแฝงอยู่เพราะสิทธิในความเข้าใจของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่สามารถเรียกร้องเอากับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เฉพาะกับรัฐเท่านั้นแล้ว เป็นอำนาจแบบหนึ่งที่เขามีไว้เป็นอำนาจต่อรองในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของเขาซึ่งมีนัยยะอย่างขั้นต้นนี้
สำหรับนัยยะทางกฎหมายนั้นก็ต้องดูว่ามีการบัญญัติไว้อย่างไร มาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนว่า “การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ถ้าการนั้น เป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรงย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ”การเขียนเงื่อนไขเช่นนี้ก็มีปัญหาอยู่ว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากคำว่า“เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” คืออะไร กล่าวอย่างง่ายคือมีนัยยะในทางกฎหมายซึ่งไม่รู้จะบังคับได้ในแง่มุมแบบใดบ้างแม้ว่าจะมีเงื่อนไขในการใช้อยู่ ซึ่งไม่รู้ใช้อย่างไรก็เป็นสิ่งที่ต้องรอปฎิบัติการสิทธิชุมชนของชาวบ้านต่อไป
สำหรับประเด็น มาตรา ๖๗ เดิมที่ย้ายมาเป็นมาตรา๕๘ (ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) หากพิจารณาจากการใช้คำจะพบว่าเป็นการจัดทำแบบกว้างๆ โดยใช้คำว่า “รัฐดำเนินการหรืออนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ”มาตรา ๖๗ วรรค ๒ เดิมใช้คำกลางๆ การดำเนินโครงการ สิ่งนี้อาจมีนัยยะอะไรบางอย่างทำไมถึงต้องมาบัญญัติแบบนี้ ควรจะมีการประเมินผลกระทบก่อนที่จะมีการดำเนินการหรือไม่? หรือการดำเนินการของรัฐอาจจะหมายถึงการออกกฎหมายในระดับรองๆ เช่นการประกาศเขตอุทยานทางทะเลถือว่าเป็นการดำเนินการของรัฐที่มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐตามมาตรา๕๘ หรือไม่ ? เป็นต้น
EHIAกับมาตรา ๕๘
คุณสุรชัยตรงงาม: ถ้าถามว่าจะมีผลกับผู้ที่ทำการดำเนินการเกี่ยวกับEHIA อย่างไร ? มีทิศทางอยู่ ดังนี้ คือ (๑) บทเฉพาะกาลซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังนั้นจึงต้องไปดูกฎหมายที่ออกมา และ (๒)การปฏิบัติการของรัฐในการดำเนินการเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญรัฐไทยมักมีการตีความในแบบแคบ พูดง่ายอย่างง่ายคือ โครงการอะไรที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงก็ต้องไปดูตาม“ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยโครงการรุนแรง”จากลักษณะดังกล่าวก็ถือเป็นการตีความว่าส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐตีความว่ากฎหมายหลัก คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยคือการบังคับใช้การตีความของรัฐในทิศทางใด ทิศทางหนึ่งเสมอแล้วกลไกรัฐรูปแบบนี้ก็มักจะแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเองหรือกลไกที่มันจะเกิดขึ้นต่อมาในภายหลัง ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันในเรื่องของการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
ประเด็นเรื่องของ“สิ่งแวดล้อม” ในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไร
คุรสุรชัย:เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นครั้งแรกและได้สร้างผลกระทบต่อกลไกการรับรองสิทธิหลายเรื่อง มีปฏิบัติการของชุมชนในการใช้สิทธิมากมายซึ่งปฏิบัติการเหล่านั้นนั้นมันไม่ได้มาลอยๆหากแต่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ได้ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิชุมชนหรือพูดถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมก็มีความชัดเจนขึ้นมาอย่างสมควรและยังพูดถึงกลไกอื่นๆ ที่เข้ามารองรับ รวมถึงการเกิดขึ้นของศาลปกครอง องค์กรอิสระและกลไกเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยสนับสนุนในด้านการปฏิบัติการในด้านสิ่งแวดล้อม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๔๐ ช่วยให้การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมง่ายขึ้น
