เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง Golden Child - Ra Pam Pam
  • น่า สน ใจ

    ครั้งแรกของผู้เขียนกับการเขียนบทความวิเคราะห์ดนตรีวง K-pop ที่นอกเหนือไปจากวงในสังกัด SM Entertainment แม้จะมีโอกาสได้ฟังอยู่เรื่อย ๆ ก็ตาม ต้องยอมรับเลยว่าเป็นอะไรที่น่าสนุกมาก ดนตรีมีความน่าสนใจที่สามารถจับคนให้อยู่หมัดได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ซ่อนลูกเล่นอันแสนแปลกประหลาดเอาไว้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ลองไปดูกันว่ามีองค์ประกอบอะไรซ่อนอยู่บ้าง




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Lyric By ​danke (lalala studio), Stardust (KOR), Jangjun (Golden Child) & TAG (Golden Child)
    Written By Stardust (KOR), ​danke (lalala studio), Jangjun (Golden Child) & TAG (Golden Child)
    Arranged By Stardust (KOR)
    Composed By Stardust (KOR)

    E Minor - 110 BPM



    • เริ่มต้น intro เพลงมาด้วยเสียง synthesizer สองแนวหลักที่วนเวียนกันไปมา เป็นการนำเสนอจุดเริ่มต้นของเพลงที่ให้ความรู้สึกมั่นคงมากแม้ว่าจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยคอร์ดหลักของเพลงอย่าง E Minor แต่ลักษณะแนวทางเดินของคอร์ดหรือ chord progression นั้นก็ค่อนข้างมาตรฐานที่คนคุ้นเคยทำให้ผู้ฟังรู้สึกปลอดภัยและคาดเดาได้ถึงทิศทางของดนตรี

    • แนวทำนองเสียงสูงมีการปรับแต่งเสียงให้แหลมเล็ก แถมยังสั่นเครือจนแอบน่ากลัว ส่วนเสียงแนวล่างที่เล่นลงคอร์ดนั้น คอร์ดที่สองก็มักจะอยู่ในจังหวะที่คร่อมกลาง syncopation ทำให้คนฟังอาจรู้สึกไขว้เขวไปบ้างในช่วงแรก แถมทุกครั้งที่มีการลงคอร์ดก็จะมีเสียงคอร์ดเดียวกันที่สะท้อนกลับมา และอีกจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการจัดรูปแบบของคอร์ดที่เลือกโน้ตที่มีความสำคัญน้อยที่สุดมาเป็นโน้ตตัวต่ำสุด (2 ใน 3 คอร์ด) มันทำให้เสียงของดนตรีที่ถูกนำเสนออกมาไม่แข็งแรงมั่นคงเพียงพอ ..จะสังเกตได้ว่าภายในแค่ระยะเวลาไม่กี่วินาทีแรกความรู้สึกของผู้ฟังมันสับสนปนเปไปหมดจากการเลือกใช้องค์ประกอบของผู้แต่ง

    • ก่อนเข้าสู่ verse แรกของเพลง ในนาทีที่ 0:21 มีเสียง synthesizer ที่คล้ายกับเสียงของเครื่องสายเล่นโน้ตตัว E สูงเริ่มจากเสียงเบาไปดังแทรกเข้ามาเพื่อช่วยในการส่งผ่านเป็น transition เข้าไปหาเพลงหลัก

    • 0:23 เข้าสู่ verse 1 ที่มีการใส่บีตจังหวะอันหนักแน่นของ kick drum และเสียงเคาะจังหวะในช่วงเสียงสูงเข้ามา หากแต่ก็ยังรู้สึกว่าเพลงนี้มันแสนจะโล่งโปร่ง เนื่องจากไม่มีแนวเบสที่มารองรับ เสียงคอร์ดจากช่วง intro ก็ย้ายขึ้นไปอยู่ในช่วงเสียงที่สูงกว่าเดิมไป 1 octave (1 ช่วงเสียง) แถมยังเป็นคอร์ดที่เสียงบางเบามาก เรียกได้ว่าแทบจะได้ยินโน้ตอย่างชัดเจนแค่ตัวเดียวสลับไปมาแล้วคอร์ดที่เหลือแค่ซ้อนอยู่เบา ๆ ฟังไปก็รู้สึกหลอน แต่ในขณะเดียวกันนั้นเสียงร้องกลับถูกนำเสนอออกมาในช่วงเสียงกลาง-ต่ำ มันช่างแปลกประหลาด น่ากลัว วังเวงพิกล

