________________
Writer-talk
สวัสดีผู้อ่านทุกคนนะคะ ก่อนอื่นเราอยากจะบอกว่า เนื้อหาที่กำลังจะได้อ่านมาจากประสบการณ์และมุมมองต่อเมืองที่มาจากพื้นฐานความรู้ของเราในด้าน Urban Planning และการที่เราเขียนบทความนี้ขึ้นมา เรามีเจตนาที่ดีและต้องการจะเห็นการพัฒนาจริงๆเกิดขึ้นกับประเทศไทยค่ะ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าประเทศไทยกำลังหยุดพัฒนา หยุดก้าวไปข้างหน้า และกำลังจะเดินไปอย่างไร้ทิศทาง เราจึงตั้งคำถามกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ทุกคนได้ลองย้อนกลับมาคิด และช่วยกันนำพาประเทศเดินต่อไปในทางที่ควรจะเดิน ดังนั้นแล้วอยากให้ทุกคนเปิดใจลองอ่านดู และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากทุกคนช่วยกันเสนอความคิดเห็น หรือเล่าประสบการณ์ หรือตั้งคำถาม ไม่ว่าจะติหรือชมก็พร้อมรับฟังค่ะ...
________________
มาเข้าเรื่องกันเลยค่ะ...
ย้อนกลับไปที่คำโปรยข้างบน สำหรับบางคนมันอาจจะฟังดูงงๆ อาจจะไม่เข้าใจว่าเมืองไทยไม่พัฒนายังไงหรือ ทุกวันนี้เรามีรถไฟฟ้าใช้แล้วนะ มีห้างขนาดใหญ่ มีแลนด์มาร์คมากมายเช่นสนามฟุตบอล รูปปั้น ทางเดินสวยๆ คาเฟ่เก๋ๆ ที่เที่ยวสไตล์ยุโรป ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนมากมาย เรากำลังพัฒนาอยู่ไม่ใช่หรือ?
มันก็จริงอยู่ค่ะ... แต่ในมุมมองของเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนและใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้งจังหวัดบ้านเกิดและกรุงเทพอยู่เสมอ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือความเปลี่ยนแปลงที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น"ความเจริญ" ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพ และเฉพาะบางโซนที่อยู่ใจกลางเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่นเราได้มีโอกาสใช้รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน สายใหม่ๆ ทุกวันนี้เรานั่งรถไฟฟ้าไปลาดพร้าว ไปเตาปูนได้ ไปเยาวราชก็ง่ายขึ้นมากเพราะเรามีรถไฟใต้ดินที่ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ทางยกระดับใหม่ๆยังคงถูกก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง รูปแบบอาคารพาณิชยกรรมในเมืองก็เปลี่ยนไปเป็นห้างสรรพสินค้าและออฟฟิศ เรามีห้างสรรพสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใหญ่ระดับเอเชีย มี Apple store ที่พอจะสู้ประเทศอื่นๆได้ โซนสยามค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นอาคารติดแอร์ มีสยามพารากอนและสกายวอร์คที่เดินเชื่อมไปถึงประตูน้ำได้ ส่วนบ้านก็ถูกแทนที่ด้วยตึกคอนโดที่สูงขึ้น ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไม่ใช่ใบหยก1หรือ2 อีกแล้ว แต่เป็นมหานครทาวเวอร์
