ตามไปอ่านได้ที่
https://unnnderbar.wordpress.com/2024/05/13/nell-dystopians-eutopia-simulation-theory/
เคยไหม ? ที่อยู่ดี ๆ ก็มีความคิดแวบเข้ามาในหัว ความคิดที่ว่า โลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันเป็นเรื่องจริงแค่ไหน ทำไมชีวิตของคน ๆ หนึ่งถึงหันเหมาในทิศทางนี้ มีความคิดแบบนี้ มีอุปนิสัยแบบนี้ ทำไมเราถึงกำลังนั่งเขียนบทความรีวิวยืดยาวนี้อยู่ ทำไมคน ๆ หนึ่ง ถึงตัดสินใจทำบางสิ่ง และไม่ทำในบางอย่าง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นไป หรือถูกกำหนดไว้แล้ว Free Will มีอยู่จริงหรือไม่
ชีวิตของเรา มันใช่ของเราจริง ๆ หรือเปล่า
ชุดความคิดเหล่านี้ ก่อเป็นผลงานเพลงล่าสุดของ NELL ใน EP ที่มีชื่อว่า Dystopian's Eutopia ซึ่งเว้นห่างจากการออกอัลบั้มเต็ม Moments In Between (2021) ก่อนหน้า 2 ปี (NELL : Moments In Between / Bits and Piece) โดยยังคงเป็นไปตามรอบปกติของการออกอัลบั้มเพลงปีเว้นปีของวง คราวนี้กลับมาในรูปแบบของ EP ในคอนเซป Sci-fi ที่ว่าด้วยเรื่อง 'Simulation Theory' หรือทฤษฎีโลกเสมือน ทฤษฎีที่ว่าจริง ๆ แล้ว การมีอยู่ของทุกสิ่ง รวมถึงโลกที่เราอาศัยอยู่ใบนี้ เป็นเพียงโลกจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมา ถูกรันหรือควบคุมโดยโปรแกรมขนาดใหญ่ยักษ์ และชีวิตเราเป็นเพียงการถูก Role Play ให้เล่นไปตามบทบาทที่ถูกเซตค่าเอาไว้แล้ว
ทามไลน์ของอีพีชุดนี้ เริ่มขึ้นจากการปล่อยซิงเกิ้ลพร้อมรูปปก แง้มคอนเซปด้วยภาพกล่องใสบรรจุ CD สีขาว เต็มไปด้วยการเข้ารหัสมอร์สและเลขไบนารี่ที่คดเป็นวงรอบ ให้ต้องใช้ความพยายามในการ Crack the Code กันเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงใด ๆ ของแฟนเพลง นั่นคือ รหัสมอร์สที่บอกถึงหมายเลขแทร็ค และเลขไบนารี่ ที่สามารถถอดรหัสออกมาเป็นชื่อเพลงได้ว่า
1. True
2. Moog
3. Sunny Days
4. Wanderer
5. Moon Shower
6. Higher
โดย NELL เลือกปล่อยซิงเกิ้ลล่วงหน้า จำนวน 2 แทร็ค นั่นคือ Waderer และ Moon Shower จนต่อมาวงได้ปล่อยชื่อชุดอีพี Dystopian's Eutopia อย่างเป็นทางการ กับภาพปกอีพีใหม่ในคอนเซปเดิม ที่เปลี่ยนจากภาพแผ่นซีดีสีขาวเป็นสีดำ พร้อมกับชื่อแทร็คทั้งหมด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเหลือจำนวน 5 track (ความยาวรวม 17:37 นาที) แผ่นที่เป็น Physical ก็สวยมาก ๆ ตัวกล่องและ cover เป็นแผ่นโปร่งใส มีดีเทลของตัวเลขสีขาว ทำให้เห็นแผ่นซีดีสีดำที่อยู่ข้างใน ก็คือแผ่นจริงเป็นที่เห็นตามรูป แต่แผ่นปกอีพีที่เราเห็น ๆ กัน จะถ่ายรูปกล่องซีดีแผ่นจริงบนพื้นสีดำอีกที เพราะปกจริงโปร่งใส งานมินิมอลจัด (ขนาดงาน fansign ยังต้องเซ็นต์ลงในแผ่นกระดาษต่างหาก) มีความอินเซปชั่นประมาณนึงเลย ;))
1. Wanderer
2. Dystopian's Eutopia
3. Crack the Code
4. Moon Shower
5. Hollow
และจากการส่องคอนเทนต์เบื้องหลังรายการ NELL TV ซึ่งวงไม่แคร์เลยสักนิดกับการโดน sneak peek สปอยล์กันโต้ง ๆ ไปเลย พบว่าเพลงที่วางไว้แล้วคือ Wanderer กับ Dystopian's Eutopia ซึ่งเดาว่าชื่อเพลง Dystopian's Eutopia น่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อภายหลัง (คิดเอาเองว่าชื่อเดิมคือ Moog เพราะใน photobook มีการพูดถึง Moog synth) ส่วนแทร็คที่อัดไว้แล้วแต่โดนตัดออกเลยคือ Higher นอกนั้นก็ไม่แน่ใจว่าคิมจงวาน (นักร้องนำและผู้แต่งเพลงทั้งหมดของวง NELL) แค่เปลี่ยนชื่อเพลง หรือเปลี่ยนแทร็คไปเลยดื้อ ๆ ซึ่งต้องพูดเป็นรอบที่ล้านว่า เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ของ NELL คงจะปรับแก้กันเยอะมากจนกว่าจะพอใจ จงวาน ยังเคยบอกเลยว่า พวกเขาตั้งค่ายเพลงของตัวเอง ก็เพื่อที่จะตัดสินใจออกผลงานเพลงเมื่อไรก็ได้ตามใจ :)))
Simulation Theory เป็นชุดความคิดที่คิมจงวาน สนใจเป็นอย่างมาก แม้เขาจะเขียนเพลงแต่ละเพลงในช่วงเวลาต่างกัน แต่ทั้งหมดสามารถรวมคอนเซป เบลนเป็นธีมเดียวกันได้อย่างกลมกลืน ภายใต้สมมติฐานที่ว่า หากทฤษฎีโลกเสมือนดังกล่าวเป็นจริง ตัวละครในโลกนั้น จะมีเรื่องราวในแง่มุมของตัวเองอย่างไร สังคมอุดมคติที่ใครหลายคนฝันถึง บางคนอาจอยู่ดีมีความสุข ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา โลกที่ความโชคร้ายของบางคน อาจกลับกลายเป็นกำไรของคนอื่น รวบรวมออกมาเป็น 5 แทร็ค 5 เรื่องราว โดยในแต่ละแทร็คแทนคาแรคเตอร์ที่แตกต่าง การรีแอคที่แตกต่าง ทนทุกข์ ชินชา จำยอม หรือต่อต้าน
<<
แต่ก่อนที่จะเข้ารีวิว Ep : Dystopian's Eutopia แบบเรียงแทร็คเหมือนเช่นเคย มีอีกเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งจะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ นั่นคือวง NELL ได้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกวง นับตั้งแต่มีการก่อตั้งวงดนตรีมา 23 ปี โดยมีการประกาศจากช่องทางออฟฟิเชียล SPACE BOHEMIAN ว่า จองแจวอน (มือกลอง) ได้ยุติการเป็นสมาชิกวง และออกจากทีมอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งเราไม่ขอลงรายละเอียดมากไปกว่านี้ เพียงแต่การรีวิวผลงานอีพี Dystopian's Eutopia จะต้องมีชุดข้อมูลร่วมกันว่า วง NELL ได้เปลี่ยนมือกลองคนใหม่แล้ว นั่นก็คือ ยางฮเยซึง (อดีตสมาชิกวง PIA / มือกลองวง The Midnight Romance / มือกลองชาวเกาหลีคนแรกที่ได้อัดกลองให้ซอแทจี ในอัลบั้มชุดที่ 8) คนใกล้ตัวมาก ๆ ทีี่ฝีมือและความเก่งกาจเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน มีเครดิตเป็น NELL Additional Musician เป็น NELL Support ที่เข้มแข็ง ให้กิจกรรมของวงดำเนินต่อไปได้อย่างเนียนกริบ ไม่มีสะดุด ทั้งในแง่ของงาน Performance และ session กลองในงานเพลงชุดใหม่
สำหรับวงดนตรีแล้ว การเปลี่ยนแปลงสมาชิกเป็นเรื่องใหญ่เสมอก็จริงอยู่ แต่มันก็เป็นธรรมดาด้วย และการติดตาม NELL ยิ่งทำให้เรารู้ซึ้งสุด ๆ ถึงประโยคที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ขนาดวงที่ Settle ขนาดนี้ ยังหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงไม่พ้น แต่ถึงอย่างนั้น การดีลกับเรื่องนี้ของเมมเบอร์เอง และทางค่าย (ซึ่งก็คือเมมเบอร์เองนั่นแหละ) มีความเป็นมืออาชีพมาก ๆ ออกมาแจ้งเพื่อทราบ พูดเท่าที่จำเป็น ไม่มีการดึงอีโมหรือดราม่าใด ๆ ตารางงานทุกอย่างยังคง Stick to the plan แล้วเดินหน้าแบบไร้รอยต่อ อย่างที่คิมจงวาน เคยบอกไว้ว่า Life goes on, music goes on
>>
"No, this can't be real."