    • อีกจุดที่น่าสนใจของเพลงก็คือการเลือกใช้จังหวะที่ค่อนข้างจะนำเสนอความเป็นละตินมาก ๆ ทั้งรูปแบบ rhythm จังหวะหนักเบา และเสียงของเครื่องดนตรีที่ถูกนำเสนอออกมา นอกจากบีตแล้วการเลือกใช้คอร์ดเองก็มีสไตล์ที่กึ่ง ๆ จะคล้ายคลึงกันกับดนตรีละตินแต่ถูกตัดคอร์ดออกไป 1 คอร์ด

    ตัวอย่าง เพลง Super Junior - Otre Vez นาทีที่ 0:23 บีตสไตล์ละตินลักษณะเดียวกัน


    ตัวอย่าง เพลง Maluma ft. Nego do Borel - Corazón นาทีที่ 0:46 บีตสไตล์ละตินลักษณะเดียวกัน


    • 0:27 น่าสนใจมากที่แนวร้องมีการร้องโน้ตตัว D Natural แทนที่จะเป็นตัว D# ตามคอร์ดในตอนต้นเพลง มันทำให้สีสันของเพลงหม่นลงมาเล็กน้อย แล้วไหนจะมีการเพิ่มเสียงประสาน bankground vocals ไว้ซ้อนอยู่กับทำนองร้องหลักเบา ๆ อีก ฟังแล้วก็ให้ความรู้สึกอยู่ไม่เป็นสุขเท่าไหร่ เหมือนกับมีใครบางคนที่คอยสอดส่องแอบมองและติดตามเราอยู่เลย

    • 0:31 เสียงเบสสไลด์สั้น ๆ ถูกเติมเข้ามาเพื่อพาเราไปข้างหน้าต่อ ผู้เขียนแอบรู้สึกส่วนตัวว่าแปลกดีที่เบสสไลด์นี้ถูกตัดให้สั้นลงเพื่อให้เกิดช่องว่างเล็กน้อยก่อนจะเข้าครึ่งหลังของ verse ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ เสียงสไลด์มักจะถูกนำพาไปหาโน้ตตัวถัดไปอย่างเชื่อมต่อกันเพื่อความ smooth จุดนี้ทำให้คนฟังอาจรู้สึกสะดุด ถูกหลอกเล็กน้อย แต่แล้วหลังจากนั้นก็รู้สึกได้รับการเติมเต็มจากแนวเบสที่ในที่สุดก็มาสักทีหลังจากที่เพลงผ่านไปกว่า 30 วินาทีแต่ก็ยังคงเป็นเบสที่ไม่ได้หนักแน่นมาก ยิ่งถ้าได้ฟังโดยใส่หูฟังจะรู้สึกได้ถึง distance ของเสียงเบสที่อยู่ห่างไกลออกไป นี่ยังไม่นับเสียง background vocals เองก็ถูกจัดวางและนำเสนอออกมาในลักษณะเดียวกัน ช่างน่าสนใจจริง ๆ

    • นอกจากเสียงเบสที่ใช้ส่งแล้วก็จะได้ยินเสียงกลองที่มีความเป็น acoustic และแตกต่างจากบีตต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมามาก ฟังแล้วก็คล้ายกับเสียงของกลอง Conga ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศคิวบา (ละตินอเมริกา) หรืออีกการคาดเดานึงคืออาจจะเป็นการใช้เสียงกลอง Tambori จากแคว้นกาตาลุญญาในประเทศสเปนก็ได้ เนื่องจากหลังจากนั้นมีการเพิ่มเสียงของ synthesizer เลียนแบบให้คล้ายกับเสียงของขลุ่ย อาจเป็นไปได้ว่าได้รับไอเดียมาจากเครื่องดนตรีพื้นบ้าน Flabiol ซึ่งมักถูกใช้บรรเลงควบคู่ไปกับ Tambori

