"ทวิภพ" นวนิยายชื่อดังของทมยันตี หรือนามจริง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เล่าถึงเรื่องราวของ
เมณี่ หรือ
มณีจันทร์ ลูกสาวทูตหัวสมัยใหม่ที่ย้อนเวลา 93 ปี ไปอยู่ในสมัยร.ศ.112 ซึ่งชาติตะวันตกกำลังล่าอาณานิคมและไทยเป็นหนึ่งในผู้ถูกล่า ในทวิภพ มณีจันทร์ค่อยๆ ซึมซับและซาบซึ้งใน “ความเป็นไทย” ทั้งในแง่ของความสามารถของคนโบราณที่นำพาชาติผ่านช่วงวิกฤตได้ และในแง่สังคมที่สงบ ร่มเย็น เต็มไปด้วยความฉ่ำชื่นในหัวใจ ต่างกับโลกปัจจุบันที่สับสนวุ่นวาย
ตลอดทั้งเรื่อง เราเห็นความพยายามของผู้แต่งในการสร้างสำนึกความเป็นชาติผ่านกลวิธีต่างๆ ที่แยบยลและตะล่อมให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มกับความงามสมัยก่อน แต่มีฉากหนึ่งที่สะดุดตาคือ ฉากที่มณีจันทร์เจอหนังสือ “เสียดินแดนให้ฝรั่งเศส” โดยไม่ตั้งใจ ในห้องหนังสือที่บ้านตนเอง (น.431) ประกอบกับการบรรยายว่าถึงเวลาของมณีแล้วที่จะได้รับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เธออ่านและจดจำเนื้อหาได้อย่างรวดเร็วผิดปกติ นอกจากนี้ เธอยังเกิดความรักและหวงแหนในชาติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะรู้สึกว่าความรับผิดชอบต่อชาติตกอยู่ในมือเธอแล้ว สังเกตจากเสียงในความคิดที่ว่า
“ทวิภพจะทำให้เธอพินาศหรือไม่ ช่าง!
สยามประเทศต้องอยู่ อยู่อย่างดีที่สุดด้วย!”
เราเกิดความรู้สึกเชิงลบกับฉากนี้ เพราะรู้สึกว่าผู้แต่งดูจงใจให้ทุกอย่างลงตัวไปเสียหมด เพื่อหนุนให้เรื่องดำเนินไปข้างหน้า และจุดประกายความรักชาติในตัวเมณี่อย่างฉับพลัน ผู้แต่งใช้พื้นที่หนังสือร้อยกว่าหน้าให้เมณี่ตามหาหลักฐานเกี่ยวกับการเสียดินแดน แล้วจู่ๆ มันก็ร่วงลงมาบนตักของเธออย่างง่ายดาย ในสถานที่ที่เธอคุ้นเคยเป็นอย่างดี และจากคนที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของไทย กลายมาเป็นคนที่จดจำตำราเล่มโตได้ขึ้นใจ
ผู้แต่งให้เหตุผลกับความลงตัวนี้ว่าเป็นเพราะ “เวลา” มาถึงแล้ว เป็นการยืนยันถึงโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาแล้วว่ามณีจันทร์จะต้องมีส่วนในการเจรจาแย่งชิงดินแดน เพราะเธอเป็นผู้ถูกเลือกและต้องทำประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์ ผู้อ่านที่มีความเชื่อเรื่องบุญกรรมอาจไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับฉากนี้ เพราะจะเข้าใจและจำนนต่อสิ่งที่ “ใครบางคน” ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ลิขิตไว้
ความรู้สึกลบต่อฉากดังกล่าว ส่งเสริมให้อ่านเรื่องนี้อย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น ไม่ได้คล้อยตามไปกับความงามที่ผู้แต่งบรรยายเกี่ยวกับโลกในสมัย รศ.112 แต่ทำให้ยิ่งเห็นการเจตนาที่ชัดแจ้งในประกอบสร้างความเป็นไทย
อย่างไรก็ตาม หากไม่นับฉากดังกล่าว ตลอดทั้งเรื่องผู้แต่งมีวิธีที่การสร้างความรักและภาคภูมิใจในชาติที่น่าสนใจ โดยสร้างความประทับใจผ่านผัสสะทั้ง 5 ของมณีจันทร์ ดังต่อไปนี้
