ไหนๆ กระแสสเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ตก็มาแรงจนคนแห่เล่นกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว
วันนี้เราจะพาทุกคนเกาะกระแส ไถ(คีย์)บอร์ดไปพร้อมกัน เราจะพาชมตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองด้วยการ incorporate ฟังก์ชั่นการใช้งานพื้นที่ skate park จากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ท่ี่สามารถ adapt ใช้กับพื้นที่ว่างเปล่าในไทยและกรุงเทพได้ พร้อมกับตอบคำถามที่คาใจนักออกแบบเมืองอย่างเรา
จะดีกว่าไหม ถ้าเราผลักดันกระแสนี้ไปให้ถูกที่ถูกทาง?
จะดีกว่าไหม ถ้าเราใส่ใจ 'ความปลอดภัย' ควบคู่กับ 'ความสร้างสรรค์'?
จะดีกว่าไหม ถ้าการเล่นสเก็ตทำอะไรได้มากกว่าแค่ใส่ชุดไทยไถบนถนน?
จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีลานสเก็ต 'สาธารณะ' ที่ทุกคนเข้าถึงได้?
จะดีกว่าไหม ถ้ากระแสการเล่นสเก็ตสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองได้?
.
.
.
1
มาประเดิมกันด้วยโปรเจคแรกจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส
"Skatepark rue Léon Cladel, Paris, 2012"
Address Skatepark Léon Cladel: Rue Léon Cladel, 75002 Paris, France.
[Credit. https://www.trucksandfins.com]
ลานสเก็ตสุดเรียบง่ายขนาดพื้นที่ 630 ตารางเมตร แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2012 หรือเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โดย Constructo, France et Raphaël Zarka ด้วยงบประมาณ 210,000€ (รวมดีไซน์)
ถึงแม้ว่าจะเป็นโปรเจคค่อนข้างเก่า แต่ความเก๋าของมันยังคงใช้ได้ผลกับยุค 2021 เหตุผลสำคัญที่เราเลือกโปรเจคนี้มาก็เพราะจุดเด่นอยู่ที่ Micro Scale หรือ Community Scale ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ความไม่หวือหวาและความเรียบง่ายในการออกแบบ ข้อดีหลักๆคือไม่ใช่แค่ง่ายต่อการออกแบบเส้นทางและรูปแบบของลาน ทางสเกตเบสิคมาพร้อม ramp curb bank และledge ขนาดเล็ก ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยต่อผู้เล่นมือใหม่ รวมทั้งคนเดินเท้าและพื้นที่สาธารณะในเมือง นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณไม่สูงมากนักเพราะไม่จำเป็นต้องเทคอนกรีตหมดทั้งลาน หรือปรับพื้นที่ใหม่ อุปกรณ์ก็มีขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้เจ้าลาน Constructo จึงเป็นตัวอย่างที่เหมาะสมต่อการปรับใช้ได้กับหลากหลายพื้นที่ในต่างบริบทอย่างในกรุงเทพหรือประเทศไทย
แล้วในมุมมองของการออกแบบเมือง พื้นที่ไหนถึงจะเหมาะสมสำหรับเมืองไทย? เรามองว่าการโปรเจคนี้จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาพื้นที่ที่ขาดกิจกรรม เช่นถนน ตรอกหรือซอกซอยเปลี่ยว เป็นการเพิ่ม Eyes on streets และสร้างความเป็น Place หรือ perception ให้กับพื้นที่ที่ขาด Image โดยเฉพาะตามชุมชนต่างๆเป็นพื้นที่แฮงก์เอาท์สำหรัับเด็กและเยาวชน
.
.
.