    ตัวอย่างเสียงกลอง Conga


    ตัวอย่างเสียงกลอง Tambori และขลุ่ย Flabiol



    • ช่วงการส่งเข้าท่อนถัดไปมีการดรอปเสียงดนตรีต่าง ๆ ออกเหลือไว้แค่เสียงกลองที่เล่น groove เพื่อส่ง แต่ที่น่าแปลกคือการเพิ่มมาของเสียงที่คล้ายกับเสียงของแตรทรัมเปตเป่าโน้ตตัว E เร่งเสียงจากเบาไปดังในช่วงเวลาสั้น ๆ โผล่มาอยู่แค่นิดเดียวเท่านั้น แต่ก็จะสังเกตเห็นเลยว่าโน้ตตัว E ถูกนำมาใช้ในการเชื่อมต่อส่งผ่านจากท่อนนึงสู่อีกท่อนนึงแม้ว่าจะมาจากองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง

    • verse 2 แม้ดนตรีจะยังคงรูปแบบเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยแต่การที่ทำนองเมโลดี้เพราะ ๆ เปลี่ยนไปเป็นท่อนแร็พที่มีความรวดเร็ว ว่องไว กระชับ ดุดัน มันก็ทำให้อารมณ์ของเพลงแตกต่างไปกว่าเดิมมาก น่าสนใจจริง ๆ ที่ดนตรีก็ยังคงไม่ได้หนักหรือเสียงดังออกมากว่าเดิมเลย ในตอนท้ายมีการเน้นดนตรีควบคู่ไปกับคำว่า Gratatata ที่เป็นจังหวะ triplets หรือสามพยางค์ จังหวะลักษณะนี้ช่วยในการเน้นย้ำอารมณ์ ความรู้สึก และขยี้ใจผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

    • อีกครั้งที่รู้สึกว่าแปลก มีหลายสิ่งมากเลยที่แปลกใหม่และไม่คุ้นเคยนักสำหรับผู้เขียน อย่างแรกเลยคือการที่ท่อน verse 2 มีความยาวแค่เพียง 4 ห้องเพลง เมื่อเทียบกับ verse 1 ที่มีความยาวถึง 8 ห้องเพลงตามมาตรฐาน หลังจากนั้น Pre-Chorus เองก็ถูกหั่นให้เหลือสั้นแค่ 4 ห้องเพลงเช่นกัน เป็นการใช้เวลาบิ๊วอารมณ์ผู้ฟังไปยังท่อนฮุคที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสั้นและกะทันหันเลย

    • ช่วงนาทีที่ 0:50-0:52 คืออีกช่วงนึงที่แปลกและชวนให้หลงทางเสียเหลือเกิน เนื่องจากเสียงบีตต่าง ๆ ที่หายไปทำให้เพลงไร้ซึ่งที่เกาะยึดเหนี่ยว ล่องลอย พอเสียงร้องเข้ามาก็มาในลักษณะของโน้ต pick up ซึ่งเป็นโน้ตที่นำมาก่อนห้องจริง 1 ตัว มันทำให้เกิดการสับสนในจังหวะ ราวกับว่าดนตรีมันเร็วขึ้นหรืออย่างไรจนผู้เขียนถึงกับต้องไปย้อนฟังพร้อมปรบมือเป็นจังหวะที่คงที่ตรวจสอบอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดนหลอกกันถ้วนหน้าเลย

    • เข้าสู่ท่อน Pre-Chorus มีการเพิ่มมาของเสียงเครื่องสายที่มาช่วยสร้างความ epic ไม่พอยังมีเสียงกลองคล้ายกับกลอง snare ผสมกับกลอง tom tom หลาย ๆ ตัวเล่นพร้อมกัน มันช่างฮึกเหิมยิ่งใหญ่เกรียงไกร ราวกับเสียงกระทืบเท้าพร้อมกันของกลุ่มคนมากมายในบทเพลง We will rock you อย่างงั้นเลย

