เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
รัฐศาสตร์สารปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567)
  • รีวิวเว้ย (1626) ตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของยุโรปตะวันตกไล่ไปจนถึงการขยายตัวของยุโรปที่ยังนำมหาวิทยาลัยไปสู่ดินแดนในทวีปอเมริกาก็ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา  มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ศาสนาจักรภายใต้พระผู้เป็นเจ้า  มหาวิทยาลัยแบบ Ivy League หลายสถาบันของสหรัฐอเมริกาจึงมีสายสัมพันธ์กับศาสนาเป็นพื้นฐาน  ปฏิบัติการขององค์กรทางศาสนาแบบคริสตจักรที่ยังปฏิบัติการภายใต้การขยายตัวของอาณาจักรคริสต์ (Christendom) มาตั้งแต่เริ่มแรกทรงพลังมาหลายร้อยปี  นับตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Age) เป็นต้นมาปฏิบัติการต่างๆ ขององค์กรทางศาสนายังได้ถูกส่งทอดไปยังองค์กรทางการเมือง
    .
    เมื่ออำนาจของศาสนาถดถอยลงในศตวรรษที่สิบเก้ามหาวิทยาลัยก็ตกเป็นเครื่องมือทางอำนาจรัฐของรัฐประชาชาติ (nation-state)  มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เสริมสร้างความยิ่งใหญ่ของอำนาจรัฐ เช่น วิศวกรรม เป็นต้น  ครั้นเมื่ออำนาจรัฐค่อยๆ เปลี่ยนมือจากเหล่าอดีตชนชั้นนักรบ (warrior class) มาเป็นพื้นที่ของพ่อค้าสถาบันการศึกษาเพื่อธุรกิจก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น Ca’ Foscari University of Venice (1868)  Wharton School of Business (1881) ที่ University of Pennsylvania สำหรับวิทยาลัยธุรกิจที่เป็นของรัฐในสหรัฐอเมริกาก็ได้แก่ Haas School of Business (1898) University of California, Berkeley  เป็นต้น สาขาวิชาต่างๆ ก็ค่อยๆ อุบัติขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรมและรัฐประชาชาติ
    .
    รัฐประชาชาติเป็นกลไกสำคัญในการขยายอำนาจของกลุ่มพ่อค้าและนายทุนที่ต้องการเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง  ข้อความที่ว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นจึงเป็นประโยคสำคัญของศตวรรษที่สิบเก้า การต่อสู้เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นตัวนำและเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐของเหล่าชนชั้นพ่อค้าและนายทุนย่อมเป็นหนทางสำคัญ  ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคมในทศวรรษที่ 1970 กลับเปิดทางให้การสถาปนาอำนาจของเสรีนิยมใหม่  จนทำให้เกิดประโยค ‘There is no alternative’. ความเป็นอิสสระของภาคเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของรัฐจึงเป็นไปได้มากขึ้น 
    .
    การสร้าง ‘มนุษย์เสรีนิยมใหม่’ เป็นสิ่งจำเป็น  การสร้างมนุษย์เสรีนิยมใหม่เป็นการทำให้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ไม่เป็นเพียงแค่ตัวอักษรในหนังสือและวารสารวิชาการ  เสรีนิยมใหม่ในฐานะวิถีชีวิตประจำวันเป็นวิถีทางสำคัญ  อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่กลายเป็นชีวิตจิตใจคือปฏิบัติการที่จะต้องทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับการกินอาหารหรือขับถ่าย
    .
    การทำให้มหาวิทยาลัยที่ตอบสนองต่อศาสนจักรและต่อมารัฐประชาชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นการตอบสนองต่อระบบตลาดเสรีคือสิ่งจำเป็น  อุดมการณ์โลภาวิตน์ (globalization) คือปฏิบัติการสำคัญของทุนนิยมของโลกพูดภาษาอังกฤษ (English speaking capitalism) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในการทะลุทะลวงดินแดนต่างๆ ตั้งแต่ยุโรปเหนือไปจนถึงเหล่าประเทศยากจนทั้งหลาย  มหาวิทยาลัยในฐานะตัวขับเคลื่อนรัฐที่สำคัญที่เคยปฏิบัติการแบบองค์กรรัฐจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบองค์กรเอกชน โดยการปรับตัวนี้ก็พร้อมจะเป็นหน่วยปฏิบัติการให้กับเสรีนิยมภายใต้นามแบบ ‘agency’
    .