2
ไปต่อกันกับสเก็ตพาร์คจากฝั่งเอเชียกันบ้าง กับโปรเจคสเกลยักษ์ใจกลางโตเกียว
"Atelier Bow-Wow"
[Credit. https://soranews24.com/2020/01/27/new-multi-use-park-facility-in-the-heart-of-shibuya-set-to-open-in-june-2020/]
โปรเจคนี้เป็นการ renovate สวนสาธารณะเดิมอย่าง Miyashita Park ที่เกือบจะถูกทิ้งร้าง โดยยังคงคอนเซ็ปในการเก็บรักษาต้นไม้เก่าๆในสวนเอาไว้ และเพิ่มสีสันและชีวิตชีวาด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับชื่อใหม่สุดชิค โดยลานสเก็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา หรือ regenerate สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ที่ทอดตัวยาว เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ JR และเมโทร ผ่านใจกลางย่าน Shibuya ตัว Park แบ่งเป็นหลายโซน มีทั้งโซนที่ elevated หรือยกระดับไปอยู่บน rooftop และระดับ ground หรือระดับพื้นดิน ในด้านฟังก์ชันการใช้งานถูกวางเป็น multi-purposed ที่มาพร้อม facilities หลากหลายเช่นหน้าผาจำลอง ทางเดินเล่นชมสวน สนามเด็กเล่น และที่สำคัญคือลานสเก็ตที่เรากำลังพูดถึงกัน โดยทั้งหมดทุกพาร์ทคาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายนปี 2020 เพื่อให้พร้อมรองรับ Tokyo Olympic 2020 (ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะงาน Olympic ถูกเลื่อนจัดออกไปอย่างไม่มีกำหนด) ส่วนลานสเก็ตนั้นเปิดให้ใช้งานแล้ว
ในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ลานสเก็ต เดิมพื้นที่บริเวณนี้ก่อนถูกพัฒนาเป็นโซนที่ไม่มีกิจกรรม ถูกทิ้งร้าง และปล่อยให้เป็นพื้นที่เข้ามารวมตัวกันของ homeless people หรือคนไร้บ้าน ต่อมา 'Nike’s 2011 controversial redevelopment' ได้เข้ามารับผิดชอบโดยวางแผนปรับปรุงเป็นพื้นที่กิจกรรม ประกอบด้วย Skate Park และ Climbing Rock โดยการออกแบบในส่วนของลานสเก็ตยังคงคอนเสปความเรียบง่ายตามสไตล์ญี่ปุ่น มาพร้อมกับ bowl ขนาดใหญ่, ramp box และสิ่งกีดขวางอื่นๆรวมทั้งบันได
[Credit. http://www.manueloka.com/]
[Credit. https://www.timeout.com/tokyo/sport-and-fitness/miyashita-skate-park]
จุดเด่นคือโปรเจคนี้เป็นก้าวกระโดดทั้งในเรื่องของ Scale ที่ shift มาสู่ Macro หรือ Urban Scale และการก้าวกระโดดใน Standard ของลานสเก็ต ที่มีความเหมาะสมและการออกแบบสำหรับมือโปร ไม่ใช่แค่ระดับความยากของอุปกรณ์ต่างๆที่มีหลายระดับให้เลือก แต่ความโปรในการออกแบบยังรวมถึงการที่แบ่งโซนการเล่นชัดเจนระหว่างผู้เล่นสเก็ตกับผู้ที่ใช้งานพื้นที่อื่นๆของสวน มีรั้วกั้นระดับที่สูงพอจะป้องกัน 'บอร์ดบิน' โดยเฉพาะในการเล่นท่าผาดโผนต่างๆ โอกาสที่จะเกิดอันตรายก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการ์ดดูแลความปลอดภัย พร้อมกฎว่าต้องสวมหมวกหรือ Helmet ทุกครั้งถึงจะเข้าไปใช้งานได้ แสดงให้เห็นถึงการคำนึงด้านความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ
นอกจากในด้านความปลอดภัย อย่างที่เกริ่นไปเล็กน้อย จุดเด่นอีกอย่างคือการ incorporte ลานสเก็ตเข้ากับบริบทเดิม โดยยังคงเก็บต้นไม้เดิมเอาไว้ และใช้การออกแบบ การปรับ landscape ให้สอดคล้องกับฟังก์ชั่นใหม่แทนการตัดต้นไม้เดิมทิ้งทั้งหมด สำหรับพื้นที่หรือสวนสาธารณะในไทยที่มีต้นไม้เดิมอยู่มาก ก็อาจจะนำไอเดียนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งจุดนี้อยากฝากว่าบ้านเรายังขาดความรู้ความเข้าใจเและควรให้ความสำคัญและกับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ในเมืองให้มากขึ้นมากกว่านี้
.
.
.
