อย่างที่พอรู้และควรจะรู้ถ้าอ่านหัวบทความมา คือเราเป็นเด็กอักษรฯ เอกปรัชญา และแม้ว่าเราจะเรียนวิชาภาคละครและภาคฟิล์มของนิเทศมาตัวสองตัว แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราเหวอน้อยลงกับเรื่องบางเรื่อง
รอบที่หนึ่งคือการที่เราโดนมองว่าเป็น 'เด็กเนิร์ด' (ที่นี่ใช้คำว่า ‘เหม็นเนิร์ด’ เราชอบมาก มันได้ฟีลจิกกัด แสบ ๆ คัน ๆ ดี) ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องที่เราคนเดียวเผชิญแหละ เพราะมีเพื่อนอีกคนไปฝึกงาน a day ก็โดนเหมือนกัน
เท้าความก่อนว่าเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเนิร์ดในคณะ อาจจะเพราะในคณะมีคนเนิร์ดกว่าเราเยอะมาก เรียกได้ว่าถ้าจับยัดเข้ากราฟ เราต้องอยู่แรงก์กิงท้าย ๆ ในคณะแน่ แต่มันก็พอเข้าใจได้ เพราะเวลาเราเห็นพี่ ๆ ในออฟฟิศคุยเรื่องหนังกันอย่างออกรสออกชาติ (อาทิ เราเพิ่งรู้ว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าหนัง gunfu บนโลกนี้ด้วย - gunfu เป็น sub-genre ของหนังฮ่องกงช่วงหนึ่ง) หรือเวลาเขานั่งวิเคราะห์เอ็มวีตัวอื่น ๆ หนังโฆษณาตัวอื่น ๆ เช่น "มึงว่าเขาวางเบรคกันกี่วัน" "ช็อตนี้เขาถ่ายกันยังไง" เราก็ว่าพี่เขา ‘เหม็นเนิร์ด’ เหมือนกันแหละนะ
มาถึงจุดนี้ชวนให้เรานึกออกเรื่องนึง ตั้งแต่เด็กเราชอบเห็นผู้ใหญ่พูดว่า "เรียนจบปริญญามาก็ไม่ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน" ซึ่งเราก็ไม่ได้จะมาแย้งประโยคนี้เสียทีเดียว แต่เราขอพูดแทนเด็กคณะสายใกล้ ๆ เราละกัน (ขอพูดชุ่ย ๆว่าคณะที่ไม่ใช่สายอาชีพ (คณะสายอาชีพก็อย่างเช่น แก๊งหมอ, วิศวะฯ, บัญชี)
เราเชื่อว่าเด็กคณะสาย non-วิชาชีพต้องล้วนเคยซัฟเฟอร์กันมาบ้าง เวลาโดนถามว่า "เรียนจบคณะนี้/สาขานี้แล้วจะไปทำอะไรกิน” แม้ในใจอยากจะตอบไปว่า “กูก็ยังไม่รู้เว้ยยยยยยยยยยย” แต่หลัง ๆ เรายอมเสียเวลาอธิบายเพิ่มด้วยการบอกว่า ไม่ใช่ทุกคณะที่เรียนเพื่อตอบโจทย์อาชีพ บางคณะอาจสอนสิ่งที่เป็นคอนเทนต์จ๋า ๆ และ/หรือสิ่งที่เป็น soft skills (ซึ่งนั่นแปลว่า จบไปจะทำอะไรก็ได้เว้ย ถ้ามีปัญญาพอจะเรียนรู้ และตราบใดที่บริษัทเขาไม่ได้จำกัดสิทธิ์ในการสมัครงานของเรา)
และไอ้ความคอนเทนต์จ๋า ๆ หรือ soft skills เนี่ย ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อว่าจะได้ใช้ตอนฝึกงานหรอก
(แต่ก็ได้ใช้ไง ถึงเป็นเหตุผลที่เขียนตอนนี้ขึ้นมา)
งานเหม็นเนิร์ด 01:
ขอยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งเราเคยต้องช่วยระดมความคิดตอนทำโฆษณาตัวหนึ่ง ซึ่งพี่วิชัย-ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ก็บอกเราว่าอยากได้ไดอะล็อกที่คุยหัวข้อนีช ๆ คนไม่ค่อยเก็ต
(ในใจเราก็คือ “อ่าฮ้า ได้เวลาของกูแล้ว”)
เรา: ลองหัวข้อปรัชญาไหมพี่ อาจจะพูดอารมณ์แบบ
“เราว่า Politics of Friendship ที่แดริดาเขียนมันไม่ใช่ post-modernism นะ
แต่เป็น post-structuralism มากกว่า”