/ song introduction
NELL : Wanderer (Official MV)
VIDEO
/
There's something wrong.
มีบางอย่างผิดแปลกไปแน่ ๆ
Something's wrong.
มีบางอย่างแน่ ๆ
ตั้งแต่เมื่อไรกัน
เหมือนมีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวฉัน
ได้กลายเป็นเจ้าของชีวิตฉันไปแล้ว
/
คำแปลนาทีที่ 0.55
Wanderer เป็นซิงเกิ้ลแรกที่ NELL เลือกปล่อยออกมาในอีพีชุดนี้ แทร็คแรกที่ลงตัวทั้งพาร์ทดนตรีและเนื้อหา เป็น Pop-Rock ที่วงตั้งใจให้ทุกอย่างดูเรียบง่ายที่สุด ริฟฟ์กีตาร์ง่าย ๆ กรูฟ โทนของกลองอะคูสติกที่เป็นธรรมชาติ มีท่อนร้องติดหู เป็นเพลงจังหวะกลาง ๆ ที่ฟังง่าย เปิดด้วยริฟฟ์กีตาร์ จบด้วยริฟฟ์กีตาร์ ครบลูปชนิดที่ว่าสามารถฟังวนต่อไปเรื่อย ๆ ได้ทั้งวัน
แต่ภายใต้คำว่าง่าย ๆ นั้น เต็มไปด้วยรายละเอียดของซาวด์ดนตรียุบยับไปหมด แค่ริฟฟ์กีตาร์ท่อนเดียวที่ว่า ก็ปาเข้าไปหกเลเยอร์แล้ว และแต่ละไลน์แสนประณีต บวกกับมิกซ์เสียงออกมาได้คลีนมาก มีการเล่นซาวด์ซ้ายขวา ยิ่งรู้สึกว่าเสียงกีตาร์ในเพลงนี้มันเพราะสุด ๆ ไหนจะการตัดใส่เอฟเฟคที่ Verse 2 เพิ่มมิติความหนึบและสีสันให้กับเพลง โซโล่กีตาร์ที่โคตรเท่ แถมมีตั้งสองรอบ ลีแจคยอง (มือกีตาร์) ร้องไห้แล้ว ฮ่าาา กีตาร์โซโล่ร็อคลีเยี่ยมที่สุด <3
ยังมีเสียงที่คนฟังแทบจะไม่รู้เลยว่ามีอยู่หลายจุดถ้าคิมจงวาน ไม่บอก อย่างลูกเล่นเสียงรีโหลดกระสุนช่วงกลางเพลง อันนี้เราเซอร์ไพรส์มากจริง เพราะไม่คิดว่าจะได้ยินซาวด์แบบนี้ในเพลงของ NELL เลย ซึ่งปรากฏว่า ไม่ได้มีแต่เสียงรีโหลดอย่างเดียว ยังมีการใส่เสียงปืน ปังๆๆ ลงไปด้วย ทั้งเสียงกีกๆๆ ซาวด์ ambient ลอย ๆ ที่วงตัดออกมาเป็นอินโทรตอนแสดงสด คือดีเทลมันเยอะมากจริง ๆ และดันผสมเสียงทุกอย่างออกมาได้กลมกล่อม คนฟังเลยรู้สึกว่า Wanderer เป็นเพลงป๊อบที่ฟังง่ายและฟังได้เรื่อย ๆ ทั้งที่ซาวด์มันชุ่มช่ำมาก นี่คือเพลงที่วงนิยามคำว่า Simple แล้วใช่ไหม ;)))
NELL : Wanderer @ NELL CLUB CONCERT 2023 'BURN'
VIDEO
หากมองในด้านเนื้อหา Wanderer ก็เป็นแทร็คเปิดที่ถูกต้อง ทุกคนคงเคยคิดตั้งคำถามถึงความหมายในชีวิต เราเกิดมาเพื่ออะไร มีอยู่ไปเพื่ออะไร เหมือนเนื้อร้องในเพลงนี้ ที่ผู้พูดกำลังทบทวนความคิดและพึมพำกับตัวเองไปเรื่อย ๆ 'มีความจริงใจไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณต้องซ่อนมัน / จะหัวเราะไปเพื่ออะไร ในเมื่อยังมีน้ำตา / มีผู้คนรอบกายไปเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีความรัก / มีปีกไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณต้องสลัดมันทิ้ง / มีความฝันไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณต้องฝังกลบมัน' จุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามมากมาย ที่ตัวละครในเพลงอาจเริ่มค้นพบว่า ทำไมทุกอย่างในโลกถึงดูขัดแย้ง เป็นพาราด็อกซ์ และไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
และหาก Simulation Theory เป็นจริง เขาคงเริ่มฉุกคิดและค้นพบบัคของระบบ ในจังหวะเดียวกันกับเสียงรีโหลดในเพลง ซึ่งในมิวสิควีดีโอนำเสนอออกมาเป็นรอยแครก ได้ดังขึ้น เหมือนซีนแตะขอบฟ้าของจิม แคร์รี่ ในหนังเรื่อง The Trueman Show เหมือนจังหวะที่นีโอเลือกยาเม็ดสีแดงในหนังเรื่อง The Matrix เหมือน Glitch กระพริบที่ถูกค้นพบในซีรีส์เรื่อง 1899
Wanderer จึงเป็นเหมือน Glitch in the matrix ที่ชัดเจนมาก ๆ ของอีพีชุดนี้ เรื่องราวของโลกเสมือน ที่ความผิดพลาดของระบบ ดันถูกคาแรคเตอร์ในเพลงพบเห็นเข้าเสียแล้ว ส่วนตัวให้ความรู้สึกว่า คงเป็นตัวละคร npc ชาวบ้าน1 สักคน ที่รู้สึกว่า There's something wrong (แต่ถ้าเป็นโลกในเพลง Star Shell จะเป็น There's nothing wrong * ) อาจเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง ที่เขาได้ค้นพบว่า โลกที่อาศัยอยู่ใบนี้เป็นเพียงโลกซิมมูเลท ซึ่งท้ายที่สุด ต่อให้ชีวิตจะติดบัค หรือไม่ว่าจะทำอย่างไร ทุกอย่างจะมีตอนจบเหมือนเดิม เหมือนกับที่โปรแกรมได้วางไว้ เพราะทั้งชีวิตและตัวตนของเราทั้งหมดได้ทุกเซตค่าเอาไว้แล้ว
* อาจดูเป็นเนื้อเพลงในด้านตรงกันข้าม แต่เราคิดว่ามันเป็นเมสเสจเดียวกัน จากใน Star Shell ท่อน ' There's nothing wrong' นั้น เพลงพูดถึงการทำตามความฝัน จึงไม่มีอะไรต้องกลัว ขณะที่ใน Wanderer ถ้าอ้างอิงถึงเนื้อเพลงที่กล่าวว่า ' มีความฝันไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณต้องฝังกลบมัน' ที่ คน ในเพลงรับรู้ได้ถึงความย้อนแย้งและปฏิเสธมัน จึงเป็น 'There's something wrong'
Track 2. Dystopian's Eutopia
NELL : Dystopian's Eutopia (Official Live Clip)
/
สู่โลกที่ไม่รู้จัก
เพียงกัดผลไม้ต้องห้าม
ดิสโทเปียที่เรารอ-
ในท้ายที่สุด ยูโทเปียได้แผ่ขยายออกไป
Now we are in control
We’re not just ones and zeroes
We will be our heroes
We’re gonna live forever
/
