สถานที่ที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา เส้นทางคดเคี้ยวพอแค่รถสวนทางบนยอดดอยสูงที่ทำเอาหูอื้อ หมอกคลุ้งตีหน้าไปมาทั่วบริเวณ ลมอ่อน ๆ พัดโชยตลอดเวลาอากาศหนาวเย็นสบายตลอดทั้งปี พอเดินทางมาถึงก็กับพบความประหลาดใจในบรรยากาศและธรรมชาติที่เหมือนดั่งฝันราวกับว่าได้เข้าไปยังโลกอีกใบ ในท่ามกลางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีหมู่บ้านของชาติพันธุ์ชาวเผ่าม้งซุกตัวอยู่
ดอยปุย ชื่อของสถานที่ที่เหมือนดั่งฝันของชาวเมืองบรรยากาศเมืองหนาวและหมู่บ้านชาวชาติพันธุ์อย่างม้ง ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,658 เมตร ชาวบ้านเดิมนั้นอาศัยอยู่ที่บ้านป่าคา ในช่วงปี 2489 พื้นที่ดอยปุยเดิมนั้นยังเป็นเพียงพื้นที่ที่ใช้ในการทำไรปลูกฝิ่น ทว่าหลังจากเหตุการณ์ทหารเข้ามาปราบปรามยาเสพติดทำให้หมู่บ้านป่าคาล่มสลายชาวบ้านจึงอพยพย้ายเข้ามาอยู่ที่ดอยปุยจนถึงปัจจุบันสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ป่าไผ่และป่าสน มีดอกไม้เมืองหนาวที่ชาวเขาปลูกไว้ทั่วพื้นที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านยังเต็มไปด้วยร้านค้าของที่ระลึก เสื้อผ้าพื้นเมืองผลิตภัณฑ์พื้นเมือง คอยรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ตลอด 2 ข้างทาง
หมอกคลุ้งตอนเช้าสาย บ้านม้งดอยปุย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สิ่งแรกที่ได้สัมผัสได้เมื่อมาถึงนั้นคืออากาศเย็นสบายที่เหมือนมีแอร์จากธรรมชาติเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา เมฆหมอกปกคลุมอยู่ทั่วไปไร้ซึ่งแสงแดดร้อนให้รำคาญใจ ชาวบ้านแต่งชุดม้งเดินประปรายน่าตื่นตา ต้นไม้ใหญ่เล็กหนาแน่นนานาชนิดปกคลุมเต็มพื้นที่สวนดอกไม้เมืองหนาวสีสันสดใส รูปทรงบ้านเรือนที่เป็นกระท่อมชวนแปลกตาสำหรับชาวเมืองทุกอย่างนี้ล้วนทำให้เราสดชื่นและรู้สึกสงบทั้งกายและใจ
อย่างที่สองคือความน่ารักของเด็กๆ ในหมู่บ้าน และความเป็นกันเองของผู้ใหญ่ในชุมชน ยิ้มแย้ม ทักทาย ต้อนรับอย่างเป็นมิตรด้วยความเป็นกันเองเหมือนคนเคยรู้จักกันมาก่อน
รอบหมู่บ้านมีชาวบ้านมาพบปะกัน มีทั้งชุดทั่วไปและชุดชนเผ่า ชวนแปลกตา
ม้ง เกิดบนดอย อยู่บนดอยตายบนดอย
หากใครที่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองหรือแม้จะเป็นชนบทแต่ก็มีความสะดวกสบายความเป็นอยู่ที่เพียบพร้อม สวัสดิการที่ครบครันแต่ทำไมชาวเขาอย่างม้งถึงยังเลือกที่จะอยู่ที่บนภูเขาหรือดอยที่ที่ไม่มีความสะดวกสบาย เดินทางลำบาก สวัสดิการต่าง ๆ เข้าไม่ถึง?
