เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
I think, therefore I write.marmalade_
Blue Period: เมื่อการทำในสิ่งที่ชอบไม่ได้มีแต่ความสุขเสมอไป

  • “การจะทำอะไรที่ชอบต่อไปน่ะ

    มันไม่ได้มีแค่ 'ความสนุก' หรอกนะ

    แล้วจะทำได้จริงๆ หรือ?”




    ข้อความนี้คือส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง ‘Gunjou’ ของวง ‘YOASOBI‘ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Blue Period’ ผลงานการ์ตูนญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องราวการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะของเหล่าวัยรุ่นผู้มีความหลงใหลในการสร้างงานศิลปะ



    *บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของมังงะ*



    เนื้อเพลงข้างต้นนั้นคือหนึ่งในสารที่มังงะเรื่องนี้ต้องการจะสื่อกับผู้อ่าน นี่คืออีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ Blue Period ผลงานจากปลายปากกาของ ยามากุจิ ซึบาสะคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที Manga Taisho Awards ครั้งที่ 13 และ รางวัล BestGeneral Manga จากเวที Kodansha Manga Awards ครั้งที่ 44 นอกเหนือจากการตีแผ่และถ่ายทอดชีวิตของคนในวงการศิลปะแล้ว ยังเจาะลึกถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไล่ตามในสิ่งที่รัก และใช้ชีวิตตามความหลงใหลอีกด้วย



    Blue Period เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่ม ยางุจิ ยาโทระนักเรียนชั้นม.5 ที่เข้าสังคมเก่ง เรียนดี และชอบเที่ยวดื่มกินกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ แม้ว่าฟังดูแล้วเหมืนจะเป็นชีวิตที่ดีเยี่ยมสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่ภายในของยาโทระนั้นกลับรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบหรือหลงใหลเป็นพิเศษ ไม่มีเป้าหมายหรือความฝันนอกจากการได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยดัง ๆ เพื่อที่จะได้หางานที่มั่นคงทำในอนาคต แต่เมื่อเขาได้เห็นรูปวาดของสมาชิกชมรมศิลปะและได้ลองวาดภาพด้วยความรู้สึกอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน คำชมและการที่เพื่อนของเขาเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารในภาพนั้น ได้ทำให้เขาได้สัมผัสกับความรู้สึก ปลื้มปิติเป็นครั้งแรกราวกับว่าในหัวใจที่ว่างเปล่าได้มีบางอย่างก่อตัวขึ้นและจุดประกายให้เขาตั้งเป้าหมายจะสอบเข้ามหาวิยาลัยศิลปะแห่งโตเกียวที่ว่ากันว่ายากที่สุดให้ได้ 

    ชีวิตที่ได้มีสิ่งที่ชอบหรือได้หลงใหลและไล่ตามบางสิ่ง ฟังดูแล้วคงเป็นชีวิตที่ดีไม่น้อย เป็นชีวิตที่ดูแล้วคงจะมีแต่ความสุขอยู่ตลอด แต่หนึ่งในสารที่ Blue Period ต้องการจะบอกกับเราคือ การทำในสิ่งที่ชอบไม่ได้มีแต่ความสุขเสมอไปซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านความเจ็บปวดที่ตัวละครแต่ละคนต้องพบเจอจนทำให้รู้สึกสงสัยว่า การได้ทำในสิ่งที่ชอบอย่างจริงจังนี่มันดีจริง ๆ หรือ?’ โดยมังงะเรื่องนี้นั้นได้ถ่ายทอดมุมที่เจ็บปวดของตัวละครออกมาได้อย่างละเอียดอ่อนและยังค่อนข้างให้ความสำคัญทีเดียวซึ่งมีความแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ในแนวเดียวกันพอสมควรที่มักจะเน้นถ่ายทอดมุมที่สร้างแรงบันดาลใจมากกว่าแต่เพราะสิ่งนี้เองที่ทำให้ Blue Period นั้นพิเศษและสร้างแรงบันดาลใจได้ในแบบของตัวเอง

    หลังจากที่ยาโทระได้ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรแล้ว แทนที่จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขหรือเต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่สิ่งที่เขาพบเจอเป็นลำดับถัดไปคือความจริงอันเจ็บปวดที่จะเข้ามาทดสอบเขาอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเขาได้เข้าคอร์สเรียนเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ ที่นั่นเขาได้พบว่าตัวเองนั้นอยู่ห่างจากเป้าหมายมากขนาดไหนจากการที่ได้พบกับเหล่าเพื่อนร่วมรุ่นที่มีความสามารถมากมายและมีเป้าหมายเดียวกันที่เริ่มเดินบนเส้นทางนี้มาก่อนหน้าเขาและความจริงที่ว่าพวกคนเหล่านั้นก็ยังเรียกได้ว่าอยู่ห่างจากเป้าหมายเช่นกัน แล้วเขาที่มีความสามารถน้อยกว่าและเริ่มต้นช้ากว่าล่ะจะอยู่ห่างขนาดไหน? เมื่อเป้าหมายของเขานั้นหนีไม่พ้นการแข่งขันและตัวเขานั้นแทบจะอยู่ในตำแหน่งที่แย่ที่สุดของการแข่งขัน มันก็ได้ตอกย้ำถึงความว่างเปล่าที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ให้เขารู้สึกเสียใจและเจ็บใจจนก่อเป็น ความเจ็บปวด ขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่เรียกว่า ทำในสิ่งที่ชอบ