คำแปลท่อนแรกของเพลง ในความเข้าใจทั่วไป 'ดิสโทเปีย' และ 'ยูโทเปีย' ทั้งสองเป็นคำอยู่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง หาก 'ดิสโทเปีย' คือโลกที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายและไม่พึงปรารถนา 'ยูโทเปีย' ก็คงเป็นโลกที่มีแต่ความดีงาม สมบูรณ์แบบ ดินแดนในอุดมคติที่ใครก็ต่างฝันถึง ทั้งสองนิยามแตกต่างกันเหมือนแถบสีดำสุดกับขาวสุด ซึ่ง NELL ได้นำมารวมกันเป็นชื่อเพลง Dystopian's Eutopia และใช้เป็นเดียวกันกับชื่ออีพีชุดนี้ด้วย
คิมจงวาน ได้ให้ข้อมูลของเพลงนี้เอาไว้ว่า เขาได้จินตนาการถึงตัวละครในมุมกลับ ที่เริ่มรับรู้ได้ว่า พวกเขาติดอยู่ในโลกเสมือนแห่งนี้ และพยายามแยกตัวออกจากระบบ โดยการสวมหมวกเป็นคาแรคเตอร์ในอีกฝากฝั่ง ตัวอย่างเช่น หากโลกเดินทางไปถึงยุคที่มีหุ่นยนต์ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใด ๆ ทำการยึดครองและควบคุมมนุษย์เราอยู่ จากมุมมองของมนุษยชาติ มันเป็นสถานการณ์ในโลกดิสโทเปีย แต่ในทางกลับกัน หากเรามองจากมุมมองของ AI มันเป็นสถานการณ์ในโลกยูโทเปีย ที่พวกเขาอยู่เหนือในฐานะผู้ควบคุมระบบนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว หากจะเคาะว่า ตัวละครบุรุษที่หนึ่งในเพลง Dystopian's Eutopia นั้น คือเหล่า AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใด ๆ ก็คงไม่ผิด อาจเป็นเทคหรือโปรแกรมบางอย่าง หรือหากให้คิดเป็นภาพง่าย ๆ ก็คงจะเป็นพวกหุ่นยนต์ สมองกล ซึ่งคลิกกับเนื้อเพลงแบบพอดิบพอดี
' Now look who's in control
We're not just ones and zeroes
We will be our heroes
We're gonna live forever '
หรือเนื้อเพลงในท่อน outro ' This cold, steel spine’s the new divine' ที่ชัดเจนมาก ๆ ซึ่งคิมจงวาน ได้มาจากการจินตนาการถึงบทบาทของหุ่นยนต์ที่มักปรากฎอยู่ในภาพยนต์ไซไฟ ที่แสดงออกมาว่า พวกเรา (หุ่นยนต์ AI) คือตัวเอกของโลกใหม่ คือพระเจ้าของโลกนี้ คำว่า 'divine' จึงโผ่ลขึ้นมา และต่อเสียงคล้องจองด้วยคำว่า ' s pi ne' การเรียงร้อยถ้อยคำจึงเกิดขึ้น ในแง่ความหมายที่ว่า ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มันจึงเป็น 'steel spine’s' รวมถึงสัมผัสคล้องจองของเนื้อเพลงในท่อนหลัก อย่าง control - zeroes - heroes ซึ่งทั้งหมดไหลลื่นออกมาพร้อม ๆ กัน ทั้งจังหวะ คำร้อง และสัมผัสของคำ
NELL : Dystopian's Eutopia @ CHRISTMAS IN NELL ROOM 2023 / 3rd
VIDEO
Dystopian's Eutopia เป็น Modern rock ที่หลายคนให้นิยามว่าเป็นแนวเพลงของ NELL การผสมผสานระหว่างซาวด์ของวงดนตรีและเสียงสังเคราะห์ ได้ออกมาเป็นเพลงในแบบเฉพาะของ NELL ซึ่งใครที่ติดตามวงนี้คงจะคุ้นเคยกันดี ทั้งเสียงซินธ์ ซาวด์กีตาร์เย็น ๆ ท่อนคอรัส โอ โอ้ โอ เป็นส่วนประกอบที่พอวงเลือกกดสูตรนี้ทีไร ก็ได้ผลทุกครั้ง แถมมันดันเข้ากันกับเนื้อหาของเพลงแบบสุด ๆ ด้วยซาวด์ที่ให้สัมผัสถึงโลหะเย็น ๆ ให้ความรู้สึกถึงการเปิดประตูเพื่อก้าวเข้าสู่ดินแดนใหม่ ที่ซึ่งการเริ่มต้นได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะในท่อนขายกลางเพลงช่วงนาทีที่ 1.49 'สิ่งที่ไม่สามารถแยกแยะได้ ของอารมณ์ที่ยุ่งเหยิง กลิ่นของความยุ่งเหยิง' มาพร้อมกับเสียงกีตาร์ที่แผดขึ้นแบบฉับพลันในเอฟเฟคที่โคตรเท่ เสียงเบสกระชับจังหวะ การรัวกลองและไฮแฮทของ ยางเฮยซึง ที่โคต รเทพ ทุกอย่างผสมพัวพันกันอย่างข้นนัว ยุ่งเหยิงโกลาหล ล้อไปกับความหมายของเนื้อร้อง จนถึงท่อน ' ดูเหมือนว่าในที่สุด ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นบ้างแล้ว' ซาวด์หนัก ๆ ในท่อนนี้ก็ได้สิ้นสุด และเข้าสู่โทนเพลงตามปกติ จะเห็นว่าการเรียบเรียงทั้งหมดผ่านการคิดมาอย่างดี กลายเป็นพาร์ทที่ช่วยเสริมไดนามิคให้เพลง Dystopian's Eutopia โดดเด่น ซึ่งเป็นพาร์ทที่เราชอบมาก จนดันเพลงนี้ให้เป็นเพลงที่ชอบที่สุดในอีพีช่วงหนึ่งเลย :))
คิมจงวาน เคยบอกอีกว่า "สำหรับคนที่ไม่มีความสุข การพลิกโลกอาจเป็นยูโทเปียสำหรับเขาคนนั้น" พอเราได้ยินประโยคนี้ ในหัวก็คิดไปถึงตัวละครบางจำพวกในซีรีส์เรื่อง Alice in Borderland ที่แม้ว่าโลกใบนั้นจะเต็มไปด้วยความโหดร้าย ซึ่งผู้เล่นต้องพยายามเอาตัวรอดจากสถานการณ์เหล่านั้นด้วยการเล่นเกมส์ แต่ก็มีผู้เล่นบางจำพวกที่สนุกไปกับมัน จนไม่อยากกลับไปในโลกของความเป็นจริง ดินแดน Borderland จึงเป็นเหมือนโลกยูโทเปียสำหรับพวกเขา เพราะในความคิดของคนเหล่านั้น โลกความเป็นจริงมันย่ำแย่ยิ่งกว่า ชีวิตจริงของพวกเขามันย่ำแย่ยิ่งกว่า
NELL : Crack the Code (Official MV)
/
Now open up your eyes
Escape from all the lies
Don't let them hypnotize you
Stand tall and unconfined
Remember who you are
Don't let them mesmerize you
/
ความประทับใจแรกของเพลงนี้ส่วนตัวเลยก็คือ ชื่อเพลงเท่มาก เท่สะดุดตาตั้งแต่ยังไม่ได้ฟัง ทั้งที่เป็นคำที่เคยได้ยินกันอยู่แล้ว แต่พอเป็นชื่อเพลงของ NELL แล้วมันเท่จัด ชอบมาก Crack the Code แหน่ะ ยิ่งพูดยิ่งเท่ ออกแนวสายเทค เข้ากับธีมของอีพีแบบสุด ๆ