คุณสุรชัยตรงงาม: ช่องทางต่างๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เปิดทางไว้ค่อนข้างมากซึ่งในฐานะนักกฎหมายเอง ผมก็เห็นช่องในการฟ้องร้องต่อหน่วยงานรัฐมากขึ้นเพราะก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การฟ้องร้องหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องที่ทำได้ยากการฟ้องศาลยุติธรรมนั้นยาก เพราะหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องนำสืบคดีอีกทั้งยังมีเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างอำนาจ ระหว่างรัฐกับเอกชนรวมถึงความไม่เท่าเทียมทางด้านข้อมูล ดังนั้น ใช่ว่าชาวบ้านจะได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการนำไปเบิกความมาอย่างง่ายๆ
อีกทั้งสมัยก่อนไม่มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. ๒๕๔๐ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเริ่มใช้ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมาพร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง พ.ร.บ.ดังกล่าวช่วยให้ศาลปกครองเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของข้อมูลและข่าวสารกับการร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐต่างๆทำให้สามารถนำข้อมูลที่เป็นความลับมาเปิดเผยได้ ทำให้รู้ว่าหน่วยงานของรัฐสื่อสารอะไรกันเพราะเวลาศาลไต่สวน จะเปิดห้องคุยพูดให้ชาวบ้านฟังซึ่งทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ และการใช้สิทธิไม่ใช่การฟ้องอย่างเดียว แต่คือการใช้สิทธิในการยื่นหนังสือการใช้สิทธิในการร้องเรียน ซึ่งสิทธิเหล่านี้ก็ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๔๐ แล้วก็ถูกรับรองโดยเรื่อยมา
แสดงว่าในด้าน“สิ่งแวดล้อม” และ “การมีส่วนร่วมของประชาชน”ได้ปรากฏชัดเจนเรื่อยมาทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ หากเปรียบเทียบกับฉบับที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
คุณสุรชัย :จากปฏิบัติการสิทธิของชุมชนที่ผ่านมา ในหลายๆเรื่องถูกรับรองโดยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำพิพากษาของศาลแม้แต่ช่วงในของการรัฐประหารปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกา รับรองในเรื่องสิทธิชุมชนสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ลองไปดูในเว็บไซต์ของ Enlaw ก็เห็นว่ามีคำพิพากษาฎีกาคดีห้วยคลิตี้ล่าสุดที่มีคำพิพากษามาปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๕๙) ก็จะมีการพูดถึงการรับรองสิทธิเหล่านี้ในประเด็นนี้อาจจะไปยึดโยงไปถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ มาตรา ๕ ที่มีการรับรองว่า “สิทธิชุมชน” หรือ “สิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม”เป็นต้น ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นลักษณะเฉพาะของประเพณีไทย ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีความสำคัญมากกว่าในทางกฎหมาย เรื่องนี้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทั่วไปก็รับรองดังนั้นถ้าหากเรามองว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้นลดทอนจากฉบับก่อนๆหรือไม่ก็ต้องดูว่าตัวมาตราว่าด้วยสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เคยต่อสู้กันมามันหายไปรึเปล่า ซึ่งที่หายไปก็คือเดิม มาตรา ๖๗ วรรค ๑
มาตรา๖๗ วรรค ๒ เดิมที่ย้ายไปอยู่มาตรา ๕๘ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
