เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Social and History by Jack okKiattisak Wongliang
เหมือนถูกใครเอามือล้วงเข้าไปบีบหัวใจ... (สิ้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง)
  •           เดือนตุลาคมของไทยเรานี้สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเป็นเดือนที่มีความวิปโยคโศกเศร้าของชาวไทยเป็นอย่างมากไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม สาเหตุนั้นก็มาจากการที่คนไทยสูญเสียพระมหากษัตริย์ในเดือนนี้ถึง 3 พระองค์ นั่นคือ รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัววันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 5พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และ รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดชบรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 นำความรู้สึกที่บีบหัวใจให้กับชาวสยามไม่ว่าจะผ่านมาเท่าไหร่ก็ตาม

    ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
    ที่มาภาพ Wikipedia
            
                วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวความโศกเศร้าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทยข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นคือเสด็จพ่อ ร.5 หรือรัชกาลที่ 5 คำเรียกพระนามอีกอย่างหนึ่งของพระองค์ท่าน นั่นคือพระพุทธเจ้าหลวง (คำว่าพระพุทธเจ้าหลวงเป็นการเรียกพระนามของกษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว) หรือเหนือสิ่งอื่นใดรัชกาลที่ 5ก็เปรียบได้กับพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่มาคอยดับทุกเข็ญให้กับประชาชนมีการบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคนี้ไว้หลายรูปแบบเป็นอย่างมากทั้งการศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านทั้งกระแสหลักและกระแสรองซึ่งข้าพเจ้าได้เคยผ่านตาและได้อ่านมาทั้งสิ้นหากแต่ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ให้กับประเทศมีมากมายนานานัปการคุณผู้อ่านเคยรู้หรือไม่ว่า รัชกาลที่ 5 ของเราทรงครองราชย์ครั้งแรกตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ในปีพุทธศักราช2411 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาเต็มเท่ากับว่าพระองค์อยู่ภายใต้อำนาจของขุนนางนั่นเองอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้นจึงมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก 
  •            อย่างไรก็ตามด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ทำให้พระองค์ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นมาได้อย่างสมพระเกียรติ เนื่องด้วยพระองค์ทรงรับรู้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองณ ขณะนั้นจากพระราชบิดาของพระองค์นั่นคือ รัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ท่านทรงสอนงานพระราชโอรสทำให้เห็นความเป็นไปของประเทศที่ต้องมีการพัฒนาให้ทันต่อการปรับตัวของโลกตะวันตกที่ณ ขณะนั้นลัทธิล่าอาณานิคมได้แพร่กระจายเป็นอย่างมากในอุษาอาคเนย์จนกระทั่งพระองค์ท่านมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาพระองค์ท่านได้ทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2416และหลังจากนั้นพระองค์จึงแบกรับราชภาระของแผ่นดินไว้เต็มพระองค์เหนือสิ่งอื่นใดพระองค์ไม่ละเลยที่จะปรับปรุงแก้ไข และดูแลอาณาราษฎรของพระองค์อย่างเต็มกำลังการปรับตัวของสยาม ณ ขณะนั้นต้องยอมรับมีความหนักหนาสาหัสเป็นอย่างมาก
    พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
    ที่มาภาพ Kapook.com

    ดั่งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการเสียดินแดนของสยามในคราวิกฤตการณ์ร.ศ. 112 ที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสนำความโทมนัสมาสู่พระพุทธเจ้าหลวง ความว่า

    “เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มนะเนื่องบำรุงกาย
    ส่วนจิตบ่มิสบาย         ศิระกลุ่มอุราตรึง
    แม้หายก็พลันยาก       จะลำบากฤทัยพึง
    ตริแต่จะถูกรึง            อุระรัดและอัตรา”

              จากบทประพันธ์นี้แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความรับผิดชอบที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ที่พระองค์ท่านได้ปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างเต็มกำลังหากแต่มิประสบผลสำเร็จ จึงนำความโทมนัสมาสู่พระองค์ หากแต่มิได้ย่อท้อด้วยขัตติยะมานะของพระองค์จึงทรงปฏิบัติงานต่ออย่างสุดความสามารถปรับปรุงบ้านเมืองให้มีความศิวิไลซ์เกิดการพัฒนาในหลายๆส่วน ยอมรับแนวความคิดแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสาน 

             แต่มิละเลยที่จะทอดทิ้งวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพชนจึงเกิดการผสมผสานกันอย่างลงตัวซึ่งแสดงออกให้เห็นได้จากงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าอันเป็นศิลป์แผ่นดินที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก 



