**Spoiler Alert**
ไปดูทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร สิ่งเดียวที่ดึงดูดความสนใจคือสีของรถจากในโปสเตอร์...สีสวยดี จะว่าไปสีมันคล้าย ๆ หินที่โทนี่แอบจิ๊กมาจากร้านข้างทางเหมือนกัน แต่อันนั้นได้ยินว่ามันเป็น jade stone ส่วนสีรถออก turquoise มากกว่า
ช่วงแรก ๆ ของหนังรู้สึกว่ามันเป็น comedy มาก คิดว่าบทส่วนที่เป็น comedy เฉียบขาดและฉลาดดี ดูแล้วรู้สึกได้ว่าเป็นส่วนที่คนเขียนบทถนัด และ Viggo Mortensen ก็แสดงเป็น Tony Lip ได้ดีมาก ดูแล้วกำลังพอดี ส่วนตัวคิดว่า comedy เป็น genre ที่แสดงยาก และบทตลกในเรื่องนี้ไม่ใช่มุกที่ตลกโดยคำพูดหรือท่าทาง มันตลกโดยสถานการณ์ของมัน ส่วน Mahershala Ali ก็แสดงในช่วง comedy ได้พอดีเหมือนกัน และที่สำคัญคือแสดงในช่วงที่เป็น drama ได้ powerful มากด้วย ตอนแรกคิดว่าตัว Dr.Shirley เป็นตัวหลักของเรื่องซะด้วยซ้ำ แต่ในการประกาศรางวัลในเวทีต่าง ๆ บทนี้จะอยู่ในประเภทบทบาทสมทบ เพราะอย่างนี้ก็เลยรู้สึกประทับใจการแสดงของ Mahershala Ali มาก
สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวหนังชูธีมการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนผิวสีในอเมริกาแม้ว่าหนังจะพูดถึงเรื่องนี้มากอยู่ทีเดียว แต่ก็ชอบที่เพื่อนของดร.พูดว่า Being genius is not enough; It takes courage to change people's heart. ประทับใจตรงนี้มากเพราะรู้สึกว่ามันจริง การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนั้น สำคัญอย่างมากที่จะต้องอาศัยความกล้าหาญ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวกลับรู้สึกว่าหนังชูประเด็นการยอมรับความแตกต่างและมิตรภาพของตัวละครมากกว่า ทำให้เส้นเรื่องดำเนินไปตามพัฒนาการของตัวละครโทนี่ซึ่งเป็นคนผิวขาว ที่ตอนแรกรังเกียจคนผิวสีมาก แต่ก็ยอมมาทำงานให้ดร.เพราะได้ค่าตอบแทนสูง จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนาความรู้สึกเข้าอกเข้าใจในตัวนายจ้างผิวสีขึ้นมา จนได้กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด ซึ่งส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเป็นความเข้าใจจริง ๆ หรือเป็นเพียงความรู้สึกเห็นใจ ในเรื่องนำเสนอความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนผิวสีในช่วงเวลาที่การแบ่งแยกคนจากสีผิวยังคงรุนแรง เห็นได้ชัดจากชื่อเรื่องเลยคือ Green Book ซึ่งเป็นลักษณะคล้าย ๆ คู่มืการเดินทางไปในรัฐทางใต้ของคนผิวสี บอกถึงที่พักและร้านอาหารที่ให้บริการเฉพาะคนผิวสี หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกามาบ้างจะทราบว่าเรื่องการแบ่งแยกคนจากสีผิวนี้มีความรุนแรงมากในรัฐทางใต้ คนผิวขาวยังซื้อ-ขายคนผิวดำเป็นทาสและถือเป็นสมบัติส่วนตน ซึ่งเป็นที่ที่ดร.จะเดินทางไปเปิดการแสดง ส่วนในรัฐทางเหนือจะปฏิบัติต่างกัน เช่น ในนิวยอร์ค ซึ่งเป็นที่ที่ตัวละครทั้งสองอาศัยอยู่