คอนเซปหลักของ Crack the Code คือไซเบอร์พังค์ชวนฝัน รูปรสกลิ่นสีของเพลงนี้ จึงออกมาในโทนของสีนีออน เคลิ้ม ๆ ลอย ๆ ฟังผ่านหูอาจให้ความรู้สึกถึงซาวด์สังเคราะห์แทบทั้งหมด ทั้งที่จริงแล้วเป็นซาวด์ที่มาจากวงดนตรีเป็นหลัก โดยผ่านการดีไซน์มูดแอนด์โทนของเสียง เพื่อสร้างมวลบรรยากาศชวนฝัน เย็นสบาย แต่ไม่ถึงขั้นสว่างจนเกินไป ตั้งแต่เสียงร้องฟุ้ง ๆ ชวนผ่อนคลาย ไปจนถึงซาวด์ของกีตาร์อะคูสติกและไลน์กีตาร์ไฟฟ้าเท่ ๆ ที่ยืนพื้นหลัง ทำหน้าที่ในการสร้างพื้นที่และอารมณ์มากกว่าการให้ทำนอง ในขณะที่เบสสร้างกรูฟและขับเน้นเสียงร้อง เสริมด้วยกลองไฟฟ้าในบางช่วง เพื่อเติมเต็มเสียงซินธ์ที่ล่องลอยอยู่ ส่วนประกอบหลักของเสียงในเพลงนี้ จึงมาจากเสียงของวงดนตรี กีตาร์ เบส กลอ ง แต่ดันให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือน ลีแจคยอง ถึงกับกล่าวไว้ว่า 'หากเพลง Dystopian's Eutopia คือเพลงแบบเฉพาะของ NELL เพลง Crack the Code ก็คือเพลงแบบเฉพาะของ NELL ในรูปแบบใหม่ เพลงที่มีแต่ NELL เท่านั้นที่ทำได้'
บรรยากาศในเพลงนี้จึงน่าสนใจเป็นที่สุด มันให้ความรู้สึกสงบนิ่ง ชวนเคลิบเคลิ้ม ทั้งที่ตัวเพลงไม่ได้มีความเรียบง่ายเลยแม้แต่น้อย Crack the Code ถูกห้อมล้อมอย่างแน่นหนา ด้วยซาวด์ดนตรีที่วงได้เลือกเฟ้น จัดวาง และผสมเสียงให้โฟลของเพลงเคลื่อนไหลอย่างเยียบเย็น เต็มไปด้วยความแพรวพราว อย่างลูกเล่นท่อนปรบมือติดกันช่วงกลางเพลงที่สะดุดหูมาก ๆ ฟังครั้งแรกคือ เห้ย คิดกันออกมาได้ยังไง โคตรเก๋ แถมเข้ามาในจังหวะเร่งเร้าถูกที่ถูกเวลา 'But we don't have much longer. We don't have much longer, you know' นี่ยังไม่นับรวมเนื้อหาของเพลงที่น่าขบคิด เรียกได้ว่าเป็นเพลงของ NELL ที่มีสไตล์มาก ๆ มีความชิค ๆ คูล ๆ (เพราะชื่อเพลงมันเท่ยังไงล่ะ) จึงไม่แปลกที่คนจะส่วนใหญ่จะเฮโลมาที่แทร็คนี้มากที่สุด เพราะไวป์ดี ฟังสบาย นุ่มนวลแต่ไม่เนิบ เป็นป็อบที่มีดีเทลหนึบหนับ สามารถฟังไหล ๆ ติดลูปไปได้เรื่อย ๆ
NELL : Crack the code @ CHRISTMAS IN NELL ROOM 2023 / 1st
แต่ภายใต้ความนุ่มนวลชวนฝันนั้น กลับซ่อนความลึกลับบางอย่าง ด้วยความที่ Crack the Code เป็นเพลงที่มีคำร้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เราจะเห็นชุดคำที่คิมจงวาน เลือกใช้โดยเฉพาะ อย่าง amiss - fallacy - deceives - abyss / hypnotize - unconfined - mesmerize / decline - intertwine - redesign - divine (เจอคำว่า divine อีกแล้ว) ได้เป็นเนื้อเพลงที่เฉียบคมและงามมาก ๆ ทั้งการออกเสียงที่ไพเราะ สัมผัสคล้องจองในแต่ละท่อน และความหมายโดยรวมที่กล่าวถึงการต่อสู้ภายในจิตใจของตัวเอง ภายใต้การถูกจองจำด้วยอะไรบางอย่าง อาจไม่ได้หมายถึงการกักขังทางร่างกายเหมือนกับในมิวสิควีดีโอ แต่อาจเป็นความคิด ระบบ วิถีชีวิต หรือความเชื่อบางอย่างที่กดทับอยู่
โดยส่วนตัวเราเห็นภาพว่า ผู้พูดในเพลงเป็นเหมือนกระแสสำนึกของตัวละครหนึ่งที่อยู่ในโลกจำลองนั้น โลกนีออนที่ทุกชีวิตถูกบงการ คล้ายม่านหมอกที่ถูกกระแสลมพัดพาโดยง่าย โลกที่ข้อเท็จจริงถูกปะปน พร่าเลือน จนสิ่งถูกผิดยากเกินกว่าจะแยกออกจากกัน หากแต่จิตสำนึกที่อยู่ข้างในพยายามเรียกสติ ผ่านเสียงร้องที่ใส่ reverb หนักมาก เหมือนเสียงที่ดังก้อง ล่องลอยอยู่ในหัว แทนการไหลของกระแสสำนึกเจือจาง ที่ฟุ้งเบลอตลอดทั้งเพลง เสียงนั้นคอยตั้งคำถาม คล้ายบทสวดที่คอยสะกดจิตใจ ให้ตัวตนของเขาตื่นขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากการควบคุมใด ๆ
'Crack the code
Free your soul and mind
Unleash the power and unlock the dark Amid the scars and the silent cries We'll find the strength hidden deep inside '
ซึ่งน่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในขณะที่เนื้อหาของเพลงพยายามเรียกสติให้ตื่นจากความคลุมเคลือ หรือหลุดออกจากพันธนาการ แต่บรรยากาศแวดล้อมของ Crack the Code กลับคลุมเคลือและไม่จริงเสียเอง เพลงนี้จึงมีกลิ่นของความ mystery ที่น่าค้นหา มีความย้อนแย้งนิด ๆ อย่างในท่อนที่บอกว่า 'Don't let them hypnotize you' ทั้งที่ผู้พูดในเพลงก็ทำกิริยา hypnotize you เช่นกัน
และหากเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาของเพลง Dystopian's Eutopia ที่พูดในนามของผู้ควบคุมแล้ว เราคิดว่าบทสรุปของ Crack the Code คงเป็นประกายความคิดเริ่มต้นของผู้อยู่ใต้การควบคุม ที่ถูกจุดติดขึ้นมาในช่วงท้ายของเพลง ซึ่งเป็นส่วนที่เราเห็นต่างจากเนื้อหาในมิวสิควีดีโอ ที่ตัวละครในนั้นดูเหมือนจะติดลูปไปเรื่อย ๆ แต่ด้วยน้ำหนักของโทนเสียงในท่อนสุดท้ายที่แตกต่างจากท่อนอื่น ๆ มันดันให้เซนส์ของการเริ่มต้น และการปลดปล่อยสำหรับเรา จากความฟุ้งฝันเริ่มแปรเป็นความเชื่อมั่น กระแสสำนึกภายในใจเริ่มก่อตัวเป็นความคิดชัดเจน และเสียงร้องหนักแน่นกำลังย้ำเตือนซ้ำ ๆ ว่า เราสามารถหลุดออกจากพันธนาการนี้ได้ คุณ คุณ และคุณผู้ควบคุมระบบทั้งหลาย จงเตรียมรับมือไว้ให้ดี
' Shout it out, shout it out
We will make happen through the night '
"ดังขึ้นอีก บทเพลงแห่งราตรีนิรันดร์"
/ song introduction
NELL : Moon Shower (Official MV)
VIDEO
/
โอ้ ไอ้สาระเลวคนไหนที่ทำให้ฉันเป็นแบบนี้ ?