  •           หากแต่วันวานแห่งความสุขมักผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอเพราะเรามักเสพความสุขจนลืมไปว่า มีสุขก็ย่อมมีทุกข์เช่นกัน การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะ(ไต) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ดั่งบันทึกของหม่อมเจ้าหญิง  จงจิตรถนอม    ดิศกุล ความว่า
             “.....ค่ำวันเสาร์ที่22ตุลาคม พ.ศ 2453 ณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเป็นที่ทราบกันอย่างภายในราชสำนักแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5ทรงมีพระอาการมิสู้ดีนักดังนั้นตามระเบียบบนพระที่นั่ง บันไดทางเดินจึงเต็มไปด้วยเหล่าพระราชโอรส-ธิดาพระมเหสีนางใน ที่พากันมาคอยฟังพระอาการประชวร ซึ่งในขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนพระแท่นบรรทมในบางเวลานั้นก็ทรงหายพระทัยเข้าออกครั้งละยาวๆ โดยหายพระทัยทางพระโอษฐ์แรงๆพระเนตรของพระองค์เหม่อลอยไม่จับใครเสียแล้ว ทรงลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเองทันใดนั้นพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีน้ำพระเนตรไหลออกมา คล้ายทรงพระกรรเเสงพระองค์จึงพยายามยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นมาเช็ดน้ำพระเนตรด้วยพระองค์เอง พระนางเจ้าสุขุมาลฯเห็นจึงรีบนำผ้าขึ้นมาซับน้ำพระเนตรถวาย  โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯประทับอยู่ปลายพระแท่นบรรทมคอยถวายงานนวดอยู่และรับสั่งให้หมอฝรั่งขึ้นมาถวายตรวจพระอาการ เจ้าพนักงานลงมาตามหมอฝรั่งขึ้นไปถวายตรวจพระอาการอีกครั้งสักพักหมอจึงทูลกับเหล่าพระมเหสีที่ประทับเฝ้าพระอาการอยู่ณ.ที่นั้นว่า...พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียแล้ว..... ” 
    พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
    ที่มาภาพ Wikipedia
                 ตรงกับบันทึกของสมิธ (นายแพทย์มัลคอล์มสมิธ)หนึ่งในคณะแพทย์ที่ถวายการรักษา ความว่า  “แพทย์ทุกคนต่างก็ทราบดีว่าพระเจ้าอยู่หัวคงจะสวรรคตลงอย่างแน่นอนแต่สำหรับประชาชนทั่วไปแทบจะไม่มีผู้ใดทราบถึงพระอาการประชวรเพราะถือกันว่าการสอบถามพระพลานามัยของพระเจ้าแผ่นดินเป็นเรื่องต้องห้าม”
                 ในนวนิยายสี่แผ่นดินของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมชได้พรรณนาถึงการสิ้นแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ผ่านตัวละครอย่างแม่พลอยที่แสดงถึงความโศกเศร้าของแผ่นดิน ความตอนหนึ่งว่า

                 " วันนั้นอากาศมืดครึ้มไปทั่ว ไม่มีแสงแดดทำให้แลดูครึ้ม เยือกเย็น ลมเหนือที่เริ่มจะพัดในเดือนตุลาคมหยุดนิ่งในวันนั้นแม้แต่ใบไม้สักใบก็ไม่มีกระดิก เสียงนกเล็กๆที่เคยร้องอยู่ตามพุ่มไม้ก็เงียบหายไปธรรมชาติทั่วทั้งกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะแสดง ความโศกสลดในความวิปโยคอันยิ่งใหญ่ ” 




  •          ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ถึงการสวรรคตของพระราชบิดาความว่า

    "...เหมือนถูกใครเอามือล้วงเข้าไปบีบหัวใจเพราะรู้สึกถึงความสิ้นปัญญาและสิ้นหวังเสียแล้ว... 23ตุลา เวลาเที่ยงคืนแล้วไม่ช้าหมอไรเตอร์ สั่งลงมาจากข้างบนให้บอกฉันว่า ทูลกระหม่อมทรงอ่อนเต็มทีแล้วครั้งเที่ยงคืนล่วงไปแล้ว 45 นาที พระบาทสมเด็จพระรามาศรีสินทร มหาจุฬาลงกรณพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต โดยมิได้รู้สึกพระองค์เลยนับว่าปราศจากความทุรนทุรายทุกประการ...."


    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ุ6 พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5

              ความวิปโยคของแผ่นดินยังเห็นได้ชัดจากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือสารคดีที่น่ารู้ความว่า 

    “.....ได้ยินเสียงผู้ชายร้องไห้อย่างเต็มเสียง ข้าพเจ้าตกใจเพระไม่เคยได้ยิน       ผู้ชายร้องไห้.....” 

              นี่คือตัวอย่างของบันทีกเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่5ของชาวสยามในสมัยนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคนไทยในปัจจุบันคงเข้าใจกันดีเพราะไม่นานมานี้เราพึ่งสูญเสียเอกกษัตริย์แห่งแผ่นดินพระบาท-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์นักพัฒนาที่ตลอดระยะเวลากว่า 70ปีที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน นำความวิปโยคโศกเศร้ามาให้คนไทยเราเช่นเดียวกันงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่มีการปรับธรรมเนียมหลายอย่างเพื่อราษฎรกล่าวคือ การงดเว้นให้มีการโกนผมไว้ทุกข์เพราะจะนำความเดือดร้อนให้กับราษฎร ความผูกพันของพระองค์และราษฎรที่รัชกาลที่ 6ทรงเข้าใจพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์นั่นคือการจัดให้มีการให้ประชาชนขึ้นไปกราบพระบรมศพของรัชกาลที่5 และเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ คือรัชกาลที่ 6 เป็นธรรมเนียมที่สืบมาจนถึงปัจจุบันแสดงถึงพระเมตตาของกษัตริย์ที่มีต่อประชาชนชาวไทย และในวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีจึงเป็นวันที่มีการจัดงานรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการถวายสมัญญานามว่า “พระปิยมหาราช”กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของประชาชนจวบจนปัจจุบัน

    ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ผู้คน สังคมในอดีต 

    ผ่าน Facebook page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in