ตัดภาพมาที่โซนพื้นที่รอบๆกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ชายขอบ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า outskirt, periurban, suburban) เป็นพื้นที่ที่ถัดออกมาจากโซนใจกลางเมืองความหนาแน่นสูง หากขับรถออกไปตามถนนมอเตอร์เวย์เราจะเห็นความแตกต่างของ skyline หรือความสูงอาคารอย่างชัดเจน อาคารในโซนเหล่านี้ค่อยๆลดระดับความสูงลงเรื่อยๆ ภาพตึกสวยๆที่ใช้วัสดุหรูหราตกแต่งแทบจะไม่มีให้เห็นเมื่อรถเริ่มออกห่างจากพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือระหว่างทางไปสุวรรณภูมิเรายังคงเห็นภาพของทุ่งนาสลับกับโครงการบ้านจัดสรรล้อมรั้วมากมาย ที่เข้าถึงได้ด้วยถนนใหญ่ ถ้าหากไม่มีรถยนต์ การที่คนในละแวกบ้านแบบนี้จะเดินทางมายังใจกลางเมืองกลายเป็นเรื่องยากพอๆกับคนต่างจังหวัดเดินทางไปกรุงเทพฯ สำหรับบางคน การจะออกมายังหน้าปากซอยเพื่อซื้อของในร้านสะดวกซื้อ หรือซื้ออาหาร ไม่สามารถทำได้ด้วยการเดิน เพื่อนๆหลายๆคนรู้สึกว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ยากจะไปถึงเหลือเกิน ดังนั้นจึงมาเช่าหอพักหรือคอนโดที่อยู่ใกล้สถานศึกษา แทนที่จะเลือกเดินทางจากบ้านมามหาลัยทุกๆวัน
สิ่งเหล่านี้ สำหรับเราไม่ใช่การพัฒนา แต่เป็น "ความเปลี่ยนแปลง" มากกว่าคำว่าพัฒนา เป็นความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาที่หมุนไปตามโลกาภิวัฒน์และเศรษฐกิจโลก ถ้าจับความหมายหรือ sense ของคำดีๆ สองคำนี้มันต่างกันนะ คำว่าเปลี่ยนแปลง บอกถึงสภาพแวดล้อม ทั้งมิติกายภาพและเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เหมือนเดิม แต่คำว่าพัฒนามันควรให้ความรู้สึกของความตั้งใจและกระบวนการในการดำเนินการ ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการลงมือทำที่มีการคำนึงถึงคนที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนานั้นด้วย และที่สำคัญมันต้องแก้ปัญหาของเมืองได้จริง
________________
เพื่อให้เห็นภาพ...
เราอยากให้ทุกคนลองย้อนกลับไปมองอีกครั้งว่าปัญหาของเมืองได้ถูกแก้ไขบ้างหรือยัง คนกรุงเทพฯยังคงต้องเผชิญกับปัญหารถติดอยู่ รถเมล์ไทยก็เช่นกัน ยังคงเป็นรุ่นเดิมที่ทาสีใหม่ เครื่องยนต์เก่าๆก็ปล่อยมลพิษเต็มถนนไปหมด ในขณะที่ป้ายรถเมล์ก็ยังไม่สามารถบอกเวลารอรถได้ ในส่วนของรถไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงว่าใครได้ใช้บ้าง นอกจากจะมีแค่ในกรุงเทพ ค่าโดยสารยังแพงหูฉี่ กีดกันผู้ใช้งานที่รายได้น้อยไปโดยปริยาย ยิ่งเวลาฝนตก ปัญหาการจราจรที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วดูยิ่งใหญ่มากๆขึ้นมาทันที เหลือเชื่อว่าเราจะยังเห็นน้ำท่วมกรุงเทพฯอยู่บ่อยครั้งในศตวรรษที่20
นอกจากนี้ถึงแม้กรุงเทพฯจะมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆระดับโลก แต่นี่ก็ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่แท้จริง เพราะเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมเราไม่มีห้องสมุดดีๆ City hall (ศาลาว่าการเมืองหรือศาลากลางจังหวัดนั่นแหละ) ที่คนสามารถใช้พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้และมีสถาปัตยกรรมสวยงามเป็นหน้าตาให้กับเมือง เราเห็นคาเฟ่เก๋ๆที่ผุดขึ้นมากมาย แต่ก็บ่งบอกได้เพียงแค่เทรนด์ในกระแสการบริโภคนิยม แต่ไม่สามารถใช้เป็นชี้วัดความเจริญเศรษฐกิจใดๆ