นี่คุณอยากรู้มากขนาดนั้น-
ถึงขั้นโยนฉันลงไปในเขาวงกตนรกนี่ ?
I'll destroy all you've made
คืนนี้ ดวงจันทร์ของฉันจะส่องแสง แม้ไม่มีดวงอาทิตย์ของคุณ
เกิดใหม่ภายใต้แสงจันทร์สีฟ้าดวงนี้
ดังขึ้นอีก บทเพลงแห่งราตรีนิรันดร์
การลืมเลือนแสนเลวร้ายที่ทำคุณมืดบอด,
คุณได้หนีมันพ้นแล้ว สลักวันนี้ไว้ในใจ
/
คำแปลนาทีที่ 1:33
หากเปรียบ Crack the Code เป็นเพลงปลุกใจที่เย็นจั ด แทร็คนี้ คงอยู่ในขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง มันคือเพลงที่ปลุกเร้าความขบถในจิตใจให้คุกรุ่น สู่ความเกรี้ยวกราดที่แสดงออกซึ่งหน้า และพุ่งเข้าชนแบบไม่หวั่นเกรงตั้งแต่เริ่มจังหวะกลองลั่น พร้อมตะโกนออกไปพร้อมกัน ไอ้สาระเลวทั้งหลาย จงเตรียมรับมือไว้ให้ดีภายใน 3 2 1
Moon Shower เป็นซิงเกิ้ลลำดับที่ 2 ของอีพีชุดนี้ Track 4 ที่นำพาทั้งแฟนเพลงเก่าและใหม่ใจเต้นสูบฉีดกันไปหมด เพราะ NELL กลับมาพร้อมกับความร็อคแบบเข้มข้น ที่หลายคนฟังแล้วอาจนึกย้อนไปถึงอัลบั้มอินดี้ในยุคแรกของวง อย่างชุด Reflection Of หรือ Speechless เพลงร็อคตรง ๆ การร้องตะโกนโหวกเหวกแบบไม่สนใจใคร พวกเขากลับไป Back to Basics อีกครั้ง ด้วยความตั้งใจให้แทร็คนี้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เรียบเรียงและบันทึกเสียงแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เครื่องดนตรีทุกชิ้นจึงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างดุดัน ชัดแจ้ง มีความเป็นการาจร็อคที่เจือกลิ่นอายของพังก์ด้วยซาวด์และเนื้อหาต่อต้านท้าชน โดดโดด เด่นมาก ๆ ด้วยไลน์เบสและกลอง แกนหลักที่คอยเปลี่ยนจังหวะ บ้างผ่อน บ้างกระชากเร่งเร้า เพื่อรักษาความตึงเครียดตลอดทั้งเพลง ซาวด์กีตาร์เรโทรที่วงยังคงชอบใช้ ทั้งหมดดิบกร้าน มีความสาก แต่ก็ไม่เลอะเทอะจนเกินไป เพื่อให้เสียงร้องขับเคลื่อนแรงปราถนา และแสดงความขบถได้ในหลากหลายมิติ
' I hate the world you’ve made. '
เนื้อหาของ Moon Shower กลมกลืนไปกับทฤษฎี Simulation Theory อย่างแยกไม่ออก โลกในเพลงคงใกล้ความเป็นดิสโทเปียในเชิงทฤษฎี ทั้งเลวร้ายและเน่าเฟะ หลายคนอาจก้มหน้ายอมจำนน แต่ไม่ใช่สำหรับตัวละครในเพลงอย่างแน่นอน เขาคนนี้เต็มไปด้วยความเดือดดาลและไม่พอใจในโลกพัง ๆ แสนรังเกียจสภาพสังคมและระบบที่คอยกดขี่ หรือถ้าให้คิดในโหมดไซไฟตามเนื้อเพลง คน ๆ นี้ทั้งโกรธเกรี้ยวและคับแค้นใจต่อผู้สร้างโลก หรือผู้ควบคุมระบบใด ๆ มิหนำซ้ำยังประจันหน้าท้าทายแบบไม่หวั่นเกรง อยากพิชิต อยากทำลายทุกสิ่งที่ผู้สร้างได้กำหนดกฎเกณฑ์ และเขาจะเป็นเหมือนดวงจันทร์ที่ส่องสว่างได้ด้วยตัวเอง แม้ไม่มีแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ที่คนเหล่านั้นสร้างขึ้นมา
' เบิกตาให้กว้าง
จ้องมองดวงอาทิตย์ที่เย็นลงให้ชัด ๆ
เปลี่ยนแปลงไม่ได้?, ทำลายไม่ได้?
นั่นคือสิ่งที่คุณคิดสินะ?
ทั้งหมดนั้นจะพังทลาย '
เนื้อเพลงปลุกระดมอย่างเห็นได้ชัด มันมีเอเนจี้เดือด ๆ ของการ Fight the system ความต้องการที่จะต่อต้านระบบและอยากเอาชนะ แบบสุดจะทนกับสิ่งที่เป็นอยู่นี้แล้ว และฉันจะต่อสู้ดิ้นรนจนสุดแรง เพื่อหลุดพ้นจากมันให้ได้ ฟังแล้วโคตรฮึกเหิมจนอยากออกไปไฟท์กับอะไรสักอย่าง ซึ่งเนื้อหามิวสิควีดีโอของเพลงก็ตีความออกมาได้อย่างชัดเจน คือแสดงตัวละครที่ทำงานรับใช้ระบบด้วยความจำยอม จนพยายามปลดแอกตัวเองจากการถูกจับจ้องและจองจำในที่สุด
แต่ภาพของเราที่มีต่อ Moon Shower ดันไปนึกถึงอนิเมะเรื่อง Cyberpunk: Edgerunners ทันทีในครั้งแรกที่ฟัง ด้วยสีสันของดนตรีที่ฉูดฉาด เหมาะกับการเป็นซาวด์แทร็คประกอบอนิเมะมาก ๆ ซึ่งโลกจำลองในเพลงก็คงเป็นเหมือน Night City โลกไซเบอร์พังก์แห่งอนาคต ตามคอนเซป High Tech, Low Life - เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าสูง, แต่คุณภาพชีวิตต่ำ ที่ตัวละครต่างต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดในโลกฟอนเฟะ พร้อมเป้าหมายในการล้มล้างบริษัทนายทุน มีมุมที่พูดถึงดวงจันทร์และการตามหาความหมายของชีวิต ซึ่งโทนเรื่องยังออกไปในทางบ้าคลั่ง คล้ายกับโทนของเพลงอีก
บวกกับเสียงร้องของคิมจงวาน แบบเปิด devil โหมด ฟังแล้วมันสาแก่ใจ รักความ aggressive ในน้ำเสียงคุณเค้ามาก แถมปนความยียวน กวนอารมณ์ โซเซ็กซี่เหลือเกิน ซึ่งไลน์ vocal ในเพลงนี้ก็มีหลากมิติ หลายดีเทลสุด ๆ ตั้งแต่คีย์สูง กลาง ต่ำ ต่ำมาก คือเป็น คนที่รู้จักน้ำเสียงของตัวเองและเลือกใช้มันได้อย่างดี เสียงร้องหลากหลายช่องเสียงนี้ จึงเป็นส่วนที่ ผสมพัวพันคั้นให้ตัวเพลงออกรสจัดจ้านยิ่งขึ้น จนเรานึกไปถึงคำพูดของพี่คิววง flure ที่แกเคยเรียกการอัดเสียงร้องหลายโทนแบบนี้ว่า 'เสียงร้องจากนรก' ซึ่งไลน์โวคอลของคิมจงวาน ในเพลงนี้คือใช่เลย อินเนอร์ปีศาจสุด ๆ
NELL : Moon Shower @ CHRISTMAS IN NELL ROOM 2023 / 3rd
VIDEO
เอาจริง ๆ แม้ไม่รู้คำแปลของเพลงก็คงเดาได้ไม่ยาก เพราะดนตรีและองค์ประกอบทั้งหมดของ Moon Shower แสดงอารมณ์ขุ่นมัวอย่างชัดเจน ยิ่งใน live version ยิ่งเดือดจัด ทั้งซาวด์ดนตรีและเสียงร้อง ทุกอย่างเร่งดังเพื่อถ่ายทอดพลังของเพลง โดยเฉพาะเสียงกลองของยางเฮยซึง ที่ไม่เอ่ยถึงก็คงไม่ได้ เพราะเพลงนี้กลองฉ่ำมาก ใช้เปิดตั้งแต่อินโทรจนปิดจบท้ายสุด ซึ่งเฮยซึง ตีได้แข็งแรงแน่นปั๊ก เก็บหมดทุกเม็ด และโคตรคม (เฮยซึง เป็นคนตีกลองแรงจริง จนบางเพลงจงวาน ถึงกับต้องขอให้เบา ๆ หน่อย) เสียงร้องของคิมจงวาน ที่เพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งรถไฟเหาะตีลังกายังไงยังงั้น อย่างโทนเสียงทุ้มต่ำยานคาง ร้าย ๆ เหมือนช่วงรถไฟกำลังเคลื่อนที่เฉื่อย ๆ ก่อนกระชากด้วยความเร็ว เมื่อคุณเค้าลากเสียงเข้าคีย์สูงใน Verse 2 นาทีที่ 1:33 (ต่างจากใน audio ที่คีย์นี้เป็นเสียงแบ็คกราว) ดิฉันละกริ๊ดดดมากกกก คุณพี่ไปโมโหจากที่ไหนมา สุดพีค ฟังแล้วมันปลอบประโลมจิตวิญญาณสุด ๆ จนตัวเองย้อนกลับไปดูท่อนนี้บ่อย ๆ ไหนจะการตะโกนแบบเต็มเสียงนั่นอีก ได้ยินจงวาน ว๊ากแล้วมันคลายเครียดจริง ๆ "ดังขึ้นอีก บทเพลงแห่งราตรีนิรันดร์" :))
