เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพฯ By ทวิดา กมลเวชช
  • รีวิวเว้ย (1627) หลายวันมานี้เห็นหลายคนตั้งคำถามต่อเรื่องของการรับมือและ "การจัดการภัยพิบัติ" ที่เกิดขึ้นต่อ ๆ กันในหลายพื้นที่ทั้งเหตุน้ำท่วม ดินถล่ม (ไหนปลายปีจะมีเรื่องของหมอกควันซ้อนเข้ามาอีก) แต่การรับมือและการจัดการกับปัญหาภัยพิบัติของรัฐดูจะไม่เป็นท่า คงจะดีไม่น้อยหากประชาชนทั่วไป ผู้ปฏิบัติงาน ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย มีโอกาสในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ พวกเขาจะสามารถรับมือหรือ "บรรเทาความรุนแรง" ในการเผชิญภัยเหล่านั้นลงได้ และสามารถเอาตัวรอดได้เพื่อรอให้ความช่วงเหลือมาถึง เพราะเมื่อภัยมา พวกเขา (คนในพื้นที่) คือด่านแรกที่ต้องเผชิญภัย และลดความรุนแรงของมันให้ได้ในเบื้อต้น ภัยพิบัติหลายภัยที่เกิดขึ้นหากจัดการควบคุมได้แต่ต้น มันจะไม่ขยายตัวกระทั่งกลายเป็น "หายนะภัย" ที่ไม่อาจควบคุม และถ้าคนหน้างานหรือผู้เผชิญภัยกลุ่มแรก รับมือมันได้อย่างเข้าใจ "ความบิดเบี้ยวของวิกฤติ" จะถูกผ่อนให้เบา และบรรเทาลงได้ในท้ายที่สุด ด้วยคนหน้างาน ประสบการณ์ และการจัดการที่เป็นระบบ ภายใต้การเรียนรู้ ฝึกฝน และไม่ฟืนหากทำไม่ไหวก็ถอยมาตั้งรับ และกระจายอำนาจให้กับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นของใครของมันเป็นคนลงมือทำ และถอดบทเรียน (ซึ่งรัฐไทยดูจะเน้นถอดบทเรียนมากกว่าจะเอาบทเรียนเหล่านั้นไปเรียนรู้) อย่างเป็นระบบหลังวิกฤติผ่านพ้น อีกทั้งนำเอาบทเรียนเหล่านั้นมาเป็นฐานของการเรียนรู้ ฝึกฝน และเตรียมการในการรับมือในวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า เหมือนข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่เขียนย้ำเตือนเอาไว้ว่า "วิกฤติอนุญาตให้เราผิดพลาดได้ แต่ต้องไม่ผิดพลาดในวิกฤติแบบเดิม" (ซึ่งเรื่องของอุทกภัยดูจะเป็นสิ่งที่รัฐไทยชอบผิดซ้ำผิดซาก)
    หนังสือ : รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย
    โดย : ทวิดา กมลเวชช
    จำนวน : 458 หน้า
    .
    หนังสือเรื่อง "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" คือ หนังสือที่เราในฐานะของคนอ่านตั้งตารอคอยมาเนิ่นนาน เพราะหนังสือหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของ "ภัยพิบัติ" ในภาษาไทยนั้นมีอยู่น้อย ถึงน้อยมาก น้อยขนาดที่ว่าเราน่าจะสามารถนับจำนวนของหนังสือในหมวดนี้ด้วยนิ้วบนมือของตัวเอง โดยไม่ต้องขอยืมมือของคนข้าง ๆ มาช่วยนับแต่อย่างใด
    .
