ผมชอบออกตัวว่าตัวเอง เป็นแฟนหนังของ
เดวิด โครเนนเบิร์ก.. แต่เอาเข้าจริง มีแค่
The Fly (1986), Dead Ringers (1988) และ
A History of Violence (2005) เท่านั้น ที่ผมเปิดดูบ่อยๆจริงๆ (3 เรื่องนี้น่าจะดูซ้ำไม่ต่ำว่า 5-10 รอบเลย ด้วยความชอบจัดๆ) ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ ของโครเนนเบิร์ก ผมดูเกือบครบหมดแล้ว แต่ก็ดูมันไม่บ่อย มากสุดก็ 2 รอบไม่เกิน และหลายๆเรื่อง ก็ดูแค่รอบเดียว
เหตุผลง่ายๆคือ หนังโครเนนเบิร์กไม่ใช่หนังที่จะหยิบเอามาดูได้บ่อยๆ เป็นหนังสามัญประจำบ้านน่ะครับ.. เพราะหนังของโครเนนเบิร์กมันมีความประหลาด ความรุนแรงจากภาพอันบิดเบี้ยวที่ปรากฏอยู่บนจอ รวมไปถึงภาวะจิตใจอันผิดเพี้ยนของตัวละคร ทั้งในด้านความเป็นจริง และด้านที่เหนือจริง
หนังของโครเนนเบิร์กมันเหมือนเป็นพื้นที่ที่แกเปิดโอกาสให้ตัวละคร มาปลดปล่อยด้านบิดเบี้ยว ด้านรุนแรงภายในจิตใจอย่างเต็มที่ ซึ่งมันเป็นคนละความหมายกับพวกหนังประเภททรมาณบันเทิงโหดๆอย่าง Saw หรือ Hostel นะ.. หนังโครเนนเบิร์ก จะเป็นความรุนแรงที่สุขุมกว่า แต่ทำงานโดยตรงในมโนสำนึกของเรา เหมือนกระดาษขาวๆ ที่เติมจุดด่างพร้อยลงไป ความรู้สึกมันจะประมาณนั้น
ยิ่งมีนักจิตวิทยาบางคนเขาบอกด้วย คนที่ชอบหนังของโครเนนเบิร์กมากๆ อาจมีปมในจิตใจบางอย่างที่หนักหนาฝังอยู่ จนมองความรุนแรงในหนังของโครเนนเบิร์กเป็นเรื่องปกติ... ก็เริ่มสงสัยตัวเองเหมือนกันนะ (ฮา) แต่ถึงยังไง ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า โครเนนเบิร์กคือคนที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด แบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ถ้าจะพูดว่า ความรุนแรงคือเรื่องปกติในหนังโครเนนเบิร์ก มันก็ไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจ
และแรงจูงใจที่ทำให้ผมอยากจะมาเขียนบทความนี้ คือหนังที่แฟนๆหลายคนยกให้เป็นงานมาสเตอร์พีซของแก ซึ่งผมได้มีโอกาสดูรอบนี้ เป็นรอบที่ 3 ด้วยความรู้สึกว่า ณ ยุคสมัยนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยี และ บริบทในสังคมเรา มันมีสิ่งไหนที่เปลี่ยน และมีสิ่งไหนที่ยังคงเหมือนเดิม..
หนังเรื่องนั้นคือ
Videodrome (1983)
Videodrome ถูกจัดเอาไว้ในหมวดหนัง Sci-Fi Horror (หนังสยองขวัญวิทยาศาสตร์) และหนัง Body Horror (หนังสยองขวัญที่ว่าด้วยเรื่องของ การเปลี่ยนสภาพ หรือการสูญสลายของร่างกายมนุษย์) เฉกเช่นเดียวกับหนังหลายๆเรื่องของโครเนนเบิร์ก (จริงๆต้องบอกว่า โครเนนเบิร์กเป็นผู้บุกเบิกหนัง Body Horror ในยุค 80 เลยด้วยซ้ำ) ...แต่สำหรับ Videodrome ผมว่ามันไม่สามารถจะจัดมันไปไว้ใน 2 หมวดนี้ได้ซะทีเดียว โอเค หนังมีความเป็นไซไฟ เพราะมันพูดถึงเทคโนโลยี ในด้านการกระจายภาพทางโทรทัศน์ หรือในด้าน Body Horror ด้วยยี่ห้อโครเนนเบิร์ก หนังเลยมีภาพสยองขวัญแปลกประหลาดสุดติดตาที่เป็นเทคนิค Practical Effect ทำมือแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน และหนังก็มีความ real และ surreal ในเวลาเดียวกัน จนยากที่จะแยกออกจากกันได้..
