มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการทำงาน รวมถึงการฝึกงาน ซึ่งเราแอบเดาว่าหลายคนไม่ค่อยเก็บมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาขนาดนั้น–ตามที่พาดหัวเลยก็คือ 'วัฒนธรรมองค์กร'
เราขอยืนยันอีกทีว่ามันสำคัญม้าก (ขีดเส้นใต้ย้ำ 10 ที)
อย่างเราเองก่อนจะสมัครแซลมอนเฮาส์ก็ติดตามผลงานของเขามาพอสมควร (ก่อนจะพบทีหลังว่ามีอีกตั้งหลายคลิปที่เขาไม่ลงในช่องยูทูปนี่นา แง) ซึ่งการติดตามผลงานของบริษัทที่เราจะสมัครมันก็คงเป็นอะไรที่ทุกคนพอเข้าใจอยู่แล้วล่ะว่าต้องทำ
การติดตามผลงานของบริษัทนอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจที่ทางของตัวเองว่ากำลังจะเข้าไปทำอะไรในบริษัทเขาแล้ว ก็ยังช่วยให้เข้าใจท่าที บุคลิกและลักษณะขององค์กรได้ในระดับหนึ่ง
(อย่างของแซลมอนเฮาส์เองเราก็เรียนรู้ผ่านการอ่านโพสในเฟซบุ๊คของพี่เบ๊นและพี่วิชัยมาในระดับหนึ่ง – แหะ) เราเลยค่อนข้างเตรียมใจมาในระดับหนึ่งละว่าออฟฟิศนี้ต้องปั่นแน่ๆ
.
.
.
.
แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นมากขนาดนี้
ตั้งแต่วันแรกที่เราไปสัมภาษณ์งานกับแซลเฮาส์ (ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดใหม่ ๆ) เราเดินเข้าห้องมาแล้วก็พบว่ามีพี่คนนึงยืนดักรอเราอยู่หน้าประตูพร้อมขวดเจลแอลกอฮอล์ ท่าทางดูขึงขัง และพอบีบเจลให้เราเสร็จก็ไปกระซิบกระซาบอะไรสักอย่างกับพี่เบ๊น (ให้นึกภาพลูกสมุนมาเฟียเวลาคุยกับเจ้านายว่า "จะจัดการไอ้เด็กเชี่ยนี่เลยดีมั้ยครับท่าน")
1 ชั่วโมงถัดมา เราก็เพิ่งรู้ตัวว่าพี่วิชัยถ่ายคลิปช็อตดังกล่าวลงเฟซบุ๊กเรียบร้อย
(ช่างเป็นการต้อนรับกันอย่างอบอุ่น)
และแม้ว่าแค่วันสัมภาษณ์เราก็คิดว่าเราได้เห็นมากแล้ว
แต่นั่นก็เป็นเพียง 0.00001% ของวัฒนธรรมขององค์กรนี้
ซึ่งเราจะขอสรุปเป็นแก่นแกน 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
1. ความขยัน
ความขยันของพี่ ๆ ที่นี่ไม่ได้มีเพียงความขยันในการลงไปต่อคิวที่ร้านทวีสุข-ร้านข้าวแกงข้างล่างออฟฟิศ ตั้งแต่พี่เจ้าของร้านเพิ่งเปิดร้านในเวลา 16.00 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับความตลกมาก ๆ จนต้องมีกริ่งไว้ใช้สำหรับตบมุกโดยเฉพาะ
(แนบรูป)
โดยจะมีพี่เม้ง-มือตัดต่อประจำแซลเฮาส์ เป็นผู้รับหน้าที่กดกริ่งในทุกครั้งที่มีคนเล่นมุก