    "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" บอกเล่าเรื่องราวของ "การจัดการวิกฤติ" ในลักษณะของหนังสือที่เราอยากให้นิยามว่าเป็น "คู่มือ" และ "ชุดความรู้" สำหรับการจัดการวิกฤติและภัยพิบัติแบบครอบวงจร เพราะเนื้อหาแต่ละบท แต่ละตอนนั้นครอบคลุมในเรื่องของระบบการจัดการภัยพิบัติและสภาวะวิกฤติ อีกทั้งเนื้อหาต่าง ๆ ใน "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" เหมาะสำหรับคนเกือบทุกคน ต่อให้ไม่มีความรู้มาก่อนในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าสนใจหนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยให้คุณเข้าใจการจัดการวิกฤติและการจัดการภัยพิบัติได้อย่างดี อีกทั้งเนื้อหาในหนังสือยังมีการชี้ให้เห็นตัวอย่างของการดำเนินงานที่มีทั้งคะแนนในแดนบวก และคะแนนในแดนลบ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาของ "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" ประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
    .
    บทที่ 1 ก้าวแรกการเข้าสู่วิกฤติ เนื้อหาในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องของการกำหนด "นิยาม" ของสิ่งที่เรียกว่าวิกฤติ ฉุกเฉิน ภัยพิบัต หายนะ และบอกเล่าถึงเรื่องราว พัฒนาการและพลวัตรของวงจรเหล่านี้จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหายนะ หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อีกทั้งในส่วนของบทที่ 1 ยังมีการขยายภาพให้ผู้อ่านได้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการวิกฤติในลักษณะต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน และมีความเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่การจัดการหรือการรับมือจำเป็นที่จะต้องอาศัยกลไก ความร่วมมือ จากตัวแสดงที่มีศักยภาพมากพอจากหลายภาคส่วนเข้ามาประกอบกันคล้ายรูปแบบของจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ภาพหนึ่งภาพ หรือการจัดการรับมือภัยหนึ่งภัยลุล่วงไปได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ต้องอาสัยจิ๊กซอว์หลาย ๆ ตัวมาต่อกัน
    .
    บทที่ 2 พื้นที่ของวิกฤติ ขอบเขตมีจริงหรือไม่ เนื้อหาในบทนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่ผู้เขียนนิยามมันว่า "พื้นที่" หากแต่พื้นที่ในบทนี้มิได้หมายถึงพื้นที่เกิดเหตุ หรือสถานที่เกิดภัยแต่ประการใด หากแต่ในบทนี้ผู้เขียนชี้ให้เรามองหา และมองให้เห็นพื้นที่ ที่นักรัฐศาสตร์ชอบเรียกว่าพื้นที่ "ทับซ้อนเชิงอำนาจ" ที่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นแล้วหลายครั้งพื้นที่เหล่านี้ที่อำนาจต่าง ๆ มาชนกันดูจะเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมาเสียได้ และอาจกลายไปเป็ยหายนะใหญ่ในวิกฤติเสียอย่างนั้น ในบทนี้ผู้เขียนจึงชี้ให้เราดูพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการประสานความร่วมมือของกลไกเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจัดการกับวิกฤติในยามที่วิกฤติเกิดขึ้น
    .
    บทที่ 3 สมการความเสี่ยง ศักยภาพของพื้นที่ในวิกฤติ เนื้อหาของบทนี้จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการจัดการวิกฤติผ่านกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำงานเพื่อคลี่คลายวิกฤติ ผ่านกลไกเชิงพื้นที่ที่ต่อเนื่องมาจากบทที่ 2 และต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ (กายภาพ) ที่มีวิกฤติเกิดขึ้น โดยบทนี้ผู้เขียนได้บอกเล่าถึงการจัดการวิกฤติ ผ่านกลไกสำคัญอย่าง คน ข้อมูล การประสานงาน และการใช้เงิน (ให้เป็น) ในการแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤติที่หลายครั้งมันคือวิกฤติที่ไม่คาดคิด และหลายครั้งมันก็อาจจะเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ซึ่งในบทนี้ได้ชี้ชวนให้เห็นถึงกลไกที่เหมาะควรแก่การดำเนินงานในการจัดการวิกฤติอย่างเป็นระบบ (มีสติ สมาธิ ปัญญา)
    .