Videodrome เล่าเรื่องของ
แม็กส์ เรน (เจมส์ วู้ด) ผู้จัดการหนุ่มของสถานีโทรทัศน์ CIVIC-TV ที่เป็นที่นิยมจากการเผยแพร่ภายนตร์ลามกแนว Softcore (หนังโป๊ที่ไม่โชว์ภาพของสงวนบนจอ) โดยมีสโลแกนชัดเจนว่า "CIVIC-TV, The one you take the bed with you" และในวันหนึ่ง สถานีได้พบสัญญาณกระจายภาพลึกลับ ที่เรียกว่า "วิดิโอโดรม" ส่งเข้ามา โดยเป็นสัญญาณที่กระจายภาพ สนัฟฟิล์ม (Snuff Film) หรือภาพการฆ่ากันอย่างโหดร้ายบนจอ และแทนที่แม็กส์จะปฏิเสธ เขากลับต้องการให้มันมาโผล่อยู่ในรายการรอบดึกของสถานี ..จึงตั้งใจจะตามหาที่มาของ Videodrome มันว่ามันมาจากไหนกันแน่
และนั่นเอง คือจุดเริ่มต้นความสยองขวัญผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นใน Videodrome...
จริงๆหนังก็ถือว่าเก่ามากแล้ว ผมน่าจะเล่าเรื่องราวได้เลยว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นในหนังบ้าง แต่ผมอยากให้ลองไปสัมผัสมันเองจริงๆมากกว่า ถ้ามีโอกาสได้ชม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นใน Videodrome มันยังคงท้าทายต่อการรับชมของคนดูเสมอ หนังไม่ใช่หนังลับสมองต้องใช้หัวคิดในการรับชมอะไร เอาจริงๆผมว่า Videodrome มันก็สื่อสารกับคนดูได้ค่อนข้างชัดเจนในฐานะหนังเรื่องหนึ่ง หนังมีพระเอก มีตัวร้ายที่มาพร้อมแผนการชั่วๆ มีกาารเล่าเรื่องที่ตรงตัวว่าใครทำอะไรที่ไหน เพียงแต่แก่นที่หนังตั้งใจจะสื่อ มันคือการมองสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ให้กลายเป็นภาพจริงๆ ซึ่งอาจจะสร้างความงงงวยให้กับผู้ชมบางคนได้ไม่มากก็น้อย (จริงๆก็ไม่น้อยแหละ เยอะเลย XD)
ถ้าเปรียบเทียบกับหนังสมัยนี้ ผมคงเปรียบได้กับ
It Follows (2014) หรือ
Us (2019) หนังสยองขวัญที่เล่าเรื่องถึง เรื่องราวสยองขวัญแบบที่ก้ำกึ่งระหว่าง รูปธรรม กับ นามธรรม หนังให้เหตุและผลของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ประมาณ 50% จากนั้นก็เติมความเป็นสัญลักษณ์ ตามลงอีกไป 50% จนออกมาเป็นเรื่องเล่าที่อยู่ตรงกลางระหว่างความ real และ surreal
แต่ว่ากันจริงๆ Videodrome ก็ยังจัดว่า เป็นหนังในยุคแรกๆของโครเนนเบิร์ก ที่แสดงถึง พัฒนาการในฐานะการเป็นนักเล่าเรื่องของเขา จากที่เรื่องก่อนๆ งานของโครเนนเบิร์ก จะเป็นงานสยองขวัญแบบเพียวๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ทั้งหนังปลิงมรณะ Shivers (1975),หนังจั๊กกะแร้ดูดเลือด Rabid (1977), หนังเพาะพันธ์สยองโลก The Brood (1979) หรือหนังพลังจิตระเบิดหัว Scanners (1981) ...ที่เมื่อเทียบกับ Videodrome แล้ว นี่คือหนังที่โครเนนเบิร์ก เล่าเรื่องด้วยท่าทีที่สุขุมนุ่มลึกมากขึ้น รู้วิธีที่จะจู่โจมคนดูด้วยการสร้างอารมณ์และบรรยากาศ และเน้นสำรวจมิติของตัวละครอย่างใจเย็น ไม่ได้เน้นเลือดเน้นหนองหนักแบบในงานก่อนๆ (ซึ่งมันส่งผลต่อเนื่องไปถึงงานต่อไปอย่าง The Fly อย่างชัดเจน)
(การดู Videodrome ครั้งแรกของผมนี่คือ รู้สึกว่าหนังมันเล่าเรื่องแบบหน่วงๆเนือยๆจังวุ้ย XD หนังวางเรื่องเอาไว้ให้เราสงสัยอยากรู้ แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นจริงๆซะที จนถึงฉากที่แม็กส์หยิบวิิดิโอเทป แล้วเทปมันเกิด "ดิ้น" ได้นี่แหละ... แทบจะสะดุ้งเฮือก 555 มันคือการเล่นไปกับจังหวะและบรรยากาศจริงๆ)
บทความนี้ไม่ได้มาวิเคราะห์หรือตีความสัญลักษณ์อะไรในหนังนะครับ... แต่อยากจะพูดถึงหนังขึ้นมาในฐานะที่ นี่คือหนึ่งในหนังอีกเรื่องจากยุค 80 ที่สะท้อนเรื่อง "อิทธิพลที่สื่อมีต่อผู้ชม" โดยเฉพาะในด้านของความรุนแรง ว่าจริงๆแล้ว สื่อสามารถที่จะชักจูงหรือครอบงำผู้ชมได้จริงหรือ?... เราเห็นและได้ยินกันมานมนานแล้ว ถึงข้อถกเถียงในหมู่ผู้คน ที่มีต่อการนำเสนอเนื้อหาในรายการทางทีวี หนัง หรือเกม (อย่างหลังนี่ ตัวดีเลย) ว่าหากมันมุ่งเน้นไปในทาง ภาพความรุนแรงอย่างสุดขั้ว หรือเนื้อหาทางเพศที่หนักหน่วงฮาร์ดคอร์ มันจะส่งผลต่อผู้ชม มากน้อยแค่ไหน?