    • ความแปลกน่าสงสัยยังคงไม่หมด เมื่อคอร์ดของท่อนนี้เริ่มมาด้วย A Minor หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น E Minor แล้วลากค้างยาวยันจบ Pre-Chorus น่าสงสัยที่ท่อนนี้ดูน่าจะเป็นท่อนที่ใช้คอร์ดมาช่วยเสริมในการสร้างอารมณ์ที่นำไปสู่ท่อนฮุค ไหนจะการจะไร้ซึ่งเบสซัพพอร์ตมีเพียงโน้ตจากคอร์ดนี้ที่ไม่ได้ต่ำมากเพียงพอ แถมตัวฐานล่างสุดยังเป็นตัว B ซึ่งไม่ใช่โน้ตหลักที่สุดอย่างตัว E

    • ในส่วนของตัวทำนองมีการวนไปวนมาของโน้ตสามตัวในช่วงท้าย เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงสลับอยู่ตลอด ซึ่งโดยทั่วไปคนน่าจะเคยชินกับการที่ท่อน Pre-Chorus มันบิ๊วอารมณ์ขั้นสูงสุดด้วยการไต่โน้ตสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือลงต่ำอย่างใดอย่างนึง ตอนท้ายแนวเบสสไลด์เสียงต่ำลงพร้อมกับเบาเสียงลงไปด้วยจนหายไปแบบเนียน ๆ ซะงั้นอีก โดยรวมแล้วการฟังท่อนนี้มันทำให้เราเกิดความกังวลกับความไม่แน่นอน การติดอยู่ในเขาวงกตที่ไร้ซึ่งทางออก และความรู้สึกที่อะไรบางอย่างที่อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา



    • เข้าสู่ท่อน Chorus ที่ดนตรีต่าง ๆ จากช่วง verse กลับมาครบทุกองค์ประกอบเลย แถมที่เพิ่มมาให้ด้วยก็คือเสียง background vocals ที่ในรอบนี้ไม่ได้บางเบาจนไม่ได้ยินเหมือนก่อนหน้า แต่กลับเด่นชัดช่วยสร้าง harmony เสียงประสานซัพพอร์ตทำนองหลักได้เป็นอย่างดี แล้วยังมีเสียงของเครื่องลมทองเหลือง หรือกลุ่มแตรที่มาสร้างสีสันให้เพลงมีความสนุก ดุดันมากขึ้น

    • มีเสียงแทรกจากอะไรบางอย่างในนาทีที่ 1:04 สลับจากหูฟังซ้ายไปขวา เป็นลักษณะเสียงกรุ๊งกริ๊ง เสียงกระแทกของโลหะ จะว่าคล้ายกับ tamborint ก็ได้อยู่ ต่อมานาทีที่ 1:09 แนวเบสสไลด์ขึ้นไปที่โน้ตตัว B แตกต่างจากทุกรอบ ส่วนทำนองเองก็เปลี่ยนจากไล่โน้ตกลับลงเป็นไล่ขึ้นมาจบที่ตัว A อ้าวเห้ย กลายเป็นว่าสองแนวนี้มีโน้ตที่กัดกันซะงั้นเลย มันสร้าง tension ความตึงเครียดให้กับเพลง ก่อนที่จะค้นพบว่ายังมีเซอร์ไพรส์รออยู่มากกว่านี้อีก

    • พอนาทีที่ 1:10 เท่านั้นแหละ ช็อกหงายเงิบไปเลย ไม่เคยเจอมาก่อนที่มีการดรอปดนตรี เกิด silence ในท่อนฮุคยาวขนาดนี้ มีแค่เสียงเบสลงตุ้บ ๆๆ ปกติคนคาดหวังว่าท่อนฮุคมันควรจะเป็นท่อนที่ดนตรีแน่นที่สุด การดรอปลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนท่อน โดยมากจะพบในช่วงท้ายของ Pre-Chorus เข้าสู่ Chorus ไม่ก็หลัง Chorus เข้าสู่ท่อน Verse อีกครั้ง นี่มันบ้าชัด ๆ คนแต่งกล้าที่จะเสี่ยงและทำให้เกิดความแตกต่าง เกินการคาดเดาอย่างรุนแรงมาก

    • 1:19 Post-Chorus ในที่สุดทำนองท่อนนี้ก็เปลี่ยนจากการร้องโน้ตตัว D มาเป็น D# แล้วกว่าร้องทำนอง Ra-pam-pam ท่อนนี้คนฟังจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกที่ถูกบีบคั้น แอบน่าอึดอัดเนื่องจากการใช้โน้ตที่มีความห่างกันแค่ครึ่งเสียงเป็น chromatic ระหว่างตัว E และ D# ซึ่งก็เป็นอีกขั้นคู่ความห่างโน้ตและสไตล์ทำนองที่พบเจอได้ค่อนข้างบ่อยในดนตรีละติน