/
Crawl out of that shadow
Search for light to follow
Life is more than hollow
Oh, please don't surrender
No one's got the answer
Don't let destiny flow in one direction
เมื่ออินโทรของเพลงเริ่มขึ้น ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเดินเลื่อนลอยไร้จุดหมายไปบนถนนชื้นแฉะ จากฝนที่เพิ่งตกลงมาและตั้งท่าว่าจะตกอีกครั้ง โลกรอบตัวหม่นเทา บรรยากาศมืดฟ้ามัวดินราวกับมีเงาขนาดยักษ์ทอดยาว ปกคลุมไปด้วยละอองสีขาวหม่น ที่ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเป็นไอชื้นจากความเย็นหรือฝุ่นควันกันแน่ แต่คุณก็ไม่ได้ใส่ใจนัก คุณเดินเอื่อยเฉื่อยบนเส้นทางมืดมิดเพียงลำพัง หรือหากมีใครที่เดินสวนทางไป คุณก็คงไม่รู้สึกถึงคนเหล่านั้นอยู่ดี
ซีนเปิดของตัวละครในเพลงก็คงเป็นประมาณนี้ Hollow มอบความดำดิ่งให้เราทันที เพียงแค่โน๊ตแรกดังขึ้น มันกลืนเอเนจี้เดือด ๆ ของแทร็คก่อนหน้าอย่าง Moon Shower หายไปจนหมด ในจังหวะที่เหมือนกับการแพนกล้อง ที่ละจากตัวละครหนึ่งมายังอีกตัวละครหนึ่งซึ่งอยู่ในด้านตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แทรกซึมโดยซาวด์โหวงเหวง เสียงร้องแห้งผาก โทนกลองสร้างความดรามาติก ก่อเป็นมวลของความสิ้นหวังฟุ้งกระจายในอากาศ ที่ซึ่งความมืดมิดเข้าครอบงำ ความว่างเปล่าไร้ที่มากลืนกินชีวิตจิตใจ
' Even though we suffer
We'll be the one's to unfold
This map of our soul
So please don't surrender
No one's got the answer
Don't let destiny flow in one direction'
แต่ดำดิ่งได้ไม่นาน บรรยากาศของเพลงก็ผลัดไป เมื่อกลองเริ่มเสริมจังหวะ เครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ทยอยเข้ามาเพิ่มเติมสีสัน เสียงร้องในเพลงจุด พลังความรู้สึกบางอย่าง คุณเริ่มเดินย่ำก้าว และออกวิ่งมุ่งสู่เส้นทางเบื้องหน้า
ซีนรอบข้างแฟลชผ่านเร็วขึ้นทุกวินาทีที่ Hollow บรรเลงไป ทุกองค์ประกอบของเพลงคอยไล่ต้อนม่านหมอกในจิตใจให้คลี่คลาย พร้อมกับก้าววิ่งที่มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด คุณก็เห็นมัน-แสงวาบในปลายทางข้างหน้า ที่สว่างจ้าไม่เพียงแต่ไล่ความมืดรอบตัว แต่ยังแผ่ความหวังและพลังใจบางอย่าง คุณวิ่งไล่ตามแสงนั้น เร็วขึ้น เร็วขึ้นอีก ด้วยความรู้สึกใหม่ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน ความรู้สึกที่ทำให้หัวใจกลับมาเต้นอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
'Life is more than hollow
Search for light to follow'
ทุกครั้งที่ฟังเพลงนี้ เราเห็นภาพ Hollow เป็นเหมือนเส้นทางสายหนี่ง รู้สึกอยากออกวิ่ง อยากออกไปไขว่คว้า โดยเฉพาะเสียงร้องตะโกนที่คอยดันหลัง ' Life is more than hollow. Search for light to follow' ประโยคหลักแทนใจความสำคัญทั้งหมดของเพลง ซึ่ง คิมจงวาน ได้กล่าวว่า เขาแต่งเพลงนี้ให้กับคนที่กำลังท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือผู้ที่กำลังค้นหาความหมายในชีวิต อย่างสถานการณ์ภายใต้ Simulation Theory หากมีตัวละครที่ก้มหน้าจำยอม หลังค้นพบว่าตัวเองติดอยู่ในโลกเสมือนและคิดว่า 'นี่มันคงเป็นโชคชะตาสินะ' เขาตั้งใจจะบอกตัวละครเหล่านั้นว่า 'จงค้นหาแสงสว่าง แล้ววิ่งไล่ตามมันไป'
ด้วยเซนส์นี้ เราจึงรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า เสียงร้องของคิมจงวาน ในเพลง ทำหน้าที่เป็นเหมือนเสียงจากพระเจ้า (ต่างจาก Crack the Code ที่โวคอลเป็นเสียงจากตัวตนภายในของผู้พูดเอง) ที่คอยผลักดันตัวละครในเพลงให้เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปให้ได้ หรือถ้าจะคิดตามไอเดียนี้แบบไปสุดทางเลยก็คือ เขาเป็นผู้ชี้ทางสว่าง ผ่านเนื้อร้องที่คอยฉุดดึงเราขึ้นมา หนักแน่น และสวยงามด้วยการร้อยเรียงสัมผัสของคำอีกเช่นเคย (shadow - follow - hollow / surrender - answer / unfold - soul) ทรงพลังด้วยซาวด์ดนตรีที่ค่อย ๆ ไต่ระดับเปลี่ยนเฉดจากความมืดมิดจนสว่างเจิดจ้า สมกับคอนเซป 'ดราม่าพลิกฝัน' มีการใช้เครื่องดนตรีที่แตกต่าง ผลัดกันเป็นเสียงเด่นและแยกพาร์ทของเพลงในแต่ละท่อน อย่างไลน์กีตาร์คั่นที่สร้างความกระวนกระวายเล็ก ๆ ในช่วงต้น ต่อด้วยพาร์ทที่คั่นด้วยไลน์เปียโนวินเทจ เพิ่มความนุ่ม และมอบสัมผัสแรกของความหวัง ส่งต่อไปยังท่อนร้องตะโกนไคลแม็กซ์ที่คั่นในพาร์ทถัดไป
'Life is more than hollow
Search for light to follow'
น้ำเสียงดุดันกระชากเพลงให้พีคขึ้นไปอีก ทุกคำร้องทะลุทะลวงบีบหัวใจให้เต้นแรงขึ้นมาสามร้อยเปอร์เซ็นต์ กริ๊ดมากอีกแล้ว ฟังครั้งแรกคือตกใจเลย อยู่ดี ๆ คุณพี่ก็ตะโกนใส่หน้า แต่คราวนี้ไม่ได้มาด้วยอารมณ์โกรธ (เอ๊ะ หรือว่าโกรธ 555555) แต่เป็นการจุดความหวังแบบไฟลุก 'Life is more than hollow. Search for light to follow' เพียงแค่ประโยคเดียวเหมือนการเติมเชื้อไฟ ที่โหมกระพือทั้งพลังงาน พลังใจ ผลักความรู้สึกเชิงลบ หรือแม้แต่บรรยากาศอึมครึมที่ตัวเพลงปั้นมาในตอนต้นออกไปจนหมด ไม่มีอีกแล้วความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง มีแต่ความฮึดสู้ อยาก break out อยากตีฝ่าวงล้อมของอะไรก็ตามที่ขว้างกั้น และโจนทะยานออกไปให้ได้
