ขอส่งท้ายเดือน Pride Month ด้วยหนังที่ประทับใจที่สุดที่มีโอกาสดูในเดือนนี้ ต้องขอบคุณทาง House สามย่านที่นำหนังดีๆ หาดูยาก มาฉายอย่างสม่ำสมอ โดยเฉพาะในเดือนนี้กับ Laurence Anyways (Xavier Dolan, 2012)
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษกว่าหนัง LGBTQ+ เรื่องใดๆ คือการที่มันไม่เพียงแต่พาไปสำรวจความยากลำบากในชีวิตของคนข้ามเพศในยุคที่สังคมยังเต็มไปด้วยอคติยิ่งกว่าในยุคปัจจุบัน แต่ยังพาเราไปกระเทาะเปลือก ชวนให้เราตั้งคำถามถึงแก่นแท้ของความรักและความสัมพันธ์ ว่าคนเรารักกันที่ตรงไหน หากรักที่ตัวตน ตัวตนที่ว่านั่นหมายถึงอะไรบ้างที่รวมอยู่? ถ้าเรารักใครคนหนึ่งในฐานะ “ตัวตน” แล้ว นั่นหมายถึงแค่จิตใจและความคิด หรือรวมถึงเพศสภาพ เพศวิถี และลักษณะภายนอกของเขาด้วยไหม? เราสามารถมองข้ามทุกอย่างไปได้จริงๆ หรือเปล่า?
คำตอบในอุดมคติยังไงก็ต้องตอบว่าได้สิ แม้แต่เฟร็ดที่อยู่ๆ แฟนหนุ่มของเธออย่างโลร็องซ์ก็มาบอกว่าอยากเป็นผู้หญิง อยากใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิง และรู้สึกว่าร่างกายที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมาตลอด (หรืออีกนัยหนึ่ง ร่างกายของแฟนหนุ่มที่เธอผูกพัน) นั้นไม่ใช่ของตัวเอง เธอก็ยังเลือกยอมรับและสนับสนุนโลร็องซ์เป็นทางเลือกแรก แต่ถ้าทุกอย่างมันง่ายขนาดนั้น หนังก็ไม่คงไม่ยาวเกือบ 3 ชม. เพราะมันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เฟร็ดและคนดู ต้องเริ่มตั้งคำถามกับนิยามของความรัก เมื่อเธอต้องรับมือกับความรู้สึกต่างๆ ที่ประดังเข้ามาหลังจากนั้น ทั้งความสับสน อึดอัด หรือแม้กระทั่งเสียใจ และผิดหวัง
ในฉากหลังกลางทศวรรษที่ 90s ที่ซึ่งแนวคิดเรื่องบทบาทในความสัมพันธ์ยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าทุกวันนี้ คอนเซ็ปต์ของคำว่า Partner แบบกว้างๆ ยังไม่แพร่หลาย เราได้เห็นภาพของผู้หญิงที่ไม่รู้จะจัดวางตัวเองไว้ตรงไหนในความสัมพันธ์ ถ้าแฟนอยากเป็นผู้หญิง ก็แปลว่าเราเป็นจะเลสเบี้ยนหรือเปล่า? แต่เราก็ชอบผู้ชาย แต่ก็คบกับแฟนที่อยากเป็นผู้หญิง เราคิดว่าเราไม่ใช่ไบ แต่ถ้าจะบอกว่าเราไม่ใช่ไบหรือเกย์ เราต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ชายไหม? ความสับสนเหล่านี้ ตามมาพร้อมกับค่านิยมที่ว่าเราต้องมีตำแหน่งทางเพศอย่างใดอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่คำถามแรกว่ามันจำเป็นไหม? ที่จะต้องมีคำนิยามทางเพศให้กับทุกคนในความสัมพันธ์
อีกหนึ่งคำถามที่เชื่อว่ายังไงคนดูก็ต้องมีตะกอนอยู่ในใจหลังจากที่ได้ดู คือเราจะรักใครสักคนโดยมองข้ามภายนอกไปได้ไหม? หากวันหนึ่ง ลักษณะภายนอกที่ทำให้เราเคยชอบคนๆ นั้นเปลี่ยนไป เราจะยังมอบความรักแบบเดิมให้ได้หรือเปล่า?
หนึ่งในบทสนทนาที่เจ็บปวดที่สุดในหนัง
คือเมื่อเฟร็ดถามโลร็องซ์ว่า....
“คุณเกลียดทุกอย่างที่ฉันเคยรักในตัวคุณเลยหรือ?”
และเขาตอบกลับว่า....
“แล้วคุณชอบผมแค่เพราะร่างกายผมหรือเปล่า?”
ยิ่งหนังดำเนินไป คำถามเหล่านี้ยิ่งทำให้เรารู้ว่า ใช่, บางครั้งเราก็มองข้ามไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเรารักแค่เปลือกนอก แต่เพราะ “ตัวตน” ของใครคนหนึ่งนั้น ไม่ได้แยกขาดจากร่างกายหรือความคิด แต่ภาพรวมทั้งหมดที่ผสมปนเปกัน ตัวตนของใครสักคนจึงไม่อาจถอดแยกเป็น “ภายใน” หรือ “ภายนอก” เพียงอย่างเดียว แต่ทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือจิตใจ ต่างเป็นสิ่งที่หลอมรวมออกมาเป็นตัวตนทั้งสิ้น
นั่นจึงทำให้ไม่มีใครที่เป็นฝ่ายผิดเลยในความสัมพันธ์ หากเราจะรับไม่ได้กับบางอย่างที่อีกฝ่ายเปลี่ยนไป บางที การบอกว่าเรารัก”ทั้งหมด”ที่หลอมรวมมาเป็นเขา อาจจะดีกว่าการพยายามบอกว่าเรารักเขาที่”ตรงไหน” และถ้าหากเราเชื่อว่าทุกคน ทุกปัจเจก ทุก ”ตัวตน” สมควรที่จะได้มีความรักดีๆ นั่นก็หมายถึงไม่ว่าจะวิถี หรือสภาพทางกายภายนอกแบบไหน ก็สมควรได้รับความรักดีๆ เช่นกัน เพราะในเมื่อมันก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของแต่ละปัจเจก ซึ่งอาจเป็นแก่นความคิดที่สำคัญที่สุดของขบวนการ Pride ที่ไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ “เป็นตัวเอง” ได้ แต่เป็นการส่งเสียงว่าทุกๆ ตัวตน ไม่ว่าจะรูปร่าง เพศสภาพ หรือวิถีชีวิตแบบใด ก็สมควรได้รับความรักดีๆ เหมือนกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in