มีวิวาทะจากผู้ใช้นามปากกา“เสืออากาศ24/7” กล่าวไว้ว่า “ม้งเป็นชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตต่างจากของไทยโดยสิ้นเชิงแม้มีสิทธิ์อยู่บนแผ่นดินไทยได้ในฐานะมนุษย์แต่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ” สะท้อนให้เป็นการถกเถียงถึงความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในแผ่นดินไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเผ่าม้งนั้นมีวิถีชีวิตที่ต่างจากของไทยอย่างสิ้นเชิง กลุ่มชาติพันธุ์ม้งอาจมีวิถีชีวิตและรายละเอียดที่ต่างจากของคนหมู่มากทั้งด้านความเชื่อ ภาษา เสื้อผ้าการแต่งกาย เทศกาล วัฒนธรรมทว่าตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ จากเอกสารวิจัยการศึกษาเอกลักษณ์ของเผ่าม้ง เขียนโดยอาจารย์วาทินีคุ้มแสง มีตอนหนึ่งกล่าวถึงข้อสันนิษฐานว่า “เผ่าม้งอพยพของเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยม้งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัด เชียงรายพะเยา น่าน เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ151,080คน”และจากเอกสารหลายแห่งก็ยังมีข้อสันนิษฐานเดียวกันถึงการมีอยู่ของม้งในไทย เช่นเว็บไซต์กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย แม้จะเป็นเพียงข้อมูลที่นักวิชาการสันนิษฐานจากหลักฐานร่องรอยต่างๆ แต่ที่ข้อมูลถูกระบุในเอกสารวิจัย และเอกสารวิชาการต่าง ๆ ก็สามารถเป็นเครื่องการันตีได้ส่วนหนึ่งว่าการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอยู่ก่อนนานแสนนานก่อนมีการบันทึกทางอย่างเป็นทางการในปัจจุบันการครอบครองพื้นที่ล้วนเป็นเอกสิทธิ์ไปแล้ว
ไม่ต่างจากดอยปุย ตามเดิมประวัติของที่นี่ระบุไว้ว่าชาวบ้านกลุ่มแรก ๆ บนดอยปุยอพยพมาตั้งถิ่นฐานมาได้ราว ๆ เพียง60-70ปี แต่ก็ได้ผูกโยงชีวิตของชาวม้งเข้ากับสถานที่นี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้ความเป็นอยู่จะไม่สะดวกสะบายเท่าชุมชนเมืองแต่ที่นี่มีทั้งชีวิต มีทรัพยากร มีจิตวิญญาณของชาวม้งอยู่และพร้อมที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้คนไทยอย่างเราได้เห็นคุณค่าของพวกเขา
บ้านเรือนปัจจุบันถูกตั้งรากฐานความเป็นอยู่ท่ามกลางป่าเขาและธรรมชาติ
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงดอยปุย
ย้อนไปอดีตพื้นที่ดอยปุยถูกใช้ในการทำไร่ปลูกฝิ่นมายาวนานชาวบ้านทำการเกษตรเลี้ยงชีพภายในครอบครัวของตน และมีฐานะยากจน
พ่อหลวงนวย หรือเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านดอยปุย เล่าว่าสมัยก่อนชาวบ้านทำทุกอย่างเพียงเพื่อประคองชีวิตของตัวเองให้อยู่รอดไม่มีความมั่นคงใด ๆ แต่ในปี พ.ศ.2512 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินหมู่บ้านดอยปุยได้ทรงนำพืชเมืองหนาวซึ่งต่อมากลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ลิ้นจี้ สาลี่ สตอเบอรี่ ท้อและดอกไม้นานาชนิด เช่น ซัลเวีย รักเร่ ไซคลาเมน เดซี่ เข้ามาปลูกเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นในพื้นที่
อีกทั้งยังสร้างคุณภาพชีวิตชาวม้งก่อตั้งโรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ และชาวม้งในหมู่บ้านให้เรียนรู้ภาษาไทย ริเริ่มพัฒนาหมู่บ้านให้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันทำให้ชาวบ้านสามารถที่จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและหมู่บ้านได้อย่างยั่งยืนทุกวันนี้ดอยปุยกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่หมู่บ้านเจริญเติบโต ปัจจุบันมีชาวบ้านอยู่อาศัยราว 300 หลังคาเรือนหรือประชากรราว 1500 คน
เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านดอยปุย ผู้นำพาหมู่บ้านไปสู่การพัฒนาในปัจจุบัน
ยุคสมัยเปลี่ยน ดอยปุยต้องขยับตาม
“อนาคตถ้าเราไม่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ คงไว้ซึ่งวิถีของเราอาจจะมีการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะลดน้อยถอยลงหรือการเป็นอยู่ในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจและสังคมอาจจะมีความยากลำบากขึ้น”