    • เสียงที่คล้ายกับเสียงของขลุ่ยกลับมาช่วยเล่น countermelody หรือทำนองรอง เป็นอีกครั้งที่เราจะรู้สึกว่าเสียงของมันล่องลอยมาจากที่ไกล ๆ ในช่วงท้ายของท่อนนี้ทุกอย่างกลับมาหมดทั้งร้อง ทั้งแร็พ (speaking-singing) Ra-pam-pam ปิดท้ายอีกครั้ง ถือว่าเป็น Post-Chorus ที่ยาวมากเทียบเท่ากับ Chorus เลย นั่นทำให้ฮุคโดยรวม ๆ แล้วมีความยาวมากกว่า Pre-Chorus แบบสุด ๆ




    • นี่แหละการดรอปที่รอคอย นาทีที่ 1:38 เข้าสู่ Verse 3 ด้วยเสียงเบสเล่นโน้ตแบบเดิมเป๊ะแต่กลับถูก mute อุดเสียงให้เบาลง เสียงบีตต่าง ๆ ถูกปรับให้เงียบมีความอู้อี้ ส่วนแนวร้องเองก็มีการใช้ autotune ช่วยปรับแต่งเสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดนตรีส่วนอื่น แล้วไหนจะยังการใช้โน้ตทำนองแบบใหม่ (มีตัว D# อีกแล้ว) มีความน่าสนใจมาก อารมณ์ของเพลงท่อนนี้มันแตกต่างจากความดุเดือดเผ็ดมันในท่อนก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง มันชิล เซ็กซี่ เร่าร้อนอย่างลุ่มลึก ..แล้วก็มาตกใจอีกครั้งเมื่อเสียงร้องอยู่ดี ๆ ก็กลับมาเป็นปกติในห้องที่ 4 ไวกว่าที่โดยทั่วไปมักจะเป็นไปหนึ่งห้อง แต่ก็แค่เสียงร้องนะ ดนตรียังคงเหมือนเดิม เอาว่ะคนแต่งเขามีลูกเล่นมากมายไปหมดเลย

    • นาทีที่เสียงร้องกลับมาปกติก็มีการเพิ่มมาของเสียงกลองที่ตีลงกระแทกอย่างรุนแรง เบาเสียงลงทันทีก่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่ม volume ดังขึ้น แต่ในรอบนี้เนื่องจากสามารถฟังเสียงของกลองได้ชัดขึ้นและแอบมีความแตกต่างจากรอบก่อนหน้าเล็กน้อย (มั้ง) ก็ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงกลองอีกประเภทนึงที่มีชื่อว่า Djembe ที่แม้ว่าต้นกำเนิดจะมาจากแอฟริกาแต่ก็นิยมใช้กันอย่างมากในดนตรีละตินด้วย

    ตัวอย่างเสียงกลอง Djembe


    • ในนาทีที่ 1:48 เสียงประสานจาก background vocals ในรอบนี้มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยพาให้อารมณ์ของเพลงถูกบิ๊วสูงขึ้น ๆ ตามโน้ตที่ค่อย ๆ ไล่ขึ้นสูงไป แถมรอบนี้แนวทางเดินคอร์ดยังแอบมีการเปลี่ยนเล็กน้อยจากที่เล่นคอร์ด B แค่เพียง 2 จังหวะก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น 4 จังหวะ (ตั้งแต่นาที 1:49-1:52) ซึ่งนั่นทำให้ประโยคทางดนตรีของท่อนนี้ยาวกว่าปกติไปเท่าตัว มันช่างน่าลุ้นระทึกตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ

    • รอบนี้ไม่มีการขยายเพิ่ม verse ที่เป็นท่อนแร็พแต่กลับกระโดดเข้า Pre-Chorus ทันที ดนตรีไม่ได้แตกต่างจากพรีคอรัสก่อนหน้า แต่จุดที่แตกต่างคือนาทีที่ 2:01 แนวร้องมีการใช้ autotune ปรับแต่งเพิ่มความเป็น electronic มากกว่ารอบก่อนหน้านี้มาก (มีแต่ไม่มากเท่า)