ส่วนชีวิตคนต่างจังหวัดมีอะไรที่ถูกยกระดับบ้าง ปัญหาที่ถูกปล่อยปะละเลยมานานอาจทำให้หลายคนชินกับสภาพความไม่เจริญที่เป็นอยู่ แต่ทุกคนควรเข้าใจว่าชีวิตของเราสามารถดีกว่านี้ได้ เราจะยกตัวอย่างปัญหาเดิมๆให้ฟังอีกครั้ง เริ่มจากการเดินทางข้ามจังหวัดยังคงทำได้ยาก รถไฟไทยยังคงเป็นรุ่นเดียวกับเมื่อครั้งแรกที่เราเริ่มมีรถไฟใช้ แถมยังคงดีเลย์เหมือนเดิม เรายังไม่มีรถไฟเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านเลย ทั้งๆที่ประเทศเราไม่ได้เป็นเกาะ หลายๆจังหวัดยังไม่มีขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมไปถึงต่างอำเภอ มีเพียงแค่ถนนตัดใหม่หรือบายพาส ที่บ่งบอกความเจริญ แต่ทำไมเราต้องเสี่ยงชีวิตนั่งรถแดงขึ้นดอย ทำไมต้องเช่ารถขับเมื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำไมเราไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยคอยให้บริการ
นอกจากนี้ปัญหาพื้นฐานในพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงไม่ได้ถูกแก้ไข(หรือตั้งใจละเลยก็ไม่รู้) ยังคงมีพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ไฟดับบ่อย น้ำประปาไม่ไหลหรือเข้าไม่ถึง การชลประทานขาดแคลน ทำให้เกิดน้ำแล้ง ส่วนของระบบระบายน้ำก็ล้มเหลวเพราะตัดถนนบายพาสสูงเกินไปทำให้น้ำท่วมชุมชนเดิม สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสนามกีฬาเทศบาลนอกจากทาสีอาคารกับพื้นใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม ทุกวันนี้สระว่ายน้ำเทศบาลยังมีคนเสียชีวิตหรือเปล่า เราควรมีลานที่ดีกว่าลานอเนกประสงค์พื้นคอนกรีตไหม ควรมีการปรับปรุงดีไซน์ให้คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศหรือเปล่า เช่นลานสเกตบอร์ต ลู่วิ่งดีๆ ลานแอโรบิคในที่ร่ม สนามฟุตบอลในภาคอีสานมีประโยชน์ต่อชุมชนรอบข้างยังไง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนภาคใต้อย่างไร พื้นที่สวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหรือเป็นแหล่งมั่วสุมกันแน่
ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือทำไมเราถึงไม่ภูมิใจที่ยกระดับที่เที่ยวสไตล์ไทยๆ ทำไมไม่นำความเป็นไทยไปเป็นจุดขาย ยกตัวอย่างเช่นทำไมต้องสร้างชองเกยชอนไทยแลนด์ กุ้ยหลินไทยแลนด์ ทัสคานี่ไทยแลนด์ หรือชมซากุระไทยแลนด์ ทำไมไม่เป็นย้อนรอยเดินเล่นริมน้ำคลองผดุงฯ ไปชมน้ำสีมรกตที่เขื่อนรัชประภา เขาใหญ่ในม่านหมอก และไปชมดอกชมพูพันทิปในฤดูหนาวที่เชียงใหม่ นอกจากการที่ยังขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานในต่างจังหวัด ค่านิยมการท่องเที่ยวแบบนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า "ต่างจังหวัดยังคงถูกมองว่าเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในกรุงเทพฯเท่านั้น"
_______________
ใครได้ประโยชน์จากภาษีที่จ่ายไปบ้าง?
