เมื่อกล่าวถึงโลกในยุคปัจจุบัน ความเจริญในด้านต่าง ๆ ล้วนพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งการขยายตัวของเมืองต่าง ๆ ในทั่วทุกมุมโลก เป็นที่แน่นอนว่าการขยายตัวของวัตถุและความเจริญในลักษณะก้าวกระโดด เช่นนี้ ในบางโอกาสก็อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างประเทศในหลาย ๆ เรื่อง อย่างเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบและเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น เหล็ก ดีบุก พลูโตเนียม ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังร่วมไปถึงเรื่องการบุกรุกข้ามแดนของประชากร จากรัฐหนึ่งสู่อีกรัฐหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงาน อย่างในกรณีของการอพยพเพื่อหางานใหม่ในประเทศที่มีการพัฒนาและมีอัตราการจ้างงานมากกว่าของประเทศตน ด้วยปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ในบางครั้งได้ก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นกับรัฐต่าง ๆ กระทั่งก่อตัวเป็นสงครามระหว่างรัฐ ด้วยเหตุนี้ในโลกยุคใหม่จึงได้มีการเกิดขึ้นของหน่วยงานระดับโลกต่าง ๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันกรณีพิพาทระหว่างกันที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงอย่างสงครามได้ในอนาคต
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Educational Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในเรื่องของการป้องกันการเกิดสงคราม มุ่งส่งเสริมและสร้างสรรค์ให้มีสันติภาพเกิดขึ้นในโลก แต่อาจจะมีรูปแบบและกลวิธีที่แตกต่างจากหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เคยมีมาบนโลกใบนี้
เนื่องจากยูเนสโกไม่ใช่หน่วยงานที่มุ่งสรรสร้างสันติภาพด้วยการเข้าไปจัดการกับระบบเศรษฐกิจ หรือการใช้กองกำลังติดอาวุธในการรักษาสันติภาพ หากแต่กลไกการทำงานในการรักษาสันติภาพของยูเนสโกนั้น อยู่ในรูปของการให้การศึกษา ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสร้างให้มนุษย์ทุกคนบนโลกตระหนักถึงวัฒนธรรมร่วมที่มีคุณค่าของมนุษยชาติ
ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของหัวข้อรายงานที่ว่า ยูเนสโกปัญหาการจัดการในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและเมืองโบราณนั้นมีปัญหาอย่างไร ข้าพเจ้าใคร่ขอนำเสนอถึงที่มาขององค์การยูเนสโกเสียก่อน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างไร จึงทำให้ข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะศึกษาในหัวข้อดังกล่าว
ยูเนสโก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในทบวงชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งโดยได้มีการลงนามในธรรมนูญขององค์การ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๘ และต่อมาในวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก ยูเนสโก ทั้งสิ้น ๒๐ ประเทศในการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญขององค์การ ซึ่งเริ่มต้นด้วยข้อความที่ว่า
“ส่งคามเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย”
นอกจากนี้ธรรมนูญขององค์การยังได้บ่งชี้เอาไว้ด้วยว่า สันติภาพที่เกิดขึ้นจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่อย่างแท้จริงและยิ่งยืนนานจากประเทศต่าง ๆ ในโลก สันติภาพต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษยชาติ ดังนั้นยูเนสโก จึงมุ่นเน้นการส่งเสริมสันติภาพด้วยการส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติทั้งในด้านของ การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมีโดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษาหรือศาสนา ตามความในกฎบัตรสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ของยูเนสโกตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ได้มีการสำรวจจำนวนประเทศสมาชิกของยูเนสโกว่ามีทั้งสิ้น ๑๙๔ ประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๔๙ ขององค์การยูเนสโก
การดำเนินงานของยูเนสโกนั้น จะปรากฏในรูปของการประชุมสมัยสามัญ ซึ่งมีขึ้นทุก ๒ ปี โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม จำนวน ๕๘ คน ที่เลือกมาจากผู้แทนของประเทศสมาชิก กรรมการจะอยู่ในวาระ ๔ ปี โดยจัดให้มีการเลือกคณะกรรมการใหม่ครึ่งหนึ่งทุก ๒ ปี ในส่วนผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดขององค์การจะมีระยะเวลาการทำงานอยู่ในวาระละ ๖ ปี
ยูเนสโกได้จัดให้มีสำนักงานส่วนภูมิภาคและสำนักงานย่อยประจำพื้นที่ เพื่อให้องค์การสามารถประสานงามกับประเทศสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด แต่ละประเทศสมาชิกจะจัดให้มีสำนักผู้แทนถาวรประจำยูเนสโกและสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกของประเทศนั้น ๆ เพื่อดำเนินงานในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับงานของยูเนสโกโดยเฉพาะ