(และต้องเป็นมุกที่มีคุณภาพด้วยนะ ไม่งั้นพี่เม้งไม่กดให้)
พี่เม้งทำหน้าที่ไม่เคยบกพร่อง เพราะหลายครั้งเลยที่พี่เม้งใส่หูฟังนั่งตัดต่องานอยู่ แต่พี่เม้งก็ยังอุตส่าห์ได้ยินเสียงคนอื่นเล่นมุก และยังมีความสามารถในการแยกแยะประสาทสัมผัสขั้นสูงสุดที่จะตัดสินใจว่าควรกดกริ่งให้มุกนั้นหรือไม่ (นับถือ)
เราจำได้ว่า มีครั้งหนึ่งที่ออฟฟิศมีเก้าอี้ใหม่มา แล้วอยู่ดี ๆ ทุกคนก็พยายามจะเปิดประมูลกันว่าใครสมควรได้เก้าอี้ตัวใหม่ไปมากที่สุด ซึ่งแต่ละคนก็พยายามจะพรีเซนต์ว่าเก้าอี้เดิมของตัวเองมันแย่ยังไง จนกระทั่งถึงตาของพี่คนนึง
พี่ A: อะไหน มึงลองบอกซิ ทำไมมึงควรได้เก้าอี้นี้ไป
พี่ B: พี่...ผมวิ่งตามเขามานานแล้ว ให้ผมได้หยุดพักบ้างเถอะ
(กริ๊ง – เอาเสียงกริ่งไปเลย 1 ดอก)
และด้วยความที่แต่ละคนก็ขยันเล่นมุกกันเหลือเกิน เราเคยสังเกตด้วยว่าวันหนึ่งเจ้ากริ่งนี้ถูกใช้งานกี่ครั้ง ผลสำรวจชี้ว่าใน 1 วันต้องมีอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ถ้าวันไหนท็อปฟอร์มหน่อย พี่ ๆ อารมณ์ดีลูกค้าเข้าใจง่ายหน่อย (หรือบางทีถ้าอารมณ์เสียมา มุกก็จะเดือดไปอีกทางเหมือนกัน 5555) ก็เคยพีคสุดถึง 4-5 ครั้งใน 1 วัน
ไอ้เจ้ากริ่งเนี่ยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบริษัท ปกติจะไม่ค่อยให้ใครมากดเล่น (ทุกคนไว้ใจพี่เม้งมากไง) จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ด้วยความสงสัยอีกแล้ว เราก็เคยถามพี่ ๆ เขาว่า "ทำไมต้องใช้เป็นกริ่งด้วย ใช้อย่างอื่นตบมุกไม่ได้หรอ" เขาก็เล่าให้ฟังว่า “จริง ๆ ก่อนหน้านี้มีบอร์ดซาวนด์เอฟเฟกต์ 15 เสียงไว้สำหรับตบมุกโดยเฉพาะเลย แต่...กูเมาแล้วทำหาย”
จบ
2. ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากออฟฟิศนี้จะให้ความสำคัญกับการเล่นมุกแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก ๆ อีกด้วย สังเกตได้จากคติที่ว่า “คอมคนอื่นที่เปิดทิ้งไว้ก็เหมือนคอมของเรา เฟซบุ๊กใครที่ไม่ได้ล็อกเอาท์ก็เหมือนเฟซบุ๊กของเรา”
เพราะว่าเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่คุณหันหนีออกจากคอม ก็มีจะเสือสมิงพร้อมซุ่มโจมตีกล่องสเตตัสบนเฟซบุ๊กคุณเสมอ เช่น บางทีหันไปคุยงานกับเพื่อนแค่แป๊บ ๆ ก็ยังไม่อาจรอดพ้นเหล่านักล่าพวกนี้ไปได้ เพราะเสือพวกนี้ทำงานกันอย่างเป็นระบบ และเป็นมืออาชีพมาก ๆ ต่อให้เวลาน้อยหน่อย เสือพวกนี้ก็ไม่ละทิ้งความพยายาม โดยการพิมพ์คำว่า "เหงา" สั้น ๆ หว่อง ๆ บนไทม์ไลน์ของเหยื่อ