    • 2:25 มั่นใจมากว่าต้องมีหลายคนที่รอทำนอง Ra-Pam-Pam กลับมาอีกครั้ง แต่เสียใจด้วย คุณ ถูก หลอก! Post-Chorus นี้แม้ว่าจะขึ้นมาด้วยคำว่า Ra-Pam-Pam ก็จริงแต่กลายเป็นท่อนแร็พรัวเร็วดุเดือด ต่อด้วยท่อนร้องที่ก็ขยับจากโน้ต E-D# ขึ้นไปเป็น G-F# ที่ละเอียดถี่มากขึ้น สร้าง tension ความตึงเครียดให้สูงแล้วสูงอีก ราวกับอยู่ในกำมือที่กำลังถูกบีบรัดแน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้จะตาย พอมาเจอโน้ตตัวสุดท้ายที่ย้ำตัว G อีก ช่างเป็นเพลงที่เน้นใช้ weak note ทำให้คนฟังรู้สึกไม่มั่นคงได้ตลอดเวลาจริง ๆ

    • มาสู่ท่อน Bridge ที่ยกเอาดนตรีจากช่วง intro มาเลยแต่ปรับเปลี่ยนเสียงดนตรีให้นุ่ม ฟังสบาย ไม่กระแทกและแหลมเสียดแทงเท่าตอนต้นเพลงเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนทำนองร้อง โดยที่ยังมีเสียงคล้ายเสียงดีดนิ้วช่วยประคองจังหวะให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ส่วนแนวทำนองตอนช่วงต้นเรียกได้ว่าแปลกอีกแล้วจากการใช้โน้ต D เจ้าโน้ตมันทำให้ดนตรีเกิดความสับสนงุนงงได้ตลอด จากคอร์ด V ก็กลายไปเป็น ♭VII สลับไปมาไม่เคยจะซ้ำกัน ไม่เคยคาดเดาได้เลยสักนิด

    • ระหว่างที่กำลังเพลิดเพลินรู้สึกผ่อนคลายกับท่อน Bridge อยู่ดี ๆ นาทีที่ 2:52 ทำนองก็ sprint ตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นไปอย่างกะทันหัน บีตหนัก ๆ กลับมา เบสสไลด์ลงต่ำ ทำนองจบลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดและมีการลากโน้ตตัว B ค้างในห้องสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนก็อาจรู้สึกไม่คุ้นชินเนื่องจากโดยปกติทำนองจากยาวกว่านี้และมีการยืดเพิ่ม extra อีก 1 ห้องเพลงเพื่อลากโน้ต แต่ไม่พอนะ โน้ตตัวสุดท้ายดันส่งด้วยตัว D อีกแล้ว! ทำไมไม่เป็น D# มันช่างแสนจะอึดอัด ทำนองร้องนี้เหมือนต้องการสื่อถึงการกรีดร้องแบบที่อยากการปลดแอกเต็มทีแต่ก็ยังไม่สามารถทำได้และไม่มีวันทำได้เลย




    • ท่อนฮุคสุดท้ายของเพลงที่แนวทำนองหลักถูกตัดออกไปหมดแต่กลับกลายเป็นการร้องแอดลิบโชว์ vocal แทน แต่ทำนองในนาทีที่ 3:04 ก็ดันมี issue อีกแล้ว เนื่องจากทำนองนั้นร้องโน้ตตัว D ส่วนคอร์ดดนตรีมีโน้ตตัว D# อยู่​ นี่มันคือการสร้าง dissonance หรือเสียงกัดกันแบบขั้นสุดยอด ฟังแล้วก็ได้แต่งงว่านี่มันอะไรกัน โดยปกตินี่มันคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงและแทบไม่เกิดขึ้นเลยโดยเฉพาะในเพลงป๊อป ยอมใจคนแต่งจริง ๆ ที่ challenge ไม่หยุดตลอดทั้งเพลงเลย