ในโลกความจริง พวกเราก็ยังเถียงเรื่องนี้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่สำหรับ Videodrome หนังสะท้อนภาพอิทธิพลจากสื่อ ในยุค 80 เรื่องนี้ โครเนนเบิร์ก ให้ข้อสรุปตรงนี้อย่างกว้างๆ ว่ามันคือ
"สิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกของมนุษย์อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะต้องการสนองความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องเซ็กส์ หรือเรื่องความรุนแรง และสื่อเหล่านี้คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทั้ง ผู้สร้าง และ ผู้ชม ได้แสดงด้านนี้ของตัวเองไปพร้อมๆกัน มันคือการตอบรับซึ่งกันและกัน ของมนุษย์"
โครเนนเบิร์กเคยอธิบายถึงภาพที่เกิดขึ้นใน Videodrome โทรทัศน์หรือม้วนเทปที่เคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิต มันเป็นเพราะเขามองว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะกลัว เพราะจริงๆแล้ว
"มันเกิดขึ้นมาจากเราเอง" เป็นเหมือน อวัยวะอีกชิ้นที่งอกออกเพิ่ม โครเนนเบิร์กมองว่าเทคโนโลยีเป็นแบบนั้น และสิ่งที่เราควรจะต้องกลัวจริงๆก็คือ เราจะตอบสนองต่อเทคโนโลยีแบบไหน ต่างหาก...
ภาพสยองขวัญที่เกิดใน Videodrome มันเลยเป็นเพียงแค่ภาพฝันร้ายที่สะท้อนออกมาจากสันดานดิบในตัวคนเราเท่านั้น มันไม่ใช่ของจริง แต่การเข่นฆ่า ทำร้าย ก่อความวินาศที่เกิดขึ้นจริงๆ นั่นแหละคือความรุนแรงอันน่าสยดสยองของจริงของสังคมมนุษย์ เหมือนดั่งที่แม็กส์ ไม่อาจละสายตาไปจากภาพการฆ่าอย่างโหดร้ายของวิดีโอโดรมได้ หรือไม่สามารถจะเอาปืนออกจากมือที่กำลังกำแน่นของตัวเองได้
จึงนำมาซึ่งประโยคคลาสสิคของหนังอย่าง
"Long Live The New Flesh (เนื้อหนังใหม่จงเจริญ)"
แล้วมาดูที่ยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวล้ำมาไกลมากนับจากในช่วงยุคที่ Videodrome เข้าฉาย ตอนนี้เราไม่ได้มีแค่ทีวีหรือหนังแล้ว เรามีทั้ง อินเตอร์เน็ต สตรีมมิง VR AR ทุกอย่างที่สนองความต้องการให้กับผู้คน และความรุนแรงในสื่อก็จะมีมากมายหลายเลเวล ตามทางเลือกเหล่านี้เช่นกัน แถมดูจะน่ากลัวกว่าเดิมด้วย เพราะในขณะที่ Videodrome คือการส่งภาพต้องห้ามออกไปทางสัญญาณโทรทัศน์ มอบให้แก่ผู้ชม ...ณ ตอนนี้ ผู้ชมสามารถเลือกที่จะมองหาภาพต้องห้ามเหล่านี้ด้วยตัวเอง
แถมต่อให้ห้ามให้ตายยังไง พวกคุณก็ยังอยากจะเสาะหาวิธีที่จะได้เสพภาพความรุนแรงเหล่านี้ดู ด้วยตัวของคุณเองอยู่ดี ไม่ใช่หรือ? (อย่างที่ซีรีส์แบบ Black Mirror พยายามจะนำเสนอให้เราได้ตระหนักถึงจุดนี้มาหลายครั้ง)
เราจะสนองต่อสันดานดิบของเราแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราเป็นคนเลือกเองนะครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in