ในขณะที่ประชากรทั้งประเทศต้องเสียภาษี แต่สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวมไม่ได้ถูกยกระดับทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน ทุกวันนี้เรายังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่เมืองควรมี นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน หรือ basic infrastructures" และ"การบริการสาธารณะ public services" โดยเฉพาะ"พื้นที่สาธารณะ หรือ public space" ทั้งพื้นที่ทางกายภาพจริงๆและพื้นที่ทางความคิด ที่ส่งเสริมการกิจกรรมต่างๆในการใช้ชีวิตประจำวันและส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนที่มีอยู่น้อยนิดก็ยังคงไม่ตอบโจทย์การใช้งานของส่วนรวมได้จริง จะพูดว่าเราไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือพื้นที่ที่เป็นของส่วนรวมอย่างแท้จริงก็ว่าได้
ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่จริงๆไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาแน่ๆ อาจจะไม่ได้ถึงกับด้อยพัฒนา และเรียกได้ไม่เต็มปากว่ากำลังพัฒนาอยู่ "เราเป็นประเทศที่กำลังหยุดพัฒนา" และกำลังรอคอยความหวังใหม่ๆ ความหวังที่ไม่ใช่แค่นำพาประเทศให้กลับมาพัฒนาอย่างจริงจัง แต่ต้องนำพาประเทศวิ่งออกไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและไม่สะดุด...
_______________
ความหวังที่ว่าคืออะไร?
เราคิดว่าทุกคนคงมีคำตอบหนึ่งในใจแน่ๆอยู่แล้ว แต่นอกจากคำตอบนั้น เราขออนุญาตอยากเสนอแนะอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่จะช่วยไกด์และเติมเต็มเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้ นั่นคือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องย้อนกลับมาพิจารณาที่วิสัยทัศน์ประเทศกันใหม่อีกครั้ง เราต้องการประเทศที่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2561-2580 จริงหรือ? และเราต้องใช้เวลาถึง 20ปีเพื่อสร้างความมั่นคงทางทหาร ทั้งๆที่โลกกำลังทำสงครามกับไวรัสและเทคโนโลยี สร้างความมั่งคั่งจากการแจกเงินที่ไม่นับว่าเป็นการกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนด้วยการทำเกษตรแบบ3ต่อ4 ในขณะที่ประเทศอื่นเริ่มนำนวัตกรรม Urban farming มาใช้ได้อย่างไร
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลืมตามาดูว่าโลกมันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ลองมองดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างก็ได้ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมวิสัยทัศน์ถึงสำคัญ และแค่วิสัยทัศน์ไม่กี่คำที่แตกต่างกัน ก็บ่งบอกได้ถึงทิศทางของประเทศ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ทที่จะเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งทางเทคโนโลยี หรือ the world’s first Smart Nation ซึ่งเป็นขั้นกว่าของแนวคิด smart city ด้วยการพยายามนำเทคโนโลยีดิจิตอล AI และ Big data มาใช้กับพัฒนาประเทศในทุกด้าน เช่นยกระดับความรู้ความสามารถของประชากรด้วยการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและwifi สาธารณะ (ในขณะที่บ้านเราบางครัวเรือนยังไม่มีไฟฟ้าใช้) หรือยกระดับเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุน tech industry และพร้อม support ธุรกิจ start-up สำหรับคนที่มีไอเดียแต่ไม่มีทุน สำหรับเด็กๆก็ไม่ต้องห่วงเรื่องอนาคตเพราะมีโอกาสมากขึ้นด้วยการส่งเสริม skill tech talent เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่เราขาดไปในวิสัยทัศน์ คือทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน และการจับต้องได้จริง... แล้วประเทศไทยของเราล่ะ กำลังเดินไปในทิศทางไหน หากย้อนกลับไปอ่านคำโปรยอีกครั้ง อาจจะคิดเหมือนกันแล้วก็ได้ว่าประเทศเราไม่ได้กำลังพัฒนาในแบบที่ประเทศกำลังพัฒนาควรจะเป็น...