พี่วิชัย: เออ ไม่รู้เรื่องเลยอะ ดี เอา ๆ
ซึ่งก่อนหน้านี้ใครจะไปคิดว่าเราจะได้เอาคอนเทนต์ปรัชญาจ๋าๆ มาใช้กับการคิดงานโฆษณาอะ แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ของการทำงานกับคนที่อยู่คนละสายกับเรามั้ง เพราะเขามักจะเห็นด้านที่เราไม่เห็นเสมอ (ในที่นี้คือการเห็นว่าหัวข้อปรัชญามันนีชมากและไม่รู้เรื่อง 5555)
งานเหม็นเนิร์ด 02:
และก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่แซลมอนแล็บจะทำคอนเทนต์สอนการใช้คะ-ค่ะ สำหรับลงในวันภาษาไทย พี่วิชัยก็เลยสั่งให้เราไปเขียนคอนเทนต์หลักภาษาของคำว่า 'คะ' และ 'ค่ะ' มาให้หน่อย ว่ามันมีหลักการผันวรรณยุกต์ และหลักการออกเสียงอะไรยังไง
โดยพี่เขาเน้นย้ำมาว่าขอแบบ ‘เหม็นเนิร์ด’ มาเลยนะ
และแม้ว่าในคลิปดังกล่าวก็ไม่ได้มีการอ้างอิงหลักภาษามาใส่หน้าคนดูแบบตรงไปตรงมา แต่เราก็มีโอกาสได้ตรวจเช็กนิดหน่อยว่าอะไรมีแนวโน้มจะชวนเข้าใจผิดบ้าง เช่น การบอกว่าไม้เอกคือเสียงต่ำมันอาจจะชวนให้เข้าใจผิดได้อย่างไร (เราอธิบายไปว่า: ในทางภาษาศาสตร์ เขาน่าจะมีเสียงต่ำแบบ objective อยู่ เลยไม่อยากให้เขียนว่าไม้เอกคือเสียงต่ำ เพราะมันจะชวนงง เป็นต้น)
[โฆษณาแทรก] นี่คือคลิปที่ว่า เผื่อใครอยากเอาให้พ่อแม่ดู: จิ้ม ๆ
งานเหม็นเนิร์ด 03:
ส่วนงานที่ 3 เนี่ย เป็นงานที่เราดีใจมากที่มีโอกาสได้ทำ เพราะมันคือการช่วยแปลพรีเซนเทชันขายไอเดียโฆษณา จากภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ (ซึ่งตอนแรกพี่เขาก็ไม่ได้จะใช้เราทำ แต่เราบอกเราช่วยทำได้ ก็เลยได้ทำเฉยเลย)
ภาพการเรียนวิชาแปลเบื้องต้นในคณะเมื่อตอนปี 1 ของเรานี่ลอยขึ้นมาเลย ตอนนั้นที่สอบก็ว่ายากแล้วนะ แต่พอเป็นงานจริง ๆ มันหนักใจกว่ามาก เราคิดเยอะมาก เพราะพี่เขาคิดมุกกันมาดีขนาดนี้ แล้วเราจะแปลยังไงให้ลูกค้าต่างชาติเข้าใจวะ (ความยากมีทั้งมุกประเภทเล่นคำ และมุกประเภทอาศัยความเข้าใจในวัฒนธรรม) แล้วไหนจะแปลยังไงให้โทนภาษามันเทียบเท่ากันได้มากที่สุดอีก กว่าจะเสร็จก็เอาซะเราปวดหัวเลยเหมือนกัน แต่สนุกมาก ๆ
ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้เราเห็นประโยชน์ว่า บางครั้งสิ่งที่เราเรียนมันมักจะกลับมาในวันที่เราไม่ทันได้นึกถึงจริง ๆ แหละ (ใครบอกว่าจบอักษรฯ แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนมากันเล่า!)
พอเห็นแบบนี้เราเลยเข้าใจแล้วว่า ‘ความเนิร์ด’ มันดูจะมีประโยชน์เสมอ ยิ่งอยู่ในวงที่เขาไม่ได้เนิร์ดเรื่องเดียวกับเรา เพราะเรื่องง่าย ๆ ของเราก็เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับเขามากแล้ว (วิธีคิดนี้เวิร์กกับทุกสายนะ เราว่า)
พี่เบ๊น-ไดเรกเตอร์แห่งแซลเฮาส์ เคยบอกเราว่า (เหมือนเดิม จำเป๊ะๆ ไม่ได้) "คนที่ประสบความสำเร็จกันส่วนใหญ่ แม่งก็มีความเนิร์ดกันหมดอะแหละ เพราะความเนิร์ดนั้นมันแปลได้อีกอย่างว่าเขารู้จริง"
ซึ่งเราเห็นด้วยโคตร ๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in