เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องตรวจหมายเลข 5นักเล่าเรื่อง
ช็อตไฟฟ้า (ECT)
  • “เรามาลองมาช็อตไฟฟ้ากันดูดีไหมครับ”หมอ C ถามขึ้นมาในห้องตรวจหลังจากที่เราคุยกันมาได้สักพักใหญ่

                การช็อตไฟฟ้าในผู้ป่วยจิตเวช หรือ Electroconvulsive Therapy (ECT) ริเริ่มโดยจิตแพทย์ชาวอิตาลีนามว่าอูโกแชร์เลตติและลูซิโอ บีนี ในปีค.ศ. 1934 ในสมัยก่อนนั้นการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้าไม่มีการวางยาสลบหรือยาหย่อนกล้ามเนื้อในผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชักเกร็งอย่างหนักก่อให้เกิดผลข้างเคียงในด้านลบตามมา เช่นกระดูกหัก อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการสำลักผิดกับการรักษาในปัจจุบันที่มีการวางยาสลบและยาหย่อนกล้ามเนื้อในผู้ป่วยทำให้เกิดผลข้างเคียงของการรักษาน้อยลง การรักษาดังกล่าวเป็นการใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ประมาณ 70-150 โวลต์ไหลผ่านตัวของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้สารสื่อประสาทในสมองที่หลั่งผิดปกติกลับมาทำงานได้ดีขึ้นกระบวนการรักษาด้วย ECT ดังกล่าวนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการเห็นผลการรักษาอย่างรวดเร็ว,ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยา และผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ เช่นผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์, ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่งในผู้ป่วย 1 คนสามารถทำการช็อตไฟฟ้าได้สูงสุด 12 ครั้งอย่างต่อเนื่อง

                การเตรียมการก่อนรับการช็อตไฟฟ้าก็มีอยู่ไม่มากแค่อาบน้ำให้สะอาดแต่งตัวสบาย ๆ ที่สะดวกแก่พยาบาลสามารถนำจุดช็อตไฟฟ้าไปติดตามตัวได้ห้ามกินอาหารใด ๆ หลังเที่ยงคืนก่อนวันช็อตไฟฟ้า และอย่าลืมฟันยางเด็ดขาด

                หลังจากที่ฉันและหมอทำความเข้าใจในการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วผลปรากฏว่าฉันต้องทำการช็อตไฟฟ้าวันเว้นวันเป็นจำนวน 6 ครั้งด้วยกัน แบ่งเป็นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จันทร์, พุธ และศุกร์กระบวนการเริ่มต้นของการช้อตไฟฟ้าของฉันก็คือต้องไปพิมพ์ฟันยางที่แผนกทันตกรรมเนื่องจากระหว่างที่ไฟฟ้าอ่อน ๆ กำลังไหลผ่านตัวผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งและผู้ป่วยอาจจะกัดฟันจนฟันแตกหรือหักได้

                วันจันทร์ถัดมาฉันไปโรงพยาบาลพร้อมด้วยฟันยางของตัวเองและไปรอที่หน้าห้องทำECT ที่แผนกจิตเวชที่เดิมฉันพบว่าผู้ป่วยที่ต้องช็อตไฟฟ้าไม่ได้มีแค่ฉันคนเดียวเท่านั้น ระหว่างที่รอคิวทำการช็อตไฟฟ้าฉันได้พบกับนักเรียนวัยมัธยมปลายที่หน้าตาเศร้าสร้อยคนหนึ่ง,เด็กวัยมัธยมปลายอีกเช่นเดียวกันแต่คนนี้มีอาการพูดมาก เสียงดังและสมองไม่ค่อยปกติ รวมไปถึงคุณป้าแก่ ๆ คนหนึ่งที่ดูภายนอกเหมือนปกติดีทุกอย่าง

                คนรอบข้างเขาจะมองฉันยังไงนะฉันยังปกติดีในสายตาพวกเขาหรือเปล่า

                ด้วยอาการตื่นเต้นและเครียดเล็กน้อยทำให้ฉันเริ่มคิดเพ้อเจ้อและมองผู้ป่วยด้วยกันผ่านสายตาด้านลบไม่นานพี่พยาบาลก็เรียกพวกเราเข้าห้อง นอนบนเตียงห่มผ้าขนหนูเรียบร้อยและใส่ฟันยาง

