คำว่า ”ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์“ ในความหมายของคนทั่วไปถือเป็นวันหยุดพักผ่อนหย่อนใจให้เต็มที่ หลายคนอาจใช้ช่วงเวลานี้เป็นการพักผ่อนอยู่บ้าน หรือท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กที่ผู้ปกครองมักใช้ช่วงวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์เป็นวันครอบครัวที่จะพาเด็ก ๆ ไปเล่นสนุกให้เต็มที่ และ Kid’s Corner ที่หอศิลป์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ปกครองไว้วางใจที่จะพาเด็ก ๆ มาท่องเที่ยวที่สถานที่แห่งนี้ ที่นอกจากมีงานศิลปะให้ชมแล้วยังมีห้องทำกิจกรรมสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพราะ Kid’s Corner มีหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ของเล่นเสริมพัฒนาการ กิจกรรมวาดรูประบายสีและยังมีบริการเล่านิทานฟรีตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ช่วงวันหยุดของ Kid’s Corner จะมีเด็กเยอะมากเป็นพิเศษ
แต่คนที่ตื่นเต้นที่สุดในสมการของวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจากเด็กฝึกงานทั้ง 4 คน เพราะวันหยุดคือวันที่ต้องพบปะกับเด็กและผู้ปกครองมากเป็นพิเศษ โดยห้องสมุดศิลปะที่หอศิลป์สามารถเข้าได้ทุกเพศทุกวัยและไม่มีค่าเข้าใช้บริการ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้เข้าใช้งานมีหลากหลายช่วงอายุที่ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติ แต่ข้อจำกัดของห้อง Kid’s Corner คือผู้เข้าใช้งานต้องเป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ปี เมื่อทราบถึงวัยของเด็กที่เข้าใช้บริการก็จะกำหนดแนวทางของการจัดกิจกรรมว่าควรให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมอะไรถึงจะเหมาะสม โดยจะมีการเตรียมกิจกรรมวาดรูประบายสี เล่านิทาน พับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าเตรียมการมาพร้อมมาก ๆ
ในช่วงแรก ๆ ที่ได้ทำกิจกรรมกับเด็กก็มีเรื่องที่ติดขัดบ้างเล็กน้อย เนื่องจากยังใหม่กับการลงสนามจริง ๆ แต่เมื่อผ่านไปได้ไม่นานก็สามารถปรับตัวเข้ากับเด็ก ๆ ได้ โดยการทำกิจกรรมกับเด็กถือว่าต้องใช้พลังงานที่สูงมาก ทั้งวิ่งเล่น, อ่านหนังสือนิทานเลียนเสียงตัวละครต่าง ๆ , พาทำกิจกรรมพับกระดาษ, วาดรูปและระบายสีที่ต้องคอยพูดคุยกับเด็กตลอดเวลาเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก ซึ่งความจริงแล้วเป็นพี่พะแพงเองที่อยากเป็นเพื่อนกับเด็ก ๆ ทุกคน แม้ว่าจะใช้พลังงานที่มากมายในการสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กจนร่างกายปวดเมื่อยเกินอายุไปบ้าง แต่เมื่อเห็นเด็ก ๆ ได้ยิ้ม หัวเราะ ชื่นชอบในสิ่งที่เราทำให้และสนุกไปพร้อม ๆ กัน ความเหนื่อยและความปวดเมื่อยตามร่างกายก็หายราวกับไม่เคยเป็นมาก่อน ในใจก็แอบคิดว่า “เด็ก ๆ ก็มีพลังวิเศษเหมือนกันนะคะเนี่ย“ แต่ความเป็นจริงพี่พะแพงก็กำลังซื้อแผ่นแปะแก้ปวดอยู่เช่นกัน
อีกหนึ่งบททดสอบคลื่นใหม่ที่ไม่เคยคิดมาก่อนก็มาถึง เมื่อสังเกตว่าผู้เข้าใช้งานส่วนใหญ่มักเป็นชาวต่างชาติ แน่นอนว่าสิ่งที่ควบคู่มากับชาวต่างชาติก็คือการสื่อสารกับภาษาที่หลากหลาย เช่น ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาจีน, ภาษาฝรั่งเศษ และภาษาเกาหลี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสื่อสารส่วนใหญ่ถูกดำเนินด้วยภาษาอังกฤษ และด้วยอานิสงส์บุญเก่าที่เคยเรียนภาษาจีนและภาษาเกาหลีจึงทำให้เข้าใจได้ว่าเด็ก ๆ ต้องการอะไร ตอนที่มีโอกาสได้คุยกับเด็ก ๆ เป็นภาษาจีนเป็นครั้งแรกน้องดูตื่นเต้นมาก แล้วพยายามหาเรื่องคุยกับพี่พะแพงอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าบางคำพี่จะไม่เข้าใจน้อง แต่น้องก็ยังเอ็นดูพี่พะแพงอยู่มาก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภูมิใจมาก ๆ ที่รายล้อมไปด้วยเด็กน่ารักเป็นจำนวนมาก
ภาพประกอบ 1 : สถานที่พูดคุยที่เด็ก ๆ เลือกเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in