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การยูเนสโกในลำดับที่ ๔๙ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission UNESCO) เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรของยูเนสโกโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ,ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน ,และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายการต่างประเทศ เป็นเลขาธิการ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้องค์การยูเนสโก จัดตั้ง สำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขึ้นในประเทศไทย และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้มีการจัดตั้ง สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก
สำหรับแนวความคิดในเรื่องของการสถาปนามรดกโลกนั้น มาจากแนวความคิดของยูเนสโกที่ว่า การส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกนั้น ต้องเกิดขึ้นมาจากการวางรากฐานที่อยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้ยูเนสโกจึงได้เลือกใช้วิธีการสถาปนามรดกโลกขึ้นมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสำนึกร่วมกันของมนุษยชาติ โดยอาศัยหลักคิดที่ว่าสมบัติหรือมรดกเหล่านี้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มิใช่เพียงมรดกของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือรัฐใดรัฐหนึ่ง หากแต่เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ
โดยยูเนสโกได้ให้นิยามความหมายของมรดกโลกเอาไว้ว่า “เป็นสถานที่อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ร่วมไปถึงเมืองที่มีความสำคัญ เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งที่มนุษยชาติ หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมาและควรปกป้องสิ่งเหล่านี้เอาไว้เพื่อให้ตกทอดไปถึงอนาคต”
ในปัจจุบัน(เมษายน ๒๕๕๘) มีมรดกโลกทั้งสิ้น ๑๐๐๗ แห่งใน ๑๖๑ ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ๗๗๙ แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ ๑๙๗ แห่งและอีก ๓๑ แห่งเป็นแบบผสมทั้ง ๒ ประเภท โดยประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่มีจำนวนมรดกโลกมากที่สุดคือ ๕๐ แห่ง โดยยูเนสโกได้มีการกำหนดให้มรดกโลกแต่ละแห่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่มรดกโลกตั้งอยู่ แต่มรดกโลกเหล่านั้นได้ถูกพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์มรดกโลกเหล่านั้นให้อยู่สืบต่อไปในภายภาคหน้า ผ่านอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention) ที่ถูกตราขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
แต่ในท้ายที่สุดการดำเนินงานของยูเนสโกก็ได้นำมาซึ่งปัญหาบางประการในเรื่องของการบริหารจัดการบรรดาแหล่งมรดกโลก เนื่องด้วยหัวใจสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าว ได้เน้นไปที่เรื่องของการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถ ในการเข้ามาบูรณะซ่อมแซมมรดกโลกเหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดีและถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง แต่ขาดมาตรการในการป้องกันปัญหาจากกรณีที่มรดกโลกเหล่านั้นได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้มีการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในแหล่งมรดกโลกเหล่านั้นในปริมาณมาก และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาบางประการที่ข้าพเจ้ากำลังจะกล่าวถึงต่อไป
ปัญหาจากการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ดูจะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ที่ส่งผลต่อความเสียหายและความเสื่อมโทรมลงของแหล่งมรดกโลกนั้น ๆ โดยตรง อันเป็นผลมาจากการกระทำของนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การขยายตัวของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบริเวณแหล่งมรดกโลกที่ทำให้มีคนจากต่างถิ่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระทั่งส่งผลให้วิถีชีวิตเดิมของผู้คนบริเวณนั้นถูกทำลายลง และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาความขัดแย้งจากความต้องการในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่แหล่งมรดกโลกนั่นตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ไม่กระจ่างนักในเรื่องของเขตแดนว่ารัฐใดควรมีกรรมสิทธิ์เหนือแหล่งมรดกโลกนั่น ตัวอย่างเช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่เป็นปัญหาในเรื่องของเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่สำคัญในเรื่องของเขตแดน