ดิฉันค่อนข้างโกรธโชคชะตาตัวเองอยุ่ไม่น้อยในเช้านั้น
อุตส่าห์เดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาไกล เพื่อมานั่งจับเจ่า อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆนี่
Local tour ของดิฉันเริ่มตอนบ่ายโมงตรง ตามที่คนรถว่าไว้
ดิฉันอยากจะขอเงินคืนครึ่งนึงเพราะตอนเช้าไม่ได้เที่ยวอะไรเลย แต่ก็อมพะนำ เงียบเป็นเป่าสาก
เล่นบทเป็นนางเอกละครไทย กลัวดอกพิกุลจะร่วง
อยากเท่าไหร่ก็ไม่กล้าที่จะบอกความต้องการจริงๆของตัวเองออกไป
ได้แต่ปล่อยเลยตามเลย
เพราะใจนึงก็กลัว ว่าถ้าเค้าโกรธ เค้าจะเอาเราไปปล่อยทิ้งกลางทาง (แหมแม่นางเอกพึ่งตัวเองไม่ได้)
นาทีนั้น 9hv'รับบทเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี ว่านอนสอนง่าย ร่าเริง อารมณ์ดีไปกับเค้าก่อน
เค้าจะพาไปไหนก็ไป หรือจะแวะจอดคุยกับคนรู้จักกี่คน กี่ที่ ก็ตามใจ
(ก็คิดนะคะ ว่าเป็นคนจ่ายเงิน แล้วทำไมหล่อนต้องไปยอมเค้าทุกอย่าง)
ตอนนั้นบนรถมีสมาชิกเพิ่มอีกคนค่ะ
เป็นไกด์จากบริษัททัวร์ มานำเที่ยวในวันนั้น พูดภาษาอังกฤษได้คล่องปรื๋อ
ตัวผอมและสูงชะลูด หุ่นนักวิ่งมาราธอน ตามสไตล์หนุ่มเอธิโอเปีย
ระหว่างทางเค้าชี้ให้ดู สถานที่สำคัญต่างๆ ริมถนนของเมืองหลวง Addis Ababa
และแน่นอน เขาชี้ให้ดู รถไฟฟ้าสายใหม่เอี่ยม ที่เพิ่งเปิดใช้บริการเมื่อต้นปี 59
รถไฟฟ้าสายนี้ พาดผ่านกลางเมือง Addis
บางช่วงเป็นรถไฟลอยฟ้า บางช่วงเป็นรถไฟใต้ดิน และบางช่วงอยู่ระดับบนดิน
ชาวเมืองหลวง สามารถเดินไปที่สถานี แล้วขึ้นรถไฟได้เลย
ดิฉันนั่งดูผู้คนจำนวนมากยืนรอและขึ้นรถไฟ กันอย่างมีกิจวัตร
รู้สึกดีใจแทนชาวเมือง ที่มีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้นแต่เนิ่นๆ
ตั้งแต่ตอนที่ถนนในเมืองยังไม่อัดแน่นไปด้วยรถมากจนเกินไปนัก
สถานที่แรกที่เค้าพาดิฉันไปคือ Mt.Entoto ที่เลือกไปที่นี่เพราะ ไกด์บอกว่า ที่นี่จะเห็นวิวเมือง Addis มุมสูงสวยงามอลังการ ความสำคัญของสถานที่นี้คือ เป็นที่แรกๆ ที่ จักรพรรดิ Menelik ที่ 2 มาสร้างพระราชวัง และย้ายเมืองหลวงมาที่ Addis จากเมืองเก่า Ankober
พระชายาของพระองค์ก็ทรงสร้างโบสถ์ Maryam (St Mary) Church ขึ้นข้างๆ
ตัว Mt.Entoto นั้นมีความสูง 3200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีต้นยูคาลิปตัส ปลูกอยู่เต็ม ต้นพวกนี้พระจักรพรรดิโปรดให้นำเข้ามาจากออสเตรเลีย มาปลูกที่เขาแห่งนี้ ทำให้หลังจากนั้นมาต้นยูคาลิปตัสเหล่านี้เจริญขึ้นเต็มภูเขา และส่งกลิ่นหอมจากเปลือกไม้ และแผ่ไอเย็นๆสบายๆออกมารอบๆ ชาวเมือง Addis ชอบมาพักผ่อน จ๊อกกิ้ง หรือทำอะไรต่อมิอะไรที่นี่
Maryam (St Mary) Church
