วันนี้ไปทานอาหารเย็นกะกลุ่ม ASA (Asian Students Alliance) ที่มหาลัยมาค่ะ เป็นเหมือนกลุ่มของนักเรียนที่มีเชื้อสายเอเชีย อาจจะเป็นลูกครึ่ง เป็นนักเรียนนานาชาติจากประเทศในแถบเอเชีย หรือว่าเป็น Asian-American ที่มีพ่อแม่เป็นคนเอเชีย แต่เกิด หรือเติบโตมาในอเมริกาค่ะ
ที่ไปวันนี้ก็ไม่ได้ไปแค่ทานข้าวเย็นร่วมกันเฉยๆ แต่ยังมีอภิปรายกันถึงเรื่อง identity ด้วยค่ะ ด้วยความที่ประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ผู้คนในประเทศก็มีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป โดยเฉพาะเรื่องของเชื้อชาติ วัฒนธรรม
ด้วยความที่เรามาจากประเทศไทย ที่ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติมากนัก การมาทานข้าวเย็นวันนี้เลยช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆแก่เราค่ะ
ตอนที่อยู่ไทย เราเคยเป็นคนหมู่มาก แต่พอมาที่นี่เราก็กลายเป็นคนส่วนน้อยไป
เราเคยคิดว่า พวกเอเชียนอเมริกันไม่ลำบากหรอก พวกนางก็อยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก วัฒนธรรมอเมริกัน เหตุการ์ณบ้านเมืองก็คงเข้าใจดีกว่าเรา ภาษาอังกฤษก็ดีกว่า ชีวิตพวกเขาคงไม่ลำบากมากหรอก เทียบกับเราที่มาจากที่อื่น วัฒนธรรมบางอย่างก็เพิ่งมาเคยเจอ ภาษาก็กะโหลกกะลา สื่อสารก็ติดๆขัดๆ พูดฟังอะไรก็ไม่ค่อยเข้าใจ ครอบครัวก็ไม่อยู่ที่นี่ เราลำบากกว่าพวกเธอมาก
แต่พอมาได้ฟังวันนี้ความคิดเราก็เปลี่ยนไปค่ะ เพราะแต่ละคนก็ผ่านอะไรมามากมายเหมือนกันค่ะ จนเราคิดได้ว่าเราไม่ควรเอาตัวเราไปเปรียบกับใคร เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตแต่ละคนเจออะไรมาบ้างกว่าจะเป็นแบบทุกวันนี้ ไม่มีประสบการณ์ใครเทียบกับใครได้ค่ะ ประสบการณ์ทุกคนล้วนมีค่าและแตกต่าง และประสบการณ์เหล่านี้ก็หล่อหลอมให้เราแต่ละคนมีค่าและแตกต่างกันออกไปในแบบของตัวเอง เปรียบเทียบกันไม่ได้หรอก
ในกลุ่มเราถกกันด้วยเรื่อง microaggression กันค่ะ
microaggression คือการพูดหรือแสดงออกที่ไม่ได้มีเจตนาเหยียดโดยตรงแต่มันก็สามารถทำร้ายจิตใจของคนฟังได้ โดยการแสดงออกนี้มาจากการมองแค่เพียงภายนอกและเหมารวมเท่านั้น
ส่วนตัว เรายังไม่เคยเจอกับตัวเองตรงๆ และยังค่อนข้างไม่เข้าใจว่าตรงไหนคือจุดที่บอกว่าการกระทำนั้นเหยียดเราจริงๆ หรือเราแค่คิดมากไปเอง
อย่างเช่น การที่ฝรั่งชมคนที่รูปลักษณ์ไม่่ค่อยฝรั่งว่า ภาษาอังกฤษเธอดีจัง คือมันอาจหมายความว่า เขาตัดสินจากภายนอกว่าเธอดูไม่ฝรั่ง โดยปกติอังกฤษเธอควรจะไม่ดีสิ หรือเขาอาจจะชมเธอว่าเธอฝึกฝนมาดี รึเปล่า โดยส่วนตัว ถ้ามีคนพูดแบบนี้กับเรา เราก็คิดแบบหลังอะ เพราะอังกฤษไมใช่ภาษาแรกของเรา เขาชมก็ดีใจแล้ว แต่บางคนอาจจะโตที่นี่ พูดไม่ได้สิแปลก เธอหาว่าฉันไม่ใช่คนเมกันเหรอ ฉันเกิดและเติบโตที่นี่นะ /เดือดดาล คือสรุปมันก็ขึ้นอยู่กับมุมคนมองด้วย เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็คิดให้รอบคอบว่ามันจะไปทำร้ายความรู้สึกคนฟังแบบไหนรึเปล่า