พ่อหลวงนวยกล่าวถึงการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านในยุคปัจจุบันอีกว่าทุกวันนี้ชีวิตวิถี ความเชื่อ ยังคงเหมือนเดิมสิ่งที่เปลี่ยนไปคือโครงสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามยุคตามสมัย ส่วนวิถีภาษาพูดการแต่งกาย ความเชื่อต่าง ๆ ประเพณีปฏิบัติ จารีต วัฒนธรรมยังคงเหมือนเดิมไว้ทุกอย่าง แต่ในคำพูดนั้นกลับแฝงถึงความกังวลในอนาคตเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ในชุมชนว่าถ้าหากวันใดที่ชุมชนละทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเองไปวันหนึ่งอาจจะทำให้ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต อาชีพ รายได้และวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนกลับมา
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่าน การรับมือของดอยปุยจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาอย่างรอบคอบไม่ว่าจะเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ปากท้อง เศรษฐกิจในครัวเรือนร่วมถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แน่นอนว่าหมู่บ้านจะต้องตามยุคตามสมัยให้ทันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเพื่อไม่ให้เกิดความกังวล ดอยปุยจึงมีการทำโครงการเกี่ยวกับการทำความใจ การตั้งกลุ่มเพื่อรื้อฟื้นพัฒนาการท่องเที่ยวรื้อฟื้นพัฒนาเอกลักษณ์ต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้งการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในบริเวณรอบนอกหมู่บ้านเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นการทำโฮมสเตย์ให้แก่นักท่องเที่ยวได้เข้าสัมผัสชีวิตของม้งได้โดยตรง ทั้งหมดเพื่อสื่อถึงคนภายนอกได้รู้ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของดอยปุยอยู่ที่ไม่ใช่เพียงในหมู่บ้านแต่ยังเป็นบริเวณโดยรอบพื้นที่ที่หมู่บ้านควบคุมดูแลอยู่ซึ่งจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในอนาคตซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้ยังคงมีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งหมดของชาวม้งไว้ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ซึมซับความเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ดั้งเดิมซึ่งจะทำให้ชาวบ้านยังคงรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเองไว้ได้ต่อไป
วัฒนธรรมปัจจุบันกับการปรับตัวเข้ากับคนไทยในยุคเทคโนโลยี
ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคมต่าง ๆ เริ่มพัฒนาเข้าสู่ดอยปุยจากเมื่อก่อนการเดินทางหรือการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เต็มไปด้วยความยากลำบากไม่มีถนนหนทางมีเพียงทางเดินเท้าขึ้นลงจากยอดดอยที่กินระยะทางถึง 30กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ สะท้อนถึงความยากลำบากในการเดินทางอีกทั้งยังด้านสวัสดิการที่ไม่เข้าถึงและการรักษาพยาบาลที่ยากลำบาก แต่ในยุคสมัยใหม่เริ่มมีการสร้างถนนหนทางทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น สวัสดิการต่าง ๆ เริ่มเข้ามาถึงในหมู่บ้านสิ่งที่ตามมาคือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือมีการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงสังคมและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ต่อมาคนไทยในเมืองและเทคโนโลยีสมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทชัดเจนมากขึ้นทั้งในด้านการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว จากเดิมที่ม้งอยู่กันอย่างเป็นเอกเทศทุกวันนี้ชาวบ้านดั้งเดิมหรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็สามารถใช้ชีวิตและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนไทยได้อย่างกลมกลืนและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างชำนาญ