3
มาถึงโปรเจคสุดท้าย กับโปรเจคลานสเก็ตใต้ทางยกระดับ Krymsky overpass จาก Moscow ที่มาพร้อมกับแฮชแท็กสุดฮิปอย่าง
"#Skateunderthebridge"
[Credit. https://www.archdaily.com/904895/a-skate-spot-near-the-krymsky-snohetta-plus-strelka-kb-plus-strelka-architects?ad_medium=gallery]
ลานสเก็ตแห่งนี้ถูกปรับปรุงขึ้นในปี 2017 โดยเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางยกระดับพื้นที่ขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณ 470 ตารางเมตร ให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของคนเมือง จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ว่าง ไม่มีการใช้งานที่เหมาะสม (featureless) ที่บางวันก็ถูกทิ้งร้าง วันดีคืนดีก็มีคนเอารถมาจอดบ้าง ไม่เหมาะกับทำเลทองที่อยู่ใกล้กับ metro station และ central park ที่มีผู้ใช้งานและสัญจรผ่านค่อนข้างหนาแน่น ทาง Moscow government ก็ได้เล็งเห็นถึงข้อดีและข้อด้อยนี้ พร้อมกับเริ่มโครงการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็น พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Moscow's social life หรือพื้นที่พบปะทางสังคม ที่เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่า Skater โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา Golden Ring หรือย่านเมืองเก่าใจกลาง Moscow ถึงแม้โปรเจคนี้จะมีขนาดแบบ Micro Scale แต่ด้วยศักยภาพของทำเล โปรเจคนี้อาจจะเป็น Urban Skate Park ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้จากพื้นที่อื่นๆในระดับ Urban Scale ได้
เหตุผลที่เราเลือกโปรเจคนี้ ไม่ใช่แค่เพราะว่าเป็นตัวอย่างการออกแบบพื้นที่ใต้ทางยกระดับที่คล้ายกับบริบทในกรุงเทพ แต่ยังมีจุดเด่นอีกหลายอย่างที่เราอาจจะนำไปปรับใช้กับโครงการพื้นที่สาธารณะในบ้านเราได้เช่นกัน เริ่มต้นกันที่ด้าน Planning & policy ที่เห็นได้ชัดเจนคือมีการร่วมมือกับ Stakeholders หลายฝ่าย ทั้งสถาปนิกนักออกแบบชื่อดังจากทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ Strelka KB, STRELKA Architects และสถาปนิชื่อดังจากนอร์เวย์อย่าง Snøhetta ที่รับผิดชอบการพัฒนาพื้นที่Garden Ring อยู่แล้ว ร่วมกับ Federation of Skateboarding และ Tsekh ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สเก็ตบอร์ดจากประเทศรัสเซียที่มีประสบการณ์มากกว่า 10ปี ในการออกแบบอุปกรณ์และทดสอบลานสเก็ตระดับ professional ถือว่าเป็น expert ที่มีความรู้เกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดเป็นอย่างดี นอกจากนี้รัฐบาล Moscow government ก็มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการ โดยเป็นทั้ง Promoter และคนที่สามารถดีลกับ expert และ designer จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก แต่เขาก็ให้ความใส่ใจในการออกแบบเป็นอย่างที่ ไม่ใช่แค่ชาวบ้านมาทำกันเอง สิ่งที่สำคัญคือต้องมี 'ความรู้ความเข้าใจ' อย่างแท้จริงในการออกแบบพื้นที่
[Credit. https://www.archdaily.com/904895/a-skate-spot-near-the-krymsky-snohetta-plus-strelka-kb-plus-strelka-architects?ad_medium=gallery]
ในด้านการออกแบบก็ควรค่าแก่การศึกษาเป็นแบบอย่าง เพราะทีมนักออกแบบได้นำจุดด้อยของพื้นที่ใต้ทางยกระดับ มาทำให้กลายเป็นข้อดีในเรื่องของการป้องกันแดด ลม ฝน และได้มีคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานพื้นที่โดยรอบ ด้วยบริบทที่เป็นพื้นที่แคบและขนาบข้างด้วยถนน โดยมีการติดตั้งรั้วและตาข่ายสูงเพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ ในความเป็นพื้นที่สาธารณะ สิ่งสำคัญคือการที่ 'ทุกคน' สามารถเข้ามาใช้งานได้ ถึงแม้ทีมนักออกแบบจะเชี่ยวชาญในการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับมือโปร แต่สำหรับพื้นที่บริเวณนี้ เขากลับเลือกใช้อุปกรณ์ระดับที่ผู้เล่นมือใหม่ และเด็กๆสามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ และไม่ใช่แค่ Skater เท่านั้นแต่การออกแบบพื้นที่ในรูปแบบของลานทรงโค้ง (ฤmphitheater) ที่มาพร้อมกับการยกระดับเล็กน้อย ยัง flexible หรือยืดหยุ่นในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่นการออกกำลังกายอื่นๆ เป็นพื้นที่พบปะ และเอื้อต่อการเล่นอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับไอเดียการออกแบบและการใช้งานพื้นที่ สามารถรับชมได้จากคลิปข้างล่างนี้เลย
.
.
.
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับโปรเจคที่เรานำมาให้ชมกัน ข้อมูลส่วนใหญ่เราแปลมาจากลิงค์ใน Credit และบางส่วนเป็นการวิเคราะห์ในมุมมองของเราเอง ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถคอมเม้นท์กันมาได้นะคะ สุดท้ายแล้วเราหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า 'พื้นที่สาธารณะ' หรือ 'Public space' ที่เป็นของ 'ทุกคน' อย่างแท้จริง และหวังว่าไอเดียเหล่านี้ (และไอเดียอื่นๆ) จะเป็นตัวจุดประกายความอยากพัฒนาประเทศให้กับคนอื่นๆนะคะ ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in