หนังสือ
In Buddha’s Company: Thai Soldiers in the Vietnam War โดย Richard A. Ruth เล่าถึงประสบการณ์ของทหารชาวไทยที่ร่วมรบในสงครามเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงทัศนคติ แรงจูงใจ และอิทธิพลของศาสนาประจำชาติที่ทำให้พวกเขาเรียกตัวเองว่า “นักรบชาวพุทธ” (Buddhist Warrior) หนังสือเล่มนี้ต่อยอดมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนและเป็นหนังสือเล่มแรกที่ศึกษาการเข้าร่วมรบของไทยในสงครามเวียดนามอย่างจริงจัง
ทหารอาสา: วีรบรุษตัวจริง?
ช่วงปี พ.ศ. 2508 - 2515 ไทยส่งทหารไปรบที่เวียดนามใต้ทั้งหมด 37,644 นาย โดยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทหารจากความร่วมมือของนานาชาติที่เรียกว่า Free World Military Assistance Forces เพื่อโจมตีแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ หรือ เวียดกง ที่ได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือ และกองทัพประชาชนเวียดนาม
พลทหารอาสาที่ไปร่วมรบ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาติไทยสมัยใหม่ในยุคการต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีภาพลักษณ์เป็นชายในอุดมคติ คือเป็นนักรบมือดี กล้าหาญ รักชาติ และเสียสละ รวมถึงเป็นภาพแทนของความเป็นคนดีโดยเนื้อแท้แบบไทย
จากการสัมภาษณ์ทหารผ่านศึกพบว่า แรงจูงใจของการสมัครมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ความต้องการปกป้องประเทศจากคอมมิวนิสต์ การได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่นอกบ้านเกิด อยากหลีกหนีจากปัญหาส่วนตัว ปรารถนาเกียรติยศชื่อเสียง ฯลฯ แต่หนึ่งในแรงจูงใจที่น่าสนใจคือ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ละผ้าเหลือง ผดุงอุดมการณ์
การเกฑณ์ทหารอาสาวันแรก มีชายฉกรรจ์มาสมัครเกือบ 5,000 คน ในจำนวนนั้นมีพระกว่า 20 รูป มาสมัครเป็นทหารอาสา โดยบุญเลิศ บุญนารักษ์ หนึ่งในพระสงฆ์กล่าวว่า เขาต้องยอมสละผ้าเหลืองเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ถือเป็นการรับใช้ทั้งประเทศชาติและศาสนาไปพร้อมกัน
ในช่วงแรกของการรับสมัครทหารอาสา สมเด็จพระวันรัต ผู้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในตอนนั้น ออกมาประกาศว่าถ้าพระรูปใดจะไปเกณฑ์ทหาร ต้องลาขาดจากการเป็นภิกษุเสียก่อน เพราะตามการตีความคำสอนของมหาเถรสมาคม การรับใช้กองทัพโดยยังอยู่ในผ้าเหลืองเป็นการละเมิดพระวินัย ในขณะที่กรมการศาสนามองว่า การละทิ้งสมณเพศไปร่วมกับกองกำลังทหาร "ขัดแย้งกับธรรมเนียมของพุทธศาสนา" และ "อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้"
สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์ชั้นสูงแสดงความไม่สบายใจกับเหตุการณ์นี้ แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้พระไปเกณฑ์ทหาร และยังอวยพรให้เหล่าทหารมีชัย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2510 เมื่อพระสงฆ์ออกมาเข้าร่วมกองทัพจำนวนมากขึ้น ก็ไม่พบหลักฐานของความไม่สบายใจหรือการโต้เถียงในหมู่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่อีก
กองทัพชาวพุทธ
เหล่าทหารมารวมตัวกันที่กองทัพไทย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปเวียดนามใต้ และไปที่วัดไชยชุมพลเพื่อรับพระเครื่อง จากนั้นเข้าร่วมพิธีเทิดเกียรติอำลาที่สนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการจัดพิธีหลวงและพิธีทางศาสนาอยู่บ่อยครั้ง ในงานมีการเดินขบวนเพื่อทำความเคารพเหล่าผู้บังคับบัญชา สมเด็จพระสังฆราชมาประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล มีเครื่องบินโปรยกลีบดอกไม้และข้าวตอก ถือว่าเป็นพิธีที่เชื่อมโยงศาสนากับทหารเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ราวกับว่าเป็นความตั้งใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอบความหวังแห่งชัยชนะให้กับกองทัพ
จากนั้นเดินต่อไปที่วัดพระแก้วที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรางวัลจากสงคราม การเลือกสถานที่นี้มีนัยยะสร้างแรงผลักดันให้ทหารมุ่งมั่นทุ่มเทแก่ประเทศไทย เพราะทหารต้องกล่าวคำปฏิญาณว่าจะสละชีพเพื่อชาติ แลกกับการคุ้มครองของพระแก้วมรกต และเชื่อกันว่าหากไม่ทำตามที่ปฏิญาณไว้จะถูกหักคอ
ระหว่างการดื่มน้ำมนต์ รับศีลรับพร รวมไปถึงรับเครื่องรางในวัดพระแก้ว กลุ่มทหารที่นับถือศาสนาอื่นต้องรอกันอยู่ข้างนอก พวกเขาไม่ได้ไปสุเหร่า โบสถ์ หรือศาสนาสถานตามความศรัทธาของตน สิ่งนี้สะท้อนว่า แม้รัฐไทยจะรับรู้การมีอยู่ของศาสนาอื่น แต่ไม่ให้พื้นที่กับผู้นับถือศาสนานั้น ๆ เท่ากับศาสนาพุทธ กองทัพของไทยที่ส่งไปเวียดนามครั้งนี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นกองทัพชาวพุทธอย่างแท้จริง และสำหรับทหารชาวพุทธ การมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต
ความพร่าเลือนระหว่างเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของศาสนาพุทธที่สามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อกิจทางโลกของชาติได้ และอำนาจนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้เด่นชัดในวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จากกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารจตุรัส ในปี พ.ศ. 2519 ว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป เพราะทำไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ คำพูดนี้สะท้อนการใช้ประโยชน์ความศรัทธาของคน และชี้นำให้ใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
อ่านตัวเราจากมุมคนนอก
ตลอดการเล่าเรื่อง ผู้เขียนแทรกคำพูดจากคนในเหตุการณ์จริง ทำให้เป็นงานเขียนวิชาการที่ดูมีชีวิต การบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและศาสนาพุทธแบบไทยจากมุมมองของชาวต่างชาติ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของประเทศเราอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ภาพที่ผู้นำของชาติพยายามสร้างขึ้นเพื่อปกปิดความเลวร้ายของตน และการเล่าแง่มุมที่ถูกลืมนี้ยังเผยให้เห็นความสัมพันธ์ของกองทัพกับพุทธศาสนาไทยที่เกื้อหนุนกันมาตลอด
เกี่ยวกับผู้เขียน : Richard A. Ruth จบปริญญาโทสาขาเอเชียศึกษา และปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ United States Naval Academy “In Buddha’s Company: Thai Soldiers in the Vietnam War” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2555 สำนักพิมพ์ Silkworm Books (เชียงใหม่)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in