ในช่วงสุดท้ายพ่อหลวงนวยกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันกับคนไทยว่า ดอยปุยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองการติดต่อ การสื่อสาร การเรียนรู้ วัฒนธรรมหรือแม้แต่เทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและปรับปรุงให้เข้ากับวิถีชีวิตของหมู่บ้านได้ง่ายและหลากหลายทุกวันนี้เด็กในหมู่บ้านก็เรียนรู้ภาษาม้งเพื่อใช้สนทนาในครอบครัวแต่ก็ควบคู่กับเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคตชาวบ้านร้านค้าที่ถักเสื้อขายเริ่มเอาเทคโนโลยีการตัดเย็บมาใช้ถักทอเสื้อชนเผ่าแทนการถักด้วยมือที่ใช้เวลานานหลายเดือนการค้าขายเริ่มมีการแลกเปลี่ยนขนส่งสินค้าเริ่มใช้สื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสมัยใหม่และสากล จารีตต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับปัจจุบันอย่างการห้ามแต่งงานกับคนนอกเผ่าก็ถูกยกเลิก เหตุก็เพราะการติดต่อกับภายนอกมากขึ้นแล้วมีการปรับตัวให้เข้ายุคสมัย
การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สิ่งที่ทำให้ดอยปุยมีทุกวันนี้คงหนีไม่พ้นความเป็นเอกลักษณ์การดูแลพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงเขาหัวโล้น ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านป่าไม้ตั้งแต่การเข้ามาอยู่ในพื้นที่ชาวบ้านได้ฟื้นฟูจัดการและสร้างป่าไม้ให้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และอยู่คู่กับชุมชนเป็นต้นแบบให้ที่อื่นได้เรียนรู้ทำให้ดอยปุยได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่ดูแลป่าได้ดีที่สุดในประเทศไทย
และจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้ประวัติศาสตร์ของชาวบ้านดอยปุยจะประสบพบเจอเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงไปมากอยู่ตลอดเวลาแต่ชุมชนก็ไม่เคยแม้แต่ยอมแพ้ แต่กลับที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเลี้ยงดูชีวิตของตัวเอง และเพื่อให้เหล่าเด็ก ๆ ได้สืบสานวัฒนธรรม กลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนได้ก่อร่างสร้างฐานให้หมู่บ้านนี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาวิถีชีวิต เข้าถึงความเป็นอยู่ของชาวม้ง เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอีกทั้งชาวม้งเองยังปรับเปลี่ยนตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตโดยยังคงเอกลักษณ์ของตนไว้เพื่อที่หมู่บ้านวัฒนธรรมวิถีชีวิต ไม่ต้องตายจากไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างไปรวดเร็ว
ดอยปุยหลังฝน หมอกปลกคลุมฝืนฟ้า บรรยากาศแอร์ธรรมชาติ
การเดินทางโดยง่าย
ดอยปุย จุดท่องเที่ยวและร้านค้าในหมู่บ้านเปิดทำการเวลา8.00น.-17.00น. ช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาวจะสวยเป็นพิเศษและมีนักท่องเที่ยวมากกว่าปกติ ทุกวันศุกร์เด็กในหมู่บ้านจะแต่งชุดประจำเผ่าไปโรงเรียนและเดินเล่นอยู่รอบหมู่บ้าน
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุยสามารถเดินทางมาได้ทุกวันตลอด 24 ชม.แต่จะมีการตั้งด่านตรวจเวลา 20.00น.-6.00น. ใช้เส้นทางถนนห้วยแก้วผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตรงขึ้นไปทางเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย พระธาตุดอยสุเทพพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ห่างจากพระตำหนักฯ 4 กิโลเมตร จะถึงดอยปุย
เส้นทางตั้งแต่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ทางจะลื่นเพราะความชื้นบนเขา แคบและโค้ง ไม่มีรั้วกั้นถนนผู้ไม่ชำนาญเส้นทางสามารถนั่งรถแดงโดยสารขึ้นมาได้
บริเวณทางขึ้นจะมีคิวรถแดงสามารถเดินทางขึ้นไปได้ทั้ง 4 สถานที่ราคา 60 100 150 ตามลำดับ และสามารถเหมาขึ้นไปทั้ง 4 สถานที่ได้
บรรณานุกรม
สัมภาษณ์
พ่อหลวงนวย เมธาพันธ์ภุชกฤษดาภา อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านดอยปุย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่เบอร์ติดต่อ 0855392264 (16 กันยายน 2563)สัมภาษณ์
รายการอ้างอิง
อ.วาทินี คุ้มแสง. (2553).ประเพณีของชาวม้ง: กรณีศึกษาชุมชนในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ต.แม่แรมอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (รายงานผลการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
เว็บไซต์อ้างอิง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in