     วิถีปฏิบัติที่เคยตอบสนองต่อสาธารณะประโยชน์ตามสำนึกแบบรัฐประชาชาติต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การแข่งขันเพื่อแสวงหากำไร  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้องค์กรมหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการรายได้ของตัวเองและเสริมสร้างขีดความสามารถให้ได้ผลิตผลที่ดีที่สุดและมากที่สุด  บนเส้นทางของเสรีนิยมใหม่แบบอเมริกันมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา  เมื่อตอน Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันสายเสรีนิยมใหม่คนสำคัญเดินทางไปประเทศชิลี  เขาปฏิเสธปริญญากิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยของรัฐจะมอบให้
    .
    องค์กรมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานเพื่อสร้างผลิตผลที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ  การจัดอันดับ (ranking) เป็นกลไกสำคัญเพื่อเสริมสร้างการแข่งขัน  การจัดอันดับได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตประจำวัน  ไม่มีอะไรที่จัดอันดับไม่ได้  ตั้งแต่รัฐประชาชาติ สถานที่ท่องเที่ยว นิตยสาร ไล่ไปจนถึงสัตว์  ทุกๆ อย่างสามารถนำมาจัดอันดับได้หมด 
    .
    สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีบทบาทสำคัญก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแต่อย่างใด  เพราะสถาบันการศึกษาระดับสูงจะได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยครบถ้วนหรือไม่ต่างหากที่เป็นประเด็น   นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้าจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปัญหาของมหาวิทยาลัยว่ามี ‘มาตรฐาน’ หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือหรือไม่เป็นประเด็นสำคัญ  สถาบันการศึกษา X สามารถเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยหรือไม่?
    .
    มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับหรือไม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ  สถาปัตยกรรมหรือตึกไปจนถึงห้องสมุด ห้องทดลอง ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ  สำหรับในส่วนของการศึกษา เช่น มีบัณฑิตวิทยาลัย (Graduate School) เป็นต้น  มหาวิทยาลัยที่สร้างใหม่ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างตึกให้ดูเก่าประหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในยุโรป  ทั้งนี้ความนิยมที่จะเรียนต่อระดับสูงในมหาวิทยาลัยของยุโรปยังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม  ถึงแม้ว่าการศึกษาระดับปริญญาเอกจะมีปรากฎในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าแล้วก็ตาม 
    .
    การรับรองวิทยาฐานะหรือการรับรองจากหน่วยงานประเมินมาตรฐานของสถาบันการศึกษา  เช่น รัฐ เป็นต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ  สถาบันใดสมฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยคือเรื่องสำคัญ  ดัชนีตัวไหนที่จะบ่งชี้ว่าเป็น ‘university’ หรือเป็น ‘college’ เช่น เงินทุน ขนาด ผลงานวิชาการผลิตออกมา?  เมื่อ Edwin Emery Slosson (1865-1929) ผลิตผลงาน Great American Universities (1910) ในบทนำชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วกลับมาก็ไม่อยากเชื่อในการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย (p. vii)  
    .
    คำกล่าวของเหล่าอดีตอธิการบดี Harvard University ก่อนหน้า Charles William Eliot ที่กล่าวในโบสถ์ว่าพระผู้เป็นเจ้า “bless Harvard College and all inferior institutions” นั้นไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ปริมาณนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวอย่างมาก (p.1)  การท้าทายจากมหาวิทยาลัย ‘เกิดใหม่’ เป็นไปได้เสมอ  แม้ว่าจะไม่ใช่สาขาวิชาดั้งเดิม  วิศวกรรมไม่ใช่วิชาของมหาวิทยาลัยเก่าแก่  แต่เป็น เช่น Massachusetts Institute of Technology เป็นต้น
    .
    การเปรียบมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐอเมริกาโดย Slosson ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ยี่สิบชี้ชัดว่าแผนพังและสถิติไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับสิ่ง “เทียบเคียงกันไม่ได้” (incommensurable) และ “สิ่งที่นับไม่ได้” (uncountable) (p.474) แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอเปรียบเทียบผ่านตัวเลข  ถึงกระนั้นสำนึกเรื่องคุณภาพว่ามหาวิทยาลัยอะไรที่ดีกว่าหรือต่ำกว่าแบบสำนึกของเหล่าอดีตอธิการบดี Harvard University ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เลือนหายไปไหน ลำดับชั้นของสถาบันการศึกษายังคงความสำคัญ
    .