เรื่อง race เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน เลยจะขอเสนอแค่บทสนทนาที่เราได้ยินมาละกันค่ะ
หัวหน้ากลุ่มถามคำถามว่า เคยเจอกับสถานการณ์ที่มีคนติดป้ายเหมารวมว่าเราเป็นอะไรบางอย่าง เพราะรูปลักษณ์ของเรารึเปล่า
J: อาจารย์ที่สอนจิตวิทยาบอกว่า คนที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็จะยากหน่อยที่จะแยกคนในชาติพันธุ์อื่นออกจากกัน อย่าง/ ชี้ไปที่ผญ เอเชียน สี่คนในห้อง เป็นต้น //ที่มันแรงในการกระทำนี้คือการเรียกหรือชี้ให้ตกเป็นเป้าสายตาในคลาส อีกอย่างคือการที่เหมือนพูดเป็นทำนองว่า เอเชียนก็หน้าเหมือนๆกันหมดแหละ ทั้งๆที่จริงๆ แต่ละคนต่างกัน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง โดนเหมารวมแบบนั้นก็ไม่ดีเท่าไหร่
W: เคยกินข้าวกันในกลุ่ม ASA แล้วมีคุณป้าชาวเมกันเข้ามาหากุญแจ พอหาไม่เจอก็เดินออกไป แต่ก่อนออกไป ก็หันมาพูด หนีฮ่าว แบบ พูดก็ไม่ถูกนะ ทุกคนก็เงิบไป
// คนอื่นในกลุ่มบางคนมองว่าป้าทำไม่เหมาะ เพราะะในห้องไม่ได้มีแค่คนจีน ป้าเหมารวมว่าหน้าแบบนี้ก็จีนทุกคน ส่วนตัวเราว่ากรณีนี้ เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายความรู้สึกคนฟัง เขาอาจจะพยายามเข้าหา เรียนรู้วัฒนธรรมเอเชียน เพียงแต่เขาอาจจะยังรู้ไม่พอ ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดจีน หรือ หนีห่าว ไม่ใช่คำบอกลา
J: ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ ถ้าจะให้ดีทั้งสองฝ่าย เราควรไปพูดกับเขาดีๆ อธิบายให้ฟังว่า หนีห่าว เป็นภาษาจีนนะ ออกเสียงแบบนี้ ใช้ในกรณีนี้ แต่ก็ต้องพูดในทำนองว่า ไม่ได้ตำหนิป้านะ แต่อยากให้เรียนรู้ พูดกับเขาดีๆ เพราะบางทีเราอาจเป็นเอเชียนกลุ่มเดียวที่ป้าเขาเคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ไมใช่ทุุกคนที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นๆ มาก่อน ไม่รู้ก็ไม่แปลก ก็ไม่ผิด แต่ถ้าจะรู้ก็ควรรู้สิ่งที่ถูกต้องไปด้วย
W: ที่นี่ เอเชียน ถือเป็น model minority ก็คือด้วยความที่คนเอเชียนส่วนมากเป็นคนอดทน เงียบๆ ก็จะไม่ค่อยพูดว่าการเป็นคนส่วนน้อยมีข้อเสียเปรียบตรงไหน มีความลำบากยังไง พวกคนกลุ่มอื่นก็จะคิดว่าเอเชียนไม่มีปัญหา ไม่ต้องต่อสู้กับอะไร สบายๆ จนถึงขั้นที่ชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติอื่น พูดว่า เอเชียนได้อะไรมาง่ายๆ เพราะ they're basically white จนอาจจะได้ white supremacy แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เอเชียนในสังคมนี้ก็ยังคง struggle เหมือน other people of color ยังมีคนไม่ได้รับโอกาส มีคนโดนตัดสินจากภายนอกอยู่อีกมาก