นั้นเป็นโบถส์สีขาวขนาดปานกลาง ประดับตกแต่งด้วยรั้วและรั้วกั้นหลากสี ด้านบนมีประตูทางเข้าแยกเพศชายหญิงอยู่ แต่เหมือนคนนอกเข้าไปไม่ได้
ด้านนอกมีเหมือนคนไร้บ้าน หรือไม่ก็เป็นผู้หลงทางทางจิตวิญญาณ มานอนอเลกเขะขะ อยู่ทั่วทางเดินของโบถส์
เสียงร้องเพลงและสวดมนต์สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าดังแว่วผ่านประตูออกมาจากด้านใน
ที่หน้าโบถส์ จะมีเหมือนพระมายืนให้พร ศาสนิกชนอยู่หน้าประตูโบถส์
เรื่องศาสนาค่อนข้างจะเป็นเรื่องสำคัญของคนเอธิโอเปีย
ที่นี่ครึ่งนึงเป็นชาวมุสลิม และอีกครึ่งนึงเป็นคริสต์นิกายออโธดอกซ์(อย่างหลังมากกว่านิดหน่อย)
แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เคารพและให้เกียรติวิถีชีวิต และข้อปฏิบัติประจำวันระหว่างกัน
ดิฉันเห็นคนที่นี่ ทุกครั้งที่มีโอกาส พวกเขาจะไม่ยอมปล่อยโอกาสที่จะแสดงออกความศรัทธาในศาสนาตนอย่างชัดเจนไม่ขวยเขิน
อย่างที่หน้าโบถส์ Maryam (St Mary) นี้ ไกด์ของดิฉันซึ่งนับถือคริสต์ เข้าไปบรรจงทำความเคารพพระหน้าโบถส์อย่างนอบน้อม รับพรและสวดมนต์บทสั้นๆ เช่นเดียวกับศาสนิกชนคนอื่นๆ ที่มาโบถส์ในวันนั้น
แต่ไกด์ผู้มีขายาวเหมือนนักวิ่งมาราธอน ของดิฉัน ก้าวเท้าสวบๆ นำดิฉันออกไปด้านข้างโบสถ์
ที่นั่นเป็นพระราชวังเก่าของ จักรพรรดิ Menelik ที่ 2
พระราชวังเก่าของ จักรพรรดิ Menelik ที่ 2 อยู่ข้างๆโบถส์
ไม่ได้โอ่อ่า หรืออลังการอะไร แบบที่คนคิดถึงคำว่า “พระราชวัง”
เขตวัง กลับดูคล้าย หมู่บ้านเล็กๆที่มีอาคาร ปูนชั้นเดียวธรรดาเรียบง่ายหลายๆหลังรวมกัน
รอบๆ มีชาวเมือง ใช้เขตพระราชวังเก่าในการตากพืชผลทางการเกษตร
ชีวิตช่างเรียบง่าย
เรียบง่ายพอๆ กับลักษณะของวังนั่นแหละ
ดิฉันตามไกด์เข้าไปในอาคารที่ใหญ่ที่สุดในหมู่อาคารทุกหลัง
เดินเข้าไปในโถงกว้างที่พระจักรพรรดิเคยใช้เป็นท้องพระโรงว่าราชการ
ด้านหลังมีห้องอาหาร ที่เชื่อมกับห้องทำครัวแคบๆง่ายๆ มีถังบ่มไวน์ขนาดใหญ่ ที่คงเคย ทรงใช้
ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำหลายๆงาน
ทุกอย่างมันเรียบง่ายไปหมด
จนคิดถึงความอบอุ่น เหมือนถูกรับเชิญไปกินข้าวที่บ้านเพื่อน (ที่บ้านหลังใหญ่หน่อย)
ไม่รู้สึกแปลกแยกเลย ว่านี่เป็นวังของพระจักรพรรดิ
ระหว่างที่ดิฉันเดินออกมาจากท้องพระโรงนั้น
มีเด็กตัวเล็ก มาบอกกับดิฉัน เป็นภาษาอังกฤษ (เก่งแฮะ)
ว่าถ่ายรูปหนูไหม
ดิฉันก็ถ่ายไปหลายภาพ ด้วยความที่เด็กน่ารัก
ก่อนที่น้องจะยื่นมือออกมาแบมือขอเงิน ค่าที่ดิฉันถ่ายรูปไปเมื่อกี้
ดิฉันก็สะท้อนใจกับอะไรบางสิ่งค่ะ
ภาพเหล่านี้ มักเกิดขึ้น ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั่วโลก
ที่เห็นชัดและคุ้นเคยกันดี ก็คือที่ นครวัด หรือ ดอยๆดังๆทางภาคเหนือของพวกเรา