    ไม่ใช่แค่เรื่องของการไล่ตามเป้าหมายเท่านั้นแต่ในเรื่องของการ เป็นในสิ่งที่ชอบ’ ก็มีมุมที่เจ็บปวดเกิดขึ้นได้เหมือนกัน อายุคาว่า ริวจิ อีกหนึ่งตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นเพื่อนในชมรมศิลปะของยาโทระนั้นถ่ายทอดประเด็นเรื่องความเจ็บปวดเพราะเป็นในสิ่งอยากจะเป็นไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

     ริวจินั้น แม้จะมีเพศสภาพตามกำเนิดเป็นผู้ชายแต่เธอก็ไว้ผมยาวและแต่งตัวแบบ (ที่สังคมบอกว่าเป็น) ผู้หญิง ชอบและออกเดทกับผู้ชาย ในเล่มที่ 2 มีเหตุการณ์ที่เธอตกลงออกเดทกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่มาเรียนคอร์สเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะด้วยกันแต่เมื่ออีกฝ่ายได้รู้ถึงตัวตนจริง ๆ ของเธอก็มีท่าทีตกใจ ตามด้วยเสียใจก่อนที่จะตีหน้าใจดี ดึงเข้าไปกอดเหมือนพยายามจะปลอบใจพร้อมกับบอกว่า “ขอโทษนะฉันเป็นพวกปกติ” สำหรับเธอแล้วนี่ไม่ใช่แค่การถูกปฎิเสธจากคน ๆ หนึ่งแต่เป็นการถูกปฏิเสธจากสังคมปกติแบบกลาย ๆ จากการถูกบอกเป็นนัย ๆ ว่าเธอไม่ปกติและสิ่งที่ถูกปฏิเสธนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ แต่เป็นตัวตนที่เป็นเหมือน แก่นแท้’ ของเธอเลยซึ่งทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากเพียงเพราะแค่เธอ เป็นในสิ่งที่ชอบ



    ดูเหมือนว่าการทำในสิ่งที่ชอบนั้นไม่ว่าจะแง่ไหนก็ต้องพบเจอความเจ็บปวดไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งอยู่เสมอถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะยังทำมันอยู่อีกหรือไม่? สำหรับยาโทระและริวจินั้น คำตอบคือ ทำต่อ แน่นอนว่าพวกเขาเจ็บปวดและรู้สึกสับสนไม่น้อยกับสิ่งที่เจอ แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนให้พวกเขายังเดินอยู่บนเส้นทางของตัวเองอยู่ได้คือ ความรัก’ ที่มากพอ รักในสิ่งที่ตัวเองชอบ รักในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น แม้เจ็บปวดและสับสนแต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกเสียใจที่ได้เลือกเดินบนเส้นทางที่เลือกเองด้วยความรักและยังคงเดินต่อไปเหมือนว่าผู้เขียนนอกจากจะเตือนสติเราว่าการทำสิ่งที่ชอบไม่ได้มีแต่ความสุขเสมอไปแล้ว ยังได้ให้คำตอบไว้ด้วยว่าตอนที่เรารู้สึกสับสนและเจ็บปวดในการทำสิ่งที่ชอบนั้น สิ่งที่จะช่วยให้ผ่านไปได้คือความรักที่มีต่อสิ่งนั้น ถ้าเรามีความรักมากพอ เราก็จะผ่านมันไปได้

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากประเด็นดีๆ ที่ถูกนำเสนอในเรื่องเท่านั้น ยังมีประเด็นดี ๆ มากมายที่ Blue Period นั้นมอบให้กับผู้อ่านที่ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะก็สามารถอ่านอย่างสนุกได้ ลิขสิทธิ์มังงะเรื่องนี้ฉบับภาษาไทยนั้นเป็นของ Luckpim ซึ่งมีทั้งแบบรูปเล่มและ E-book และล่าสุดยังได้ถูกทำเป็นทีวีอนิเมะโดยสตูดิโอ Seven Arcs ซึ่งสามารถรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง Netflix นับเป็นอีกผลงานดี ๆ ในหมู่มังงะยุคใหม่ที่อยากจะแนะนำให้ลองอ่านกัน




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in