ในประเด็นการอยู่ร่วมกันของตัวละครในเรื่อง อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมการแบ่งแยกสีผิวอย่างลึกซึ้งได้ถึงระดับความรู้สึก หมายความว่ายังเข้าใจสถานการณ์ของคนผิวสีในระดับการทำความเข้าใจอยู่ ทำให้รู้สึกว่าพัฒนาการการเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากคนมีจากระดับการศึกษาที่ต่างกันที่เกิดขึ้นในหนังมีความน่าสนใจมากกว่า จะเห็นว่าดร.จบการศึกษาระดับสูง อยู่ในสังคมของผู้ที่มีความรู้ ต่างจากโทนี่ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีเรื่องวิชาการอยู่ในความคิด ชีวิตของเขารู้จักแต่การเอาตัวรอด ไม่สนใจวิธีการ ความถูกต้อง หรือศีลธรรมจรรยา เพียงแต่โดยพื้นฐานจิตใจแล้วไม่ได้เป็นคนเลวร้าย อาจจะเป็นเพราะมีรากฐานจากครอบครัวที่อบอุ่นแน่นแฟ้น ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของชนเชื้อชาติอิตาลี ในเรื่องเราจะเห็นว่าดร.ได้สอนหลาย ๆ เรื่องให้กับโทนี่ ตัวอย่างเด่น ๆ ก็คือเรื่องการใช้คำ จากตอนที่สอนกันเขียนจดหมายและก่อนเข้างานแสดง ในขณะเดียวกันมีหลายเรื่องที่ดร.เองก็เรียนรู้จากโทนี่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้จะเริ่มขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการเคารพซึ่งกันและกัน จะเห็นว่าดร.นั้นค่อนข้างจะให้เกียรติโทนี่ จริงอยู่ที่ดร.นั้นย่อมให้เกียรติทุกคนอยู่แล้วเนื่องจากเขามีมารยาท แต่ส่วนตัวคิดว่าดร.เป็นคนที่เข้าใจ concept เรื่อง dignity มากที่สุด เขาเชื่อว่าคนเราจะมีเกียรติได้ต้องให้เกียรติตนเองและผู้อื่น และไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และวิธีที่จะทำให้คนอื่นเห็นเกียรติของเรามากที่สุดก็คือการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นอย่างที่เราสมควมได้รับเช่นเดียวกัน
จากการที่ทั้งสองคนเคารพในตัวตนซึ่งกันและกันทำให้สามารถเปิดใจต่อกันได้มากขึ้น ในตอนหลังโทนี่เข้าใจในสิ่งที่ดร.ทำมากขึ้น เข้าใจว่าทำไมดร.ถึงคอยคะยั้นคะยอสั่งสอนเรื่องมารยาท ซึ่งผลของมันปรากฏอย่างชัดเจนในคืนที่ทั้งคู่โดนจับกุม ช่วงเวลาที่อยู่ในห้องคุมขังทำให้โทนี่เข้าใจผลของการทำตัวไม่มีเกียรติได้อย่างชัดเจนที่สุด ส่วนตัวดร.เองก็เข้าใจว่าถึงแม้โทนี่จะเป็นคนที่ไม่มีมารยาทสังคม ไม่มีการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความโทนี่ไม่มีองค์ความรู้ องค์ความรู้ของโทนี่นั้นต่างจากองค์ความรู้ของดร.ที่เป็นเรื่องวิชาการก็จริง แต่องค์ความรู้ที่โทนี่มีก็คือการเอาตัวรอดและการใช้ชีวิตในสังคมโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในชีวิตจริง โทนี่ใช้สิ่งนี้เพื่อช่วยดร.ในหลาย ๆ สถานการณ์ ซึ่งในที่สุดการยอมรับในตัวตนของกันและกันโดยไม่ตัดสินจากสิ่งภายนอกของทั้งสองคนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในสังคมความเป็นจริงนั้นก็มีทั้งคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องวิชาการและคนที่สนใจแต่การเอาตัวรอดในชีวิต มีทั้งคนการศึกษาสูง คนที่ไม่มีการศึกษา มีคนจากระดับการศึกษาที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยอาจจะไม่มีความหลากหลายในเรื่องสีผิว แต่ย่อมมีคนจากทุกระดับการศึกษาอยู่ร่วมกันในสังคม ท้ายที่สุดประเทศจะขับเคลื่อนได้ก็จากคนที่มีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันและมีระดับการศึกษาที่ต่างกัน เชื่อว่าหากเรารู้จักเปิดใจและให้เกียรติว่าไม่มีองค์ความรู้ใดไร้ประโยชน์ และทุกคนต่างก็มีความรู้ที่แตกต่างกันไปแล้ว จะทำให้เราสามารถนำพาองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้มาผลักดันให้ประเทศของเราก้าวไปสู่เจริญทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจได้ไม่ยากเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in