มันคงเริ่มที่ใครสักคน ให้เงินเป็นรางวัลความน่ารักสดใสของเด็ก ที่ยอมให้ถ่ายรูป
จากคนนึง เป็นสิงคน จากสิบคนเป็นร้อยคน
เมื่อมีหลายคนเข้า เด็กๆ ก็จะเข้าใจว่า การถ่ายรูปและเป็นความเป็นมิตรของตัวเอง เป็นสินค้าที่ขายได้
เมื่อนักท่องเที่ยวมา เด็กเหล่านี้ก็จะละทิ้ง การกิจกรรม และการเรียนรู้อื่น
มาเป็นเครื่องจักรผลิตเงินในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เหมือนจะดีใช่ไหมคะ ที่เด็กก็ได้ทำงาน แถมหาเงินช่วยพ่อแม่ ครอบครัวได้ด้วย
แต่ดิฉันอยากให้มองกันยาวๆ เด็กถ้าหากได้เงินจากนักท่องเที่ยวตลอด
เค้าก็จะโตขึ้น และเริ่มเข้าหานักท่องเที่ยวด้วยจิตใจที่แสวงหาเงิน
ในวันนึงที่ความน่ารักความสดใส ของเค้าเปลี่ยนไป
เค้าจะเริ่มแสวงหาทางอื่น ที่จะเอาประโยชน์จากนักท่องเที่ยว เหมือนที่เค้าเคยทำได้ตอนเด็กๆ
เค้าจะไปทำอะไรต่อ แล้วจะมีเด็กอีกกี่คนกันนะ ที่จะมายืนขอถ่ายรูปแลกกับเงินแบบนี้
บางทีเมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้าไปสู่ชุมชน
มันก็ทำให้วิถีของชุมชนที่บริสุทธิ์นั้นเสียไป
แลคนที่ได้รับผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเด็กๆ และลูกหลานของพวกเค้าเอง
ดิฉันปฏิเสธที่จะให้เงิน น้องก็ไม่ได้มีท่าทีโกรธหรือตื้อ เท่าสถานที่ท่องเที่ยวบางประเทศ
เด็กคนนั้นยอมไปแต่โดยดี แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวยังไม่แสดงด้านมืดกับที่นี่มากไปนัก
เสร็จจากวัง
ไกด์พาดิฉันนั่งรถไปที่ป่ายูคาลิปตัส ที่พระจักรพรรดิทรงนำเข้ามาปลูกไว้
กลิ่นเย็นๆของยูคาลิปตัส ยิ่งทำให้อากาศ
รอบๆเย็นเยียบเข้าไปอีก
เลยป่ายูคาลิปตัสเข้าไป ก็จะถึงจุดชมวิว เมือง Addis Ababa
วิวมุมสูงในวันนั้น ยอมรับว่ามันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่นัก แต่ดิฉันก็ยกกล้องขึ้นมาถ่าย เพราะต้องเล่นบทนางเอกเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีต่อ กลัวไกด์ที่พามาเสียใจ
ไกด์ถามฉันว่า
“เมืองAddis ใหญ่มาก เมืองหลวงของคุณใหญ่กว่านี้ไหม”
“ ดิฉันไม่แน่ใจ น่าจะใหญ่กว่านี้ค่ะ”
“โอ้ผมเคยได้ยิน ปักกิ่งใช่ไหม”
“ไม่สิคะ ไม่ใช่ ดิฉันมาจาก ไทยแลนด์”
“โอ้ ผมไม่เคยได้ยิน มันเป็นเมืองนึงของจีนใช่ไหม”
“ไม่ใช่ๆ ค่ะ ประเทศนึงในทวีปเอเชีย”
“อออออออออออออ........” แต่กระนั้น เขายังทำหน้าไม่เข้าใจ
“………เอเชีย นี่ก็คือ จีนไม่ใช่เหรอ ปักกิ่งใหญ่มาก ผมเคยอ่านเจอ Addis ก็เล็กกว่าปักกิ่งจริงๆนั้่นแหละ”
ดิฉันกรอกตาขึ้นบน แต่ก็ส่งยิ้มเจื่อนๆให้คุณไกด์
แล้วทำท่าถ่ายรูปเมือง Addis
ที่เล็กกว่า.........ปักกิ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in