                “หายใจเข้าลึก ๆ นะคะ”วิสัญญีแพทย์เอาที่ครอบจมูกมาครอบห่างจากใบหน้าฉันเล็กน้อยไม่นานหนังตาของฉันก็หนัก ห้องทั้งห้องเริ่มเป็นสีเทามัว ๆ และมืดสนิทลง

                ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อมาฉันลืมตาขึ้นพบกับเพดานสีขาวสะอาดของโรงพยาบาลเตียงข้าง ๆกันนั้นคือเด็กหญิงมัธยมปลายและเตียงถัดไปคือเด็กชายพูดมากที่สมองไม่ค่อยปกติทุกคนต่างลืมตาพบกับความสะลึมสะลือ ฉันมีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยและสมองเสื่อม!ฉันจำไม่ได้ว่าตัวเองมาทำอะไรที่นี่และต้องทำยังไงต่อไปอาการสูญเสียความทรงจำดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาด้วยกระบวนการECT แทบทุกคน

                ฉันต้องวนเวียนทำการรักษาด้วยไฟฟ้าอยู่อย่างนี้ประมาณ2 สัปดาห์แบ่งเป็นสัปดาห์ละ 3ครั้ง เด็กผู้หญิงใบหน้าเศร้าและเด็กชายสมองไม่ปกติกลายเป็นเหมือนเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ต้องพบเจอกับการใส่ฟันยางที่คับปาก,การวางยาสลบ, ติดตั้งจุดช็อตไฟฟ้า และอาการสมองเสื่อมหลังการรักษา

                “น่าเบื่อจริง ๆ เลยไม่อยากทำเลยเนี่ย เสียเวลา เดี๋ยวต้องไปถวายสังฆทานที่วัดอีก”เสียงของเด็กผู้ชายสมองไม่ปกติดังมาเข้าหูก่อนที่จะเห็นตัว ทำให้ฉันฉุกคิดได้ว่าถ้าไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา ป่านนี้เขาจะเป็นยังไงบ้างหนอ

                หลังจากทำการรักษาด้วยไฟฟ้าครั้งสุดท้ายฉันมีนัดพบหมอในตอนเย็นพอดีฉันจำได้ว่าวันนั้นฉันอารมณ์ดีมาก หัวเราะร่าเริงตามวัยและเข้าไปพบหมอด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

                “หมอ เอาตรง ๆ นะฉันจำไม่ได้แล้วว่าทำไมฉันต้องมาพบจิตแพทย์” ฉันบอกหมอเมื่อเราพบกัน

                “จริงเหรอคุณ คุณจำไม่ได้เลยเหรอ”หมอยิ้มและถามหลับมาอย่างทึ่งๆ

                “จริงค่ะและวันนี้ฉันอารมณ์ดีมากด้วย”

                “ถ้าอย่างนั้นลองมองตามมือหมอนะครับ”หลังจากคุยและหัวเราะกันสักพักหมอก็ตะหวัดมือขึ้นลงและซ้ายขวาฉันมองตามมือหมอไม่ละสายตา หมอเขียนผลการตรวจลงในแผ่นกระดาษด้วยความอารมณ์ดี

                หลังจากที่ช็อตไฟฟ้าเป็นวันสุดท้ายและนัดพบหมอเรียบร้อยแล้วฉันกลับบ้านพร้อมกับยาสูตรเดิมอีก2 แผงเพื่อประคับประคองให้อาการของฉันดีขึ้นกว่าเดิม

                ฉันหายแล้ว ไม่อยากมาหาหมอแล้ว

                ถึงยังไงก็ตามหลังจากพ้นช่วงการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้าประมาณ3 สัปดาห์ความรู้สึกของฉันหลับดิ่งลงเหวและเริ่มมีความคิดเลวร้ายขึ้นมาอีกครั้ง

                ทำไมฉันยังไม่หายเสียทีฉันรักษามาทุกแขนงแล้วนะ ไอ้โรคบ้านี่จะไม่มีวันหายไปเลยใช่ไหม

                ฉันแอบเห็นหมอแสดงสีหน้าหนักใจและถอนหายใจออกมาอย่างเบาที่สุดเมื่อฉันบอกอาการแก่หมอในวันที่เราพบกันอีกครั้งเพื่อติดตามอาการการช็อตไฟฟ้าทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมาเป็นเหมือนสิ่งไร้ค่าที่เสียเวลาทำลงไปรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวันก่อนนั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in