ไหนจะการระเบิดออกของซาวด์ดนตรี ซึ่งเดิมทีวงตั้งใจให้แทร็คนี้จบด้วยความสงบเย็น แต่จู่ ๆ คิมจงวาน ก็มีดำรัสเปลี่ยนองค์ประกอบของเพลง Hollow จึงถูกเพิ่มอุณหภูมิให้ร้อนแรง ด้วยซาวด์กีตาร์หนาหนักและเสียงสังเคราะห์ในช่วงท้ายสุด โดยเฉพาะไลน์ของซินธ์เมโลดี้ที่ถูกดันมาไว้ข้างหน้า ช่วยแต่งแต้มความแฟนตาซี ทำให้เพลงฉูดฉาด แต่ยังคงความดรามาติกไว้ได้ครบ ยิ่งใน live version ที่เพิ่มความใหญ่ของซินธ์เมโลดี้ให้แกรนด์ขึ้นไปอีกในท่อน outro ต่อท้าย ยิ่งต่อเติมความเหมือนฝัน ตีฟูพลังความหวังให้ยิ่งใหญ่ สมกับที่ Hollow ถูกยกให้เป็นบทเพลง anthem บูชาความหวัง ที่ปรารถนาให้ผู้คนออกค้นหาแสงสว่าง แม้ในความว่างเปล่า
NELL : Hollow @ CHRISTMAS IN NELL ROOM 2023 / 2nd
Hollow เป็นแทร็ค B-side ของอัลบั้มนี้อย่างแท้จริง และเป็นแทร็คสุดท้ายของอีพี ที่มีความยาวเพียง 3:20 นาที ซึ่งถือว่าสั้นมาก หากเทียบกับบรรดาเพลงปิดท้ายของ NELL แต่วงยังคงเรียบเรียงออกมาในรูปแบบของการบิวท์อัพ คือเล่าไหลไปเรื่อย ๆ จนพีคในพาร์ทสุดท้าย คล้ายกับเพลง Let the hope shine (จะเห็นว่าย้ำประโยคเดียวซ้ำ ๆ เหมือนกัน เมสเสจใกล้เคียงกัน แต่ฟิลต่างกันแบบสุดขั้ว) Hollow จะมีความกระชับ ออกฮุคเร็ว แต่ยังคงความเป็นเพลงฟินาเล่ที่ยอดเยี่ยม รู้สึกว่าเพลงดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ฟัง มันยกระดับเรื่องราวของเพลงทั้งอีพีให้มีความหมายขึ้นไปอีก ต่อให้ Simulation Theory จะเป็นจริงหรือไม่ ชีวิตของเรามันยังเป็นของเรา 'Don't let destiny flow in one direction'
note : Let the hope shine ในอัลบั้ม C (2016)
และจุดหนึ่งที่เรามองเห็นอยู่เสมอ คือการเติบโตในเนื้อหาเพลงของ NELL ที่มักซ่อนอยู่ในผลงานของพวกเขาไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทัศนคติที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักถูกสะท้อนออกมาในเนื้อเพลงอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านช่วงวัย ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสม หล่อหลอมเป็นมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ แค่ลองเทียบเฉพาะเพลงปิดสุดท้ายในอัลบั้มเก่า ๆ ก็จะสัมผัสได้เลยว่ามันลิฟอัพขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัว อย่างเนื้อหาของเพลง Movie จากอัลบั้ม เก่าสุดดาร์คไซด์ Healing Process (2006) ที่ กล่าวถึง การเดินทางเพียงลำพังบนเส้นทางความฝันอันสูญสลาย
พอกันที ฉันยอมแพ้แล้ว
ตอนนี้ฉันขอพอ
ฉันแค่มีชีวิตเพียงคุกเข่าต่อหน้าความเป็นจริงเท่านั้น
ถึงยังไง ความพ่ายแพ้ของฉันก็ถูกวางไว้แต่แรก
เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
และจะจากไป
นี่เป็นทางเดียวที่จะจบลง
Movie : Healing Process Album (2006)
ยอมแพ้ซะ สู้ไปก็ไร้ความหมาย นั่นคือสิ่งที่ Movie กำลังบอกกับเรา แม้ว่าเนื้อร้องของมันจะจมดิ่งไปในความรู้สึกเชิงลบ แต่ตัวผู้แต่งเองก็ยังหวังว่าเพลงนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งให้คนฟังผ่านช่วงเวลายากลำบาก และยังคงเดินทางตามความฝันต่อไป ตามฟังก์ชั่นของเพลงในอัลบั้ม Healing Process ที่ว่าด้วยการเยียวยาความเศร้าด้วยความเศร้า (ซึ่งยาคุณพี่แรงเกินไปมาก ก่อนได้เมสเสจนั้นอาจจะดีเพรสตายก่อน)
แต่มาวันนี้ Hollow แสดงความรู้สึกออกมาอย่างซื่อตรง พร้อมย้ำบอกให้เราค้นหาแสงแห่งความหวัง มันซึ้งมากนะ ยิ่งพอรู้ว่าปีที่ผ่านมาคิมจงวาน ผ่านเรื่องอะไรมาบ้าง แล้วตัวเค้าเองยังสามารถแต่งเพลงที่หาแง่งามในชีวิตแบบนี้ได้ ถึงขั้นมีประโยคที่ว่า ' So please don't surrender' อยู่ในเนื้อเพลงด้วย เนี่ย คิดดูก็แล้วกัน Hollow จึงไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เชียร์อัพเท่านั้น แต่มันกำลังบอกให้ใครสักคนได้รับรู้ว่า คุณได้เรียนรู้อะไรบางอย่างในช่วงเวลาที่ผ่านมา เหมือนได้เห็นคน ๆ นึงเติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ
กับ NELL เองก็เหมือนกัน เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แน่วแน่ขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ
/
NELL EP 'Dystopian's Eutopia' Produced by Nell Recorded by Nell @Satellite Studio, Hye-Seok Oh, Sang-Hyun Cho, Young-Rok Cho @M.O.L Studios, DRK(Asst. Joon-Sang Kim, Min-Woo Ji, Jun-Young Kim) @Dream Factory Studio Mixed by Jong-Wan Kim @Satellite Studio, DRK(Asst. Min-Woo Ji, Jun-Young Kim) @Koko Sound Studio Mastered by Randy Merrill @Sterling Sound NY, Stuart Hawkes @Metropolis Studio London