คุณสุรชัยตรงงาม: สำหรับมาตรา๖๗ วรรค ๑ ที่หายไป เป็นสิ่งที่มีนัยยะทางกฎหมายอย่างแน่นอน เนื่องจากมาตรานี้ถูกตีความว่าเป็นการรับรองว่าประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐมีส่วนร่วมเรื่องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างปกติสุข ไม่เกิดมลพิษซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้มีรับรองโดยคำพิพากษาออกมาแล้ว ที่ผ่านมาผมได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหลายท่านเขาก็ตั้งคำถามว่ามาตรา ๖๗ วรรค ๑ เป็นเชิงกระบวนการไม่ใช่ในเชิงเนื้อหากล่าวอย่างง่ายคือ สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีแต่ชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมกับรัฐ เหมือนเป็นการรับรองสิทธิดังกล่าว
ในส่วนของเรื่องสิทธิชุมชนตลอดจนกระบวนการในเชิงปฏิบัติของการใช้สิทธิดังกล่าวคำพิพากษาก็เป็นหลักประกันระดับหนึ่งว่านี่คือสิทธิในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งศาลวินิจฉัยรับรองหากมีการฝ่าฝืนก็มีการกำหนดการเรียกค่าเสียหายให้ชดใช้ แต่พอรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบทบัญญัติดังกล่าวนี้กลับหายไป
บทบาทของศาลปกครองในด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นอย่างไร
คุณสุรชัยตรงงาม: เป็นสิ่งต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะมีการตีความในเรื่องนี้มากน้อยเท่าไหร่แต่ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในส่วนใดส่วนเรื่อง “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างปกติสุข”คำลักษณะนี้มีความสำคัญมากการขาดหายไปจะทำให้กระบวนการตีความตามรัฐธรรมนูญถดถอยลงไปด้วย ดังเช่นใน มาตรา ๔๓ที่ว่า “บุคคลในชุมชนมีสิทธิในการบำรุงรักษาใช้ประโยชน์” แม้ว่าจะคล้ายคำเดิมแต่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ผมมองว่ามีนัยยะสอดคล้องมากับบริบททางการเมือง กล่าวคือปัจจุบันมีบริบทของการออกกฎหมายที่ฟุ่มเฟือยมากเป็นการออกกฎหมายโดยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนและขาดกระบวนการกลั่นกรองจากฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐธรมมนูญฉบับปัจจุบัน
ผมมองว่าบริบทในนี้เมื่อพูดคุยกับชาวบ้านต้องผมบอกว่า สิ่งที่กฎหมายรับรองเราในรูปแบบนี้ไม่ใช่การรับรองที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นการรับรองเชิงความสัมพัทธ์กับแนวทางการปฏิบัติเพราะการจะผลักดันตัวบทกฎหมายที่รับรอง ที่จะออกตามมาจะมีขอบเขตกว้างหรือแคบเพียงใดซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ซึ่งมีนัยยะในทางกฎหมายที่นำไปสู่การตีความในรูปแบบต่างๆทำให้ชาวบ้านที่จะใช้เรื่องของการชุมนุมก็ค่อนข้างจะมีปัญหาค่อนข้างมากเพราะกฎหมายกำหนดให้แจ้งก่อนการดำเนินการแจ้งกรอบการใช้เวลาแล้วหน่วยงานตอบกลับมาว่าอย่าไปชุมนุมในพื้นที่นั้น หรือเหตุผลอื่นใดที่ไม่เอื้อให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้จึงมีปัญหามาก เพราะกลไกขั้นตอนนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง กล่าวโดยสรุปการที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น เป็นช่องทางให้รัฐราชการสามารถนำมาเป็นข้อกำหนดที่เขียนเส้นในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการตีกรอบ ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามที่ชุมชนอยากได้ในหลายๆ กรณีก็เป็นแบบนี้ทั้งสิ้น ในมุมของศาลย่อมตีความไปในทางกฎหมายอยู่แล้วประกอบกับกฎหมายที่ใช้ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายใหม่จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมก่อนมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร
คุณสุรชัยตรงงาม:ก่อนหน้านี้กฎหมายสิทธิชุมชนมีข้อจำกัดค่อนข้างน้อย เพิ่งมีกฎหมายเมื่อ ๒๐ปีผ่านมานี้เอง จริงๆ แล้วโดยนัยยะแบบนี้มักมีความสลับซับซ้อน ทำไมต้องออกเป็นพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.