ในพื้นที่ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ฉะนั้นคำถามที่สำคัญคือ การมุ่งรักษาสันติภาพขององค์การยูเนสโก ผ่านสำนึกร่วมกันในการปกป้องมรดกโลกและภูมิปัญญาของมนุษยชาตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นบรรลุผลตรงตามความต้องการขององค์การยูเนสโก ที่ระบุเอาไว้ในธรรมนูญขององค์การหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกเอากรณีตัวอย่างที่เป็นปัญหาจากการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ที่อยู่ในประเทศไทยอย่างนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาว่าเพราะเหตุใดนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาถึงเป็นหนึ่งในความบกพร่องของการทำงานขององค์การยูเนสโกตามความเห็นของข้าพเจ้า นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีคุณสมบัตรตรงกับข้อที่ ๓ ของกฎเกณฑ์คุณค่าของมรดกโลกที่ว่า “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยะธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือที่สาบสูญไปแล้ว”
(นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา)
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในฐานะของทรัพยากรการท่องเที่ยว ทางโบราณสถาน ศิลปะและวัฒนธรรม ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทำให้ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention) โดยอนุสัญญาดังกล่าวพูดถึงแนวทางในการปฏิบัติที่รัฐที่เป็นที่ตั้งของมรดกโลกแหล่งต่าง ๆ ควรจะกระทำและไม่ควรกระทำกิจการใด โดยมิได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือแนวทางการดำเนินงานเอาไว้ โดยอนุสัญญาดังกล่าวได้เปิดช่องให้การดำเนินกิจการต่าง ๆ เป็นไปตามความพึงพอใจของรัฐที่แหล่งมรดกโลกนั้น ๆ ตั้งอยู่
อย่างกรณีของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในการบริหารจัดการนครประวัติศาสตร์ ภายใต้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งก็เป็นการบริหารจัดการภายใต้ พระราชบัญญัติโบราณสถาน เช่น เดียวกันกับโบราณสถานทั่ว ๆ ไปในประเทศไทย ส่งผลให้เมื่อนครประวัติศาสตร์อยุธยาได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลังจากนั้นเป็นต้นมา นครประวัติศาสตร์ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศโดยรัฐบาล ภายใต้เครื่องหมายการค้าอย่างมรดกโลก
การกระทำของรัฐบาลไทยในครั้งนั้นได้ส่งผลให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในนครประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างไม่ขาดสาย และการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวนี่เองที่นำมาซึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนของชาวอยุธยา เนื่องด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณเงินหมุนเวียนในแหล่งท่องเที่ยวมีมากขึ้น กระทั่งส่งผลให้เกิดการดึงดูดผู้ค้าที่เป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จากปริมาณนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น มีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรื่องที่ขัดกับสภาพเดิมของชุมชน และมีการเกิดขึ้นของร้านค้าและร้านสะดวกซื้อ ที่แย่งชิ่งผลประโยชน์เดิมของคนในชุมชน
(สัญลักษณ์มรดกโลก)
แม้ว่านครประวัติศาสตร์อยุธยาจะมีสถานะเป็นเมืองเก่าและเป็นพื้นที่ที่มีการควบคุมสิ่งปลูกสร้างภายในเมืองก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครที่จะสามารถห้ามการพัฒนาและความเจริญของท้องถิ่นได้ เพราะเมืองอยุธยาเป็นรูปแบบของเมืองใหม่ที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ของเมืองเก่า วิถีชีวิตของผู้คนยังคงดำเนินไปในพื้นที่อนุรักษ์นี้ เมื่อมีการประกาศเป็นมรดกโลกทำให้มีประชากรอพยพเข้ามากขึ้นในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดปัญหาการลุกล้ำ การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในพื้นที่ของวัดร้าง การบุกรุกพื้นที่ การทำลายโบราณสถาน เพื่อทำเป็นร้านค้าและที่จอดรถให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้การพัฒนาของถนนหนทางภายในเขตเมือง เพื่อรองรับการคมนาคมที่นักท่องเที่ยวต่างมาเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ ก็ได้ก่อให้เกิดการไล่ที่ของชาวบ้านและการถมคลองเพื่อนำมาขยายถนนให้สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นได้
เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ร้านค้าก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย และสิ่งที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวและร้านค้าก็คือ ปริมาณขยะในพื้นที่บริเวณนครประวัติศาสตร์ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กระทั่งกลายมาเป็นปัญหาสำคัญของแหล่งมรดกโลกดังกล่าว ที่สถานที่ในการจัดเก็บอย่างถังขยะมีไม่เพียงพอและงบประมาณในการนำขยะไปกำจัดก็มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ในบริเวณของนครประวัติศาสตร์อยุธยามีเศษซากของขยะมูลฝอยที่ไม่สามารถกำจัดได้หมด หลงเหลืออยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าภาวะมลทัศน์ในพื้นที่ของแหล่งมรดกโลก นำมาสู่การส่งสัญญาณเตือนจางองค์การยูเนสโก ว่านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของมรดกโลกที่มีความเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลก
ด้วยการส่งสัญญาณเตือนขององค์การยูเนสโก ได้กระตุ้นให้รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นการด่วน โดยเริ่มจากการประกาศเขตควบคุมพิเศษ ในกฎหมายผังเมืองอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยกำหนดให้ห้ามมิให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ขัดกับทัศนียภาพของเมืองเก่าภายในพื้นที่โดยรอบเกาะเมือง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ากว่าที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะทั้งอาคารพาณิชย์และหมู่บ้านจัดสรร ได้ถูกจับจองพื้นที่ติดกับรั้วของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาก่อนหน้าการประกาศกฎหมายผังเมืองเป็นที่เรียบร้อย
จากกรณีของเมืองเก่าอยุธยาที่ข้าพเจ้าหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าภายใต้ความต้องการในการรักษามรดกโลกของยูเนสโกนั้น ในบางครั้งอาจส่งผลเสียที่อยู่นอกเหนือการคาดการของยูเนสโกเอง
อย่างในกรณีของนครประวัติศาสตร์อยุธยา นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังอยากชี้ชวนให้เห็นถึงข้อบกพร่องจุดสำคัญของการทำงานขององค์การยูเนสโก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างมาตรการควบคุมที่สามารถมีผลให้กับประเทศที่มีมรดกโลกอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ลงมือทำอย่างแท้จริง มิใช่เพียงเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่าง“อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก”หรือเพียงแค่การให้เงินช่วยเหลือ หรือให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการเข้าไปบูรณะมรดกโลกแต่เพียงเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าองค์การยูเนสโกเองควรที่จะมีการกำหนดขั้นตอนและมาตรการการดำเนินงานที่เป็นแบบแผนให้กับแหล่งมรดกโลกนั้น ๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยมิใช่เป็นเพียงข้อแนะนำให้กระทำเท่านั้น
หากองค์การยูเนสโกไม่รีบดำเนินการแก้ไขในกรณีปัญหาดังกล่าว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าต้องมีแหล่งมรดกโลกอีกหลายแห่งที่ต้องพบเจอชะตากรรมเดียวกันกับนครประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นแน่ โดยดูได้จากตัวเลขของแหล่งมรดกโลกที่ถูกเตือนจากยูเนสโก ว่ามีสิทธิ์ที่จะถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเมื่อเข้าไปศึกษาข้อมูลของปัญหาที่ส่งผลให้แหล่งมรดกโลกเหล่านั้นจะถูกถอดถอน ข้าพเจ้าก็พบจุดที่มีความคล้ายคลึงกันของแหล่งมรดกโลกหลายแห่งด้วยกัน อย่างน้อย ๓ ประการดังนี้
1. ปัญหาในเรื่องของการขยายตัวของเมืองและประชากรแฝง
2. การเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยว ที่เกินความสามารถในการรองรับของพื้นที่
3. ปัญหาเรื่องของภาวะมลทัศน์
ด้วยเหตุนี้หากองค์การยูเนสโกยังคงยึดมั่นตามธรรมนูญขององค์การที่ว่า “สงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมความหวงแหนสันติภาพ ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ด้วย” ผ่านรูปแบบของสันติภาพที่จะต้องวางอยู่บนรากฐานของความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษยชาติ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่า องค์การยูเนสโกควรมีมาตรการในการกำหนดการจัดการแหล่งมรดกโลกในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก ให้มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของระเบียบปฏิบัติในการเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้อารยะธรรมภูมิปัญญาของมนุษยชาติ และระเบียบปฏิบัติในการบริการจัดการเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองโดยรอบ อีกทั้งปริมาณของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต มิเช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าองค์การยูเนสโก (UNESCO) อาจกลายเป็นผู้ร้ายที่ทำลายแหล่งอารยะธรรมและภูมิปัญญาของมนุษยชาติเสียเอง
ที่มา : จากบทความของผู้เขียนเองเรื่อง "ยูเนสโก UNESCO ปัญหาการจัดการในการขึ้นทะเบียนมาดกโลก และเมืองโบราณกรณีศึกษา นครประวัติศาสตร์อยุธยา" ในรายวิชา ร.290 องค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in