เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ไดอารี่สีเทาschwarzstone
"เรื่องแค่นี้" แต่มันอยู่กับเรา "100ปี"
  • เมื่อวานฉันไปกินข้าวนอกบ้าน หลังจากอิ่มกันเรียบร้อยก็ได้พักสายตามองไปรอบๆจึงสังเกตุเห็นว่า ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เจอแต่ผู้สูงอายุซึ่งนั่งจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน ฉันคิดว่านี่เราเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุจริงๆแล้วหรือ... 

    ดังนั้นฉันจึงได้เริ่มพูดคุยถึงประเด็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย พูดถึงสังคมไทย และอะไรหลายอย่างที่หลายครั้งเราไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมันได้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ 

    ฉันก็แค่คิดว่าสถาบันในสังคมของเรานั้นล้มเหลวเกินที่จะเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันแรกอย่างสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ศาสนา กฎหมาย หรือจิตสำนึกของผู้คน ทุกอย่างมันย่ำแย่ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง คนหนึ่งคนต้องมีความล้มเหลวไปแล้ว 1 อย่าง 

    เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสในการแสดงออก เนื่องจากมีความเกรงใจและเคารพต่อผู้ใหญ่ และสิ่งที่ผู้ใหญ่ได้ปูทางไว้(ที่เรียกว่าประเพณีหรือข้อห้ามต่างๆ) อย่างเช่นพิธีกรรมต่างๆซึ่งปฏิบัติกันมานาน ล่าสุดก็เรื่องMV.หนุมานอะไรนั่นแหละนะ 

    คำถามคือ "แล้วอย่างนี้คนรุ่นใหม่จะมีที่ยืนได้อย่างไร?" ในเมื่อเวลาเรามีความคิดผิดแผกไปจากอะไรเดิมๆก็มักจะโดนค้านจากคนรุ่นเก่า ยังคงต้องบูชากราบไหว้นับถือในสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ต่างอะไรกับการกราบไหว้จอมปลวกซึ่งคนมองว่าไร้สาระ ไม่ต่างกันเลย 

    ยุคสมัยที่เปลี่ยนทำให้คนมองเห็นว่าการกราบไหว้จอมปลวกคือเรื่องไร้สาระ แต่กับหลายๆเรื่องเรากลับแตะต้องไม่ได้ เพียงเพราะอ้างความศักดิ์สิทธิ์ หรือ ผู้ใหญ่เขาถือ และทำมานานแล้ว ทำไมยังเป็นแบบนั้น? สรุปว่าสุดท้ายแล้วคนรุ่นเก่าจะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคนรุ่นใหม่จะต้องตายก่อน อย่างนี้ใช่รึเปล่าคะ? เพราะไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงที่จะเสนออะไรใหม่ๆเลย 


    "คนไทยมักใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ไม่ใส่ใจในเรื่องที่มันเป็นเรื่อง" 

    เรื่องนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง อย่างเช่น "ความย้อนแย้งในทุกๆเรื่องของคนไทย" ยกตัวอย่างง่ายๆ ถึงเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ 

    ในครั้งที่ยังเป็นเด็ก แน่นอนว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องสอนอยู่แล้วว่า ให้หนูเป็นคนดีนะ ให้ทิ้งขยะลงถังขยะนะ กินแล้วต้องเก็บไปทิ้งให้เรียบร้อยนะ โอเค เด็กส่วนใหญ่ทำตาม แต่ในทุกๆวัน คุณครูจะสั่งให้เด็กๆเก็บขยะรอบโรงเรียนมาคนละ 10 ชิ้น เพื่อให้ครูตรวจ ซึ่งก็เจอขยะทุกวัน มีขยะทุกวัน ทั้งๆที่ได้สอนไปแล้ว และแน่นอนว่าเด็กที่แอบทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางในโรงเรียนในวันนั้น ก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่เห็นแก่ตัวที่ทิ้งขยะเรี่ยราดในทุกวันนี้ 

    หรืออย่างเช่นการทำบุญ ความใจบุญแบบไม่คิดหน้าหลัง การให้เงินขอทาน ปล่อยนก ปล่อยเต่า ซึ่งหลายๆคนคิดว่าได้บุญ แค่ซื้อมาปล่อยมันไปทำๆไปเถอะไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาแค่สบายใจก็เป็นบุญแล้ว เราถือว่ามันเป็นการใส่ใจในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง 