    บทที่ 4 การจัดการวิกฤติ งานหน้าบ้าน หลังบ้าน หลังคา เสาเอก และใต้ถุนเรือน เนื้อหาในบทที่ 4 เป็นการแยกเอาส่วนต่าง ๆ ของ "การจัดการวิกฤติ" ออกมาให้เห็นเป็นส่วน ๆ โดยที่ผู้เขียนกำลังบอกกับผู้อ่านว่าในบ้านหลังหนึ่งมันไม่มีส่วนไหนที่จะสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะเมื่อส่วนประกอบเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญของบ้านหลังหนึ่ง ๆ หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบ้านก็อาจจะถล่มลงมาทับผู้อยู่อาศัย หรือมันอาจจะไม่สามารถเรียกว่า "บ้าน" ได้เลยตั้งแต่แรก ในการจัดการวิกฤติก็เช่นเดียวกัน หากขาดองค์ประกอบหนึ่งใดไป ก็อาจจะสร้างความเสียหาย (ฉิบหาย) ที่ไม่อาจประเมินให้กับวิกฤติครั้งนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ งานหน้าบ้านหลังบ้านอย่างการสื่อสาร แผนการดำเนินงานที่ผู้เขียนเปรียบกับหลังคาบ้าน มาตรการลดความเสียงที่ผู้เขียนเปรียบกับเสาเอกของบ้าน และการถอดบทเรียนที่ใช้ได้และต้องนำมาศึกษาทบทวนโดยเปรียบกับงานใต้ถุนบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบสำคัญของบ้านหลังหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราจะต้องสร้างและต่อเติมบ้านอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อวิกฤติหรือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่คาดคิด
    .
    บทที่ 5 มาตรฐานสากลกับความเฉพาะพื้นที่ อะไรที่ทำได้ บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือ บทที่เราอยากเรียกว่า "บทขยี้กล่องดวงใจ" เพราะในบทนี้ ผู้เขียนได้หยิบเอาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศไทยจำนวน 6 ภัยพิบัติ มากางออกและชี้ให้ผู้อ่านดูไปที่ละส่วนว่า การจัดการรับมือภัยทั้ง 6 ที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นเช่นไร สามารถรับมือจนลดระดับความรุนแรง หรือทำให้ภัยพิบัติกลายเป็นหายนะภัยที่ใหญ่กว่าจุดเริ่มแรกหลายเท่าตัวได้อย่างไร โดยภัยที่ถูกหยิบยกมาในบทนี้ได้แก่ สึนามิ 2557, น้ำท่วมใหญ่ 2554, แผ่นดินไหวเชียงราย 2557, ฝุ่นควัน (PM.2.5) 2562, ไฟไหม้หมิงตี้ 2564 และ โควิด-19 (ที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหน) โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ภัยพิบัติต่าง ๆ โดยหยิบเอาองค์ความรู้จากบทที่ 1-4 มาตี ทุบ ตบ ทึ้ง ในกรณีพิบัติต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
    .
    อีกทั้งในส่วนท้ายของบทที่ 5 นี้ ผู้เขียนยังได้ขมวดปมตอนจบของหนึ่งสือเอาไว้ภายใต้ชื่อ "ปลายทางของบทเรียนการบริหารจัดการวิกฤติจากต้นทางพื้นที่เสี่ยงภัย" ซึ่งเป็นการขมวดปมจบท้าย ให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าในการรับมือวิกฤติมีความจำเป็นใดบ้างที่จำเป็น และสิ่งใดบ้างในกลไกของรัฐไทย ณ ช่วงเวลานี้จำเป็นต้องปรับ เพื่อให้สอดรับกับการเตรียมการในการรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ วันใดก็ได้ อย่างเป็นระบบและทันท่วงที และในตอนท้ายของหนึ่งสือเล่มนี้ผู้เขียนยัง "ฝากไว้ให้คิด" อีกต่อหนึ่งว่า "ในโลกของความเสี่ยง สิ่งที่เรารู้วันนี้ คิดได้วันนี้ เชื่อว่าดีในวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่าแล้ว" จากข้อความตอนท้าย และเนื้อหาตลอดทั้งเล่มของ "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" ทำให้เราสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เช่นนั้นเราควรใช้ "ความรู้" มากกว่าการ "สวดมนต์ (ดวง)" ในการรับมือวิกฤติและภัยพิบัติ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in