แต่หากคุณติดคุยงานกับทีมอื่นยาว ๆ หรือลุกไปซื้อของที่เซเว่นข้างล่างแล้วลืมเปิดไอแพด/คอมทิ้งไว้เมื่อไรละก็
"ทะเลเรียกว่า sea แต่ความรักดี ๆ เรียกว่าเรา"
"กาแฟไม่ใส่นมยังไม่ขมเท่าเธอไม่ใส่ใจ"
"ถึงผมจะชื่อเกม ก็ใช่ว่าใครจะเล่นผมได้ง่าย ๆ"
อาจไปโผล่บนหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของคุณก็เป็นได้ (เพราะมีคนหิวคอนเทนต์ซุ่มอยู่เต็มไปหมด)
นับว่าเป็นสิ่งที่เราชอบมากในออฟฟิศนี้ ซึ่งก็คือ ความเป็นกันเองมาก ๆ ของพี่ ๆ แต่ละคน ถ้าใช้ศัพท์ดี ๆ หน่อยคือที่นี่ทำงานกันแบบแนวระนาบ (ก็คือทำงานอยู่ดีๆ อาจจะลงไปนอนที่พื้นได้เลย เพราะจ้างคุณป้ามานวดหลังกันประจำ – ล้อเล่น //หมายถึง ทำงานแบบไม่มี hierarchy โว่ย) ตอนเราฝึกงาน แม้ว่าจะมีพี่ ๆ ที่เป็นเด็กฝึกงานเหมือนกันแต่ด้วยความที่เราเด็กสุดในออฟฟิศ เราก็ค่อนข้างเกรงใจและให้เกียรติพี่ ๆ เป็นอย่างมาก (หรอ) อาทิเช่น ครั้งหนึ่งเราเคยเดินไปซื้อน้ำที่เซเว่นกับพี่คนหนึ่งซึ่งพี่เขาลืมพกเงินสดมา
พี่: ยืมเงินซื้อน้ำได้ปะ
เรา: ได้สิคะ อะพี่เอาไป ๆ
พี่: ไหน ๆ มึงลองพูดหน่อยว่า “ไม่เป็นไรพี่ ถือว่าทำบุญให้หมูให้หมา”
เรา: ไม่เป็นไรพี่ ถือว่าทำบุญให้หมูให้หมา
พี่: (หัวเราะชอบใจ)
หรืออย่างเช่น ครั้งหนึ่งที่เรานั่งว่าง ๆ อยู่ ก็เลยอ่านหนังสืออะไรสักอย่างเล่น ๆ ก็มีพี่คนนึงเดินเข้ามาชวนคุย
พี่ A: แบมบี้ อ่านไรวะ
เรา: อ่อ อ่านหนังสือ “XXXX” ค่ะพี่
พี่ B: ไหนแบมบี้ลองพูดหน่อยว่า “น้ำหน้าอย่างพี่มีปัญญาอ่านด้วยหรอ”
(เชื่อหรือยังว่าที่นี่อยู่กันแบบครอบครัว แถมยังถนัดแต่การสร้างความร้าวฉานอีกด้วย)
มาถึงตรงนี้ คนอ่านก็อาจจะงงว่าได้สาระอะไรไปบ้างจากตอนนี้ จริง ๆ ตอนนี้คือตอนรวมเรื่องที่เราประทับใจในแซลมอนเฮาส์ นอกเหนือจากเรื่องงานน่ะแหละ
ซึ่งทั้งหมดที่พูดเนี่ยก็ไม่อยากให้เข้าใจว่าเออพี่เขาสนุกกันและเล่นหัวได้ตามสบาย
เราว่า timing มันก็สำคัญจริง ๆ นั่นแหละ (เหมือนกริ่งตบมุกที่ต้องมาในจังหวะที่ถูกต้อง)
และก็เหมือนกับคนที่ใช่ ที่ต้องมาในเวลาที่ใช่
ส่วนคนที่ใช่ในเวลาที่ไม่ใช่ ให้ตีไปว่าไม่ใช่
(อีกหนึ่งมุกคุณภาพที่พี่เม้งกดกริ่งให้แล้ว)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in