สุดท้ายอยากจะขอขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ และขอบอกอีกครั้งว่าเรายินดีรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างยิ่ง และถ้ามีโอกาส บทความต่อไปเราอยากจะแชร์ความคิดเห็นในด้านอื่นๆของการวางแผนและผังเมืองของประเทศและอยากฝากคำถามนี้ไว้กับทุกคนด้วยนะคะ ลองจินตนาการดูเล่นๆว่า
"ถ้าผังเมืองดี... ชีวิตเราในตอนนี้ควรจะเป็นอย่างไร?"
การเป็น smart city เป็นเรื่องดีค่ะ เคยไปฟังเรื่องนี้มา ข้อเสียที่ยังไม่ไว้วางใจคือ การจัดเก็บข้อมูลและการรักษาความปลอดภัย จากโครงการนโยบายต่างๆโตและได้เรียนรู้มา ทั้งเรื่องการทำบัตรประชาชนเป็นแบบมีชิพ การทำบัตรสมาร์ทการ์ดต่างๆ ยังรู้สึกว่าข้อมูลต่างๆ ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อยากเห็นหน่วยงาน หรือ บริษัทที่สามารถจัดการตรงนี้ (อาจจะว่าจ้างโดยรัฐฯ) ไม่จำเป็นที่รัฐต้องจัดการทั้งหมด
มาแชร์ค่ะ ^ ^
เราเห็นด้วยทุกประเด็นเลยค่ะ สำหรับประเด็นการกระจายความเจริญ เราคิดว่าควรส่งเสริมให้รับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ และอาจจะต้องปรับแก้ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกันในระดับภูมิภาค ในส่วนของอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าเป็นตัวตั้งต้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จริงๆประเทศเรามีดินและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการเกษตรมาก แต่การควบคุมคุณภาพผลผลิตกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราว่าประเทศเราควรมีวิสัยทัศน์ด้านการเกษตรที่ชัดเจนกว่านี้และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่นในการเพิ่มผลผลิต ส่งเสริม smart agriculture ทำอย่างไรให้ผลผลิตยังคงสม่ำเสมอแม้ฤดูกาลเปลี่ยน ปรับปรุงการควบคุมคุณภาพน้ำ ใช้เทคโนโลยี remote sensing ช่วยจัดทำ database ข้อมูลเกี่ยวกับดินและมลภาวะ ไปจนถึงระบบโลจิสติก การเก็บรักษา แปรรูปผลผลิต และสนับสนุนตลาด online อย่างที่คุณบอก นอกจากจะช่วยเกษตรกรแล้วยังช่วย start up ได้ด้วย เท่าที่สังเกตธุรกิจอาหารของไทยยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆค่ะ
อีกประเด็นเกี่ยวกับการเกษตรคืออาจเป็นเพราะขาดการส่งเสริม เลยทำให้คนที่ทำเกษตรตามท้องถิ่นต่างๆหันไปประกอบอาชีพอื่น และไปเป็นแรงงานในกรุงเทพ เราว่าถ้าแก้จุดนี้น่าจะช่วยเรื่องการกระจายความเจริญได้บ้างแน่นอนค่ะ
ส่วนประเด็น smart city จริงๆแล้วเราก็ทราบนะคะว่ามันอาจจะดูเหมือนไกลเกินฝันสำหรับคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยนี้ค่อนข้างน่ากังวลเลยค่ะ แต่เราก็ยังไม่อยากจะให้หยุดฝัน และคิดว่ามันเป็นไปได้เพราะว่าเด็กไทยมีศักยภาพมาก ดูจากนักกีฬา e-sport, gamer ที่ไม่ได้มีสอนในโรงเรียน แต่ว่าเราก็มีความสามารถสู้กับชาติอื่นได้ ในจุดนี้ถ้าเราเริ่มส่งเสริมให้มีการเรียน coding ในโรงเรียน (เหมือนในประเทศอินเดีย) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางแผนเรื่องการศึกษาและระบบพวกนี้มันจำเป็นต้องมาจากภาครัฐโดยตรง ตอนนี้คงต้องฝันไปก่อนค่ะ แต่ก็ไม่แน่นะคะ มันอาจจะเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ค่ะ xD