๒๕๕๘ โดยตรงทั้งที่สามารถเอาไปแทรกอยู่ในกฎหมายอื่นก็ได้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีรายละเอียดจำนวนมาก ที่กำหนดให้ต้องออกเป็นกฎหมาย เช่นตอนนี้ก็มีการแก้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... จะถือว่าเป็นการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ก็ต้องรอการตีความต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาการวินิจฉัยของศาลก็มักจะยึดตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเดิมที่มีการบังคับใช้อยู่แล้วอาจจะมีการตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่พอมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าแนวทางเดิมที่กฎหมายใช้บังคับยังคงเดิมได้หรือไม่อำนาจของศาลก็อาจจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กล่าวโดยสรุปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดทอนสิทธิเสรีภาพชุมชนและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
“การปฏิรูปในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ควรทำให้ดำเนินไปในทิศทางได
คุณสุรชัยตรงงาม: ผมอธิบายว่าจะมีปัญหาตั้งแต่คำถามแรกแล้วเนื่องจากในตอนที่ลงประชามติก็ไม่ได้เปิดให้ผู้คนถกเถียงอะไรกันมากมายนักซึ่งโดยที่มาในรูปแบบนี้จึงไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ผมคิดว่า“ผมไม่รู้สึกเลยว่า ผมได้มีส่วนร่วมและอยากให้คุณเขียนออกมาแบบนี้”หากเราวิเคราะห์ตามนัยยะถ้อยคำ ตามมาตรา ๒๕๘ ยังมีประเด็นด้านอื่นๆ อีกด้วยไม่ได้มีเพียงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เช่น เรื่องทรัพยากรน้ำการถือครองที่ดินและขยะมูลฝอย เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้เป็นนโยบายของ คสช.ซึ่งโดยเนื้อหามันไม่ได้ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆผมขอยกตัวอย่างงานที่ผมทำงานอยู่คือปัญหาด้านมลพิษคดีห้วยคลิตี้ทำให้ผมเห็นถึงสิ่งหนึ่งนั่นคือรัฐไทยไม่มีกระบวนการเยียวยามลพิษอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่มากเพียงพอซึ่งสะท้อนว่าต้องมีการ “ฟ้องร้อง” ก่อนถึงจะมีการ “ฟื้นฟู”ลักษณะดังกล่าวเป็นการผลักภาระให้ประชาชนและไม่สอดคล้องกับบริบทที่เรากำลังเผชิญอยู่และรัฐไทยไม่เคยเด็ดขาดในเรื่องพวกนี้เลย
การใช้มาตรา ๔๔ กับการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม
คุณสุรชัยตรงงาม: ผมมองว่านี่ไม่ใช่ฉบับแรกการจัดการกับสิ่งแวดล้อมมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่ทว่าในยุคนั้นมีการประกาศใช้อยู่เพียงปีเดียวและไม่ค่อยได้ใช้อะไรมากนักแต่ในปัจจุบันนี้มีการประกาศออกมากว่า ๑๐๐ กว่าฉบับ นี่ยังไม่รวมก่อนที่จะมี มาตรา๔๔ และไม่รวมที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผลักดันออกมาอีกไม่รู้กี่ร้อยฉบับถือว่าเป็นรัฐราชการที่มีการผลักดันกันมาอย่างเต็มที่
“มาตรา ๔๔ เองก็เป็นปัญหาคู่ขนานกับสิทธิเสรีภาพในเชิงกฎหมายก็อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาในเชิงทวิลักษณ์ หมายความว่าการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ยังเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่กลไกศาลไม่สามารถตรวจสอบได้แต่ถ้าคุณใช้อำนาจตามกลไกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ แบบทั่วไปคุณอาจจะถูกตรวจสอบได้ เรามีระบบมาตราฐาน ๒ ระบบแบบนี้อยู่ในระบบ
นิติรัฐของเราได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ขัดแย้งกัน”
ถ้าระหว่างนี้เครือข่ายภาคประชาชนมีการไปฟ้องการใช้มาตรา๔๔ ในประเด็นสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครอง ศาลปกครองสามารถวินิฉัยได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่มีอำนาจตรวจสอบได้นี่ก็เป็นปัญหา เนื่องจากกลไกยุติธรรมไม่สามารถตรวจสอบได้ กล่าวคือมาตรานี้มีลักษณะแบบเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยมีชาวบ้านถามผมในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในทางปฏิบัติมันอยู่ในสภาวะเหนือรัฐธรรมนูญแต่ในทางกฎหมายนั้นไม่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นอยู่แล้ว
มาตรา๔๔ “เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ” แล้วจะ “เหนือกว่าสิทธิเสรีภาพ” หรือไม่