A: พ่อแม่ฉันอพยพมาจากเกาหลี ฉันเกิดและโตที่นี่ ตอนเด็กๆ เพื่อประหยัดเงินค่าอาหารกลางวัน แม่จะทำอาหารเกาหลีมาให้กินที่โรงเรียน พอฉันเปิดกล่องอาหารที่แม่อุตส่าห์ทำมาให้ เพื่อนๆก็พากันบ่นว่าอาหารของฉันน่าขยะแขยงและเหม็น แล้วพากันหนีห่างจากฉัน ฉันเคยขอแม่ให้ทำอาหารของคนเมกันให้หน่อย กริลชีส แซนด์วิชแยมเนยถั่ว พิซซ่า หรืออะไรก็ได้ที่คนอื่นกินกัน แต่ไม่เอาอาหารเกาหลีได้ไหม ตอนนั้นฉันไม่เคยคิดเลยว่าอาหารเกาหลีที่แม่ทำให้ด้วยความรักที่จริงมันดี มีประโยชน์กว่าอาหารที่เพื่อนคนอื่นกินแค่ไหน ฉันแค่ต้องการจะเป็นเหมือนเพื่อนคนอื่นเท่านั้น ฉันแค่อยากมีเพื่อนเล่นด้วยเท่านั้น ฉันเคยต้องเทข้าวทิ้งเพราะเพื่อนจะไม่เล่นกับฉันถ้าฉันกินอาหารเหม็นๆ แต่ฉันก็ไม่อยากให้แม่ผิดหวังที่ทำให้ฉันเหลือข้าวที่แม่อุตส่าห์กลับบ้าน มาคิดดูแล้วมันน่าเศร้ามากเลย
แต่ที่น่าหัวเราะคือ ทุกวันนี้คนเมกันเริ่มหันไปกินอาหารเอเชีย เพราะมันดีต่อสุขภาพกว่า แล้วอาหารเอเชียนก็แพงขึ้นมากกว่าอาหารเมกันทั่วไปอีก คิดแล้วก็น่าขำ อาหารที่พวกเธอ(เพื่อนตอนเด็กๆ) เกลียดนักหนา กลับมาเป็นที่นิยมซะงั้น
W: เป็นไงล่ะ สาหร่ายอบแห้งที่พวกเธออี๋กัน จะอ้วก ตอนฉันเอาไปกินที่โรงเรียนตอนเด็กๆ ตอนนีี้เป็นของล้ำค่าของพวกเธอแล้ว 55555 // พูดด้วยน้ำเสียงสะใจ เรานั่งขำ 5555
เรารู้สึกขอบคุณทุกคนที่มาแชร์ประสบการณ์ เรารู้สึกชื่นชมเพื่อนๆ จริงๆ ที่ผ่านอะไรแบบนี้มาได้ และเราก็หวังว่าต่อไปนี้สังคมจะดีขึ้น ความเท่าเทียม ความเข้าใจ การเปิดใจ คงจะมีมากกว่าเดิม
ลองย้อนกลับไปมองประเทศไทย ตอนแรกเราคิดว่า ด้วยความที่ประเทศเราความแตกต่างทางเชื้อชาติในประเทศมันไม่ได้ชัดเจนอะไร คงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมองดีๆ กลับพบว่าคนไทยก็ยังมองความแตกต่างเล็กๆภายนอกของคนอื่นๆ เช่น รูปร่าง สีผิว หน้าตา ฐานะ แล้วเอามาตัดสิน เปรียบเทียบ เลือกปฎิบัติกันได้อยู่ดี
เราอยากให้ทุกคนลอง หยุดตัดสินคนจากภายนอก หยุดมองหาข้อแตกต่างเปรียบเทียบ แต่ลองมองให้ลึกลงไปในใจ ในตัวตนของแต่ละคน เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน คนที่ต้องการความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับจากคนอื่น เหมือนๆกันทุกคน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in