    ภายการขึ้นมามีอำนาจของสถิติหรือที่พวกอังกฤษเรียกว่า ‘political arithmetic’ ในสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป (European modernity) การประเมินลำดับชั้นจะมีความชัดเจนและน่าพึงปรารถนามากยิ่งขึ้นเมื่อปรากฏออกมาในรูปของตัวเลข   การจำแนกสรรพสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ด้วยตัวเลขภายใต้นามการศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันที่ได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายปฏิบัติการของรัฐและองค์กรเอกชน
    .
    สำหรับรัฐประชาชาติมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยเป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร  โครงการระเบิดปรมาณูภายใต้การนำของ J. Robert Oppenheimer ชี้ชัดถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการมีชัยชนะต่อศัตรู สงครามเย็น (Cold War) เพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ของระบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ทำให้การเสริมสร้างความเป็นเลิศในทุกๆ มิติเป็นเรื่องจำเป็น การพิสูจน์ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมเห็นว่าระบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตยเหนือกว่าคือหนึ่งในเป้าหมาย
    .
    การแข่งขันทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครองความเป็นเจ้าในอวกาศคือสนามประลองความรู้ทางวิทยาศาสตร์  การวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่จะเพิ่มและขยายความรู้ออกไปสู่ดินแดนที่ไม่มีมนุษย์ในอดีตรู้จักเท่านั้น  แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีทางการทหาร  นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากการวิจัยทางการทหารสามารถยังนำไปต่อยอดด้านพาณิชย์อื่นๆ ได้อีกด้วย อำนาจทางการทหารที่เป็นหัวใจของรัฐ  สำหรับมหาอำนาจแบบสหรัฐอเมริกาอำนาจทางการทหารคือองค์ประกอบสำคัญ
    หนังสือ : รัฐศาสตร์สารปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567)
    โดย : คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
    จำนวน : 160 หน้า
    .
    รัฐศาสตร์สารปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) ประกอบไปด้วย 4 บทความ 1 บทปริทัศน์ ดังนี้
    .
    การอภิบาลเมืองกับเทคโนโลยีดิจิทัลแนวคิดและมิติการวิเคราะห์เบื้องต้น โดย ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ -- บทความชิ้นนี้มุ่งศึกษาเนื้อหาสาระของแนวคิดการอภิบาลเมืองเพื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดการอภิบาลเมืองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดทั้งสองคือ การชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดภายหลังกระแสการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 บทความทางวิชาการจากฐานข้อมูล Google Scholar และ ศูนย์ดัชนีอ้างอิงวารสารไทย เป็นแหล่งข้อมูลหลักที่ใช้วิเคราะห์แนวคิด มิติการวิเคราะห์ และแนวทางการสร้างและพัฒนาเมือง ข้อค้นพบชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการอภิบาลเมืองเดิมให้ความสำคัญกับตัวแสดง การแบ่งปันอำนาจระหว่างตัวแสดง และการบริหารอำนาจเพื่อกำหนดแนวทางการสร้างและพัฒนาเมือง สำหรับแนวคิดการอภิบาลเมืองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเน้นย้ำความสำคัญของเทคโนโลยี มุ่งวิเคราะห์ผลลัพธ์ของเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการเมือง และสนใจการบริหารเทคโนโลยีเพื่อวางแนวทางการสร้างและพัฒนาเมือง อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ความไม่เป็นทางการของเมืองกับการอภิบาลเมืองและการอภิบาลเมืองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นประเด็นที่ควรวิเคราะห์ต่อไปในอนาคต
    .
    องค์กรอิสระในระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยข้อถกเถียงว่าด้วยแนวคิดในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรอิสระกับระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย โดย นันทพัทธ์ ชัยโฆษิตภิรมย์ -- บทความนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษา และเปรียบเทียบกรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งของไทย และต่างประเทศ จำนวน 5 แนวคิด ได้แก่  1.) อำมาตยาธิปไตย 2.) รัฐพันลึก 3.) การสร้างความคงทนของระบอบเผด็จการ 4.) ตุลาการธิปไตย และ  5.) แนวคิดเกี่ยวกับหน้าที่หลักของศาล และฝ่ายตุลาการในระบอบเผด็จการ เพื่อนำมาพิจารณาว่า แนวคิดใดสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกับองค์กรอิสระของไทย ในแง่ที่องค์กรอิสระกลายเป็นกลไกทำงานขับเคลื่อนระบอบเผด็จการหรือระบอบผสมได้อย่างหมาะสมที่สุด โดยเน้นในช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2566 เท่านั้น โดยผลการศึกษาพบว่า แนวคิดการสร้างความคงทนของระบอบเผด็จการของ Andreas Schedler มีความเหมาะสมในการวิเคราะห์มากที่สุด เนื่องจากแนวคิดนี้สามารถอธิบายระบอบการปกครองของไทยในช่วงดังกล่าวได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่สุด และอธิบายถึงองค์ประกอบหลัก 4 ประการในการสร้างความคงทน และความอยู่รอดให้กับระบอบเผด็จการ ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์วิธีการเข้าควบคุมองค์กรอิสระ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นกลไกในการทำงานให้กับระบอบได้อย่างชัดเจน และครอบคลุมในแทบทุกระดับชั้นทางการเมือง
    .
    ประชาคมอาเซียนกับความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติจุดเริ่มต้น พัฒนาการของรูปแบบความร่วมมือ และกระบวนทัศน์การจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค โดย สุวิชชญา จันทรปิฎก -- บทความวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาพัฒนาการความร่วมมือและกระบวนทัศน์ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของประชาคมอาเซียน (2) วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตลอดจนรูปแบบความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของประชาคมอาเซียน และ (3) นำเสนอการพัฒนาการดำเนินการความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติของประชาคมอาเซียน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิจัยเอกสาร ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบสร้างข้อสรุปจากข้อมูลเชิงบรรยายนำมาซึ่งบทสรุปที่ค้นพบและมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมเพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัย และสังเคราะห์กรอบการวิจัยจากแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันและการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันของความร่วมมือ แนวคิดการบูรณาการและภารกิจนิยม แนวคิดความมั่นคงรูปแบบใหม่ และหลักการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการทูตภัยพิบัติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและกระบวนทัศน์สามารถแบ่งได้เป็นยุค ได้แก่ ยุคก่อตั้งสมาคมอาเซียนและริเริ่มพัฒนาความร่วมมือภายใต้สมาคมอาเซียน (ค.ศ. 1967-1978), ยุคความร่วมมือชะงักงันอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์เวียดนามบุกกัมพูชา (ค.ศ. 1980-1991), ยุคการบูรณาการความร่วมมือให้ลึกซึ้งและขยายกว้างขึ้นหลังสงครามเย็น: พัฒนาความเป็นสถาบันด้านการจัดการภัยพิบัติ (ค.ศ. 1992-2005), ยุคความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติภายใต้การสร้างประชาคมและการพัฒนากลไกเชิงสถาบันภายใต้กฎบัตรอาเซียน (ค.ศ. 2006-2015) จนกระทั่งยุคสร้างแนวทางการประสานงานให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์การลดความเสี่ยงภัยพิบัติ และแนวคิดใหม่ ๆ (ค.ศ. 2016-ปัจจุบัน) จากผลการศึกษา ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะในการมีความสัมพันธ์ทางการทูตภัยพิบัติระหว่างอาเซียนกับนานาประเทศ โดยใช้เหตุภัยพิบัติเป็นแรงขับดัน สนับสนุนการนำหลักการ R2P ลงมาปฏิบัติในระดับท้องถิ่นสู่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน และการรับแนวคิดและกรอบการดำเนินงานโลกโดยไม่ทิ้งการออกแบบการดำเนินงานจากภายในภูมิภาคเอง
    .
    กรอบแนวคิดสำคัญของการศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติแบบบนลงล่าง แบบล่างขึ้นบน และแบบผสมผสาน โดย อจิรภาส์ เพียรขุนทด -- บทความวิชาการชิ้นนี้นำเสนอกรอบแนวคิดพื้นฐานที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์การนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยสามารถแบ่งได้เป็นสามประเภทหลัก ประกอบด้วย กรอบแนวคิดการนำนโยบายไปปฏิบัติแบบบนลงล่าง แบบล่างขึ้นบน และแบบผสม เนื้อหาในบทความนี้บ่งชี้สมมติฐานหลัก ตัวแปรสำคัญ และตัวอย่างกรอบแนวคิดของนักวิชาการที่โดดเด่น ซึ่งถูกอ้างอิงและนำไปใช้ศึกษานโยบายอย่างกว้างขวาง เพื่ออธิบายช่องวางและความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างนโยบายและเป้าหมายนโยบายที่กำหนด และผลลัพธ์จริงของนโยบายเมื่อได้นำไปปฏิบัติแล้ว อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า กรอบแนวคิดเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจในการนำโยบายไปปฏิบัติในโลกที่มีพลวัตและความซับซ้อนสูงยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและยากจะอธิบายได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียวได้ในบทความนี้




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in