    • แนวทำนองแสนจะไพเราะเริ่มไล่ตั้งแต่โน้ตสูงกลับลงมาโน้ตต่ำอย่างมีชั้นเชิง ตามมาด้วยการดรอปดนตรีที่รอบนี้แนวดนตรีมีการเคลื่นไหวโดยเล่นโน้ต A-G#-A-B ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเขียนคำว่าประหลาดไปกี่รอบแล้ว แต่นี่ก็ยังคงสร้างความประหลาดใจให้ได้อยู่กับการเลือกใช้ G# ในเพลงคีย์ E Minor ซึ่งมันควรจะเป็นโน้ตตัว G ที่ต่ำลงไปครึ่งเสียง มันอะไรกันเนี่ยก็เล่น G มาทั้งเพลงทำไมอยู่ดี ๆ มาเปลี่ยน เออ งงนะ อันนึงควรสูงขึ้นก็เล่นต่ำลงครึ่งเสียง อันนี้ก็ไปดันสูงขึ้นแทนซะงั้นเลย

    • ตอนจบของเพลงเป็นเสียงของเบสที่สไลด์ต่ำลงแล้วก็ค่อย ๆ เบาจนหายเงียบไปโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเสียงของมันไปสิ้นสุดที่โน้ตตัวไหน แล้วยังมีเสียงกลองตีเข้ามา กับเสียงฉาบที่ค้างไว้อีก มันทำให้แม้ว่าโน้ตทำนองจะร้องลงจบแล้วแต่กลับมีอันตรายอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ การจบที่ไม่ได้เป็น happy-ending ยิ่งถ้าตามจากคลิป MV ก็จะมีเสียงของเครื่องสายที่เล่นคอร์ดต่อซึ่งมันเกิดการ modulate เปลี่ยนคีย์ไปจบที่ G Major นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาคต่อไปก็เป็นได้



      - จบเพลง -




      โครงสร้างของเพลง Ra Pam Pam

      INTRO                          0:13-0:23

      VERSE 1                       0:23-0:41

      VERSE 2                       0:42-0:51

      PRE-CHORUS              0:51-1:00

      CHORUS                      1:00-1:19

      POST-CHORUS            1:19-1:39

      VERSE 3                       1:39-1:57

      PRE-CHORUS              1:57-2:06

      CHORUS                      2:06-2:25

      POST-CHORUS            2:26-2:44

      BRIDGE                       2:44-3:03

      CHORUS                      3:03-3:22

      POST-CHORUS            3:22-3:42




        บทสรุป

          น่าจะเป็นบทความที่ผู้เขียนใช้คำว่าประหลาดไปเยอะมาก จะสังเกตได้ว่าที่จริงแล้วคอร์ดหลักของเพลงมันวนไปวนมาอยู่แค่ 3 (บางที 4) คอร์ด ไม่ได้ซับซ้อนอะไรแต่ก็มักจะมีโน้ตแปลก ๆ โผล่ออกมาทำให้สีสันของเพลงมันเปลี่ยนไป บางจุดบิดเบี้ยว สร้างอารมณ์ที่รุนแรงกว่าเก่า ยังไม่รับเรื่องการเชื่อมต่อท่อน transition หลายครั้งที่เกินคาดเดา และการใช้ silence ในจุดที่ไม่คาดคิดที่สุด

          ส่วนตัวประทับใจมากที่แม้องค์ประกอบจะไม่ได้มากมายอลังการหวือหวา แต่ก็มีการยกเอาเสียงเครื่องดนตรีที่มีความเป็น acoustic และนำเสนอความเป็นละตินออกมาได้อย่างดีนอกเหนือไปจาก chord progression มันทำให้เพลงมีเสียงที่แตกต่างและสร้างความตื่นเต้นให้อยู่เรื่อย ๆ ตลอดการฟังตั้งแต่ต้นจนจบ และต้องขอชื่นชมผู้แต่งที่เลือกที่จะท้าทายกรอบกฎเกณฑ์หลายอย่างเพื่อสร้างประสบการณ์การฟังที่ใหม่และแตกต่างออกไปให้กับผู้ฟัง




    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Ra Pam Pam อีกรอบด้วยนะ!



    commissioned by @sarunda_s


    • อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลงอื่น ๆ Click
    • อ่านบทความความรู้เรื่องดนตรีในวงการ K-pop Click
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in