Ep : Dystopian's Eutopia ให้ความรู้สึกเหมือนการได้อ่านเรื่องสั้น Sci-fi หรือการดูหนังสั้น Sci-fi ภายใต้ธีมเรื่องหลักเดียวกัน ผ่าน 5 แทร็ค 5 เรื่องราว ที่ถ่ายทอดคอนเซป ความรู้สึก และการกระทำของตัวละครเอกในแต่ละเพลงได้อย่างเด่นชัด โดยไม่มีแทร็คไหนจมหาย พร้อมด้วย setting โลกสมมติ การแต่งเติมสถานการณ์แวดล้อม เพื่อเปิดจินตนาการต่อเรื่องราวในเพลงได้แบบเป็นฉากเป็นตอน อีพีชุดนี้จึงเป็นงานดนตรีของ NELL ที่ให้ภาพชัดเจนมากที่สุดสำหรับเรา จากตัวเพลงค่อนข้างสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อ ย่างเนื้อเพลงของ Moon Shower หรือ Hollow ที่แทบจะปาใส่หน้า แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ตีกรอบเนื้อหาไปซะทั้งหมด เพราะทั้ง 5 แทร็ค 5 เรื่องราวล้วนมีตอนจบแบบปลายเปิด แถมจบแบบ Cliff-hanger ให้ค้างคาด้วยซ้ำ มันจึงเปิดช่องว่างให้จินตนาการของผู้ฟังแต่ละคนได้โลดแล่นตามแต่ใจ ทุกคนจะมีสตอร์รี่บอร์ดเป็นของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนเสียงที่ได้ยินเป็นภาพแบบใดก็ตาม
การเรียงแทร็คที่เหมือนกับการตัดต่อ ลำดับภาพก่อนหลัง ซึ่ง NELL ทำได้ดีเสมอมา ทั้ง ๆ ที่เพลงในอีพีชุดนี้ ล้วนแต่มีคาแรคเตอร์เฉพาะและจัดจ้านมากกกก มากจนแต่ละเพลงแทบจะแยกชั้นออกจากกันได้ แต่วงก็สามารถจัดวางให้ฟังสมูทได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่ชอบคือการนำ Crack the Code มาผ่าไว้กลางอีพี เพราะมู้ดมันเชื่อมโฟลวของเพลงอื่น ๆ ได้ดีมาก ไปจนถึงเพลง Moon Shower ที่เสียงตะโกนในนั้น ก็ปูทางไปยังเสียงตะโกนใน Hollow อีก การฟังเรียงแทร็คจึงทำให้เพลงรสชาติแหลมจัดในอีพีชุดนี้ยิ่งกลืนง่าย แถมเสริมรสให้แต่ละเพลงอร่อยมากขึ้น ด้วยประสิทธิภาพในการแสดงสดที่ยอดเยี่ยมเสมอมา
NELL : EP ' DYSTOPIAN'S EUTOPIA' @ NELL CONCERT 'AFTERGLOW'
นอกจากมิติของ Simulation Theory แล้ว คำร้องและเนื้อหาเพลงหลายส่วนยังให้เซนส์ถึงเรื่องของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นในเชิงนิยามของผู้สร้าง หรือเชิงปรัชญาศาสนาก็ตาม อันที่จริง เพลงของ NELL หลายเพลงมักรีเลทถึงเรื่องเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นนิยาย Sci-fi ที่เราคุ้นเคยหลายต่อหลายเรื่อง ก็มักจะเบลนระหว่างเรื่องของเทคโนโลยีกับแนวคิดปรัชญาผู้สร้าง ซึ่งอีพี Dystopian's Eutopia ก็ยังคงจับประเด็นเหล่านี้อยู่ แถมทุกเพลงยังมีนัยของการตื่นรู้ หรือหลุดพ้นจากบางสิ่งบางอย่างอย่างเห็นได้ชัด พ่วงด้วยการ เปิดมุมมอง เรื่องความจริง ความปลอม โดยการตั้งคำถามผ่านเนื้อหาของเพลง ว่าความจริงคืออะไร และใครเป็นผู้กำหนดความจริงนั้น ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันและช่วยทักทอทฤษฎีโลกจริง-โลกเสมือน ใส่ไว้ในอีพีอย่างแนบแน่น
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ อีพี Dystopian's Eutopia เป็นผลงานเพลงชุดแรกของ NELL ที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักอยู่ในนั้นเลย ในขณะที่อัลบั้มเต็มชุดก่อน Moments In Between นำเสนอเรื่องราวความรักแบบเน้น ๆ (NELL : Moments In Between / Bits and Piece) ซึ่งแม้ว่าธีมหลักของอีพีชุดนี้ คือทฤษฎีที่ใส่แนวคิดหลุดโลก บวกกับจินตนาการในเรื่องเหนือธรรมชาติไว้เป็นฉากหลัง แต่เพลงของ NELL ก็ยังคงลายเซ็นต์ในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน แทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็น Sci-fi นั้นได้ ทั้งความสิ้นหวัง โกรธเกรี้ยว ไปจนถึงความหวัง และความสุข เฉดอารมณ์ที่ผสมเป็นความรู้สึกอันซับซ้อน ผสานลงไปในเนื้อหาของเพลงคาแรคเตอร์แรง ๆ ได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
โดยเฉพาะ ความฝัน และ ความหวัง ซึ่งต่อให้คนฟังจะไม่รับรู้คอนเซป Simulation Theory ของอีพี แต่ทั้ง 5 แทร็คสามารถแทนเรื่อง ความฝัน และ ความหวัง ลงไปได้หมด มันคือการสู้เพื่อความฝัน และอยู่อย่างมีความหวัง แง่มุมที่ทำให้เนื้อในของอีพีชุดนี้มีความอ่อนโยน ท่ามกลางคอนเซปเซอร์เรียล ความเป็นเทคล้ำ ๆ หรือตัวเลขฐานสอง 0 1 แข็ง ๆ และอีกนัยหนึ่ง ความเป็น Dystopian's Eutopia มันทำให้เราสัมผัสได้ว่า ภายใต้โลกดิสโทเปียที่พังทลาย ยังคงมีชีวิต มีความดีงามแบบยูโทเปียเล็ก ๆ อยู่ในนั้น และในทางกลับกัน ต่อให้โลกจะดำเนินไปจนใกล้เคียงกับความเป็นยูโทเปีย ก็คงไม่มีวันที่จะดีงามสมบูรณ์แบบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
จะเห็นว่าจินตนาการในงานดนตรีของคิมจงวาน ไม่มีที่สิ้นสุด และเพลงของ NELL ไม่เคยมีขีดจำกัด แน่นอนว่าในแง่ของพาร์ทดนตรี มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวง ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าอีพีชุดนี้อาจจะเป็นงานที่แบ่งยุคผลงานดนตรีของ NELL ได้อีกหนึ่งขยัก และจะเป็นอีกก้าวที่มีนัยสำคัญ อย่างอัลบั้ม Healing Process ที่แบ่งมุมมองเนื้อหา หรืออย่างอัลบั้ม C ที่แบ่งการใช้ซาวด์เย็น ๆ และหลังจากนี้ เราคงจะได้พบกับยุคหลังอีพี Dystopian's Eutopia เป็นโพส NELL ที่มียางเฮยซึง เข้ามาร่วม session กลอง ซึ่งน่าสนใจ น่าติดตามมาก ๆ เพราะขณะที่สแนร์โทนเดิมหายไป เราก็ได้ความสวิงสวายเข้ามาเติม ลองสังเกตได้จากหลายเพลงเดิมของ NELL ที่เฮยซึง เพอร์ฟอร์ม เขาจะให้ไลน์ที่มากกว่าในบางท่อน (แม้เรายังคงมองว่าเป็น This is my design ของ จงวาน ที่ให้เพิ่ม) คิมจงวาน ยังเคยพูดเลยว่า เฮยซึง ได้นำความสดใหม่มาสู่เพลงของ NELL
Ep : Dystopian's Eutopia จึงเป็นอีกหนึ่งสเตปที่สำคัญของวง ในหลายเรื่องราว แถมยังพิเศษในแง่ที่ว่า ถึงจุดหนึ่งเพลงของ NELL ผลักดันให้เรามองโลกอย่างมีความหวังและซาบซึ้งกับการมีชีวิตอยู่ได้ ยิ่งทำให้เราตื่นเต้น ตั้งตารอคอยผลงานใหม่ของพวกเขาต่อไปเรื่อย ๆ และเชื่อว่า NELL ยังคงก้าววิ่งไปในเส้นทางดนตรีอย่างแน่วแน่ เหมือนกับที่เคยเป็นมา
/.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in