คุณสุรชัยตรงงาม:กฎหมายเป็นสิ่งที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ว่าผู้ร่างคิดอย่างไรแต่เมื่อถูกคลอดออกมาแล้วการตีความมักมีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมนั้นๆในช่วงเวลานั้นๆ การที่สองส่วนนี้มาอยู่ด้วยกันแล้วจะบอกว่าสิ่งนี้เหนือกว่าสิ่งนั้นในทางทฤษฎีคงยากที่จะยอมรับได้ แต่เรามักจะตีความให้ไปด้วยกันมากกว่าให้ขัดกันเองซึ่งกลไกกระบวนการยุติธรรมคงต้องทำหน้าที่ในการตีความนี้ว่าหากขัดกันมันจะอยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกันได้หรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้การตีความแบบ ๒ระบบในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ในรูปแบบที่ทั้งเหนือกว่าและสอดคล้องกันนั้นในทางกฎหมายมหาชนเราไม่อาจตีความแบบนี้ได้การตีความต้องมีความสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันแต่ในปัจจุบันเรายังขาดการตีความซึ่งผมคาดหวังว่าภาคประชาชนจะต้องมีปฏิบัติการสิทธิชุมชนในหลายรูปแบบเพื่อให้ศาลตีความ เพื่อให้มีข้อยุติที่แน่นอนต่อไป ไม่ใช่ชาวบ้านตีความแบบหนึ่งรัฐบาลแบบก็อีกแบบหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องลงไปตามท้องถนนไปกดดันกันแทนที่จะมีกลไกกันตั้งแต่แรกเพื่อหาข้อยุติบางประการ เช่นเดียวกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างมาตรา ๔๔ กับอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่รับรองในรัฐธรรมนูญเดียวกันกรณีความขัดแย้งเช่นนี้ แล้วใครควรจะเป็นผู้ตีความ
ถ้าหลังจากเลือกตั้งไปแล้วสถานการณ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือไม่
คุณสุรชัยตรงงาม: ผมไม่แน่ใจกับประเด็นนี้มากนักเนื่องจากเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่มีการใช้อำนาจเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของชุมชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจะการใช้กลไกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ในท้องที่ รวมถึงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีการรับรองให้ใช้ได้อยู่จึงคาดการณ์ได้ยากว่าในบริบทของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรเพราะในส่วนของรัฐธรรมนูญเองก็เขียนเอื้อให้เกิดการได้มาซึ่งตัวแทนของรัฐราชการอยู่แล้วดังนั้นการที่เอากลไกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาใช้ในการจำกัดสิทธิก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็อาจจะมีกลไกช่องทางอื่นๆ มากขึ้นเช่นกันในการให้ชุมชนสามารถลุกขึ้นมาและเราต้องไปท้าทายพิสูจน์ในหลายๆเรื่องให้มีความชัดเจนกันมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตเนื่องจากกลไกที่มาจากประชาธิปไตยทางตรงของชุมชนต่างๆ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตและอาจจะต้องมีการร่วมมือกันมากให้มากยิ่งขึ้นในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มที่มองว่ากลุ่มที่เรียกร้องในเรื่องเสรีภาพและการแสดงออกเกี่ยวกับสิทธิสิ่งแวดล้อมดูเหมือนว่าเหมือนจะมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้นแต่ผมกลับมองว่าในระยะต่อไปจะมีจุดร่วมกันมากขึ้น จากการที่ผมได้สนทนากับพระไพศาลวิสาโลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในรูปแบบนี้ ว่าจะสามารถขับเคลื่อนกันต่อไปได้อย่างไรท่านบอกผมว่าหลายครั้งมันเป็นเรื่องความกลัว กล่าวคือจะทำไงให้คนสามารถคุยกันมากขึ้นได้มีโอกาสร่วมกันมากขึ้น ดังนั้นเราจึงมีจำเป็นที่จะต้องพยายามทำเข้าใจแง่มุมของอีกฝ่ายให้มากขึ้นอย่างเช่นในตอนนี้ก็ได้มีการพยายามผลักดันให้หลายๆภาคส่วนมาร่วมกันคิดว่าควรทำอย่างไรต่อไปมีความหวังร่วมกันว่าอนาคตข้างหน้าน่าจะดีขึ้นไปกว่านี้ในแง่มุมของการขับเคลื่อนทางการเมืองรวมถึงในแง่มุมปฏิบัติการด้านสิทธิชุมชนและด้านสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in