เสียงเป็นสัญญาณสำคัญในการเดินทางข้ามภพ ทุกครั้งที่เมณี่ได้ยินเสียงกรุ๋งกริ๋งในหัว หมายความว่าประตูมิติเปิดให้เธอแล้ว ในช่วงต้นยังมีเสียงเพลงจากวงมโหรีที่เมณี่รู้สึกเหมือนเคยได้ยินมาก่อนและจดจำเนื้อร้องได้อย่างน่าประหลาด และในช่วงท้ายเรื่องมณีจันทร์รู้สึกหลงใหลกับเสียงพูดจ๊ะจ๋าของคุณหลวง ที่อ่อนหวานและอ่อนโยนอย่างไม่มีผู้ใดในยุคปัจจุบันเหมือน
เมณี่ได้กลิ่นหอมหวานของดอกไม้ที่เธอมั่นใจว่าไม่ได้มาจากน้ำยาปรับอากาศ จนข้ามภพไปจึงทราบว่าเป็นกลิ่นดอกจันทน์กะพ้อ นอกจากความหอมที่พบในธรรมชาติแล้ว ยังมีกลิ่นอบควันเทียนที่ใช้ในการอบผ้าและอาหาร ทำให้เธอยามว่าโลกนี้เป็น “โลกสงบ ร่มเย็น แล้วยังหอม” (น.379)
โลกที่มณีจันทร์ได้เข้าไปเรียนรู้มีแต่ความสวยงามน่ามอง ทั้งลำน้ำเจ้าพระยาในอดีตที่ไหลเอื่อย ทิวทัศน์มีต้นไม้เรียงราย ไม่มีคนอยู่อย่างแออัดวุ่นวาย คุณหลวงเองก็มีความงามด้วยดวงหน้าคมสัน ดวงตานุ่มนวล รูปร่างกำลังดี และในตอนที่ปากคุณหลวงเป็นสีแดงจากการกินหมาก ผู้แต่งยังยกบทชมโฉมวิหยาสะกำขึ้นมาอธิบายรูปลักษณ์ของคุณหลวงอีกด้วย
สัมผัสที่น่าพึงใจเป็นอีกสิ่งที่พบได้ในโลกโบราณ สังเกตว่าเมณี่มักจะอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนอบอ้าว มีการบรรยายถึงลมเย็นที่พัดผ่าน รวมถึงสัมผัสจากคนในเรือนที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและคุ้นเคย
เมณี่กินอาหารได้มากขึ้นเมื่อมาอยู่ในบ้านคุณหลวง เธอเริ่มหันมากินข้าวเช้า และแทบจะไม่ได้หิวเลยในแต่ละวัน เพราะมีสำรับอาหารแปลกตาหลากหลายแบบให้ได้ลองทุกมื้อ รสชาติของอาหารไทยโบราณอย่างยำญวนยังเป็นที่ถูกใจเมณี่จนลืมอิ่ม
การประกอบสร้างความเป็นไทยดังกล่าว ได้แทรกซึมไปในวิถีชีวิตประจำวันของมณีจันทร์ ที่ผู้แต่งบรรยายไว้อย่างละเอียดและกินพื้นที่หนังสือจำนวนมาก มากกว่าเรื่องการเมืองในสมัยนั้นเสียอีก เพราะการพยายามจะถ่ายทอดความคิดหรืออุดมการณ์หนึ่ง จะประสบความสำเร็จมากกว่าเมื่อทำให้ผู้รับสาร “รู้สึก” ไปกับชุดความคิดนั้นๆ การพรรณนาถึงอาหารบนโตก สีเสื้อผ้าในแต่ละวัน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกลิ่นหอมของพืชพรรณนานาชนิด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะให้คุณค่าในมิติด้านอารมณ์แล้ว ยังขับเน้นความเก่งกาจของคนโบราณที่คิดสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่งดงาม มีเอกลักษณ์ และมี “ความเป็นไทย” ที่เราควรจะภาคภูมิใจและรักษาไว้
แม้ว่าความเป็นไทยที่ถูกนำเสนอจะงดงามเพียงใด แต่ก็เป็นเพียงมิติแคบๆ มิติเดียวของสังคมไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เมณี่ได้เข้าไปสัมผัสเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นสูง ตัวเธอเองได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับนายของบ้าน หากมองให้กว้างออกไปจากโลกที่หอมและสงบร่มเย็นของมณีจันทร์ ยังมีชีวิตของบ่าวไพร่ ทาส และคนอื่นอีกมากในสังคมที่ช่องว่างระหว่างชนชั้นยังทำพิษกับพวกเขา นอกจากนี้ ยังมีหน้าอื่นของประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ไทยถูกเอาเปรียบ และบรรพบุรุษทำเต็มที่แล้วเพื่อรักษาเอกราชไว้ แต่เราจะเห็นมิติอื่นได้ก็ต่อเมื่อเพ่งมองผ่านไอหมอกแห่งความเป็นไทยที่ผู้แต่งประกอบสร้างขึ้นเสียก่อน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in