    คือบางครั้งคนเรานะ ควรศึกษาในเรื่องที่ทำบ้าง นกน่ะ ปล่อยไปมันก็บินกลับมาให้เขาขาย เต่าน่ะ ปล่อยไปมันก็ตายเพราะมันเป็นสัตว์ที่อยู่บนบกมากกว่าอยู่ในน้ำ ปลาไหลก็อยู่ในเลน ในโคลน ไม่ใช่น้ำลึกๆแบบในวัด เข้าวัดสวดมนต์น่ะ เคยรู้ความหมายรึเปล่าว่าสวดไปทำไม ที่เขาให้สวดน่ะแปลว่าอะไร ไม่รู้ใช่มั้ยคะ? เราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แค่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เราก็ทำๆไปเหมือนกันค่ะ 

    อ่ะ อ่านแล้วคุณคงคิดว่า จะอะไรนักหนากับ "เรื่องแค่นี้" ใช่มั้ยคะ? ลองคิดดูนะว่าคำว่า "เรื่องแค่นี้" ในบ้านเรามันใช้กับอะไรบ้าง 

    [ทำไมต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าร้านนี้ด้วย "เรื่องแค่นี้เอง" มาซื้อของแป๊บเดียวเดี๋ยวก็กลับ ไม่ถอดละกัน] [ดึกแล้วรถไม่ติด จะรอไฟแดงให้มันเขียวไปทำไม "เรื่องแค่นี้เอง" ผ่าไปก็จบปะ]

    [ก็ทิ้งขยะไปแล้วแค่ไม่ลงถัง แต่มันก็หล่นอยู่ข้างถังนะ "เรื่องแค่นี้เอง" เดี๋ยวคนอื่นเค้าก็มาเก็บเองแหละ] [ก็ที่บ้านไม่มีที่ให้จอดรถแล้ว เลยแอบจอดหน้าบ้านคนอื่น "เรื่องแค่นี้เอง" ไม่เป็นไรหรอก] 

    [น้อง พี่ซื้อของผิดน่ะ พี่ลืมดู ขอเปลี่ยนได้มั้ย? "เรื่องแค่นี้เอง" ทำไมน้องไม่ทำให้พี่ ตัดสต็อกไปแล้วยังไง เข้าระบบแล้วยังไง ก็พี่จะเปลี่ยนอะ] 

    [แค่ใส่ชุดนักศึกษาไปเรียนมันจะตายรึไง "เรื่องแค่นี้เอง" ทำไมทำไม่ได้ ทำไมมหาวิทยาลัยไม่ห้าม ชุดนี่มันศักดิ์สิทธิ์นะ เป็นถึงชุดพระราชทาน(ที่แม่ซื้อให้ตามร้านค้า)] 

    กรณีนี้แตกต่างจากข้างบนตรงที่ "เรื่องแค่นี้" ที่ว่าเจ้าของประโยคกำลังเบียดเบียนสิทธิมนุษยชนของคนอื่นอยู่ 

    ในเมื่อมหาวิทยาลัยไม่ห้าม เราเป็นคนนอกก็ต้องมองให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่พยายามเอาโขนที่ตัวเองเคยใส่ไปบังคับสวมให้คนอื่น แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันคือความต่าง แต่มันเป็นความต่างที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอย่างเรื่องที่ยกตัวอย่างข้างต้น 

    คิดๆไปแล้วคำว่า แค่นี้เอง มันก็เยอะไปเนอะ ไม่ว่าจะใช้อ้างตอนเห็นแก่ตัว ทวงหาน้ำใจบนความทุกข์ของผู้อื่นหรือใช้อ้างเพื่อบังคับคนอื่นจนสุดท้ายก็แทบจะทำอะไรนอกกรอบไม่ได้เลย 

    หรือชีวิตจะหยุดอยู่แค่นี้กันนะ? ไม่ว่ารุ่นไหนๆก็จะจดจำเพียงคำสอนของคนรุ่นก่อน สิ่งที่ยังคงอยู่ร้อยปีอย่างไรก็ยังอยู่ร้อยปีอย่างนั้นแม้ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนไปมาก ไม่มีการคิดต่อยอด ถึงแม้จะคิดต่อยอดได้แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องจำใจทำเรื่องเดิมๆต่อไปโดยไม่รู้ถึงความหมาย เขาสอนมาอย่างไรเราก็ต้องทำตาม ห้ามเถียงผู้ใหญ่ ถ้าทำถือว่าผิด 


    ก็ตลกดี.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in